สมัยเด็กยังจำกันได้ไหมว่า ในวิชาวิทยาศาสตร์ เราจะได้เรียนกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ตอนนั้นได้แต่ท่องจำว่าพืชต้องการแสงแดด น้ำ และใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาปรุงอาหารและปล่อยออกซิเจนออกมา ถึงตอนนี้เมื่อได้มาลงมือปลูกผักเอง ถึงได้ค่อยๆ เข้าใจกระบวนการทำงานของพืชว่า

สิ่งที่เราท่องมาตั้งแต่เด็กนั้น เป็นสิ่งที่พืชผักต้องการใช้ในการเจริญเติบโต ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป พืชผักก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงแดด ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญรองลงมาจาก ดิน เนื่องจากผักส่วนใหญ่ต้องการแสงแดดอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักจีนและผักต่างชาติ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดขาว เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ผักคอส มะเขือเทศ พริก เป็นต้น ส่วนผักสวนครัวชอบแดดรำไร คือไม่ต้องการแสงแดดเท่ากับผักที่กล่าวมาข้างต้น เช่น กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ตำลึง ใบบัวบก ตะไคร้ มะกรูด ชะพูล วอเตอร์เครส ผักชีฝรั่ง ใบเตย ฯลฯ

เมื่อเรารู้จักนิสัยใจคอความชอบแสงแดดของผักแต่ละชนิดแล้ว ต่อมาเราลองดูบริเวณบ้านของเราว่าพื้นที่ตรงไหนมีปริมาณแสงแดดเป็นอย่างไร

บ้านจัดสรรที่เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นแปลงผักได้

เราลองพิจารณาใช้พื้นที่ว่างบริเวณหน้าบ้าน หลังบ้าน หรือข้างบ้านที่มีแสงแดดส่องถึงนานอย่างน้อยครึ่งวัน หากมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ อาจจะต้องเล็มกิ่งไม้ใหญ่เพื่อให้แสงแดดส่องถึงบริเวณที่จะทำการปลูกผัก หรือจะต้องเลือกชนิดของผักที่ชอบแดดรำไรมาปลูก

หากนักปลูกต้องการทำแปลงปลูกผัก ควรทำแปลงในทิศแนวเหนือใต้ หรือที่เรียกว่า ทำแปลงขวางตะวัน เพื่อแปลงผักของเราจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน

แต่ถ้าไม่มีพื้นที่จริงๆ หรือลักษณะของพื้นที่บังคับให้ต้องวางแปลงทางแนวตะวันออก ตะวันตก ก็ไม่เป็นไร แต่จะทำให้ผักในแปลงได้รับแสงแดดไม่เท่ากัน ส่งผลให้ผักของเราเจริญเติบโตได้ดีไม่เท่ากันนั่นเอง วิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่ต้องทำแปลงปลูกผักแนวนี้คือ ทำแปลงเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแทน

ปลูกได้ทุกที่ แม้จะมีที่แค่ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว หอพัก หรือคอนโดมิเนียม

ซึ่งมีพื้นที่ว่างในการปลูกผักน้อย อาจมีพื้นที่หน้าบ้าน ริมหน้าต่าง หรือริมระเบียง เราคงต้องเลือกการปลูกผักในภาชนะ ปลูกผักแนวตั้ง ปลูกผักริมกำแพง โดยเลือกวางภาชนะปลูกผักในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดมากที่สุด ข้อดีคือเราสามารถเคลื่อนย้ายภาชนะปลูกผักไปบริเวณที่มีแสงแดดได้ ข้อเสียคือ เราอาจจะต้องหมั่นคอยดูแลเคลื่อนย้ายตำแหน่งภาชนะปลูกผักของเราบ่อยๆ

สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีดาดฟ้า น่าจะเป็นข้อดีของนักปลูกผัก เนื่องจากไม่ต้องมากลุ้มใจเรื่องแสงแดดว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ เพราะบริเวณดาดฟ้าเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเต็มๆ ตลอดทั้งวันอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ แสงแดดจะรุนแรงหรือแสงแดดจัดจนเกินไป เพราะนอกจากผักจะได้ความร้อนจากแสงแดดแล้ว ยังได้รับความร้อนจากพื้นปูนบนดาดฟ้าและความร้อนจากสภาพแวดล้อมตัวอาคารโดยรอบอีกด้วย ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ

เราควรหาตาข่ายเป็นหลังคากรองแสงให้ให้กับพืชผัก หรืออาจจะทำเป็นซุ้มไม้เลื้อย ปลูกบวบ น้ำเต้า ฟัก แฟง เพื่อให้เป็นหลังคาธรรมชาติให้แก่พืชผักที่ปลูกอยู่ในกระถางหรือในแปลงด้านล่าง

อีกสิ่งหนึ่งสำหรับนักปลูกที่ต้องการปลูกผักบนดาดฟ้าคือ คำนึงถึงความแข็งแรงของพื้นดาดฟ้าที่จะสามารถรับน้ำหนักภาชนะปลูกผัก ทั้งที่เป็นกระถาง หรือเป็นกระบะปลูกผัก และต้องคำนึงถึงการระบายน้ำหรือการรั่วซึมของน้ำบนดาดฟ้าที่จะลงไปสู่ที่พักอาศัยด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครยังรู้สึกว่าแสงแดดยังคงเป็นปัญหาสำหรับการปลูกผักอยู่แล้วละก็ ลองมาปลูกผักโดยใช้แสงจากหลอดไฟแอลอีดีทดแทนแสงอาทิตย์ดู โดยวางกระถางผักห่างจากหลอดไฟประมาณ 10-20 เซนติเมตร เปิดหลอดไฟตามระยะเวลาที่ผักต้องการเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเปิดหลอดไฟไว้ทั้งวันทั้งคืน จากประสบการณ์ที่ทดลองปลูกผักจากหลอดแอลอีดีแสงสีขาวนั้น ผักสามารถเจริญเติบโตได้แต่อาจจะได้ไม่ดีเท่ากับแสงธรรมชาติ แต่วิธีนี้ก็เหมาะสำหรับการปลูกไมโครกรีน (ผักจิ๋ว) และการเพาะต้นอ่อน ที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาแสงแดดไม่พอในช่วงหน้าฝนได้อย่างดีเลยทีเดียว

ถ้านักปลูกลองพิจารณาและทำความเข้าใจเรื่องแสงแดดจากข้อมูลที่เล่ามา คิดว่าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว ขอให้เรารู้จักนิสัยผัก รู้จักพื้นที่ปลูกผัก แล้วนำสองสิ่งนี้มาพบกัน แล้วถ้าไม่ได้ก็ค่อยเอาเทคโนโลยีตัวช่วยแสงไฟมาทดแทน ยังไงเราก็ได้กินผักฝีมือตัวเองแน่นอนเลย

ภาพถ่าย: กรชชนก หุตะแพทย์, ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, ศวิตา แสงน้ำเพชร