ของคู่กันกับเหล่าเด็กๆ นอกจากนึกถึงบรรดาเหล่าของเล่นอันมากมาย เกมการละเล่นสนุกๆ อันหลากหลายแล้ว ยังมีอีกอย่างที่ขาดเสียมิได้ นั่นก็คือ ขนมทั้งหลายที่เด็กๆ พร้อมจะเอาเข้าปากเคี้ยวได้ทุกเมื่อ จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน บรรดาร้านค้าจะมีขนมวางล่อตาล่อใจเหล่าเด็กๆ สวยงามทั้งรูปลักษณ์ สีสัน อีกทั้งยังถูกปากเด็กน้อยเด็กใหญ่ทั้งหลายให้ได้แกะกินเอาเข้าปากเพลิดเพลินลิ้นกันไป
เมื่อมองย้อนไปในวิถีปัจจุบัน ระบบสายพานการผลิตในแบบอุตสาหกรรม กำลังส่งออกสิ่งที่เป็นความอัศจรรย์สำหรับเด็กๆ โดยผ่านสายตาธุรกิจ ทำให้บางครั้งอาจลืมไปว่าความสุขที่ส่งมอบออกไปนั้น ได้มีบางอย่างตกหล่นหายไป เริ่มจากระดมสารปรุงแต่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าไม่เน่าเสีย บรรดาเครื่องปรุงรสสังเคราะห์เพื่อให้ถูกปากถูกลิ้น ระบบการผลิตวัตถุดิบที่เน้นผลิตให้ได้ปริมาณมาก โดยไม่ใส่ใจธรรมชาติ มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้พันธุ์พืชตัดต่อพันธุกรรม และอีกมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งขนมหนึ่งห่อ
อาจดีไม่น้อยถ้าขนมของเหล่าเด็กๆ นอกจากมอบความสุขสนุกและความอร่อยลิ้นแล้ว ยังเป็นการมอบสิ่งดีๆ แก่เหล่าพวกเขา โดยผ่านการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดี ได้ร่วมลงมือปฏิบัติผ่านสายตาที่พร้อมสำหรับเรียนรู้ ความอร่อยและสนุกจึงเกิดขึ้น ครั้งนี้บรรดาผู้ที่สนใจทางเลือกใหม่ของขนมในนามเบเกอรี่ จึงมีนัดกันที่ ‘บ้านแสงรุ้ง’ บ้านหลังเล็กๆ อันแสนอบอุ่น กลางเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีคุณเฟื่องฟุ้ง กิจพงษ์ประพันธ์ เจ้าของแบรนด์ ‘เฟื่องฟุ้ง’ ผู้ช่ำชองในวงการเบเกอรี่แป้งข้าวพื้นบ้านจากขอนแก่น มาเป็นวิทยากร เพื่อแปลงโฉมแต่งตัวให้แป้งข้าวพื้นบ้าน ให้กลายเป็นความมหัศจรรย์สำหรับเหล่าเด็กๆ และผู้เข้าร่วม มิติใหม่ของคำว่าขนมจึงเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้
นอกจากบรรดาแป้งบรรจุถุง อันเป็นวัตถุดิบหลักในการทำขนมประเภทเบเกอรี่ ที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาดแล้ว
แป้งข้าวพื้นบ้านที่ผลิตโดยเกษตรกรซึ่งปลูกข้าวแบบปลอดสารพิษ นับเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการเปลี่ยนแป้งข้าวธรรมดาให้กลายเป็นขนมแปลกใหม่ ถูกใจเหล่าเด็กๆ และผู้บริโภคที่มีความใส่ใจด้านความปลอดภัย และความยั่งยืนในการบริโภค
ไม่ว่าจะเป็นแป้งข้าวสังข์หยด แป้งข้าวหอมนิล แป้งข้าวมะลิแดง แป้งข้าวหอมเบญจรงค์ แป้งข้าวหอมกระดังงา แป้งข้าวเจ้าเหลือง ซึ่งเป็นแป้งข้าวพื้นบ้านประเภทข้าวเจ้า หรือพวกแป้งข้าวเหนียว อย่างเช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวสันป่าตอง หรือแม้แต่แป้งประเภทอื่นๆ อย่างแป้งกล้วย ก็สามารถพลิกแพลงเป็นส่วนประกอบได้ในหลากหลายเมนูขนม
แป้งข้าวสาลี เป็นส่วนผสมสำคัญอย่างหนึ่งในการทำขนมประเภทเบเกอรี่ ซึ่งมีวางขายมากมายในท้องตลาด หลากหลายประเภทให้เลือกซื้อหา แล้วแต่ความต้องการ และประเภทของขนมที่จะทำ โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เบเกอรี่แป้งข้าวพื้นบ้านครั้งนี้พิเศษที่ได้แป้งข้าวสาลีจากเชียงใหม่ในนาม แป้งสาลีฝาง มาเป็นส่วนประกอบ โดยมีการทดลองใช้ส่วนผสมแป้งข้าวพื้นบ้านอันหลากหลาย จนบางครั้งเกิดเป็นสูตรขนมตัวใหม่ให้ได้แปลกใจกัน ตัวอย่างเช่นผู้เข้าร่วมท่านหนึ่ง มีลูกสาวที่แพ้แป้งสาลีและถั่วต่างๆ รวมถึงนม ไข่ เนย จึงทดลองทำขนมปังปลอดแป้งสาลี และปราศจากสิ่งต่างๆ ที่ก่ออาการแพ้ โดยใช้แป้งข้าวพื้นบ้าน คือแป้งข้าวเหนียวแดงจากร้อยเอ็ด กับแป้งข้าวเจ้าเหลืองจากยโสธร และกล้วยน้ำว้าเป็นวัตถุดิบหลัก โดยมีเด็กน้อยผู้แพ้สารพัดอย่างคอยเป็นผู้ช่วย สร้างความสนุกได้ไม่น้อย ความปีติและรอยยิ้มของผู้เป็นแม่ ยิ่งเกิดขึ้นเมื่อถึงคราวขนมปังสดใหม่ผีมือแม่ลูกถึงเวลาออกจากเตาอบ เด็กน้อยผู้ไม่เคยได้กินขนมปังตามท้องตลาด เพียงคำแรกที่สัมผัสแววตาเปล่งประกายดีใจก็เกิดขึ้น คำที่สองที่สามก็ตามเข้าไป ความสุขของสองแม่ลูกจึงเกิดขึ้น ได้ยินผู้เป็นแม่บอก “ต่อไปจะได้ทำขนมให้ลูกกินบ่อยๆ”
เป็นความจริงที่เราไม่อาจกำหนดให้ทุกระบบใหญ่ๆ บนโลกนี้ ผลิตสิ่งที่ปลอดภัย มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับโลกใบนี้ได้ทุกอย่าง แต่ก็ดีไม่น้อยถ้าเราซึ่งเป็นจุดเล็กๆ เลือกที่จะทำสิ่งที่ระบบใหญ่ทำไม่ได้นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ แก่ตัวเราเอง และผู้อื่น โดยอาจไม่จำเป็นต้องผลิตทุกอย่างด้วยตัวเอง แค่รู้จักเลือกที่มาของวัตถุดิบ หันมาอุดหนุนเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย หรือแม้แต่การทำอาหารกินเอง หรือไม่จะเป็นการดีไม่น้อยถ้าเราสามารถมีพื้นที่เล็กๆ ในการสร้างอาหารของตัวเอง หรืออาจเป็นการรวมตัวกันแบ่งปันสิ่งดีๆ อย่างที่ ‘บ้านแสงรุ้ง’ กับเบเกอรี่แป้งข้าวพื้นบ้าน และพวกเขาในครั้งนี้
ภาพถ่าย: ArmYa at Home