“เราเป็นลูกหลานชาวนา อยู่มาได้ทุกวันนี้เพราะชาวนาค่ะ”

ยังมีคนรุ่นใหม่คนไหนบ้างไหมที่พูดประโยคนี้ได้อย่างเต็มปากด้วยรอยยิ้ม สายตาวิบวาวภูมิใจกับการเป็นหน่อเนื้อที่เติบโตจากดินและกลิ่นโคลนสาบควาย ท่ามกลางการเติบโตเป็นเมืองขนาดใหญ่ เชียงใหม่เปลี่ยนโฉมหน้าไปจนแทบพลิกฝ่ามือ บนถนนสันกำแพงสายเก่า เส้นทางสู่หมู่บ้านทำร่มและงานหัตกรรมแห่งเชียงใหม่ เคยมีทุ่งนาสุดตาสองข้างทาง บัดนี้เปลี่ยนไปกลายเป็นบ้านจัดสรรเกือบทั้งหมด แต่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น จิตวิญญาณของลูกหลานชาวนาคนหนึ่งยังคงอยู่ เธอรู้ดีว่านี่คือตัวตนและความสุขที่แท้จริงของ ‘คนไทย’ คนที่ต่อให้หลงใหลการกินอาหารชาติอื่นแค่ไหน วันหนึ่งก็ต้องกลับมาคิดถึงรากเหง้า คิดถึงข้าวของตัวเอง นี่คือ มีนา ร้านอาหารที่มีข้าวเป็นหลักพร้อมพรั่งด้วยเมนูอาหารพื้นบ้านแสนอร่อยที่ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบอย่างประณีตที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ และดีต่อโลกใบนี้

มีเธอ มีเรา มีข้าว และมีนา

จาว-จาวรี ทองดีเลิศ และปุ้ย-รัชนันท์ พันธุ์กาฬสินธุ์ เคยอาศัยอยู่ต่างประเทศมาระยะหนึ่ง เมื่อทั้งสองตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ทำให้เขาและเธอต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจะเลือกแผ่นใดเป็น ‘บ้าน’ ของตัวเอง คุณจาวชัดเจนมากว่าต้องการกลับบ้าน ด้านคุณปุ้ยมีประสบการณ์ทำร้านอาหารไทยในต่างแดนมานาน หากจะต้องเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่รักอีกครั้งก็ไม่มีอะไรเสียหาย “ญาติของเราเป็นชาวนามาหลายชั่วคน ตั้งแต่เล็ก จาวกินข้าวจากนาของย่ามาตลอด พอเรามาทำร้านอาหารเลยคิดถึงคำว่า มีนาเพราะมีนาเราเลยมีข้าว” คุณจาว-สาวเชียงใหม่ที่พ่อเป็นคนภาคกลางและแม่เป็นคนภาคใต้เริ่มต้นเล่า ส่วนคุณปุ้ยพ่อครัวใหญ่ผู้ออกแบบอาหารในร้านช่วยเสริม

“เรากำหนดให้ร้านเป็น rice based cuisine คือร้านอาหารที่มีข้าวเป็นหลัก เพราะครอบครัวของเราทั้งสองคนเป็นชาวนา ผมเองเป็นคนอีสาน เรามีข้าวเป็นส่วนผสมของอาหารชนิดต่างๆ อยู่แล้วมากมาย อย่างข้าวคั่ว ข้าวเบือ พอใส่เข้าไปในอาหาร จะได้รสนัวๆ ขึ้น พอเราเอามาประยุกต์กับอาหารภาคอื่นๆ ด้วย ก็ได้เมนูหลากหลายที่น่าสนใจ”

เมนูข้าวๆ ที่ว่า น่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ เพราะมีการดัดแปลงพบกันทุกภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นอาหารภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน บางครั้งถึงขั้นนำอาหารตะวันตกพบตะวันออกเลยทีเดียว อาทิ น้ำตกข้าวโอ๊ต ลาบข้าวโอ๊ต กุ้งชุบข้าวทอด น้ำสมุนไพรไรซ์เบอรี่-เมนูครีเอทน่ารักที่นำข้าวไรซ์เบอรี่แช่เป็นก้อนน้ำแข็งเล็กๆ มาด้วย ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมีเมนูอาหารที่ปรุงจากพืชผักพื้นบ้านมากชนิด เช่น ผักเหลียง ดอกขจร ผักเชียงดา เห็ดเผาะ และเมนูพิเศษตามฤดูกาลของวัตถุดิบที่บอกให้เรารู้ว่า ชีวิตนี้มีผักอร่อยมากกว่าคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฯลฯ อีกเยอะ

“เมนูในร้านมาจากเรื่องราวของเราเอง อย่างคุณพ่อจาวเป็นคนภาคกลาง แม่เป็นคนใต้ แต่จาวเกิดที่เชียงใหม่ ผมเป็นคนอีสานที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศนาน มันเลยเป็นตัวตนของเรานี่แหละที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเมนูอาหารที่ร้าน ที่นี่เลยมีทุกอย่างทั้งแกงเหลือง คั่วกลิ้ง ลาบอีสาน น้ำตก น้ำพริก ผมทำร้านอาหารไทยในต่างประเทศมาก่อน อยากให้คนได้รู้ว่า ‘อาหารไทย’ ไม่ได้มีแค่ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์เท่านั้นนะ (หัวเราะ) คือร้านอาหารไทยในเมืองนอกจะเป็นแบบนี้ แต่พอมาทำร้านที่นี่ เราได้เสิร์ฟความเป็นไทยในอีกแบบหนึ่ง คืออาหารไทยพื้นบ้าน บางอย่างไม่รู้จักแต่ก็เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาหารท้องถิ่นบ้านเรามีเยอะมากและแต่ละอย่างอร่อยไม่เหมือนกันเลย อยากให้คนรู้ว่าอาหารไทยมีความหลากหลาย บางร้านเขาไม่กล้าทำ เพราะกลัวฝรั่งไม่กิน แต่ฝรั่งที่มาที่นี่กินหมดทุกอย่างเลยครับ” คุณปุ้ยบอกยิ้มๆ

สิ่งสำคัญคืออาหารพื้นบ้านที่นี่รสชาติจัดจ้านเด็ดดวง ทำแบบไม่เอาใจแขก เรียกว่าเผ็ดจริงน้ำตาไหลจริง วเลยล่ะ “รสชาติอาหารที่นี่จัดนิดนึง แต่หมายความว่าเป็นรสบ้านๆ แบบที่ชาวบ้านกิน อย่างเช่นแกงนี้ยายทำอร่อย เราก็ขอยายทำให้ หรือแม่ปุ้ยทำอะไรอร่อยก็ขอเขาทำให้ คนมากินอาหารที่นี่เลยจะได้อาหารรสชาติแท้ๆ แบบที่อาหารนั้นเป็นจริงๆ” คุณจาวเล่ากลั้วหัวเราะว่าบางครั้งลูกค้าต่างชาติกล่าวชื่นชมรสชาติอาหารทั้งน้ำตา (เพราะเผ็ดเหลือเกิน)

กินดี กินอร่อย กินสนุก คือความสุขของกายและใจ

จุดเด่นที่ผู้คนชื่นชอบอาหารร้านมีนาและพากันแบ่งปันในโลกออนไลน์คือหน้าตาอาหารสีสันสดใส บ้างมาจากดอกไม้หรือของแต่งจานจากวัตถุดิบพื้นบ้าน และแน่นอน..จากสีสันบนจานข้าว ข้าวห้าสีคือซิกเนเจอร์ของที่นี่ ประกอบด้วยข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้องแดง ข้าวอัญชัน ข้าวดอกคำฝอย และข้าวขาวหอมมะลิ หากลูกค้านึกสนุกอยากจะมิกซ์สีข้าวเองก็ทำได้เช่นกัน คุณจาวบอกว่า “คนไทยกินข้าวสามมื้อต่อวัน อยากให้มีสักมื้อที่ได้กินข้าวแบบมีสีสันบ้าง (หัวเราะ) จริงๆ แล้วบ้านจาวกินข้าวแบบนี้มาตลอดเลยค่ะ แม่จะหุงรวมกันหมดทั้งข้าวดำ ข้าวขาว ลูกเดือย เพียงแต่คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยแบบนี้ เลยเลือกสีจากธรรมชาติใส่เข้าไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกสีสันของข้าวได้ด้วยตัวเอง”

“จาวชอบสีสันของผักพื้นบ้าน เวลาไปเดินตลาดนัด ตลาดชาวบ้าน ตลาดที่ขายผักออร์แกนิกทั้งหลาย ได้คุยกับชาวบ้าน ได้รู้จักผักพื้นบ้านใหม่ๆ ผักที่รูปฟอร์มสวยๆ เราเอามาแต่งจาน บางอย่างเอามากิน เราเอาผักพื้นบ้านมาทำอาหารหลายอย่าง และเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาหารตามฤดูกาลคือสิ่งที่ดีที่สุด ธรรมชาติเขาจะให้สิ่งต่างๆ ตามช่วงเวลา อย่างเช่นมะเฟืองช่วยล้างพิษได้ อย่างน้อยก็ปีละครั้ง ธรรมชาติสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เราอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์กันสักเท่าไหร่” ข้อความที่อยู่เบื้องหลังบนอาหารทุกจานของมีนาคือการบอกให้คนไทยทุกคนภูมิใจว่าเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แม้ปริมาณอาจลดน้อยลงไป แต่แผ่นดินยังคงอุดมสมบูรณ์และมีพืชพรรณธรรมชาติหลากหลายเหลือเกิน

สำหรับคนทั้งสอง อาหารไม่ได้เป็นเพียงสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น หากยังหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและส่งผลสะเทือนไปถึงสังคมรอบตัวของเราด้วย การคัดสรรอาหารที่ดีที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด ผ่านกรรมวิธีที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุดเป็นอีกมิติหนึ่งที่คุณจาวคำนึงถึงเสมอ ด้วยเหตุนี้ ผักที่เป็นวัตถุดิบในร้านจึงเป็นผักพื้นบ้านไร้สารเคมี เป็นผักอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรที่เชื่อใจได้ ข้าวนำมาจากแปลงนาของที่บ้าน (ถ้าไม่พอค่อยซื้อเพิ่มจากกลุ่มขายข้าวปลอดภัย) หรือแม้แต่อาหารทะเลก็คัดเลือกมาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเกาะลิบง จังหวัดตรังโน่นทีเดียว

“ร้านเราพยายามปรุงอาหารให้น้อยที่สุด เพราะอาหารจากธรรมชาติดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว เราลดเครื่องปรุงลง และให้รสชาติต่างๆ มาจากวัตถุดิบนั้นจริงๆ ซึ่งดีต่อสุขภาพด้วย วัตถุดิบในร้านทุกอย่างจาวเป็นคนคุมคนเดียว อย่างเช่นปู จะให้พี่น้องทางใต้เลือกมาจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์ทะเลส่งมา พืชผักที่เป็นออร์แกนิกทั้งหลายเราจะติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิตโดยตรง ถ้าเราอยากได้อะไร ก็ขอให้เขาปลูกเพิ่ม เรารับซื้อหมด อะไรที่เขาไม่เคยปลูกก็ปลูกให้เราได้”

ร้านอาหารมีนาเปิดบริการตั้งแต่เวลาสิบโมงถึงห้าโมงเย็น ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มีความห่วงใยซ่อนอยู่ในนั้น “ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเน้นลูกค้าช่วงมื้อเย็น แต่เราตั้งใจเปิดร้านถึงแค่ห้าโมงเพราะไม่อยากให้คนกินข้าวดึกเกินไป เพราะก่อนนอนคือเวลาที่ร่างกายต้องการพักผ่อน ไม่ควรทำงานหนักเกินไป ส่วนตัวเราสองคนไม่กินอาหารมื้อเย็นอยู่แล้ว อยากให้คนอื่นได้ลองปรับใช้ดูบ้าง ทานมื้อเย็นแค่เบาๆ พออยู่ท้อง สุขภาพจะดีขึ้นเยอะเลยค่ะ” คุณจาวเล่ายิ้มหวาน

ร้านอาหารในป่า และเสน่ห์บ้านบ้านแบบคนไทย

สิ่งที่ฉันชอบที่สุดของร้านมีนาคือการเป็นร้านอาหารในป่าใหญ่ มีทุ่งนาสีเขียวอยู่ใกล้ๆ พร้อมเสียงจักจั่นร้องระงมทั่วผืนป่า ทั้งที่เมื่อไม่กี่นาทีก่อนระหว่างการเดินทางเข้ามาเรายังพบบ้านเรือนสมัยใหม่ ถนนคอนกรีตร้อนส่งไอระอุจนทรมานอยู่เลย แต่ทันทีที่เราก้าวเท้าเข้าสู่ร้านมีนา บรรยากาศร่มรื่นจากเงาไม้ใหญ่ตระหง่านกลับช่วยผ่อนความหนักอึ้งให้คลายลงได้ในทันที บ้านเรือนไทยรูปทรงเรียบง่าย ยุ้งข้าว บึงน้ำและลมพัดโชยเบาๆ ชวนให้ผู้มาเยือนได้กลับมาสู่ชีวิตเรียบง่ายแบบไทยๆ อีกครั้ง

คุณปุ้ยเล่าที่มาของความร่มครึ้มในร้านให้ฟังว่า “พ่อจาวชอบปลูกต้นไม้ รักต้นไม้มาก พยายามรณรงค์ให้คนหันมาปลูกต้นไม้ตลอดเวลา และที่ตรงนี้เป็นที่ดินของพ่อ เราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเลยว่าหน้าปากซอยกับในร้านมันแตกต่างกันมากขนาดไหน ผมว่าลูกค้าที่มีนาจะได้ประสบการณ์การกินอาหารที่แตกต่างมาก เพราะเราได้กินอาหารใต้ต้นไม้ใหญ่เหมือนอยู่ในป่าจริงๆ เราอาจเคยได้ยินคำว่าต้นไม้เป็นปอดของโลก แต่บางคนฟังแล้วก็เฉยๆ แต่พอเราได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากๆ เราจะซึ้งเลยนะว่าต้นไม้สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ”

ถ้าเราได้มีโอกาสเดินเล่นรอบมีนา เราจะเห็นความรักในเหล่าต้นไม้ทั่วพื้นที่จริงๆ ต้นไม้หลายต้นมีลำต้นขนาดใหญ่อายุหลายสิบปี บางชนิดก็เป็นไม้ยาก และทุกต้นจะมีป้ายชื่อติดเอาไว้เพื่อให้คนได้ทำความรู้จักอย่างลึกซึ้งด้วย เพราะหลายชนิดเราอาจจะเคยรับประทานแต่ใบหรือผล แต่ไม่เคยเห็นเลยว่าต้นไม้จริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร อาทิ ลูกลาน (ผลคล้ายลูกชิด) ที่ปกติจะอายุยืนยาวนานหลายสิบปี บางต้นมีอายุก็เกือบร้อยปีแต่เมื่อออกผลคราวใด ต้นไม้ก็จะตายไปด้วยจึงถูกเรียกว่าต้นไม้ฆ่าแม่

ด้วยรู้ดีว่า สังคมที่เข้มแข็งต้องขับเคลื่อนไปด้วยพลังของชุมชน เพราะการมีความสุขเพียงลำพัง ย่อมไม่อาจทำให้พบความสุขที่แท้จริงได้ หากอยู่ดีมีสุขก็ต้องสุขไปด้วยกันทั้งสังคม ปีนี้คุณจาวจึงตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสร้างพื้นที่สีเขียวบริเวณบ้านและพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากเพื่อนบ้านขยับขยายออกไปทั่วทั้งซอยและขยายออกไปเท่าที่พละกำลังจะมี

การเกิดขึ้นของมีนายังเป็นผลพลอยได้ให้คนไกลบ้านหลายคนตัดสินใจกลับมาทำสิ่งที่รักอยู่กับบ้าน ทำให้พื้นที่รอบๆ มีนากลายเป็นเหมือนชุมชนไทยในอดีตที่มีคนบ้านใกล้เรือนเคียงและทุกคนต่างทำงานตามความถนัดของตัวเองแต่ก็ทันสมัยขึ้นตามกาลเวลา ดังจะเห็นว่ามีรถบัสขายพิซซ่าอยู่ท่ามกลางร้านเสื้อผ้าแบบไทยๆ ด้วยก็ยังได้ “สังคมที่นี่เราอยู่กันเหมือนพี่น้องค่ะ เพราะตอนซื้อที่ดิน เราไม่มีเงินซื้อที่ดินผืนใหญ่ เลยรวมคนหลายๆ คนมาซื้อแล้วแบ่งกัน เลยเป็นเหมือนสังคมเล็กๆ แบบเครือญาติเพื่อนฝูง แต่ละคนมาอยู่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำธุรกิจอะไร ตั้งใจจะมาอยู่เป็นบ้าน แต่ถ้ามีโอกาสทำงานที่บ้านได้ด้วยก็ดี ที่นี่เลยมีบรรยากาศเหมือนชุมชนหัตถกรรมที่ดึงเอาจุดเด่นมานำเสนอ แถวนี้เลยมีบ้านที่ทำงานผ้าทอ บางบ้านทำเรื่องมัดย้อม เป็นบรรยากาศของชุมชนที่น่ารักมากค่ะ”

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของกิจกรรมไฮไลท์ชุมชนที่ฉันอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาให้ได้ในช่วงเทศกาลลอยกระทง นั่นคือ กาดต่อนยอนโหล่งฮิมคาว ตลาดนัดทำมือของชุมชนริมน้ำแม่คาวที่รวบรวมข้าวของสารพันจากเพื่อนฝูงหัวใจคราฟท์มาออกร้านในซอยทางเข้าร้านมีนาซึ่งจะจัดแค่ปีละครั้งเท่านั้น “คนเมืองบ้านเฮา ยี่เป็งต้องยิ่งใหญ่นิดนึงนะคะ” คุณจาวพูดพลางหัวเราะ “ชุมชนที่นี่เราทำงานเกี่ยวกับผ้า เป็นผ้าทอ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผ้าตีนจกกันอยู่แล้ว และช่วงเดือนยี่เป็ง คนที่นี่จะทำผางประทีป ทำโคม เราเลยจัดตลาดนัดเล็กๆ ให้คนได้มาเจอกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนสินค้ากันและกัน และชวนพ่อค้าแม่ค้าที่ปลูกผักออร์แกนิกมาขายของด้วย เป็นบรรยากาศจับจ่ายซื้อของที่มีแต่เสียงหัวเราะ คนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองสวยๆ หิ้วตะกร้ามาซื้อของ ถ้ามีโอกาสจาวก็อยากชวนทุกคนมาลอง ‘ติ๊วซ้าจ่ายกาด’ ด้วยกันค่ะ”

ความสุขของมีนาเริ่มจากตนเอง แผ่ขยายสู่คนรอบข้าง ไปสู่สังคมเล็กๆ และเริ่มแบ่งปันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น “เรามีที่เล็กๆ ส่วนหนึ่ง ปีนี้เราชวนให้พ่อครัวแม่ครัวทดลองมาทำนากันเองเป็นปีแรก ทำเฉพาะวันปิดร้าน ยังไม่มีความชำนาญ แต่คิดเหมือนกันว่าอยากให้ลูกค้าได้ลองทำนาดูบ้าง เพราะโรงเรียนทางเลือกที่อยู่ใกล้ๆ ร้าน ขอมาใช้ที่นาบ้างเหมือนกัน เราเลยมองว่าเป็นการทำนาเป็นกิจกรรมที่ดีนะ คงมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในอนาคต

“ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เราต้องไม่ทิ้งของเก่า เรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และตามมันให้ทันเท่านั้นเอง”

ความหมายของบ้านในเชิงกายภาพ จึงเป็นไปได้ตั้งแต่ภาพเล็กๆ ระดับครอบครัวเดี่ยวหรืออาจขยายใหญ่ไปจนถึงสังคมเพื่อนบ้านรอบๆ ของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองจากจุดไหน แต่สำหรับเขาและเธอแล้ว บ้านคือที่ที่ทุกคนอยู่ได้แล้วมีความสุขร่วมกัน และวันหนึ่งอาจมีโอกาสแบ่งปันให้คนอื่นได้มาร่วมมีความสุขด้วย

ร้านมีนา ตั้งอยู่บนถนนสันกำแพงสายเก่า อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ (เข้าซอยเรือนแพ1 แล้วเลี้ยวซ้ายที่ซอยกะละแมพรรณี) เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) เวลา10.00-17.00 น. ส่วนกาดต่อนยอนชุมชนโหล่งฮิมคาวจัดในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประมาณปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

FB: Meena rice based cuisine
โทรศัพท์: 087-177-0523

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง