ปลายเดือนเมษายน 2564 ที่แม้ในบ้านเราจะวิตกหมกมุ่นอยู่กับตัวเลขไม่น่าพึงพอใจของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนแทบไม่มีกะจิตกะใจจะติดตามข่าวสารอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนั้น) แต่สุดท้าย โลกก็ต้องหมุนกันต่อไป และแน่นอน พวกเราก็ต้องใช้ชีวิตกันต่อไป โดยไม่ลืมหน้าที่สำคัญคือ ดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กับดูแลโลกนั่นเอง 

และปลายเดือนเมษายนที่เกริ่นไว้ตอนต้น ก็มีวันสำคัญวันหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบว่ามีอยู่ในโลก นั่นก็คือวัน Stop Food Waste Day ที่เกิดขึ้นโดยการริเริ่มของ Compass Group เมื่อปี 2017 ก่อนที่จะกลายเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกในปี 2018 เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN 

แล้วเห็ดไปเกี่ยวอะไรกับความยั่งยืนของโลก? ทำไมเห็ดไม่อยู่ส่วนเห็ด เรื่องนี้เรามีรายงานพิเศษมาเล่าให้ฟัง 

เริ่มจากบทความของ Foodvoices ที่เป็นสื่อที่รายงานข่าวสารเรื่องวงการอาหารและความยั่งยืนต่างๆ เขาเพิ่งเขียนประเด็นในเรื่องที่ว่า Stop Food Waste Day reveals shocking UK statics (วันแห่งการหยุดความสิ้นเปลืองทางอาหารเผยสถิติอันน่าตกใจในสหราชอาณาจักร) ซึ่งก็น่าตกใจจริงๆ นั่นแหละ เพราะในแต่ละปี ประเทศเขาต้องมีการสิ้นเปลืองทางอาหารไปกว่า 4.5 ล้านตัน และถ้าอ้างอิงจากตัวเลขนี้ เท่ากับว่าโดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนในประเทศอังกฤษทิ้งๆ ขว้างๆ อาหารที่อาจจะกินเหลือ หรือหมดอายุไปเปล่าๆ ราวๆ บ้านละ 700 ปอนด์ต่อปี หรือเกือบ 30,000 บาท 

แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปีนี้ มีการประกาศล็อกดาวน์กันทั่วหน้า ประชาชนต้องยอมกักตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน แน่ละว่าหลายคนเบื่อ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตและการพึ่งพาตัวเอง รวมทั้งการรักษาสุขภาพให้ดีด้วย ผู้คนก็เลยเริ่มหันมาปลูกผักกันในสวนหลังบ้าน หรือปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ เท่าที่มี เพื่อทำอาหารกินเองในครอบครัว และเห็นความสำคัญของอาหารและการไม่เหลือทิ้งมากขึ้น มีผลการสำรวจออกมาด้วยว่า 84% ของประชากรเริ่มมีแนวคิดว่า food waste เป็นปัญหาระดับชาติ 

ด้วยเหตุนี้เอง เห็ดก็เลยกลายเป็นพืชผักที่ผุดขึ้นมาเยอะมาก โดยไม่ต้องเปรียบเปรยให้ซ้ำซ้อนว่า ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด เหตุผลก็เพราะว่า เห็ดเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย และสามารถปลูกในอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ปิด โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลมากนัก ทั้งวัสดุสิ่งของจำเป็นในการปลูก น้ำ และพลังงานต่างๆ ก็ไม่เปลืองด้วย เขาเทียบให้เห็นอีกด้วยว่า ถ้าเป็นอะโวคาโด ต้องใช้น้ำในแต่ละปีมากถึง 25 ล้านคิวบิกเมตร หรือเทียบกับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกประมาณ 10,000 สระ 

เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับรายงานใน the International Journal of Life Cycle Assessment ของฝั่งอเมริกา ที่เห็นว่า

เห็ดคืออาหารที่ยั่งยืน เพราะมีกระบวนการปลูกที่ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรโลก หรือมี sustainable practices

ยกตัวอย่างเช่น เห็ดหนักหนึ่งปอนด์ ใช้น้ำแค่ 1.8 แกลลอน และใช้พลังงานแค่ 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่ากับปล่อยคาร์บอนแค่เพียง 0.7 ปอนด์ (1 ปอนด์ เท่ากับ 0.45 กิโลกรัม) เท่านั้น หรือถ้าต้องใช้พื้นที่ปลูกมากขึ้น ก็ไม่ได้มากจนเดือดร้อน เพราะพื้นที่แค่ 1 เอเคอร์ (ประมาณ 2.53 ไร่) ก็ปลูกเห็ดได้น้ำหนักรวมกว่า 1 ล้านปอนด์ หรือ 450,000 กิโลกรัม หรือ 450 ตัน ก็แล้วกัน คำนวณง่ายๆ 

เรียกว่านอกจากจะ ไม่เป็นภาระหรือเบียดเบียนโลกแล้ว เห็ดยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายอีกด้วย เช่น มีวิตามินดีสูง ซึ่งประโยชน์คร่าวๆ ของวิตามินดี ก็คือ ช่วยในเรื่องบำรุงกระดูก กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังเป็นพืชผักที่หาง่าย มีขายตลอดทั้งปี ราคาไม่แพง เป็นส่วนประกอบในอาหารได้แทบทุกชนิด ทุกเมนู ตั้งแต่เมนูตอนเช้าถึงเย็น แถมยังเป็นพืชที่กินได้หมดทุกส่วน แทบไม่ต้องเหลือทิ้ง เรียกว่าเป็น sustainable nutrition ไปเลยเห็นๆ ประเสริฐกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว 

ปิดท้ายด้วย สมาคมผู้ปลูกเห็ดทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ต่างก็ออกมายืนยันว่า หลังจากที่ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคเห็ดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด รายได้จากการเพาะเห็ดขายจึงเพิ่มขึ้นตามมา 

พวกเขาจึงลงความเห็นว่า เห็ดคือฮีโร่ด้านอาหาร ตัวจริง ไม่ได้โม้ และถึงตรงนี้ มนุษย์ที่รักและชอบกินเห็ด คงต้องฉลองด้วยอาหารจานเห็ดกันสักหลายๆ มื้อแล้วเพื่อฮีโร่ของเรา 

ที่มาข้อมูล:
www.foodvoices.co.uk
www.mushroomcouncil.com

เครดิตภาพ: 123rf