หลายคนอาจรู้จักแบรนด์ แม่ฑีตา ในแง่มุมหลากหลาย บ้างได้ยินชื่อในฐานะแบรนด์ท้องถิ่นแห่งสกลนครที่สืบทอดวิธีการย้อมครามแบบดั้งเดิมของคุณยายฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ มาสู่รุ่นลูกอย่างป้าจิ๋ว ประไพพันธ์ แดงใจ ทีี่ทิ้งปริญญาและการงานในกรุงเทพฯ กลับมาทอผ้า ก่อนที่เด็กสาวรุ่นหลานอย่างมอญ สุขจิต แดงใจ จะหยิบจับผ้าย้อมครามที่เห็นมาตั้งแต่เด็กมาตัดเย็บเป็นงานแฟชั่นร่วมสมัย

บางคนอาจเคยเห็นแฟชั่นเซ็ตเท่ๆ ในหน้านิตยสาร เห็นภาพโปรโมทออนไลน์และคอลเล็กชั่นที่แปลกต่างไปจากผ้าไทยเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย บ้างเคยเห็นการออกร้านตามฟลีมาร์เก็ต ตลาดนัดสายกรีน ไปจนถึงงานแฟร์ระดับประเทศของร้านที่มีผ้าทอม้วนโตและเสื้อผ้าวางให้เลือกเพลินและตาแป๋วฟังวิธีการทอจากป้าจิ๋วที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความตั้งใจ

ในวันที่ผ้าครามเป็นกระแส ความแปลกต่างของแม่ฑีตารุ่นสามตอบอะไรมากกว่านั้น เราเห็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในคราม

มากไปกว่ากระแส เด็กสาวคนนี้เชื่อว่าครามคือทางรอดของโลก

มอญและครามรู้จักกันได้ยังไง
มอญโตในบ้านที่ย้อมครามมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย แต่ตอนนั้นผ้าครามไม่ใช่แค่ไม่ฮิต แต่โดนดูถูกเหยียดหยามประณามที่สุดถึงที่สุด คือตอนที่คุณแม่กลับมาเริ่มต้นทำผ้าย้อมคราม ตอนนั้นมอญเป็นเด็กประถมและค่อนข้างมีภาพจำที่แย่มากเกี่ยวกับผ้าย้อมคราม เพราะเรามักจะถูกเปรียบเทียบกับเพื่อน เด็กคนอื่นพ่อแม่เป็นข้าราชการนะ เป็นพ่อค้าที่บ้านรวยมีสตางค์นะ แต่เราคือลูกชาวสวน เพราะแม่เข้าแต่สวนคราม สวยฝ้ายทั้งวัน ทำตั้งแต่กระบวนการปลูก ปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใย ตีคราม ย้อม แล้วก็ทอเป็นผืน

ตอนที่ครูถามว่าแม่ทำงานอะไร มอญรู้สึกว่าเราไม่กล้าพูดว่าแม่เป็นเกษตรกร แต่ถ้าบอกไปว่าแม่ทำผ้าย้อมครามขายนี่ยิ่งหนักกว่าเป็นชาวสวนอีก เพราะภาพลักษณ์ของผ้าย้อมครามสมัยก่อนคือผ้าของชาวนา

ตอนที่แม่ไปขอกู้ธนาคารบอกว่าจะมาเริ่มทำธุรกิจผ้าย้อมคราม ทุกธนาคารในสกลนครปฏิเสธ บอกว่าไม่มีใครเขากู้เงินไปทำผ้ากันหรอก ยิ่งเป็นผ้าฝ้ายทอด้วยมือ ตอนนี้เราบอกว่ามันคืองานแฮนด์เมด แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ถูกยอมรับนะ ต้องผ้าแบบโรงงานสิ

ตอนนั้นเคยถามแม่ไหมว่าแม่ไปทำอย่างอื่นไหม
เคยถามค่ะ คุณแม่ทำไมไม่ไปค้าขายหรือไปทำอย่างอื่น แม่จบตั้งมช. นะ ในความรู้สึกของเรา แม่เท่จะตาย แม่จบ Geography มาทอผ้าทำไม แต่แม่ก็บอกว่าผ้ามันคือภูมิศาสตร์นะ คือพื้นดิน คือท้องฟ้า แม่เอาลายชั้นเมฆ ลายดินมาทำเป็นผ้า ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจหรอก (ยิ้ม)

แล้วมาเข้าใจและเห็นคุณค่าของครามตอนไหน
มอญเลือกเรียนสายศิลป์-ญี่ปุ่นตอน ม.ปลาย แล้วตอนม. 5 มีโอกาสไปซัมเมอร์สั้นๆ ที่ญี่ปุ่น ได้ไปเห็นผ้าย้อมครามของที่นั่น เราก็ตกใจมากเพราะว่าเราก็ไม่คิดว่ามันมีผ้าย้อมครามที่ไหนอีกนอกจากบ้านเรา แล้วก็มันก็แพงมาก ดูสูงส่ง ตอนไปมอญใส่เสื้อผ้าที่บ้านผ้าย้อมครามหมดเลย เพราะคุณแม่ไม่เคยซื้อเสื้อผ้าให้ ใส่แต่ผ้าที่บ้าน คนญี่ปุ่นก็สงสัยว่าเราเป็นใคร มาจากไหน บ้านรวยมากใช่ไหมที่ใส่ผ้าย้อมคราม มันก็เหมือนเปลี่ยนความคิดเรา รู้สึกว่ามันเป็นช่องทางการตลาดนะ ถ้าอยู่เมืองไทยขายไม่ได้ราคา งั้นมาขายที่ญี่ปุ่นดีกว่า คิดว่าอนาคตเราน่าจะเอาผ้าบ้านเรามาขายได้นะ เป็นการจุดประกายเล็กๆ ที่ทำให้เราวางอนาคตของตัวเองเอาไว้

แผนที่วางไว้เป็นยังไง
มอญคิดว่าเราไปเรียนบริหารดีกว่า จะได้รู้เรื่องการทำธุรกิจ พอจบม. 6 ก็เลือกเรียนบริหารที่ ABAC (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) จนพอขึ้นปี 3 ก็คิดต่อว่าถ้าเราจบออกไปช่วยที่บ้านขายผ้า มันจะรอดไหม เกิดการคิดวิเคราะห์ในหัวว่ามันยังไม่ครบ เหมือนเรารู้ว่าขายอย่างไร แต่ระหว่างที่จะขาย มันต้องมีอะไรมากกว่ามาร์เก็ตติ้งหรือการเงิน พอขึ้นปี 4 ก็เลยไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ที่สถาบันชนาพัฒน์ไปด้วย และช่วงเวลา 2 ปีที่เรียนกับอาจารย์อิตาเลียน 2 คน เยอรมัน 1 คน เราต้องทำคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าตลอด มี spring-summer autumn-winter ทั้งหมด 6-7 คอลเล็กชั่น ตอนนั้นมอญก็ใช้ผ้าที่บ้านเรามาทำ เหมือนเป็น R&D ไปด้วยในตัวว่าทำคอลเล็กชั่นยังไง ทำแพตเทิร์นยังไง ดีไซน์เอง ตัดเย็บเอง

ตอนแรกแม่ก็ไม่ค่อยยอมรับ เพราะว่าคนทำผ้าจะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือว่าผ้าไม่ควรถูกตัด คนที่ทำผ้าไทยถึงชอบทำแต่ผ้าซิ่น เพราะมันไม่ถูกตัด นุ่งเป็นผืน พอเราเข้าไปเปลี่ยนสิ่งที่แม่ทำ เขาก็ไม่มั่นใจในสิ่งที่เราตัดสินใจ เราก็เลยเอาคอลเล็กชั่นไปถ่ายเป็นเซ็ตแฟชั่นแล้วลงรูปทางอินเทอร์เน็ต พอคนให้ความสนใจเข้ามาสอบถาม เราก็เริ่มมั่นใจ ใจชื้นว่ามันน่าจะมีคนซื้อนะ ก็เลยใช้วิธีนี้มาตลอด คือออกแบบ ตัดเย็บต้นแบบ แล้วถ่ายเป็นเซ็ตแฟชั่น พอมีลูกค้าออเดอร์ก็คือเย็บแล้วก็ขายไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กันอย่างนี้ค่ะ

วิธีนี้ตอบโจทย์การเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
เหมือนเป็น business plan ของเรา คือด้วยความที่เป็นผ้าทำมือน่ะค่ะ มันทำได้น้อย เราก็ไม่กล้าทำเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีไซส์ S M L เพราะผ้าเราไม่พอขนาดนั้น แล้วมอญรู้สึกว่ามันมีความเสี่ยงสูงมากที่มันจะไม่ถูกขายออกไป สิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่าไม่ควรทำเลยในการทำธุรกิจคือการทำให้ทุนจม เราทำคอลเล็กชั่นแล้วรอให้ลูกค้าออเดอร์มาน่าจะเป็นทางรอดมากกว่า ช่วงแรกๆ เราเป็นแบรนด์อะไรก็ไม่รู้ แล้วเป็นผ้าไทยอีกต่างหาก มันยากคูณไปอีก เลยคิดว่าใช้อินเทอร์เน็ตให้คนรู้จักเราก่อนดีกว่า พอเริ่มมีคนรู้จักก็ตระเวนออกทุกงานที่มีในประเทศไทยเลย (ยิ้ม)

พอได้มาเจอลูกค้าจริงๆ ผลตอบรับเป็นอย่างไร
ก็มีทั้งดีและไม่ดี สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เลยแบบชัดเจนมากคือคนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่านี่คือผ้าไทย คนรุ่นใหม่จำผ้าไทยจากรูปทรงว่าคือผ้าถุง คือเสื้อทรงลุงกำนัน พอเราตัดเป็นเชิ้ตคอเล็กๆ มินิมัลหน่อย ทำหมวก ทำกระเป๋าท่ี่มันหลากหลาย แล้วพอเท็กซ์เจอร์ผ้าที่ต่างจากเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปและสีที่ย้อมธรรมชาติ เขาก็จะรู้สึกว่ามันโดดเด่นขึ้นมาจากเสื้อผ้าอื่นๆ แต่กับคนที่อายุมากหน่อย 40 อัพ เขาจะชื่นชมในแง่ที่ว่านี่คือผ้าไทยที่ร่วมสมัย

อะไรคือสิ่งที่ตามมาหลังจากเราขายของได้
ภาพจำของคนส่วนใหญ่คืออีสานแห้งแล้ง อีสานเป็นภูเขาหัวโล้น น้ำไม่มี มองอีสานในมุมมองของคนใช้แรงงาน คนที่มีรายได้น้อย ไม่รู้อาจจะด้วยความละครไทยหรือเปล่าที่ทำให้คนอีสานมันดูต้อยต่ำเหลือเกินนะ คนอีสานน่ะมีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรมใช่ไหมคะ แต่การทำนา รายได้มีแค่ปีละครั้ง คนอีสานก็ไม่มีตัวเลือกมากนักในการทำอาชีพ พอหมดช่วงทำนาเขาก็มาหางานในเมือง แต่พอเราทำผ้า เราสามารถสร้างโอกาสให้คนในชุมชน

วงการแฟชั่นนี่แหละมันเป็น Value Added ของเกษตรกรรมที่ชัดเจนมากนะ สิ่งทอมันก็มาจากฝ้าย ฝ้ายก็คือพืชที่เราปลูกได้เอง มันก็คือเกษตรกรรมถูกไหม มอญคิดว่าถ้าเกิดว่าถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำเสื้อผ้าจากผ้าจากฝ้ายที่เกษตรกรปลูก สายป่านมันยาวมากทั้งขบวนน่ะค่ะ ตั้งแต่คนปลูก คนทอ คนย้อม

ฝ้ายออร์แกนิกด้วย?
เราปลูกเองเราก็ไม่ได้ขอใบเซอฯ ไปจ่ายตังค์ให้ฝรั่งบอกว่าเราออร์แกนิกไหม เราก็เลยไม่กล้ารับประกันว่าเราออร์แกนิก (ยิ้ม) แต่ว่าทุกอย่างที่เราปลูก เราก็ไม่เคยใส่สารเคมีหรือว่าปุ๋ยฆ่าแมลงอะไรเลย ปลูกตามธรรมชาติของมัน ฝ้ายท้องถิ่นมันก็แข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแค่ว่าผลผลิตหรือปริมาณที่ได้จะไม่เยอะถ้าไม่ได้ใช้สารเคมี ไม่สามารถปลูกได้จำนวนมากเหมือนอุตสาหกรรมที่เขาปลูกฝ้ายกันจริงจัง แล้วคนที่ปลูกฝ้ายจริงๆ ในเมืองไทย มีไม่ถึง 10% ซึ่งมันถือว่าน้อยมากเกษตรกรรมของไทยในภาพใหญ่มันไม่ได้มีแค่ข้าวนะ

โลกใบนี้มีอย่างอื่นมากมายที่ไม่ใช่แค่ข้าว แต่ฝ้ายเหมือนถูกลบหายไป บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฝ้ายคือต้นไม้ มอญมองว่าฝ้ายคือเป็นพืชทางเลือกของเกษตรกรรมได้

แล้วในชุมชนที่บ้านปลูกฝ้ายหรือทอผ้าให้มากขึ้นไหม
เยอะขึ้นมากค่ะตอนนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือคุณยายที่ทอผ้าให้มอญนี่แหละ แต่ก่อนลูกทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ ตอนนี้เขาให้ลูกลาออกแล้วก็มาทอผ้ากัน 4-5 คนในบ้านด้วยกัน แล้วเราไม่ได้เป็นสั่งว่าเขาต้องทอลายนี้ๆ คือคุณแม่มอญเขาจะมั่นใจว่าคนทอผ้าจะมีจินตนาการที่ค่อนข้างล้ำเลิศอยู่แล้ว แม่เขาจะชอบบอกให้ยายไปนั่งดูพระอาทิตย์ตกดินตอนหกโมงเย็นนะ สัก 4-5 วัน แล้วไปทอมาให้หน่อยว่าเห็นเป็นลายอะไรอย่างนี้ อาจจะเป็นลายดั้งเดิมหรือลายที่ขึ้นคิดใหม่ ไม่ต้องทอเหมือนนางเอกในละคร 3-4 เดือนได้ผ้าผืนหนึ่ง มอญเชื่อว่าความ minimal ของโลกสมัยใหม่ เอามาใส่กับลายทอโบราณได้นะ ปรับลดทอนได้ บางทีหน่อไม้เยอะหน้าร้อน ยายแกก็จะทอลายหน่อไม้อย่างนี้ เราก็เลยจะแบ่งคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าของเรา จึงเป็นไปตามผ้าที่แต่ละคนทอมา spring-summer ของเราเราจะมีแต่หน่อไม้เพราะว่าหน้าร้อนมันเป็นหน่อไม้ไง (หัวเราะ)

ย้อนกลับไปตอนเป็นเด็กม. ปลาย สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ตอบสิ่งที่คิดไว้ในวันนั้นไหม
มอญคิดว่ามันเกินความคาดหมายแล้ว คือตอนนี้วงการแฟชั่นเมืองไทย ภาพลักษณ์ผ้าไทยมันเปลี่ยนไป ผ้าไทยที่เราเคยดูถูก มันกลายเป็นได้รับความชื่นชมได้รับการยอมรับ มันไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่ต่างประเทศ ผ้า indigo กลายเป็นเทรนด์โลกที่เกินความคาดหมายของเรามาก

การทำผ้าครามตอบอะไรในใจมอญ
เรารู้สึกว่าการทำผ้าย้อมคราม มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า คือนอกจากมันจะเป็นงานที่เลี้ยงครอบครัวได้ หล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้ มันยังไม่ได้หล่อเลี้ยงแค่มนุษย์ มันหล่อเลี้ยงโลกได้ด้วย

ครามเป็นต้นไม้ที่ย้อมผ้าได้ ซังที่ย้อมผ้าเสร็จก็เอาไปเพาะเห็ดได้ ถมลงดินก็เป็นปุ๋ยได้ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในดิน น้ำที่ย้อมคราม ถ้าเทลงน้ำ ก็ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้น้ำ ช่วยบำบัดน้ำเสียได้ คนอีสานสมัยก่อนจะปลูกครามก่อนทำนาหน้าฝน เพราะมันเป็นพื้นตระกูลถั่ว ปลูกเสร็จเราก็ไถกลบเป็นปุ๋ยให้ดิน สำหรับมอญ ครามเป็นต้นไม้มหัศจรรย์


คำว่าโลกที่พัฒนาหรือโลกอนาคตที่เจริญแล้วในมุมมองของเราแต่ละคนมันอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าโลกที่พัฒนาแล้วคือความทันสมัย มีแต่ห้องแอร์ ทุกอย่างเป็นพลาสติก เป็นสิ่งแปรรูป แต่มอญมองว่าโลกอนาคตที่ควรจะเป็นคือความเขียวขจี คนให้ความเคารพธรรมชาติ สิ่งที่เราทำ ความเป็นฝ้าย ความย่อยสลายได้ มันคือโลกแห่งอนาคตที่แท้จริงในความรู้สึกของมอญ

มอญอยากทำเสื้อผ้าที่มันเจาะเข้าไปในใจคนน่ะค่ะ อยากทำเสื้อผ้าที่คนเห็นแล้วรู้สึกว่ามันกระทบใจและเปลี่ยน mindset ของคนไทย มอญว่าการแสดงออกทางความคิดไม่จำเป็นต้องอยู่ในงานเขียน เพลง หรือหนังสือ แต่มันอยู่ในแฟชั่นได้เหมือนกัน

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง