ถั่วงอกเป็นผักชนิดหนึ่งที่เรามักจะเห็นในเมนูอาหารกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนและเมนูมังสวิรัติต่าง ๆ หรือ เราอาจจะเคยเห็นถั่วงอกหัวโตในเมนูอาหารเกาหลีมาบ้าง ดังนั้นถั่วงอกถือว่าเป็นผักที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย มีทั้งชอบ และไม่ชอบรับประทาน

ถั่วงอกมีสรรพคุณเด่นในเรื่องของกากใยอาหาร ช่วยการขับถ่าย เป็นแหล่งของสารอาหารมากมาย อาทิ โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เป็นต้น แต่เราก็มักจะได้ยินข่าวถึงความอันตรายจากสารเคมีปนเปื้อนของถั่วงอกตามท้องตลาด จำพวกสารฟอกขาว เพื่อให้ถั่วงอกมีสีขาว และช่วยยับยั้งการเกิดสีคลำของถั่วงอก ช่วยให้ถั่วงอกดูขาวน่ารับประทาน ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบการใช้สารเคมีละลายน้ำล้างถั่วงอกเพื่อรักษาให้ถั่วงอกสดและคงความกรอบให้อยู่นานขึ้น หากผู้บริโภคได้รับสารเคมีเหล่านี้เข้าไป อาจเกิดอาการต่าง ๆ จนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตได้

ดังนั้นหลายคนจึงหันมาเพาะถั่วงอกกินเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วการเพาะถั่วงอกอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคงเคยได้เรียนการเพาะถั่วงอกเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของพืชมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนคงหลงลืมวิธีการเพาะถั่วงอกว่ามีวิธีการที่แสนจะง่าย แล้วนอกจากนั้น เรายังสามารถปรับปประยุกต์ใช้ภาชนะเพาะถั่วงอกได้หลากหลายวิธีอีกด้วย

หลักการสำหรับการเพาะถั่วงอก เพียงเรามีแค่ เมล็ดถั่วเขียว ภาชนะ และน้ำ

  • ถั่วเขียว มี 2 พันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน และ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน ต้นโต สีขาวอมเหลือง โตเร็วกว่า จะคล้ำง่ายถ้าโดนลมโดนแสง เมื่อเทียบกับถั่วเขียวผิวดำ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจคือควรเลือกใช้เมล็ดถั่วเขียวอินทรีย์มาเพาะถั่วงอก เพื่อให้ได้ถั่วงอกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
  • ภาชนะ หลักการคือต้องป้องกันถั่วไม่ให้โดนแสง รักษาความชื้นให้ถั่วงอกได้ดี ทรงของภาชนะมีผลต่อลักษณะความอวบอ้วนหรือความสูงผอมของถั่ววอก และต้องระบายน้ำได้ดี
  • น้ำ ปัจจัยสำคัญในการเพาะถั่วงอก ทำหน้าที่ในการเจริญเติบโต และระบายความร้อนของภาชนะ น้ำควรรดอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หากใช้ภาชนะพลาสติก และทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงสำหรับถั่วงอกที่เพาะในกระถางดินเผา หรือภาชนะที่เก็บน้ำและความชื้นได้ดี

วิธีเพาะถั่วงอกจากภาชนะเหลือใช้ในครัวเรือน

  1. ถาดหรือกล่องพลาสติก
    วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเพาะถั่วงอก โดยใช้ถั่วเขียว 1 กำมือ เมื่อได้เมล็ดถั่วมาแล้วให้คัดเมล็ดถั่วที่เสียทิ้ง แล้วล้างถั่วให้สะอาด แช่น้ำอุ่นทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน จากนั้นนำผ้าขาวบางวางไว้ที่ก้นของภาชนะ จากนั้นพรมน้ำให้ชุ่มทั่วผืน นำถั่วเขียวที่แช่น้ำไว้โรยบนผ้าขาวบางให้ทั่ว เมื่อโรยเมล็ดถั่วเขียวเสร็จแล้วใช้หนังสือพิมพ์ปิดลงไปในภาชนะให้มิด เพื่อไม่ให้ถั่วโดนแสงแดด ไม่อย่างนั้นถั่วงอกจะแตกใบสีเขียวเร็วไม่น่ากิน รดน้ำให้ชุ่มทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงโดยใช้กระบอกฉีด ประมาณ 3-4 วัน ถั่วงอกจะโตขึ้นมาพอที่จะรับประทานได้แล้ว
  2. โหลแก้วหรือขวดกาแฟ
    วิธีนี้เป็นเหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอกรับประทานกินเองในครอบครัวต่อ 1 มื้ออาหาร เพียงเราใช้โหลแก้วหรือ ขวดกาแฟเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นภาชนะเพาะถั่วงอก ก็จะได้ถั่วงอกที่มีความอวบอ้วนกว่าที่เพาะในถาดพลาสติก โดยวิธีการเพาะเริ่มต้นจาก การล้างถั่วเขียวให้สะอาด แช่ในน้ำอุ่นไว้ 1 คืน หลังจากนั้นเทถั่วเขียวลงในขวด แล้วใช้ผ้าขาวบางหรือตาข่ายไนล่อนปิดปากขวดแล้วใช้หนังยางรัดให้แน่น วิธีการรดน้ำคือ เปิดน้ำใส่ขวดผ่านผ้าขาวบางหรือตาข่ายไนล่อน ให้ท่วมถั่วเขียว แล้วเทน้ำทิ้ง ทำประมาณ 2-3 ครั้ง จนเมล็ดถั่วชุ่มน้ำ แต่ระวังอย่าให้มีน้ำท่วมขังอยู่ในขวด นำขวดแก้วใส่ในถุงกระดาษหรือถุงดำ หรือนำกระดาษมาห่อเพื่อไม่ให้ขวดโดนแสงสว่าง รดน้ำให้ชุ่มทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ประมาณ 3-4 วัน ถั่วงอกจะโตแน่นเต็มขวด ค่อย ๆ นำถั่วงอกออกจากขวด สามารถนำไปรับประทานหรือปรุงอาหารได้

ข้อแนะนำ สำหรับใครที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลารดน้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรือช่วงเวลากลางคืน ก็สามารถรดน้ำ เช้า เย็น ก่อนนอนได้ แต่ถั่วงอกที่ได้อาจจะโตไม่สมบูรณ์เท่ากับถั่วงอกที่ได้น้ำบ่อย ๆ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ถั่วงอกปลอดภัยไว้รับประทานเอง ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการพึ่งพาตนเองง่าย ๆ สำหรับคนเมือง

ภาพ : กรชชนก หุตะแพทย์