The Makanai : Cooking for the Maiko House หรือ เมนูบ้านไมโกะเป็นซีรีย์ญี่ปุ่นที่สร้างจากมังงะชื่อดัง ทั้งยังเคยสร้างเป็นอะนิเมะด้วย เป็นเรื่องราวการก้าวข้ามพ้นวัยของคิโยะและสุมิเระ-เด็กสาวสองคนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นไมโกะ (เด็กหญิงฝึกหัดเพื่อเป็นเกอิโกะและเกอิชาตามลำดับ) แม้โครงเรื่องหลักจะนำเสนอเบื้องหลังความเพียรและการอุทิศตนเพื่อฝึกฝนการเป็นไมโกะทั้งการจัดดอกไม้ การร่ายรำ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องละทิ้งความสบายในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ห่อหุ้มให้หนังเรื่องนี้มีความอบอุ่นด้วยรอยยิ้มตลอดทั้งเรื่องคือ “อาหาร” ที่เชื่อมร้อยตัวละครและทุกสถานการณ์ของผู้คนเอาไว้ด้วยกันอย่างเป็นสุข และนี่คือ 5 ข้อเรียนรู้ที่เราค้นพบจากซีรีย์เรื่องเมนูบ้านไมโกะ (เปิดเผยข้อมูลบางส่วน)

1. อาหารคือข้อความสำคัญที่ใครสักคนอยากสื่อสารกับเรา
ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอาหารที่น่าสนใจหลายอย่าง บ้างแตกต่างไปตามพื้นที่ ตอนเริ่มต้นเปิดเรื่องเราเห็นคุณยายทำซุปถั่วแดงนาเบ็กโกะกับดังโงะเพื่อแสดงความยินดีกับหลานสาวและเพื่อนสนิทที่เตรียมเดินทางไปเกียวโตเพื่อทำความฝันการเป็นไมโกะให้สำเร็จเพราะเมนูนี้เป็นตัวแทนของการเฉลิมฉลอง แม้แต่มันหวานเผาที่เพื่อนรักฝากให้ระหว่างเดินทางก็สื่อสารถึงการส่งความรู้สึกอบอุ่น (กายและใจ) เมื่อชีวิตต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง ลูกอมที่กัดแล้วมีรสเปรี้ยว คือการบอกเป็นนัยว่า “ฉันอยากให้เธอยิ้มได้ในวันที่ทุกอย่างอาจไม่เป็นอย่างใจ” อูด้งร้อนในวันป่วยไข้ คือ “ฉันเป็นกำลังใจและขอให้หายเร็ว ๆ” แซนด์วิชไส้ไข่ที่หั่นจิ๋วเป็นชิ้นเล็กพอดีคำในวันเพื่อนที่ได้เป็นไมโกะคือความรู้สึกที่บอกว่า “ยินดีกับเธอด้วยนะและนี่คือคำสัญญาที่ฉันไม่เคยลืม”

2. ความงดงามมักแฝงอยู่ในความธรรมดา
หลักการสำคัญที่มากาไนหรือผู้ปรุงอาหารในบ้านไมโกะควรยึดถือทำอาหารคือการทำให้ธรรมดา คำว่า “ธรรมดา” นั้นดูเรียบง่ายแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ อาหารจึงเป็นสิ่งรวมใจที่ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันแค่ไหน (มาจากพื้นที่ต่างกัน) ก็จะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ผ่านอาหารที่ทำรสชาติธรรมดาทว่าจับจิตจับใจ ดังบทสนทนาของเพื่อนที่กินอาหารแล้วตาวาวจนกล่าวว่า “กับข้าวของคิโยะนี่ธรรมดาแต่ก็อร่อยสุด ๆ เลย เข้าใจคำว่าธรรมดาแต่อร่อยใช่ไหม นั่นเป็นคำชมเลยนะ” หรือ “เป็นรสชาติที่กินแล้วสบายใจจัง”

มีคนกล่าวอยู่เสมอว่า อาหารที่อร่อยคืออาหารที่ผู้ปรุงใส่ใจและความรักลงไปในนั้น แม้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้แต่ก็น่าแปลกใจว่า บ่อยครั้งที่เราได้กินอาหารรสชาติบ้าน ๆ มักนำมาซึ่งความสบายใจ ความสุขและการคิดถึงวันคืนดีงามเหมือนได้กินอาหารฝีมือแม่นั่นเอง

3. อาหารคือจิตวิญญาณของผู้ปรุง
คิโยะได้รับจิตวิญญาณของการเป็นผู้สร้างสุขผ่านอาหารมาจากคุณยาย ที่แม้ทำอาหารธรรมดาก็เหมือนเป็นสิ่งวิเศษ ดูได้จากสีหน้าเคนตะที่กินข้าวปั้นห่อสาหร่ายฝีมือคุณยายในวันที่เพื่อนรักสองคนเดินทางจากไป หรือข้าวปั้นของคิโยะที่คนดูแลบ้านไมโกะได้กินรองท้องยามขึ้นศาลเจ้าบนยอดเขาสูง “คิโยะ..มือเธอต้องปล่อยอะไรออกมาแน่ ๆ เลย” เขากล่าวด้วยแววตาอิ่มเอมลึกซึ้งเกินกว่าจะกล่าวได้ว่าอาหารอร่อยเพียงใด หรือแม้แต่พ่อของสุมิเระที่เป็นหมอและคัดค้านการเป็นไมโกะของลูกสาวอย่างสุดกำลัง ยังต้องหลั่งน้ำตาเมื่อได้กินมะเขือม่วงต้มโชยุที่คิโยะปรุงให้ (มักมีความหมายชวนให้คิดถึงเรื่องวันวาน) อาจเพราะไม่ว่าพ่อลูกจะขัดแย้งกันมากแค่ไหนแต่ทั้งสองต่างมีความทรงจำเบื้องหลังที่งดงามร่วมกันมากมายเสมอ

4. ความอร่อยของอาหารที่มาจากการโอบอุ้มของสรรพสิ่ง
เคล็ดลับการทำอาหารอร่อยคือการเรียนรู้ฤดูกาลและกินทุกอย่างในช่วงเวลาของมัน ดังเช่นคนขายปลาแห้งและสาหร่ายที่บอกคิโยะว่า ต้องเรียนรู้เข้าใจและเลือกวัตถุดิบให้เหมาะสมนั่นเป็นเคล็ดลับความอร่อยแบบที่ไม่ต้องทำอะไรมากมายเลย มากไปกว่านั้นคือตระหนักว่าในอาหารก็มีจิตวิญญาณอยู่ในนั้น คิโยะจึงมักพูดกับอาหารเพื่อแสดงความเคารพ “สวัสดีจ้ะ” (ค่อยๆแง้มฝาที่แช่ปลาแห้งในสาหร่ายไว้ในน้ำเพื่อต้มซุปดาจิ) “ยินดีที่ได้รู้จักนะ” (เมื่อทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ไม่คุ้นเคย) หรือการบอกกับบ๊วยเค็มตากแห้งว่า “อีกสามวันจากนี้ฉันจะปกป้องทุกคนเองนะ”

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังเชื่อว่ามีเทพเจ้าต่าง ๆ ปกป้องคุ้มครองให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น แม้แต่เตาไฟในครัวก็จะมีเทพเจ้าแห่งเตาไฟดูแลอยู่ การขอเครื่องรางแผ่นป้าย “ระวังฟืนไฟ” จะไม่เพียงช่วยเพิ่มการตระหนักรู้ หากยังทำให้อุ่นใจว่าเทพเจ้าจะคอยดูแลคุ้มครองคนในบ้านตลอดทั้งปี

5. การกินข้าวด้วยกันคือความสุข
ที่บ้านไมโกะถือคติว่าทุกคนที่อยู่ร่วมกันเป็นเสมือนครอบครัว ช่วงเวลาของการได้กินข้าวพร้อมหน้ากันหัวเราะด้วยกันจึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง ซึรุโกะมะสมาชิกในบ้านไมโกะเอ่ยปากบอกคิโยะว่า “ฉันมีน้องอายุน้อยกว่าเก้าปี เวลากินอะไร เราก็จะแบ่งครึ่งกัน ฉันเลยนึกอย่างให้ถึงเวลาที่ฉันจะได้กินทุกอย่างคนเดียวเร็ว ๆ แต่ว่าพอถึงเวลานั้นจริง ๆ มันกลับเหงานิด ๆ” คิโยะจึงตอบกลับไปว่า “พอได้แบ่งของกินกับคนอื่น รสชาติมันก็จะดีขึ้นค่ะ” บางทีความสุขก็เป็นสิ่งที่ส่งต่อกันได้ในนามของความอร่อยจริง ๆ หากเราให้ความหมายของการกินข้าวด้วยกันเป็นเสมือน “การเฉลิมฉลอง” ในชีวิตนี้เราคงมีความสุขได้บ่อยครั้งขึ้น ขอบคุณได้มากขึ้น และรักได้มากขึ้นเช่นกัน

ขอให้ทุกคนได้กินอาหารที่ดีและมีความสุขในทุกมื้ออาหารนะคะ

หมายเหตุ : ซีรีย์ The Makanai : Cooking for the Maiko House มี 9 ตอน รับชมได้ทาง Netflix
ส่วนเวอร์ชั่นอะนิเมะรับชมได้ทาง www.bilibili.tv/th

ขอบคุณภาพจาก : Netflix ตัวอย่างไทย