ต่อให้ไม่ออกจากห้องเป็นวันๆ ก็เชื่อว่าไม่มีใครหิวจนตาลาย ทุกวันนี้แค่เปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมา เราก็สามารถสั่งอาหารร้านโปรดผ่านเแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร ให้ส่งตรงมาถึงหน้าประตูบ้านได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ความสะดวกสบายนี้ทำให้การสั่งอาหารเดลิเวอรี่นิยมเพิ่มขึ้นพุ่งพรวด แต่รู้หรือไม่ว่าความสะดวกที่เติบโตอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ อาจกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมการกินของเรา แถมยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกมากมาย โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว
ทำไมอาหารเดลิเวอรี่ถึงมาแรง?
บริการส่งอาหารถึงบ้านนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เราคุ้นเคยกับบริการเดลิเวอรี่กันดี ทั้งจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดหรือร้านอาหารตามสั่งที่ให้ลูกค้าประจำโทรมาสั่งได้ แต่ในวันนี้ถ้าพูดถึงบริการเดลิเวอรี่ เราคงนึกถึงแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารจาก Third Party อย่างเช่น GrabFood, LINE MAN, Food Panda, Get หรือ Now ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกิดมาเพื่อตอบโจทย์ชาวเมืองที่เวลา 24 ชั่วโมงไม่เคยพอ
แม้ว่าสตาร์ทอัพเดลิเวอรี่จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวมิลเลนเนียลที่มีเทคโนโลยีอยู่ในหัวใจ พร้อมจะใช้เงินซื้อสิ่งที่ช่วยให้เราสะดวกสบาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่คล้ายๆ กันทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจรูปแบบนี้จะเฟื่องฟูในประเทศฝั่งเอเชียทั้งไทย จีน เกาหลี มากกว่าประเทศทางยุโรปหรืออเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดเสียด้วยซ้ำ สาเหตุสำคัญที่แอพฯ เดลิเวอรี่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเอเชีย เป็นเพราะความหนาแน่นและแออัดของพื้นที่ในเมืองกลายเป็นข้อได้เปรียบของเหล่าแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร ทำให้แอพฯ ส่วนใหญ่สามารถกำหนดรัศมีการส่งอาหารจากร้านไปถึงลูกค้าในระยะไม่เกิน 7 กิโลเมตร เพื่อให้พนักงานส่งสามารถทำเวลาบึ่งรถฝ่าการจราจรแสนโหดร้ายไปถึงลูกค้าภายใน 30 นาทีได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจตลาดการสั่งอาหารออนไลน์และคาดการณ์ว่าในปี 2019 นี้ ความนิยมของแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 41% เลยทีเดียว บ่งบอกว่ากระแสฮิตของแอพพลิเคชั่นสั่งอาหารดูจะไม่ซาลงไปง่ายๆ และน่าจะส่งผลกระทบมากหากเราใช้ไม่เป็น
เรากินอะไรในมื้อเร็วๆ ?
ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่งของชาวเมืองในทุกวันนี้ ทำให้เมนูอาหารส่วนใหญ่ที่คนสั่งในแอพลิเคชั่นเดลิเวอรี่มักเป็นเมนูที่กินเร็ว กินง่าย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยผลสำรวจว่าอาหารอันดับหนึ่งที่คนมักสั่งกันคือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน รองลงมาคือร้านอาหารสตรีทฟู้ดและร้านอาหารญี่ปุ่นแฟรนไชส์
ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ต่างก็มีความน่ากังวลใจเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ ตั้งแต่อาหารฟาสต์ฟู้ดที่เรารู้กันดีว่ามีคุณค่าทางอาหารน้อย แถมอุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล และโซเดียม สาเหตุสำคัญของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากมาย
ส่วนร้านอาหารสตรีทฟู้ด แม้จะมีตัวเลือกหลากหลายทั้งต้ม ผัด แกง ทอด แต่ส่วนใหญ่ก็จะปรุงอาหารให้รสจัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เพื่อให้อร่อยถูกปากผู้บริโภค ซึ่งรสจัดเหล่านี้มักจะตามมาด้วยปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่สูงปรี๊ดสะเทือนไตและเป็นภัยต่ออินซูลิน
สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นแฟรนไชส์ แม้จะดูเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมานิดหน่อย เพราะไม่ค่อยมีอาหารทอดหรือปิ้งย่าง แต่ก็ยังมีความน่ากังวลเรื่องความสดใหม่ของวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบยอดนิยมของร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างปลาแซลมอนที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องความไม่ปลอดภัย เนื่องจากปลาแซลมอนส่วนใหญ่ที่เรากินในไทยทุกวันนี้ เป็นแซลมอนเลี้ยงจากฟาร์ม ซึ่งมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงจำนวนมหาศาล
เห็นได้ชัดว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมในแอพพลิเคชั่นนั้นไม่ใช่อาหารที่ ‘กินดี’ สักเท่าไหร่ แต่ความง่ายก็ทำให้เราลืมใส่ใจคุณค่าทางอาหารไปเสียสนิท
บริการเดลิเวอรี่ กระทบวิถีการกินและสุขภาพอย่างไร?
แม้อาหารที่เราเลือกสั่งผ่านการเลื่อนนิ้วดูภาพถ่ายสวยๆ เหล่านี้จะไม่ตอบโจทย์สุขภาพที่ดี แต่เราก็พร้อมจะ ‘หยวน’ ให้กับความสะดวกสบายและรวดเร็ว เหมือนกับที่เราเคยหยวนๆ ให้กับอาหารสตรีทฟู้ดหรือเมนูแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อ แต่สิ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงหรือไม่ทันระวังตัว คือบริการเดลิเวอรี่เหล่านี้ กำลังค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปทีละนิด ทีละนิด และรู้ตัวอีกที เราอาจมีพฤติกรรมเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวก็ได้
พฤติกรรมกินเยอะ กินบ่อย กินไม่หยุด
การสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นบ่อยครั้ง สามารถสร้างนิสัยการเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพแบบที่เราไม่รู้ตัว แม้ว่าอาหารเดลิเวอรี่ทั้งหมดจะไม่ใช่เมนูที่ทำลายสุขภาพ แต่เมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับการสั่งอะไรก็ได้ ตอนไหนก็ได้ ก็ไม่แปลกที่หลายคนจะมีแนวโน้มกินบ่อยและกินเยอะขึ้น
พฤติกรรมเดินไม่เป็น
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้กินเยอะหรือกินบ่อยกว่าการกินปกติ ก็ยังมีโอกาสที่จะน้ำหนักจะพุ่งพรวดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะการสั่งอาหารเดลิเวอรี่จะทำให้เราเคยชินกับการไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่ได้เดินไปไหน ซึ่งปกติแล้วการเดินเป็นกิจวัตรประจำวันที่สามารถเผาพลาญพลังงานได้ถึง 120-345 กิโลแคลอรี่ นั่นแปลว่าการกินเท่าเดิมจึงยังอ้วนขึ้นได้เพราะร่างกายเผาผลาญพลังงานน้อยลง
พฤติกรรมไม่เห็นค่า
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ความสะดวกก็มีโอกาสทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของอาหารตรงหน้าอีกด้วย เพราะเมื่อเราไม่เห็นว่าอาหารแต่ละจานปรุงอย่างไร ทำที่ไหน คนปรุงเป็นใคร มีความใส่ใจกับการทำอาหารหรือไม่ ก็ส่งผลให้เรามองอาหารทั้งหมดเป็นแค่สินค้า ส่วนเราเป็นเพียงผู้บริโภคที่ถูกตัดขาดจากกระบวนการผลิต จากเบื้องหลัง จากที่มาของอาหารแต่ละจาน การกินง่ายจึงทำให้ความสำคัญของอาหารที่ดี อาหารที่ใส่ใจ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนหลงลืมไปทันที
พฤติกรรมเลิกปรุง
และสิ่งสำคัญที่หลายคนคงลืมไปเลยเมื่อเราสั่งอาหารนอกบ้านเป็นประจำคือความสำคัญของทักษะการทำอาหาร การทำอาหารกินเองนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราเลือกวัตถุดิบ เลือกรส เลือกความปลอดภัยในแต่ละมื้อได้ แต่ยังเป็นทักษะจำเป็นที่จะทำให้เราพึ่งตนเอง ไม่กลายเป็นผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรม หรือพึ่งร้านอาหารตลอดเวลา สุดท้ายแล้วหากเราไม่เลือกกินตั้งแต่ตอนนี้ อาจจะไม่มีโอกาสได้เลือก ได้กำหนดอาหารด้วยตนเองอีกเลยก็เป็นได้
ทุกมื้อเดลิเวอรี่ มีขยะมากแค่ไหน?
อีกผลกระทบที่มองข้ามไม่ได้เลยคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกจำนวนมากที่แถมมากับทุกออเดอร์เดลิเวอรี่ เว็บไซต์ The New York Times เคยรายงานถึงวิกฤตขยะพลาสติกในประเทศจีนที่มาจากบริการสั่งอาหารออนไลน์ พบว่าธุรกิจนี้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มากถึง 1.6 ล้านตันในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยังไม่เฟื่องฟูถึง 9 เท่า
ที่ประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนจนสามารถระบุได้ว่ามีการสร้างขยะจากอาหารเดลิเวอรี่ปีละกี่ตัน แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าการเติบโตและความนิยมของธุรกิจเดลิเวอรี่สร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำจากร้านโปรด 1 เมนู เราจะได้ขยะเดลิเวอรี่มาด้วยอย่างน้อย 5 ชิ้น ทั้งถุงพลาสติกใส่เส้น ถุงพลาสติกใส่น้ำซุป ถุงเครื่องปรุง ซองพลาสติกใส่ตะเกียบ และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหาร หากนำเอาเมนูก๋วยเตี๋ยวเป็นมาตรฐานในการสร้างจำนวนขยะ แล้วสมมติว่าใน 1 ปีเมืองไทยมียอดออเดอร์การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ประมาณ 20 ล้านเมนูต่อปี นั่นหมายความว่าจะมีขยะที่มาจากธุรกิจนี้ถึง 100 ล้านชิ้น!!
ซึ่งการแก้ปัญหาขยะนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทั้งจากผู้ให้บริการ ร้านค้า และผู้บริโภค ล่าสุดเราก็เริ่มเห็นความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาจากแอพพลิเคชั่น LINE MAN ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารรายแรกที่สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ชื้อสามารถเลือกไม่รับพลาสติกในการจัดส่งอาหารได้ เช่น ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก หรือเลือกใช้ถุงผ้าในการจัดส่งอาหารแทนถุงพลาสติก เป็นต้น
นอกจากความใส่ใจผู้ให้บริการแล้ว ความใส่ใจของร้านค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ และบางครั้งต้องอาศัยความกดดันจากฝั่งผู้บริโภค ตัวอย่างความกดดันจากฝั่งผู้บริโภคที่ได้ผล เช่น กรณีของร้านชานมไข่มุกชื่อดังที่ทุกการสั่งชานมไข่มุก 1 แก้ว สร้างขยะพลาสติกได้มากถึง 8 ชิ้น เกิดเป็นกระแสต่อต้านในโลกออนไลน์ จนทางร้านต้องออกมาแถลงการณ์คิดหามาตรการแก้ไขและหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุดคงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุ นั่นคือลดการสั่งอาหารด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
เราจะกินด่วนให้ ‘ดี’ ขึ้นได้อย่างไร?
แม้วิถีชีวิตจะเร่งด่วนจนการทำอาหารดีๆ ให้ตัวเองกลายเป็นเรื่องยาก แต่เรายังพอสั่งอาหารนอกบ้านให้ดีขึ้นด้วยการเลือกให้มากขึ้นได้ ในวิถีกินเร็ว กินด่วน เราสามารถลดความมักง่ายในการกินได้ดังนี้
- หยุดตัวเองก่อนจะกดสั่งอาหารตามความเคยชิน แล้วถามตัวเองทุกครั้งว่าเหตุผลในการกดสั่งอาหารแต่ละครั้งคืออะไร เราจำเป็นมากน้อยแค่ไหน มีร้านอาหารใกล้ๆ ที่สามารถเลือกซื้อได้ไหม
- ลองสำรวจร้านอาหารใกล้ๆ ตัว นอกจากโอกาสที่จะได้เจอร้านอาหารอร่อย คุณภาพดี ที่ปรุงด้วยความใส่ใจ การออกไปเดินเพียงวันละ 30 นาที เป็นประจำ 4-5 วันต่อสัปดาห์ ยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อีกด้วย
- หากจำเป็นต้องสั่งจริงๆ ลองไม่สั่งอาหารจากร้านเดิมที่เราคุ้นเคย แล้วค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ เช่น ร้านอาหารสุขภาพหรือร้านอาหารโฮมเมดที่ปรุงอาหารสดใหม่ทุกเมนู
- หลีกเลี่ยงของทอดและของย่าง ควรเลือกเป็นเมนูต้ม ตุ๋น นึ่ง หรืออบ ถ้าเป็นไปได้หาเลือกเมนูที่มีผักเป็นส่วนประกอบ ซึ่งแต่ละวันเราควรกินผัก 400 กรัม หรือประมาณครึ่งหนึ่งของเมนูทั้งหมด
- หากสามารถระบุรายละเอียดลงไปได้ในแต่ละเมนู เช่น ไม่เติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยว ไม่ใส่ผงชูรส หรือไม่รับน้ำปลาพริก ก็ช่วยควบคุมไม่ให้มีรสจัดเกินไปได้อีกทางหนึ่ง
- ในทุกๆ ออเดอร์ควรจะพยายามลดขยะเท่าที่จะทำได้ กำกับพี่พนักงานเดลิเวอรี่ไว้ว่าไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ไม่รับถุงพลาสติกหรือรวมถุงหากสั่งหลายเมนู
แม้ว่าบริการ food delivery นั้นตอบโจทย์คนเมืองที่ใช้ชีวิตรีบเร่งได้อย่างตรงจุด แต่ถ้าใช้บริการนี้บ่อยเกินไป ก็สามารถสร้างผลกระทบได้ทั้งกับวิถีการกินของตัวเองและสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองเคยชินกับความกินง่าย จนมองลืมใส่ใจเรื่องคุณภาพ คุณค่า ที่มาและที่ไปของอาหารแต่ละมื้อ
ข้อมูลอ้างอิง
www.kasikornresearch.com
www.abc.net.au
www.thaihealth.or.th
www.nytimes.com
www.scmp.com
ภาพประกอบ: npy.j