อำเภอแม่แจ่ม เป็นเสมือนด่านหน้าของการต่อสู้กับพืชเชิงเดี่ยว ทุกสรรพกำลังและงบประมาณถูกทุ่มลงในพื้นที่แห่งนี้ เราอาจจะเคยได้ยินชื่อแม่แจ่มโมเดล แต่หนึ่งในพื้นที่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อ.กัลยานิวัฒนา เพราะที่นี่มี “แม่แดดน้อย” ตำบลเล็ก ๆ บนพื้นที่ต้นน้ำแม่แจ่ม เดิมทีก็เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่แจ่มแต่เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลมาก คนในพื้นที่เล่าว่า หากคนที่แม่แดดน้อยจะเดินทางไปที่ทำการอำเภอแม่แจ่มต้องใช้เวลาถึงสองวัน ทว่าวันนี้พื้นที่ห่างไกลท่ามกลางธรรมชาติแห่งนี้เอง ที่สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการปกป้องพื้นที่ให้พ้นโพยภัย ก็คือ “คนในพื้นที่” นั่นเอง

เรามักฟังนักวิชาการจากนอกพื้นที่เพราะเชื่อว่าความรู้ (Knowledge) จะแก้ปัญหาได้แต่ไม่ใช่เลย การแก้ปัญหาในพื้นที่ต้องการ Wisdom และ Wisdom อยู่กับคนในพื้นที่เสมอ ทำไมมะเป้งคิดแบบนี้เพราะเคยทำงานกับพื้นที่ในเรื่องไฟป่าและจัดมื้อดินเนอร์ชื่อ “ป่าเขาลมหายใจเรา” เพื่อระดมทุนหาอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับ 7 ชุมชน ซึ่งตอนแรกเราก็คิดว่าแต่ละชุมชนจะมีความต้องการเหมือนกัน แต่พอไปถามแต่ละที่ว่าอยากได้อะไรปรากฏว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการต่างกัน เหตุผลเพราะการควบคุมไฟในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน คนในพื้นที่รู้ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่เวลาคนนอกพื้นที่เข้ามาแล้วมาบอกว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่มันกลับล้มเหลว

พื้นที่ที่เราทำงานด้วยประสบความสำเร็จเพราะเรารับฟัง เราให้คนในพื้นที่ได้ทำวิธีที่เขาต้องการ

พื้นที่ที่เราทำงานด้วยประสบความสำเร็จเพราะเรารับฟัง เราให้คนในพื้นที่ได้ทำวิธีที่เขาต้องการ แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องยากของคนที่มีอำนาจในมือ เพราะคงลำบากที่จะฟังชาวบ้านที่ไม่ได้มีวุฒิการศึกษา แต่คนในพื้นที่ที่รักและห่วงแหนธรรมชาติรอบ ตัว ขาไม่ยอมให้ไฟเข้าบ้านพวกเขาหรอก อย่างที่บ้านป่าเกี้ยะ แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านอาข่า ผู้นำหมู่บ้านคือ พ่อหลวงมานพ เขาบอกว่าต้องการทางรถมอเตอร์ไซค์ เพราะไฟมาจากสามทางมาบรรจบกันตรงจุดนั้นเดินไป 45 นาที มันไม่ทัน เราก็สนับสนุนค่าแรงงานและอาหารให้คนที่มาเอามื้อ (การลงแรงร่วมกัน) ในการสร้างทาง ที่ดอยช้าง จ.ลำพูน เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ ดีปุนุ๊ หัวหน้ากลุ่มเยาวชนบอกว่า พื้นที่ของพวกเขาต้องการน้ำ เพราะเชื้อไฟไม่เหมือนที่อื่น ในจุดที่ไฟโหมมาจะใช้น้ำอย่างไร พวกเขาจึงออกแบบนำเอาถัง 200 ลิตร มาต่อทางน้ำเข้าออกแบบอนุกรมแล้วรองน้ำฝนเก็บไว้จากช่วงหน้าฝน

สิ่งที่มีค่าที่สุดในการจัดการไฟในพื้นที่คือความเข้าใจสภาพพื้นที่และมันอยู่กับคนในพื้นที่เสมอ นี้คือการจัดการปัญหาไฟป่าเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่จะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ให้ออกแรงปกป้องพื้นที่คือความภูมิใจและการที่พื้นที่ของพวกเขามีคุณค่า

อำเภอกัลยานิวัฒนา ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวในกระแสด้วยลักษณะของที่ตั้งที่ห่างไกล เข้าออกพื้นที่ได้ไม่กี่ทาง เรียกว่าเป็นเมืองปิด ไม่ได้มีโครงสร้างที่ดีของการท่องเที่ยว แต่ด้วยสิ่งเหล่านี้กลับทำให้พื้นที่นี้มีเสน่ห์สำหรับนักเดินทางบางกลุ่ม ที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายจากโลกใบเดิม จนมีผู้กำกับเอาไปเขียนเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง “Low Season” ที่ผู้คนที่เดินทางได้มาใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้าน ดูเลเล (Doolaylay)

เมื่อเกิดการตามรอยภาพยนตร์ขึ้น ก็มีคนมากมายทิ้งวิถีเดิมเข้ามาสู่การทำ Homestay หลงไปกับคำว่าท่องเที่ยวชุมชนโดยไม่ได้รู้ถึงแก่นของการทำเรื่องนี้เลย กู้หนี้ยืมสินมาสร้างที่พักมากมาย กับชุดความเชื่อที่ว่า “ยังไงก็ขายได้”

พอเจอวิกฤติโควิดเข้าไป ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย หลาย ๆ ที่ก็เลิกไป จนคนในพื้นที่ต้องตั้งคำถามถึงความยั่งยืน ว่าจุดไหนคือจุดสมดุล ในขณะที่ก็มีคนในพื้นที่ที่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ และต้องกลับบ้านเมื่อมีวิกฤตโควิด ทุกครั้งที่ในเมืองใหญ่เกิดวิกฤติ เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง หรือโควิด ชนบทจะเป็นพื้นที่รองรับคลื่นคนที่กลับบ้านเสมอ

พวกเขาตั้งใจอยากทำให้ที่พักเหล่านี้ก่อเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่สูญเสียวิถีการดำเนินชีวิต

มะเป้งได้ไปกับกลุ่ม Chiangmai Trust ที่เข้าไปช่วยชุมชนออกแบบพื้นที่รองรับนี้กัน แต่ที่ตำบลนี้ยังมีโฮมสเตย์ มีสถานที่ที่ใช้จิตวิญญาณของปกาเกอะญอโอบอุ้มผู้เดินทางอีกเยอะ ชื่อของที่พักก็จะเป็นภาษาที่ไพเราะและมีความหมายดี เช่น ดูเลเล แปลว่า ห้วงคำนึง กวาทอชา แปลว่า แหงนมองดาว โกวาเด แปลว่ากิ่วลม และ นานากรู แปลว่า เชื่อมความสุข ทุกชื่อที่พูดมาเป็นที่พักที่มีลักษณะเฉพาะตามความหมายในภาษาปกาเกอะญอ และพวกเขาตั้งใจอยากทำให้ที่พักเหล่านี้ก่อเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่สูญเสียวิถีการดำเนินชีวิต พูดง่ายง่ายไม่อยากทิ้งนาทิ้งไร่มาทำที่พัก และสูญเสียตัวตนผ่านการท่องเที่ยวที่เป็นกัน

นานากรู โดยสมิวาและฟิลลิป เขาบอกว่า ข้าวคือสิ่งที่ยังยึดโยงความเป็นปกาเกอะญอกับตัวเขา สายพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่เขากินชื่อว่า “บือพะโดะ” จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่เชื่อมต่อให้เขาได้ชักชวนคนมาใช้ชีวิตเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ ได้กินข้าวที่เขาปลูกเอง สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหาร และผู้มาเยือนจะได้เห็นพื้นที่ในหลายช่วงเวลา (สามช่วงเวลา) ผันเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ได้มาดำนา มานอนเฝ้าต้นข้าว มาเกี่ยวข้าว

พอมีส่วนร่วมก็มีความหวงแหนร่วมไปกับคนในพื้นที่

มะเป้งเองเมื่อมาดำนาแล้ว ก็อยากมาฟังเสียงต้นข้าวที่เต้นระบำกับสายลมและก็อยากมาเกี่ยวข้าว อยากกินข้าวที่มีส่วนร่วม พอครบวงรอบปีก็มีความผูกพันกับพื้นที่ เพราะชีวิตที่นานากรูมันช่างสงบและเขียวขจี พอมีส่วนร่วมก็มีความหวงแหนร่วมไปกับคนในพื้นที่ สิ่งนี้แหละคือพลังคือความแข้มแข็งของคนในพื้นที่และเขาไม่ได้ทิ้งวิถีดั้งเดิมมาทำการรท่องเที่ยว เขาเอาการท่องเที่ยวไปอยู่ในวิถีเดิมเขา ซึ่งมันคือวิถีที่ยั่งยืน

ถ้าเลยแม่แดดน้อยลึกเข้าไปเป็นบ้านจันทร์ ก็มี Thepoe (เด๊อะโพ) ของคลี หนุ่มนักดนตรีที่ใช้ดนตรีเป็นเส้นเชื่อมของผู้มาเข้าพัก เป็นประสบการณ์ที่ดีมากนอนรอบกองไฟ ฟังศิลปินเล่นดนตรีให้ฟัง การได้เข้ามาใช้ชีวิตที่บ้านของคลีก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของปกาเกอะญอเช่นกัน คลีเองก็ทำเพลงเป็นหลักแต่ก็มีโฮมสเตย์ในช่วงที่ว่าง คนที่อยู่ได้คือรู้จักตัวเอง รู้จุดแข็งและหาสมดุลเจอ

ถัดเข้าไปอีกก็มีพื้นที่ของแสนชัย ที่ทำเรื่องกาแฟ ก็ทำกาแฟเป็นหลักและทำเรื่องการเรียนรู้เพื่อเสริม สิ่งเหล่านี้คือการป้องกันการรุกคืบของการปลูกพืชเชิงเดียวได้ที่ที่สุด และการเชื่อมโยงกันของเครือข่ายในพื้นที่ที่แบ่งปันแวะเวียนกัน เติมจุดแข็งของเราให้เพื่อนที่ทำโฮมสเตย์ในวิถียั่งยืนด้วยกัน

อย่างล่าสุดท่านนายอำเภอกัลยานิวัฒนา เป็นชาวปกาเกอะญอ นี้เป็นส่วนผสมที่น่ายินดีที่สุด ทางเกษตรกรกาแฟที่บ้านจันทร์กับกลุ่มสหายกาแฟก็ได้ร่วมกันจัดเทศกาลกาแฟของกัลยานิวัฒนา ให้เกษตรกรในพื้นที่มีความภูมิใจกาแฟในพื้นที่ของตัวเอง เพราะกาแฟจากกัลยานิวัฒนาติด 1 ใน 10 ของเวทีประกวดกาแฟไทย ของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย (Special Coffee Association of Thailand) ทุกปี นั่นเพราะที่นี่มีธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่งดงาม โดยในงานมีการแข่งชงกาแฟกัล (Brewer cup) ของคนในพื้นที่

ทั้งหมดที่เล่ามา คือการป้องกันไฟป่าและพืชเชิงเดียวที่ดีที่สุด เพราะเป็นการป้องกันที่เกิดจากการสร้างความรักและความภูมิใจในพื้นที่ของตนเองให้กับคนในท้องถิ่น โดยที่คนและความรู้จากภายนอกทำหน้าที่สนับสนุนและเติมเต็มในเรื่องที่คนในพื้นที่ต้องการจะทำ โดยการมีส่วนร่วมของคนนอกเราเองก็ได้ความผูกพันกับพื้นที่และคนในพื้นที่ไปด้วย เมื่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติยังคงอยู่มันก็ส่งผลดีต่อพวกเราทุกคน เพราะเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมมีส่วนสนับสนุนได้ไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานหรือใครคนใดคนหนึ่ง

ขอบคุณภาพ
– ดูเลเล www.facebook.com/doolaylay.homestay
– เด๊อะโพ www.facebook.com/baan.thepoe
– นานากรู www.facebook.com/profile.php?id=100076008617308
– สหายกาแฟ www.facebook.com/friendstrade.th
– ป่าเขาลมหายใจเรา www.facebook.com/ourmountainourbreath