ผลไม้ชนิดเดียวในโลกที่มี ‘ตา’ รอบตัวอย่างสับปะรด ถือว่าเป็นผลไม้เมืองร้อนที่หากินได้ง่ายดายในบ้านเรา โดยเฉพาะตามรถเข็นผลไม้ที่มีไม่เคยขาด หรือกวาดตาหาแบบกระป๋องตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้ง่ายๆ 

แต่สับปะรดกลับเป็นหนึ่งในผลไม้ที่เราในฐานะผู้บริโภค ไม่เคยใช้ ‘ตา’ สังเกตหรือสืบเสาะหาที่มาที่ไปเลยว่า มันมีวิธีการปลูกยังไง และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง หากเราไม่รู้จักเลือกกิน

G101 ได้รวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรพันธมิตรของเราที่ปลูกสับปะรดด้วยวิธีแบบออร์แกนิก จึงอยากชวนทุกคนมาทำตัวเป็นนักสืบตาสับปะรด ใช้หลายๆ ตาช่วยกันสืบให้รู้ว่าสับปะรดที่ออร์แกนิก และมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ลองสืบดูกันเป็นข้อๆ ไปเลย

1
สืบจนรู้ว่า…สับปะรดไม่ได้ถูกบังคับให้ออกหัว

สับปะรดไม่ได้ออกดอกออกผลได้ดีตลอดทั้งปี แต่จะมีเยอะช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน ดังนั้น เรื่องน่ากลัวอันดับต้นๆ ของสับปะรดที่ปลูกแบบเคมี คือการที่เกษตรกรหรือแปลงที่เป็นสัมปทานของบริษัทใหญ่ๆ หาวิธีการบังคับให้สับปะรดออกดอกในช่วงนอกฤดูกาล โดยวิธีที่ทำกันเป็นปกติคือการใช้สารเคมีที่ชื่อ แคลเซียมคาร์ไบด์ (Calcium Cabide) และสารอีทีฟอน (EThephon) หรือที่ชาวสวนเรียกว่าการอัดถ่านแก๊ส เร่งให้สับปะรดออกดอกและออกหัวได้เยอะๆ 

สับปะรดที่ปลูกแบบออร์แกนิกจริงๆ จะไม่มีการบังคับดอก บังคับผลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปล่อยให้สับปะรดออกหัวตามธรรมชาติ แม้จะทำให้ได้ผลครั้งละไม่มากไม่มาย แต่ก็ใช่ว่าช่วงนอกฤดูกาลจะไม่มีผลให้เก็บขายเลยนะ เกษตรกรบอกเราว่าที่จริงแล้วสับปะรดออกผลได้ทั้งปี แค่ช่วงนอกฤดูกาลอาจจะออกผลน้อยหน่อยเท่านั้นเอง

2
สืบจนรู้ว่า…สับปะรดโตไม่ได้โตมาจากปุ๋ยเคมี

สิ่งที่รับรู้แล้วน่าตกใจก็คือ ในกระบวนการปลูกสับปะรดแบบเคมี จะมีการใส่ปุ๋ยเคมีกับสับปะรดได้มากถึง 5 ครั้ง แบ่งตามช่วงอายุของสับปะรด โดยเฉพาะไนโตรเจนที่ต้องใส่เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในช่วงแรก (รองพื้น ก่อนปลูก) จากนั้นก็จะใส่ปุ๋ยช่วงก่อนการบังคับดอก 3 ครั้ง (ระหว่างปลูก) และใส่อาหารเสริมพืชแบบฉีดพ่น (หลังออกผล) อีกหนึ่งครั้ง

เกษตรกรจากสวนสับปะรดออร์แกนิกที่เราขอข้อมูลมา เล่าให้ฟังว่า พวกเขาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนเคมี โดยทำปุ๋ยหมักสูตรพิเศษขึ้นมาเอง นั่นก็คือการหมักปุ๋ยจากไข่ นม และจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติช่วยในการเติบโตไม่แพ้ปุ๋ยแบบเคมีเลย

3
สืบจนรู้ว่า…สับปะรดหวาน แต่ไม่เสมอกัน เปรี้ยว แต่ไม่กัดลิ้น

รู้ไหมว่าบางครั้งสับปะรดที่กัดเข้าไปแล้วหวานเจี๊ยบ หรือเปรี้ยวจนกัดลิ้น อาจจะไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่กลับเป็นความหวานที่มาจากการชุบน้ำหวาน หรือการใส่สารเร่งหวานในกระบวนการปลูก และกลับกลายเป็นความเปรี้ยวที่มาจากสารไนเตรตที่ตกค้างอยู่ในสับปะรด จนกัดลิ้นเราได้

สับปะรดออร์แกนิกมีธรรมชาติที่คนกินจะพอสังเกตได้เอง คือรสชาติที่ไม่ได้หวานเสมอกันทั้งลูก แต่มักจะหวานจากด้านล่างผลไล่ขึ้นไปอมเปรี้ยวเล็กน้อยทางด้านบน และไม่ได้เปรี้ยวจนกัดลิ้นถ้าสุกได้ที่ แต่จะเปรี้ยวติดปลายลิ้นแบบพอดิบพอดี  

4
สืบจนรู้ว่า…สับปะรดอาศัยฝนตามฤดูกาล

ธรรมชาติของสับปะรดเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี แต่ในการปลูกเพื่อระบบอุตสาหกรรม จะมีกระบวนการใส่สารบังคับดอก หรือฮอร์โมน ซึ่งทำให้ต้องมีการให้น้ำสับปะรดเพิ่มเติมหลังการหยอดสารบังคับดอกไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอยิ่งขึ้นและมีขนาดผลใหญ่ตามความต้องการของโรงงาน 

สำหรับเกษตรกรแบบออร์แกนิก การปล่อยการปลูกสับปะรดให้เป็นตามธรรมชาติ อาศัยฝนตามฤดูกาล แม้ว่าจะไม่ได้ผลใหญ่สม่ำเสมอเท่ากันหมด แต่ก็มีข้อดีที่น่ารักกับคนกิน คือสามารถไล่เก็บสับปะรดออร์แกนิกขายได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปีเช่นกัน

5
สืบจนรู้ว่า…หญ้ารอบๆ สับปะรดไม่ได้โดนวางยา

และสุดท้ายคือปัญหาแสนคลาสสิกของเกษตรกร นั่นก็คือการกำจัดวัชพืช วัชพืชของสับปะรดจะปรากฏตัวเยอะตอนช่วงแรกของการปลูก และมาแย่งการเจริญเติบโตของต้นสับปะรดไป เราอาจไม่รู้ว่า สับปะรดเคมีนั้นอาจมีการใช้ยากำจัดวัชพืชมากถึง 5 ชนิด!

วิธีเดียวที่ทำให้สับปะรดออร์แกนิกอยู่รอด คือความขยันเอาใจใส่ของคนปลูก ที่ต้องคอยลงไปดูแลถอนหญ้าและกำจัดวัชพืชด้วยมืออย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาการปลูกอันยาวนาน 

สำหรับเราผู้บริโภค เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าสับปะรดเคมีอันตรายยังไง และสับปะรดออร์แกนิกต้องอาศัยการดูแล (ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุด)​ แค่ไหน วิธีเดียวที่จะให้กำลังใจเกษตรกรคือการเสาะหาช่องทางการอุดหนุนสับปะรดแบบอินทรีย์ให้ได้มากที่สุด อาจจะเริ่มต้นจากการพาตัวเองออกไปเดินตลาดสีเขียวใกล้บ้าน พูดคุยกับพวกเขา และสนับสนุนเท่าที่ตัวเองจะทำได้นะ : )

ที่มาข้อมูล:

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง