ในแต่ละวันทุกคนเคยสังเกตกันไหมว่า เรากินอาหารเหลือทิ้งกันหรือเปล่า หรือปล่อยให้วัตถุดิบในตู้เย็นเน่าเสียไปบ้างไหม เพราะนั่นอาจทำให้เราเป็นอีกส่วนหนึ่งในการสร้าง ‘Food Waste’ หรือขยะจากเศษอาหาร ซึ่งปัญหานี้นำมาสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม

Greenery. และ WWF Thailand จัดกิจกรรม Greenery Journey ตอน ตาดู หูฟัง ลิ้มรสกับภาพยนตร์ WASTECOOKING กันที่ Documentary Club ด้วยการชวนเพื่อน ๆ มารู้จักกับปัญหาขยะอาหาร ผ่านการดูหนังสารคดี พร้อมฟังเสวนากับ แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry และพลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ จาก Scholars of Sustenance Thailand – SOS Thailand องค์กรผู้ช่วยชีวิตอาหารเหลือจากทั่วไทยเพื่อกลุ่มเปราะบาง ที่ทั้งคู่มาร่วมแชร์ไอเดียและนำเมนูพิเศษจากอาหารเหลือทิ้งมาเสิร์ฟให้ผู้มาร่วมกิจกรรมได้ชิมกันอีกด้วย

1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตทั่วโลก ลงเอยด้วยการเป็นขยะ
Greenery Journey ครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการพาเราไปสำรวจสถานการณ์อาหารเหลือทิ้งว่าเราทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร หรือจะสามารถปรับพฤติกรรมการบริโภค เพื่อโลกที่ยั่งยืนอย่างไรได้บ้าง ผ่านหนังสารคดี WasteCooking : Make food,not waste.

ภาพยนตร์เปิดประเด็นด้วยชุดตัวเลขที่น่าตกใจของรายงานของสหประชาชาติ ที่บอกว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตทั่วโลกนั้นลงเอยด้วยการเป็นขยะ ก่อนจะพาเราร่วมเดินทางไปกับ เดวิด กรอสส์ พ่อครัวและนักเคลื่อนไหวด้านอาหาร ที่ออกเดินทางพร้อมรถสุดพิเศษของเขาที่เติมด้วยน้ำมันพืชเหลือใช้ไปทั่วยุโรป พร้อมสาธิตการนำ “ขยะอาหาร” มาปรุงเป็นอาหารมื้อใหม่

เดวิด เริ่มด้วยการสำรวจขยะอาหาร ทั้งการคุ้ยถังขยะซูเปอร์มาร์เก็ต ตู้เย็นในบ้าน เพื่อกอบกู้วัตถุดิบอาหารที่ยังมีสภาพดีมาทำเป็นอาหารมื้อใหม่ ตั้งแต่บ้านเกิดของตัวเอง อย่าง ออสเตรีย ต่อด้วย เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส โดยตลอดเส้นทางเขาได้พบผู้คนจากหลากหลายอาชีพมาร่วมปรุง ร่วมชิมอาหารจากขยะไปกับเขาด้วย

แหล่งขยะอาหารที่เดวิดพาผู้ชมอย่างเราออกเดินทางไปด้วยกัน นั้นน่าตะลึงไม่ใช่น้อย แถมใกล้ตัวเอามาก ๆ กับภาพขยะอาหารค้างตู้เย็น ที่ผู้คนมักซื้ออาหารมาตุนไว้จนลืมและใช้ไม่ทัน ซึ่งเดวิดกับเชฟที่ร่วมสำรวจขยะอาหารได้กอบกู้วัตถุดิบอาหารที่เหลือทิ้งจากตู้เย็นในบ้านมามากมาย จนทำอาหารเลี้ยงคนได้ทั้งตึก

มากกว่าขยะจากตู้เย็น ยังมีแหล่งสร้างขยะอาหารอีกมากมาย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ทำงานรัฐสภา ในแปลงเกษตร บนเรือประมง ตลาดประมูลปลา ที่วัตถุดิบถูกทิ้ง เพราะหน้าตาไม่สวยตามเกณฑ์ รูปร่างไม่ได้สัดส่วน จำหน่ายไม่หมด หรือแม้แต่ผลไม้ท้องถิ่นที่เน่าเสียจำนวนมาก ที่นักรณรงค์เรื่องอาหารในสารคดีได้แชร์วิธีการนำมาดัดแปลงเป็นอาหาร อย่างต้นเวเจลวีด เก็บไปทำแยมได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 300 ยูโร

กล่าวอย่างรวบรัด คือ Waste Cooking สื่อสารให้เราได้เห็นการใช้วัตถุดิบอาหารให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้ ตั้งแต่ เลี้ยงอาหารคน ให้อาหารสัตว์ พลังงานทดแทน ทำปุ๋ยหมัก และข้อสะกิดใจดี ๆ ในหนังที่บอกว่า เราทิ้งอาหารกันง่ายดายเพราะเราใช้เงินซื้อ แต่ถ้าเราทำเอง เราจะทิ้งอาหารยากขึ้น

ผู้บริโภคสามารถกำหนดได้ว่า Food Waste จะมากน้อยแค่ไหน
หลังจบจากการดูหนัง ก็ถึงช่วงฟังเสวนาดี ๆ โดย แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry ที่ไม่เพียงแค่รีวิวอาหารธรรมดา แต่ยังรณรงค์เรื่อง #กินหมดจานใน TikTok ที่มียอดวิวกว่า 80 ล้านวิว ด้วยความเชื่อว่าเรื่องความยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ จุด จึงอยากสื่อสารกับผู้คนว่าทำอย่างไรให้ปัญหาขยะอาหารลดลง ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้

อีกทั้งแพรยังแชร์เพิ่มเติมว่า ปัญหาขยะอาหารนั้นส่งผลอย่างมากกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราสามารถมีส่วนหนึ่งช่วยจัดการปัญหานี้ได้ เช่น ดูวันหมดอายุ และวางแผนการบริโภค แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนในหนังที่สื่อให้เราเห็นว่า บางทีของที่หมดอายุแล้วเราก็ยังสามารถกินได้ เพียงต้องสังเกต รูป รส กลิ่น สี

“อีกอย่างที่ผู้บริโภคอย่างแพรทำ คือแพรอยากชวนคนมาแปลงร่างอาหารของที่มีในตู้เย็น เอามาทำใหม่ เช่นแพรเคยเอามันบดที่เหลือทำเป็นโดนัทพอนเดอริง ข้าวเหนียวที่กินไม่หมดมาทำไดฟุกุ วิธีการที่เราจะลด Food Waste ส่วนตัวแพรคือ ต้นทาง ทำอะไรก็ได้ที่เราเหลืออยู่แล้วกินมันให้หมด”

“และแพรชอบคำหนึ่งในหนังที่บอกว่า ผู้บริโภคสามารถกำหนดได้ว่า Food Waste จะมากน้อยแค่ไหน เหมือนเราในฐานะผู้บริโภคสามารถสร้างมุมมองใหม่ ๆ กับฝั่งซูเปอร์ได้ คือถ้าเขาไม่ขายผักที่หน้าตาไม่สวย แต่ถ้าเราเดินไปบอกเขาว่า เอามาขายสิ ฉันซื้อนะ เขาก็อาจเปิดช่องว่างให้มากขึ้น อันนี้เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีผู้ซื้อ ผู้ขายเขายอมขายอยู่แล้ว ดังนั้นตอนนี้ไม่ใช่แค่เรารู้ แต่เราต้องเทคแอกชันบางอย่างออกไป และมันจะสามารถกำหนดอะไรบางอย่างกับโลกใบนี้ได้”

สำหรับพลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ จาก Scholars of Sustenance Thailand – SOS Thailand องค์กรผู้ช่วยชีวิตอาหารเหลือจากร้านค้าปลีก โรงแรม และอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เพื่อนำไปให้กับชุมชน ผู้ขาดแคลน รวมถึงผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ ได้ร่วมแชร์ประเด็นปัญหาขยะอาหารว่า ผลกระทบจากการทิ้งไม่ได้เกิดแค่ตอนปลายเท่านั้น

“สมมติเราซื้อข้าวเหนียวเนื้อทอดมาแล้วทิ้ง จริง ๆ ต้องย้อนไปถึงต้นน้ำ เกษตรกรปลูกข้าว เลี้ยงวัวมา มันส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้จ่าย การใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก การใช้ทรัพยากรน้ำจืด ที่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ซึ่งเป็นเหมือนการเสียทรัพยากรทั้งห่วงโซ่”

จากการทำงาน SOS พบว่าอาหารถูกทิ้งจากหลายสาเหตุมาก ซึ่งคล้ายกับในหนัง ทั้ง ผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สวย อาหารที่เลยวัน Best Before Date หรือแม้กระทั่งสาเหตุแปลก ๆ จากฉลากที่ถูกพิมพ์ผิด เช่น ตัว J เป็นตัว K ที่ต้องถูกทิ้งทั้งลอตทั้งที่ข้างในยังปกติดี หรือขนมปังในโรงแรมที่อาจอบจนสีน้ำตาลเข้มจนเกินไป

ภารกิจของ SOS นอกจากจะไปกอบกู้ขยะอาหารที่กำลังถูกทิ้ง เพื่อส่งต่อไปยังชุมชน ยังมีการจัดตั้งครัวชุมชน โดยทำงานร่วมกับชุมชนด้วย เพราะนอกจากอาหารสด ก็ยังมีอาหารที่ถูกผลิตออกมาเกินความต้องการ ที่ถูกตีตราว่าไม่มีมูลค่า เพียงเพราะหน้าตาสวยน้อยลงไปจากเดิม หรือบนฉลากบอกว่าหมดอายุแล้ว แต่ยังกินได้อยู่ “มีปัญหาหนึ่งช่วงโควิดที่มีผักจากซัพพลายเออร์นอกไม่สามารถขายได้ เพราะโรงแรมปิด เราก็ได้ทำงานกับชุมชนว่าเอาไปทำอะไรกันดี คุณป้าท่านหนึ่งก็แนะนำเอาไปทำส้มตำ หรือบางครั้งได้ซอสแปลก ๆ ของต่างประเทศมา ชุมชนก็พยายามนำมาดัดแปลงเป็นน้ำพริกบ้าง ก็เป็นอีกการทำงานที่เราพยายามทำงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้อาหารเหล่านั้นถูกทิ้งอย่างเสียเปล่า”

ทั้งนี้พลอยยังแชร์เพิ่มด้วยว่า การจัดการปัญหาขยะอาหารไม่สามารถทำคนเดียวหรือทำเพียงองค์กรเดียวได้ เพราะระบบอาหารเป็นห่วงโซ่ที่ใหญ่มาก ฉะนั้นทุกห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมจะต้องถูกขับเคลื่อนไปด้วยกัน

การกินของเราช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้
มากกว่าแนวทางในสารคดี และประสบการณ์จากวิทยากรที่ชวนให้เราเห็นปัญหาขยะอาหาร ตลอดการเสวนาเพื่อนร่วมกรีนหลาย ๆ คน ทั้งผู้ทำงานเกี่ยวกับชุมชน นักสื่อสารมวลชน เกษตรกร ผู้ทำด้านสื่อสารการตลาด ด้านสังคม ผู้ประกอบการ ยังได้แชร์ไอเดียการช่วยลด Food Waste ที่เราสัมผัสได้ถึงมวลพลังงานดี ๆ ของผู้คนที่มีหัวใจปรารถนาดีต่อโลก

เป็นต้นว่า การวางแผนการบริโภค การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเลือกหยิบขวดนมแถวหน้าจากที่เคยเอื้อมมือไปหยิบแถวหลังสุด ลองเลือกซื้อสินค้าที่อยู่ในกระบะโซนลดราคา จัดการขยะอาหารด้วยการนำมาทำเป็นปุ๋ย แปลงร่างอาหารเหลือเป็นของค้างขึ้นโต๊ะ เพิ่มมูลค่าของตกเกรดด้วยการแปรรูป ไปจนถึงชวนให้ผู้บริโภคช่วยกันส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนเชิงนโยบาย เพื่อโลกที่ดีขึ้นของเราทุกคน

นอกจากนี้ เอซ ธนบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ยังแชร์ถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าเป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน แต่เชื่อในเรื่องพลังของผู้บริโภคว่าเป็นเรื่องสำคัญ อาจเริ่มจากกิจวัตรเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นอีกเสียงที่บอกต่อ และเราจะสามารถสร้างระบบการมีชีวิตที่ยั่งยืนได้ด้วยการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งถ้าเสียงหรือพลังการกระทำของเรามากพอ ก็สามารถส่งผลต่อทั้งห่วงโซ่ได้

หลังจากเต็มอิ่มกับเสวนาดี ๆ ก็ถึงเวลาปิดท้ายกิจกรรมด้วยการนำเอาข้อพิสูจน์ของสารคดีมาใช้จริง โดยพลอย จาก SOS Thailand นำเอา “Surplus Food” หรือ “อาหารส่วนเกิน” ที่ไม่ถูกแตะต้องจากไลน์บุฟเฟ่ต์โรงแรม ซึ่งเป็นเบเกอรี่ ที่เรารู้สึกว่าหน้าตาไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เลย แถมรสชาติยังปกติและอร่อยมาก ๆ กินพร้อมเครื่องดื่มสูตรพิเศษ เทปาเช่ คอมบูฉะแบบเม็กซิโกอุดมไปด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติก ที่แพรหมักจากเปลือกสับปะรดแบบ Zero Waste แก้วนี้รสหวานอมเปรี้ยว ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ว้าวซ่าสุด ๆ

สำหรับ Greenery Journey ทริปหน้า Greenery. และ WWF Thailand จะไปกรีนต่อเรื่องอะไร รอติดตามกันได้ที่เพจ Greenery. กันไว้นะ

ภาพบรรยากาศ Greenery Journey ตอน ตาดู หูฟัง ลิ้มรสกับภาพยนตร์ WASTECOOKING