เชื่อว่าแฟน ๆ Greenery. คงคุ้นชื่อ สินค้า GI กันอยู่บ้างแล้ว แต่ก็จะขอขยายความเอาไว้กันเหนียวสักหน่อย เผื่อมีนักอ่านหน้าใหม่เข้ามาจะได้ไม่พลาดคลาดเคลื่อนความเข้าใจต่อสินค้าประเภทนี้

ก่อนอื่นขยายความก่อนว่า GI นั้นย่อมาจาก Geographical Indication ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระบุถึงแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ อันเป็นผลผลิตในพื้นที่ดังกล่าว

อธิบายภาษาทางการอย่างนี้เชื่อว่าต้องมีคนงงในดงอักษรกันบ้าง จึงขอเล่าง่าย ๆ ว่า การตีตราสินค้า GI นี้ ก็เพื่อเชิดชูสินค้าประจำถิ่นที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนที่ไหนให้มีความโดดเด่นขึ้นมา อุปมาไปก็คล้ายเป็นการตีแบรนด์ของดีประจำท้องถิ่นนั่นเอง โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ออกแบบเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม ภายในมีตัวอักษรเขียนเต็ม ๆ กำกับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI Thai Geographical Indication โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นออกให้กับผู้ผลิตสินค้าซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว หรือผู้ประกอบการการค้าเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

เมื่อสินค้าได้รับการตีตรา GI แล้ว สินค้านั้น ๆ ก็จะถูกยกขึ้นมาว่าเป็นของดีของเด็ดให้คนได้รู้จัก ส่งผลดีต่อการค้าขายของผู้ผลิต

ว่าแต่การตีตราสินค้าว่าเป็นสินค้า GI นั้นมีความสำคัญอย่างไรหนอ คำตอบก็คือ มีประโยชน์หลายด้านมาก ๆ เช่น อย่างแรกเมื่อสินค้าได้รับการตีตรา GI แล้ว สินค้านั้น ๆ ก็จะถูกยกขึ้นมาว่าเป็นของดีของเด็ดให้คนได้รู้จัก ส่งผลดีต่อการค้าขายของผู้ผลิต หรือต่อมาเมื่อสินค้าตีตราแล้ว ผู้ผลิตเองก็ต้องรักษาคุณภาพทุกกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สินค้านั้น ๆ มีคุณสมบัติตรงกับที่แจ้งไว้ ก็เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาขึ้นเองโดยอัตโนมัติและเป็นไปอย่างมีระบบที่สามารถตรวจวัดได้ ส่งผลดีเมื่อต้องนำเสนอสินค้าดังกล่าวออกสู่สายตาชาวโลก ส่วนข้อดีของผู้บริโภคก็คือ เราจะมีไกด์ไลน์รายชื่อสินค้า GI พร้อมข้อมูล เพื่อระบุให้รู้ว่าสินค้าอะไร มีจากไหน มีคุณสมบัติดีเด่นอย่างไร หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีสิทธิ์เข้าถึงการกินอยู่อย่างรู้ที่มา ซึ่งทุกข้อดีที่กล่าวมานี้จะนำพาไปสู่การผลิต การค้า การบริโภค ที่ยั่งยืนนั่นเอง

สินค้า GI ของไทย นั้นแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ ประเภทผัก/ผลไม้ อาหาร ไวน์/สุรา ข้าว หัตถกรรม/อุตสาหกรรม ผ้า/ผ้าไหม ทว่าครั้งนี้ Greenery. จะขอกล่าวถึงเพียงหมวดของ ผัก/ผลไม้ อาหาร และข้าว ที่เพิ่งได้รับการจดขึ้นทะเบียนกันใหม่ล่าสุด อนุมัติเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ว่าแล้วไปดูกันเลยว่า ของอร่อยเด็ดดี GI อัปเดตประจำปี 2565 มีอะไรกันบ้าง

1. เผือกหอมบ้านหม้อ เนื้อร่วน รสมัน กลิ่นหอมมาก
เผือกหอมเนื้อดีหัวใหญ่นี้ ปลูกในจังหวัดสระบุรี ในเขต อ.บ้านหม้อ อ.ดอนพุด อ.หนองโดน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เผือกหอมเชียงใหม่หรือเผือกหอมพิจิตร ด้วยภูมิอากาศในเขตสามอำเภอที่กล่าวมามีลักษณะเป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ทำให้ในช่วงฤดูแล้งจะมีฝนน้อย และฤดูฝนมีฝนตกชุก ประกอบกับการเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายที่เป็นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จึงมีระบบชลประทานที่สามารถผันน้ำมาทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดระยะเวลาการปลูก รวมถึงสภาพอากาศมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ฤดูหนาวไม่หนาวมาก จึงเหมาะแก่การปลูกเผือกหอมเป็นอย่างยิ่ง

อ.บ้านหม้อ ปลูกเผือกหอมมานานกว่า 70 ปีแล้ว แรกเริ่มนั้นปลูกข้าวและแตงโมเป็นหลักแต่ให้ผลผลิตไม่ดี จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทดลองนำเผือกหอมมาปลูก แล้วปรากฏว่าเผือกหอมมีกลิ่นหอมกว่าแหล่งต้นพันธุ์ และมากกว่าเผือกหอมที่อื่น ๆ กลายเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อจนเรียกติดปากกันว่า “เผือกหอมบ้านหม้อ”

เอกลักษณ์ของเผือกหอมบ้านหม้อคือ มีหัวขนาดใหญ่ เรียวยาวคล้ายหัวปลี เนื้อเผือกมีสีขาวอมม่วงอ่อน เส้นใยเนื้อเผือกเป็นสีม่วง มีแป้งมาก เมื่อผ่านความร้อนจะร่วนซุย รสมัน และมีกลิ่นหอมมาก

2. ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา แน่น มัน ไม่คาวดิน
ทะเลสาบสงขลา มีสันทรายธรรมชาติปิดกั้นจากอ่าวไทยทั้งหมด น้ำที่อยู่ในทะเลสาบจึงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงเสมอ ทั้งน้ำจืดในช่วงฤดูมรสุม น้ำกร่อย น้ำเค็ม ในฤดูแล้ง ขึ้นกับปริมาณน้ำทะเลบริเวณช่องเปิดสู่อ่าวไทย ตรงจุดเดียวคือจังหวัดสงขลา น้ำของทะเลสาบไม่ได้ลึกมากจึงมีพืชน้ำเติบโตอยู่มาก กอรปกับตะกอนดินที่ถูกชะล้างสารอาหารและตะกอนดินจากพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสารอาหารสำหรับแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่

คำว่า ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมหลายอย่าง ทั้ง ปลากะพงสด ปลากะพงสดแช่แข็ง ปลากะพงเค็ม หนังปลากะพงทอดกรอบ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา มาจากปลากะพงที่เลี้ยงในกระชังของทะเลสาบสงขลา ที่ติดกับทะเลอ่าวไทยเข้ามาด้านใน ครอบคลุมทะเลสาบสงขลาทั้งหมด ได้แก่ อ.เมืองสงขลา อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง โดยพื้นที่การแปรรูปจะครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา

ปลากะพงขาว ทำการเพาะเลี้ยงสำเร็จครั้งแรกของโลก ที่ จ.สงขลา โดยคุณสวัสดิ์ วงศ์สมนึก และ คุณสุจินต์ มณีวงศ์ นักวิชาการประมง จากกรมประมง ก่อนจะนำลูกปลาที่เพาะได้ส่งให้ชาวบ้านลองเลี้ยงดู และประสบความสำเร็จ

เอกลักษณ์ของปลากะพงสามน้ำของทะเลสาบสงขลานี้ ปลาสดเมื่อนำไปปรุงอาหารจะมีเนื้อสีขาว เนื้อแน่น มีความมัน และไม่คาวกลิ่นดินกลิ่นโคลนกลิ่นสาบ ส่วนชนิดแช่แข็งจะมีทั้งแบบอวัยวะครบ หรือแบบขอดเกล็ดตัดแต่ง ปลากะพงเค็มมีรสเค็ม หวาน มัน หอมธรรมชาติตามแบบปลาเค็ม ไม่มีกลิ่นอับ หนังปลากะพงทอดกรอบปรุงรส มีเนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เหนียว ไม่แข็ง ไม่มีกลิ่นอับ กลิ่นหืน ไม่มีรสขมติดมา

3. เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน ขาวละเอียด เค็มนวลกลมกล่อม
เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบ่อเกลือในภูเขาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หนึ่งเดียวของโลก และมีประวัติศาสตร์การต้มเกลือจากน้ำเกลือในบ่อแห่งนี้มายาวนาน โดยได้ต้มเกลือและส่งขายไปยังกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้ และปัจจุบันยังหลงเหลือบ่อเกลือในพื้นที่ดังกล่าวที่ยังใช้ต้มทำเกลือตามแบบวิถีดังเดิมอยู่ เช่น มีการกำหนดวันงดตักน้ำเกลือในแต่ละปีตามช่วงเทศกาลที่กำหนด เช่น ช่วงเวลาทำบุญเลี้ยงบ่อประจำปี เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลออกพรรษา

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่สามารถตักน้ำเกลือจากบ่อเกลือมาต้มได้ ต้องเป็นผู้ชาย หรือ เขย ของหมู่บ้าน และเป็นเจ้าของโรงต้มเกลือเท่านั้น เวลาตักต้องสวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ไม่เปลือยท่อนบน และต้องถอดรองเท้า นอกจากนี้ กรรมวิธีตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ต้มเกลือ ก็เป็นไปตามแบบวิถีดังเดิม ยังใช้ใบตองกุกรองระหว่างกระทะและเตา เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น ต้มด้วยฟืนจากไม้เนื้ออ่อนที่ล้มเองในธรรมชาติในพื้นที่ เตาที่ก่อจากดิน ในการต้มเกลือ เป็นต้น

เกลือป่น และดอกเกลือ จากบ่อเกลือน่าน มีสีขาวสะอาด เนื้อละเอียด ละลายน้ำได้ดี เค็มกลมกล่อม ไม่มีกลิ่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนเกลือจากแหล่งอื่น จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในสินค้า GI ของไทย

4. ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส หอม ร่วน ไม่แข็ง
ข้าวหอมกระดังงานราธิวาสนี้ มีจุดกำเนิดที่ ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เชื่อกันว่า ข้าวหอมชนิดนี้ เป็นข้าวพื้นเมืองที่อาจปลูกกันมายาวนานตั้งแต่ที่นราธิวาสยังอยู่ใต้การปกครองของอณาจักรสุโขทัย เดิมเรียกชื่อว่า ข้าวกระดาหงา หรือ ข้าวกระดังงา ก่อนจะเติมคำว่าหอมเข้าไป กลายเป็น ข้าวหอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายดอกกระดังงา ในอดีตชาวนานิยมปลูกข้าวชนิดนี้ถวายพระสงฆ์ และหุงสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จึงนับเป็นข้าวล้ำค่าของคนในถิ่นนี้

ลักษณะของข้าวชนิดนี้คือ ปลูกเป็นข้าวนาปี เปลือกข้าวมีสีฟาง พอสีออกมาแล้วเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง เมื่อนำไปขัดขาวจะยังมีสีขาวอมแดง เมื่อหุงสุกข้าวมีลักษณะร่วน แต่ไม่แข็ง มีกลิ่นหอมคล้ายดอกกระดังงา อีกทั้งวิจัยพบว่าเป็นข้าวที่มีปริมาณแคลเซียมสูง โดยสายพันธุ์ที่ทำการขึ้นทะเบียน GI มีชื่อเต็มว่า ข้าวหอมกระดังงา 59 ซึ่งปลูกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยครอบคลุมทั้ง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว

5. มันแกวบรบือ อวบแป้น น้ำเยอะ กรอบ รสหวานมัน
อำเภอบรบือ อยู่ในจังหวัดมหาสารคาม เดิมทีชื่อ อ.ประจิมสารคาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในขณะนั้น ได้ตรวจราชการในพื้นที่ พบว่าพื้นที่อำเภอดังกล่าวมีบ่อเกลือสินเธาว์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติ จึงตั้งชื่อว่า บ่อระบือ และเพี้ยนเสียงเป็น บรบือ เช่นปัจจุบัน
ตามที่เล่ามาข้างต้นว่าพื้นที่เป็นบ่อเกลือ ทำให้ดินในแถบนี้มีเกลืออยู่ใต้ดิน ประกอบกับดินด้านบนนั้นเป็นทรายปนกรวด จึงไม่อุดมสมบูรณ์นัก เกษตรกรจึงนิยมปลูกพืชหมุนเวียน และมันแกวก็คือหนึ่งในพืชที่นำมาปลูกแล้วได้ผลดี เหตุเพราะเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง โดยสายพันธุ์ที่เลือกนำมาปลูกคือมันแกวพันธุ์เบา หัวแป้น อวบใหญ่

มันแกวที่ปลูกในพื้นที่ อ.บรบือ มีผลผลิตที่ให้เนื้อสัมผัสและรสชาติที่แตกต่างจากที่อื่น ตั้งแต่รูปทรงที่จะกลมแป้นอวบใหญ่ เปลือกบาง เนื้อในมีสีขาว เส้นใยในเนื้อมาก ปริมาณน้ำในเนื้อมาก เนื้อสัมผัสกรอบ รสมัน และ หวาน โดยพื้นที่ปลูกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นมันแกวบรบือนั้น คือมันแกวที่ปลูกใน อ.บรบือ และ อ.กุดรัง

6. ไชโป๊วโพธาราม สีสวย หอม กรอบ เค็มหวานกลมกล่อม
ย้อนหลังไปราว 60 ปีก่อน พื้นที่ใน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกผักกาดหัว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า หัวไชเท้า เมื่อผลผลิตครบกำหนด ต้องเก็บเกี่ยวภายในระยะเวลาที่จำกัดจึงจะได้คุณภาพส่งขายได้ ทำให้มีหัวผักกาดส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวไม่ทัน เกษตรกรจึงคิดหาวิธีแปรรูปหัวผักกาดเหล่านี้จนกลายมาเป็น หัวไชโป๊วเค็ม และหัวไชโป๊วหวาน โดยในจำนวน 19 ตำบล ของ อ.โพธาราม นั้น ต.เจ็ดเสมียน มีการแปรรูปผักกาดหัวเป็นหัวไชโป๊วมากที่สุด และโดดเด่นที่สุด เพราะนำเอาภูมิปัญญาของการถนอมอาหารของชาวจีนในพื้นที่มาใช้ จึงได้หัวไชโป๊วที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ กรอบ เค็มหวานกลมกล่อม สีน้ำตาลสวย มีกลิ่นหอมที่แสดงถึงความเค็มของไชโป๊ว

ไชโป๊วโพธาราม ทั้งชนิดเค็ม และชนิดหวาน จึงได้รับการขึ้นทะเบียน GI ว่าเป็นของเด็ดดีที่ไม่ควรพลาด ซึ่งปัจจุบันได้นำเอาผักกาดหัวสายพันธุ์เบาของกลุ่มเอเชีย ที่เป็นพันธุ์แบบจีน จากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเช่น กาญจนบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และสุโขทัย มาใช้ทำหัวไชโป๊ว

7. ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี ขมิ้นชันที่ดีที่สุด
คนรักสุขภาพและสนใจเรื่องธรรมชาติบำบัด คงรู้จัก ขมิ้นชัน เป็นอย่างดี ถึงสรรพคุณที่ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ โดยสรรพคุณดีของขมิ้นนั้นมาจากสารสำคัญที่ชื่อว่า เคอร์คูมิน นั่นเอง

ขมิ้นชันจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการตรวจพบว่าเป็นขมิ้นชันที่มีสารเคอร์คูมินสูงที่สุด เมื่อเทียบกับขมิ้นที่ปลูกจากแหล่งอื่น เหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ก็เพราะลักษณะดินในพื้นที่ปลูกซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์แต่ระบายน้ำได้ดี ประกอบกับพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ร่วมกับสายพันธุ์ขมิ้นที่ปลูกซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ชื่อว่า พันธุ์ตาขุน บ้างเรียกว่า ขมิ้นชันทอง ซึ่งนิยมปลูกในเขต อ.ตาขุน และอีกสายพันธุ์คือ พันธุ์ขมิ้นชันแดงสยาม ที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ

8. ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี (ปลาเม็งสด ปลาเม็งย่างรมควัน)
ปลาเม็ง เป็นปลาน้ำจืดชนิดเดียวกันกับปลาดุก ชื่อเดิม ปลาแม๊งแค๊ง แต่ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น ปลาเม็ง ปลาชนิดนี้เป็นปลาธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในป่าพรุ ลำธาร ห้วย ของจ.สุราษฎร์ธานี และคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี แต่เดิมมีมาก อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่พอมีการปรับพื้นที่และใช้สารเคมีในการเกษตร กระทบต่อแหล่งน้ำ จึงทำให้ปลาชนิดนี้ลดจำนวนลงจนเสี่ยงสูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.สุราษฎร์ธานี จึงเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าวขึ้นและแจกจ่ายให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาพื้นถิ่นดังกล่าวเอาไว้

เอกลักษณ์ของเนื้อปลาเม็งคือ เนื้อแน่น เป็นเส้น ไม่เปื่อยยุ่ย มีไขมันน้อย และว่ากันว่า ปลาเม็งย่างรมควัน นั้น เป็นภูมิปัญญาที่ชาวสุราษฎร์ฯถ่ายทอดสืบต่อกันมามากกว่าร้อยปี เมนูอาหารแสนอร่อยจากปลาเม็งสดนั้นเป็นอาหารภาคใต้พื้นถิ่น เช่น แกงคั่วใบส้มแป้นขี้ม้า แกงส้ม แกงพริก ฯลฯ ส่วนเมนูจากปลาเม็งแห้งรมควัน เช่น ยำปลาเม็ง ต้มโคล้งปลาเม็ง ปลาเม็งจิ้มน้ำปลา ปลาเม็งน้ำปลาหวาน เป็นต้น

โดยปลาเม็งที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI นั้นเป็นปลาเม็งเลี้ยงที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ อ.ขัยบุรี อ.พระแสง อ.เวียงสระ อ.นาสาร อ.เคียนชา อ.นาเดิม อ.พุนพิน และ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี

9. สับปะรดศรีเชียงใหม่ เนื้อละเอียดหวานฉ่ำ แกนกรอบ ไม่กัดลิ้น
อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย มีสับปะรดเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียที่นำมาปลูกในพื้นที่ ซึ่งแรกเริ่มปลูกที่ตำบลบ้านหม้อ ด้วยคุณสมบัติของดินในพื้นที่เป็นดินที่เรียกว่าชุดดินโพนพิสัย มีลักษณะดินตื้นปนกรวดลูกรัง ดินบนเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน ที่มีโพแทสเซียมสูง และระบายน้ำได้ดี จึงทำให้สับปะรดที่นำมาปลูกนั้นให้ผลผลิตที่มีรสชาติดีและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ ผลรี ร่องตาตื้น ก้านสั้น เปลือกบาง เนื้อเส้นใยละเอียด ไม่เป็นแกนดำ เนื้อมีสีเหลืองเข้มเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ แกนหวานกรอบ ไม่กัดลิ้น

10. มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ หวานหอมเนื้อเนียนเสี้ยนไม่มีเมล็ดลีบ
พื้นดินของจังหวัดสมุทรปราการ มีลักษณะเป็นดินเหนียวที่ละเอียด เกิดจากการทับถมตัวของตะกอนต่าง ๆ ทั้งตะกอนดิน ตะกอนลำน้ำ ตะกอนดินเคลย์ทะเล ทำให้เป็นดินเหนียวที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก โดยเฉพาะแร่ธาตุโพแทสเซียมที่มีความสำคัญในการเคลื่อนย้ายสารอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ทำให้ผลไม้ที่ปลูกในดินเช่นนี้มีรสชาติดี

มะม่วงน้ำดอกไม้ ก็เป็นหนึ่งในผลไม้เลื่องชื่อของจังหวัด แต่เดิมชาวบ้านปลูกพันธุ์พื้นเมืองอย่าง พันธุ์เขียวนวล

ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำมะม่วงน้ำดอกไม้พื้นเมืองนี้ไปพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ และให้ชื่อว่า มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์4 ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและออกผลตลอดปี (ทวาย) ก่อนให้เกษตรกรนำไปปลูกและพบว่าผลผลิตมะม่วงที่ได้นั้นมีคุณภาพดี ด้วยเอกลักษณ์ เนื้อสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานหอม เนื้อละเอียดเนียน ไม่มีเสี้ยน เมล็ดเล็กลีบแบน จึงเป็นที่นิยมและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด จนประชาชนนิยมเรียกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ นั่นเอง

11. ส้มโอปราจีน หวาน ไม่ขม ไม่ซ่า เปลือกบางเนื้อเยอะตัวกุ้งแน่น
จังหวัดปราจีนบุรี เป็นถิ่นปลูกผลไม้หลายหลากชนิดมาช้านาน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับป่าเขาสลับซับซ้อน และเป็นจุดกำเนิดของต้นแม่น้ำหลายสาย และที่สำคัญคือใต้ดินมีเศษหินศิลาแลงอยู่จำนวนมากสะสมมานานปี จึงเป็นแหล่งที่มีดินอุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุที่เหมาะอย่างยิ่งในการปลูกส้มโอ

ส้มโอปราจีนในที่นี้ครอบคลุมส้มโอ 4 สายพันธุ์ ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ พันธุ์ทองดี ขาวน้ำผึ้ง ขาวใหญ่ และ ขาวแตงกวา โดยแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป แต่เอกลักษณ์ที่ส้มโอทุกสายพันธุ์ของส้มโอปราจีนมีก็คือ รสหวาน ไม่ขม ไม่ซ่าลิ้น เปลือกบางเนื้อเยอะตัวกุ้งแน่น (ตัวกุ้ง หมายถึง เกล็ดส้ม) และทีเด็ดที่สุดคือ ตัดผลจากต้นแล้วสามารถปอกรับประทานได้เลย ไม่ต้องทิ้งให้ลืมต้นก็มีรสอร่อย จึงเป็นส้มโอที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกต่างประเทศ ทั้งจีน ไต้หวัน เวียดนาม ไม่พอขายในแต่ละปี

12. พุทรานมบ้านโพน เนื้อฉ่ำน้ำ กรอบ หวาน อร่อย
จุดเริ่มต้นของพุทราบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ คือนายบุตร ภูจันหา ได้นำพุทรารสหวานสายพันธุ์บอมเบย์ เข้ามาปลูก ด้วยพื้นที่เป็นลักษณะที่ราบริมห้วยเชิงเทือกเขาภูพาน และภูมิอากาศเหมาะสม ทำให้พุทราให้ผลผลิตดี และมีรสชาติดี หวานกรอบ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ต่อมาได้มีการสนับสนุนให้ปลูกพุทรานมสด แทนพันธุ์ที่ปลูกอยู่เดิม โดยมีข้อตกลงว่าจะซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด แต่ต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด และต้องซื้อปุ๋ยบำรุงจากผู้มาส่งเสริม

ทว่าเมื่อเกษตรกรทดลองปลูกแล้ว ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน จึงได้มีการยกเลิกสัญญา ทว่าต้นพุทราที่ปลูกอยู่นั้นชาวบ้านบางคนยังเก็บเอาไว้ เพราะเห็นว่ามีผลดกกว่าพันธุ์เดิม และเริ่มสังเกตเห็นว่า พุทรานมสดที่ทาบกิ่งกับต้นพุทราพันธุ์จัมโบ้ นั้นให้ผลผลิตดี ยิ่งในปีต่อ ๆ มาที่ปลูกจะดกกว่าเดิม และให้ผลเป็นสองลักษณะ คือทั้งแบบลูกโบ้ (ผลใหญ่) และลูกแก้ว (ผลเล็ก) จึงทำการปลูกต่อมาจนปัจจุบัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พุทรานมบ้านโพนมีรสอร่อย คือการบำรุงต้นด้วยน้ำหมักนมสด ที่ทำขึ้นจากเกษตรกร โดยจะระบุสูตรเฉพาะ และยังใช้วิธีกางมุ้งให้ต้นพุทราเพื่อป้องกันแมลง เพื่อลดการใช้สารเคมี

พุทรานมสดบ้านโพน เอกลักษณ์สำคัญคือ ผลกลม หรือ รี ก้านขั้วลึก ผิวเปลือกบาง สีเขียวหรือเขียวอ่อน เนื้อละเอียดสีเขียวฉ่ำน้ำ กรอบ รสหวาน

13. กล้วยหอมทองละแม เนื้อแน่น น้ำน้อย หวานหอม ติดเปรี้ยวนิด ๆ
กล้วยหอมทองละแม เป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดชุมพร ที่ส่งออกต่างประเทศและนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น

ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ละแม จ.ชุมพร ทำอาชีพเกษตรกรรมปลูกผลไม้มายาวนาน โดยเฉพาะกล้วยหอม ซึ่งเดิมทีนั้นนำต้นพันธุ์กล้วยหอมทองมาจากจังหวัดเพชรบุรี ทว่าพอมาปลูกในพื้นที่แตกต่างกลับให้ผลผลิตที่ไม่เหมือนใคร อันเกิดจากลักษณะดินในพื้นที่มีความผสมผสานระหว่างดินเหนียวและดินทรายร่วน และมีความเป็นกรดสูง ระบายน้ำได้ดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอควร ส่งผลให้กล้วยหอมที่ปลูกนั้นมีเอกลักษณ์และเป็นที่นิยม

กล้วยหอมทองละแม มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ ยาว หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว จุกผลยาว เปลือกหนา ผิวกร้าน ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกสีเหลืองอ่อน เนื้อแน่น เมื่อสุกปริมาณน้ำในผลจะมีน้อย รสชาติหวานหอม ติดเปรี้ยวเล็กน้อย

14. สับปะรดบึงกาฬ เนื้อแน่น สีเหลืองเข้ม อมเปรี้ยว กลิ่นหอม
สับปะรดนี้ คือสายพันธุ์ปัตตาเวีย ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ผืนดินของบึงกาฬนั้นเป็นดินร่วนปนทรายตลอดชั้นดิน ความอุดมสมบูรณ์มีน้อย แต่ระบายน้ำได้ดีมากเพราะดินมีความพรุนมาก ประกอบกับสภาพอากาศจำพวกฝนแถบร้อน ลักษณะที่กล่าวมานั้นเหมาะสมกับการปลูกสับปะรด ทำให้สับปะรดของบึงกาฬมีผลใหญ่ เนื้อละเอียดแน่น รสอมเปรี้ยวเล็กน้อย ฉ่ำน้ำ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากสับปะรดพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในต่างพื้นที่

จุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกสับปะรดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ อ.บึงกาฬ ยังเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดหนองคาย โดยเกษตรกรใน ต.ชัยพร ได้นำหน่อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียมาจากพ่อค้าชาวราชบุรี เมื่อทดลองปลูกแล้วได้ผลผลิตดี จึงมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ลักษณะเฉพาะของสับปะรดบึงกาฬคือ ทรงผลกลมมน ส่วนโคนและปลายผลมีความกว้างเสมอกัน ผลใหญ่ ขนาด 2-4 กิโลกรัมต่อผล ตาผลตื้น เนื้อแน่นละเอียดสีเหลืองเข้มเสมอทั้งผล รสชาติและเนื้อสัมผัสตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

15. น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ ผลใหญ่เนื้อหนาเมล็ดเล็ก
น้อยหน่าเป็นผลไม้พื้นถิ่นในทวีปอเมริกากลาง เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวโปรตรุเกส (บ้างก็ว่าโดยคนอังกฤษ) และปลูกในหลายพื้นที่เขตภาคกลาง อ้างอิงได้จากสายพันธุ์น้อยหน่าของ จ.ลพบุรี ชื่อว่า น้อยหน่าพระที่นั่งเย็น หรือ น้อยหน่าพระนารายณ์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้อยหน่าพื้นเมืองในไทย หรือที่เราเรียกว่า น้อยหน่าฝ้าย นั่นเอง

ส่วนน้อยหน่าหนังนั้น ถูกนำเข้ามาปลูกในไทยโดย ภคินีกาซาบี แห่งพระอารามแม่พระจังหวัดอุบลราชธานี โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม แรกเริ่มจึงเรียกน้อยหน่านี้ว่า น้อยหน่าญวน มีสายพันธุ์ที่ปลูกคือ น้อยหน่าหนังเขียว และน้อยหน่าหนังสีทอง

น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ นั้น เป็นการนำต้นพันธุ์น้อยหน่าจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูก เมื่อมาเจอกับดินของปากช่อง ทำให้น้อยหน่าเจริญเติบโตได้ดีและมีรสชาติดี หอมหวาน ชาวบ้านจึงนำเมล็ดน้อยหน่าปลูกเพิ่มไว้ตามหัวไร่ปลายนา แต่ด้วยปลูกด้วยเมล็ด จึงกลายพันธุ์จากผลสีเขียว เป็นผลสีเหลือง และม่วง มีทั้งชนิดน้อยหน่าหนังเนื้อเหนียว และเนื้อร่วนอย่างน้อยหน่าฝ้าย ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจังโดยสถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้สายพันธุ์ เพชรปากช่อง ปากช่อง 46 และ ฝ้ายเขียวเกษตร 2 ที่มีลักษณะผลใหญ่เนื้อหนาเมล็ดเล็ก

โดยน้อยหน่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในนามน้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ นั้นครอบคลุมสามสายพันธุ์ ได้แก่ น้อยหน่าหนัง (น้อยหน่าญวน) น้อยหน่าฝ้าย (น้อยหน่าเนื้อ) และน้อยหน่าลูกผสม (อะติมัวย่า) ที่ปลูกในพื้นที่ อ.ปากช่อง

16. มะม่วงเบาสงขลา รสเปรี้ยว เนื้อขาว กลิ่นหอมแรง
ว่ากันว่า มะม่วงเบาของจังหวัดสงขลานั้นปลูกกันที่ อ.สิงหนคร มายาวนานกว่าร้อยปีแล้ว โดยปลูกไว้เป็นร่มเงาประจำบ้าน เป็นจุดบอกอณาเขตบ้าน และเก็บผลกินในครัวเรือน แต่เป็นที่รู้จักเมื่อมีคนจีนฝั่ง อ.เมือง แจวเรือมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

ด้วยพื้นที่ปลูกเป็นดินที่มีการทับถมของเปลือกหอยจำนวนมาก ทำให้มะม่วงเบาของจังหวัดสงขลานั้นมีเนื้อดีและกลิ่นหอมแรงกว่าที่อื่น มะม่วงเบาสงขลาผลดิบนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ผลเล็ก พวงใหญ่ ก้านช่อสั้น เปลือกบาง สีเขียนอ่อน น้ำยางใส เนื้อขาวแน่นกรอบ รสเปรี้ยวกลิ่นหอมแรง นอกจากผลสดแล้ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะม่วงเบาสงขลาก็ได้รับจดขึ้นทะเบียน GI ด้วย ทั้ง มะม่วงเบาแช่อิ่ม และมะม่วงเบาดองเกลือ

17. มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก เนื้อเนียนเสี้ยนน้อยเมล็ดลีบหวานฉ่ำ
มะม่วงน้ำดอกไม้ขึ้นชื่อนั้นมีหลากหลายแหล่งปลูก ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ปลูกในเขต อ.เนินมะปราง อ.วัดโบสถ์ และ อ.วังทอง ของจังหวัดพิษณุโลกนั้น ก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนที่ไหน

แรกเริ่มเดิมที มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนี้ถูกส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ดังกล่าว โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับคณะผู้วิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยลักษณะดินเฉพาะถิ่นของพื้นที่ปลูก ทำให้ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสุกที่ออกมา มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครนั่นคือ เนื้อแน่นเนียนแห้งไม่ฉ่ำน้ำ เสี้ยนน้อย รสหวาน กลิ่นหอม เมล็ดลีบบาง และมีเนื้อสีเหลืองเข้ม จึงได้ตั้งชื่อว่า “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก” นั่นเอง

18. กล้วยหอมทองพบพระ เหนียว แน่นหนึบ รสหวาน กลิ่นหอม
เดิมทีกล้วยหอมที่ปลูกใน อ.พบพระ นี้ เป็นการนำสายพันธุ์มาจาก จ.เพชรบุรี แต่สาเหตุที่กล้วยหอมที่นี่ดีเด่นจนต้องประทับตรา GI ก็เพราะความแตกต่างของลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะที่ส่งเสริม

ด้วยความที่เป็นพื้นที่บนภูเขา ดินอุดมสมบูรณ์ มีห้วยน้ำธรรมชาติหลายสายที่สามารถนำมาใช้ทำเกษตรได้ แต่ปัจจัยสำคัญคือการปลูกกล้วยหอมทองใน อ.พบพระนี้ จะปลูกบนพื้นที่ ที่มีระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล ถึง 260 เมตร ขึ้นไป กล้วยหอมทองจึงใช้เวลานานในการเติบโตกว่าแหล่งอื่น นั่นคือ 10-12 เดือน ระยะเวลาที่นานส่งผลดี เพราะต้นกล้วยได้สะสมอาหารไว้ได้มาก ส่งผลให้เนื้อกล้วยหอมพบพระนั้น มีเนื้อสัมผัสเหนียวหนึบแน่น และมีรสหวาน กลิ่นหอม ต่างจากกล้วยหอมที่ปลูกในพื้นที่อื่นที่มีระดับความสูงของพื้นที่ต่ำลงมานั่นเอง เอกลักษณ์สำคัญอีกส่วนของกล้วยหอมทองพบพระก็คือ เปลือกบาง เมื่อดิบมีสีเขียว พอสุกแล้วผลมีสีทองสม่ำเสมอ

19. ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา
ในที่นี้หมายถึงทุเรียน 6 สายพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ของ จ.ยะลา

สายพันธุ์ทุเรียนที่ว่าได้แก่ หมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี มูซังคิง หนามดำหรือโอฉี๋เอกลักษณ์สำคัญของทุเรียนทั้ง 6 สายพันธุ์ดังกล่าวที่ปลูกในพื้นที่แห่งนี้คือลักษณะเนื้อทุเรียนที่ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย รสหวานมันอร่อย ส่วนเรื่องสีของเนื้อและกลิ่นจะต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นั้น ๆ

ทุเรียนในจังหวัดยะลานั้น เป็นพืชที่เกิดและเติบโตอยู่ในป่าไม้ในจังหวัดนี้มากว่า 120 ปี แต่เริ่มปลูกกันจริงจังในปี พ.ศ.2505 โดยนายศรีโบ ขัยประสิทธิ์ ได้นำพันธุ์ทุเรียนจากนนทบุรีมาปลูกลงในพื้นที่ดังกล่าวและให้ผลผลิตที่ดี เพราะสภาพแวดล้อมที่เลือกปลูกนั้นเป็นพื้นที่เชิงเขาท่ามกลางธรรมชาตินั่นเอง ด้วยรสชาติที่ดีของทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่นี้จึงเป็นที่เลื่องลือทั้งคนไทยและคนต่างชาติในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง จนเป็นที่ยอมรับ

เหล่านี้เป็นรายละเอียดโดยย่อ ที่เราสรุปไว้ แต่ถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดของสินค้า GI แต่ละชนิดแบบเต็ม ๆ ก็สามารถเข้าไปติดตามอ่านประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ที่ www.ipthailand.go.th/th/gi-011.html

อ้างอิงจาก :
– ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (www.ipthailand.go.th/th/gi-011.html)

ภาพ : Paperis