ท้องอืด อาหารไม่ย่อย อึดอัด ไม่สบายตัว จนพานนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุหลายท่าน หรือบุตรหลาน มาปรึกษาถึงสาเหตุและวิธีแก้ไขกับหมออ้อมเสมอค่ะ
เพราะพอนอนไม่ดีก็จะส่งผลกระทบไปอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาการเวียนหัว หน้ามืด หลงลืมมึนงง จนพลัดตกหกล้ม หรือไม่ก็หงุดหงิดจนคนดูแลอยู่ด้วยยาก ซึ่งหมออ้อมขอบอกว่าอาการดังกล่าวนี้ เราสามารถป้องกันก่อนเกิดได้ไม่ยาก เพียงแค่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงค่ะ
เมื่ออายุเยอะขึ้น ความเหี่ยวย่นหย่อนคล้อยไม่เพียงเกิดแค่ใบหน้าหรือกล้ามเนื้อที่เราจับและเห็นจากภายนอกได้เท่านั้น ในระบบทางเดินอาหารก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหารลดลง ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด กล้ามเนื้อการกลืนหย่อน ทำให้สำลักได้ง่าย รวมถึงการฝ่อของต่อมรับรสทำให้เกิดความเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย และเกิดการขาดอาหารตามมาได้ ซึ่งจะเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หมดแรงในผู้สูงอายุ
นอกจากนี้จะเกิดการลดการบีบตัวหรือเกิดการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะไปลำไส้ที่ช้าลง รวมถึงเซลล์บริเวณเยื่อบุกระเพาะบางลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของอาการกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย ในผู้สูงอายุบางคนที่กินยาเป็นประจำก็จะเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายด้วย
ส่วนระบบลำไส้ ก็จะเกิดการบีบตัวที่มีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลทำให้ท้องผูกง่ายเกิดการตกค้างของอุจจาระ เกิดการคั่งของของเสีย อึดอัด จนบางคนต้องมาสวนที่โรงพยาบาลเนื่องจากอุจจาระอัดแน่นเต็มท้อง
ดังนั้นอาหารที่ดี เหมาะกับสุขภาพลำไส้ในผู้สูงอายุควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีเส้นใย และส่งเสริมจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ เพื่อคงความปกติของการดูดซึม การขับถ่าย และไม่ก่อเกิดแก๊สที่ผิดปกติมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
จากการซักถามเมนูประจำวันของผู้สูงอายุที่ดูแล มักจะเป็นข้าวต้มอุ่นๆ ตอนเช้า นั่นเพราะความเคยชินที่เป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคย หากเปลี่ยนก็จะไปทางกาแฟสำเร็จรูปและเบเกอรีหวาน ซึ่งน่าจะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวเท่าใดนัก หมออ้อมจึงใส่คุณประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในอาหารเช้าเพื่อสุขภาพลำไส้ ด้วยส่วนประกอบที่มี “โพรไบโอติก” เพื่อการสร้างสมดุลลำไส้ในผู้สูงอายุในระยะยาว
คุณประโยชน์ของเมนูนี้คือ พลังงานที่ได้จากโปรตีน คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายจากข้าวต้มและปลา แคลเซียมจากงาดำ เส้นใยจากขิง เห็ดหอม แคร์รอต พรีไบโอติกและโพรไบโอติกจากต้นหอม ผักดอง ซุปมิโซะและกิมจิอีกด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ตัวดีในลำไส้ ลดการเกิดการย่อยที่ไม่สมดุลในผู้สูงอายุ อร่อยครบ ซดหมดชามแน่นอนค่ะ
ข้าวต้มปลามิโซะ
ส่วนผสม
– ข้าวหอมมะลิออร์แกนิคหุงสุก ½ ถ้วย
– น้ำสต๊อก 4 ถ้วย
– ปลากะพงขาวจากทะเลธรรมชาติ 150 กรัม
– ดอกเกลือทะเล 1 ช้อนชา
– แคร์รอตหั่นเต๋า ¼ ถ้วย
– เห็ดหอมแห้งแช่น้ำจนนิ่มหั่นเส้น 1 ดอก
– งาดำคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
– มิโซะ 2 ช้อนโต๊ะ
– แตงกวาดอง 1 ช้อนโต๊ะ
– หัวไชเท้าดองขมิ้น 1 ช้อนโต๊ะ
– กิมจิผักกาดขาว 1 ช้อนโต๊ะ
– ซีอิ๊วขาวออร์แกนิค 1 ช้อนโต๊ะ
– กระเทียมกลีบใหญ่ 1-2 กลีบ
– พริกไทยดำเม็ด 1 ช้อนชา
– ขิงซอย ต้มหอมซอย
ส่วนผสมน้ำจิ้ม
– พริกขี้หนูสวนจากแหล่งปลอดภัย 1-2 เม็ด
– น้ำส้มสายชูหมักจากข้าว 1 ช้อนโต๊ะ
– มิโซะ 1 ช้อนโต๊ะ
– น้ำตาลอ้อยออร์แกนิค 1 ช้อนชา
– ซีอิ๊วขาว ออร์แกนิค ½ ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ใส่น้ำสต๊อก ขิง กระเทียมจีน พริกไทยดำลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ ต้มจนเดือด
2. ใส่แคร์รอต เห็ดหอมแห้ง ต้มจนเดือดอีกครั้ง หรี่ไฟลง ใส่มิโซะลงในหม้อ รอให้เดือดอีกครั้ง
3. ใส่เนื้อปลากะพงที่เตรียมไว้ ปรุงรสด้วยเกลือ ซีอิ๊วขาว
4. ใส่ข้าวหอมมะลิหุงสุก ต้มต่อจนเดือด ยกลงจากเตา ตักใส่ชามโรยหน้า ต้นหอม และขิงซอย เสิร์ฟคู่กับผักดองและกิมจิ
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร