เพิ่งจบลงไปหมาด ๆ กับ Greenery Journey ตอน จิบกาแฟไทย 5 สายพันธุ์เด่น เข้าใจชุมชน ธรรมชาติ และความยั่งยืน อีกหนึ่งเวิร์กช็อปสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืน ที่ Greenery. จัดเป็นประจำทุกเดือน โดยได้รับการสนับสนุนจาก WWF Thailand ซึ่งครั้งนี้ใจฟูเหมือนเคย เพิ่มเติมคือ ได้ชิมกาแฟ 5 สายพันธุ์เด่นจากภาคเหนือของไทย แถมยังได้สาระความรู้เรื่องกาแฟที่อินสไปร์พวกเราชาวกรีนแบบสุด ๆ

ทริปนี้ได้หอมกลิ่นกาแฟ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มกิจกรรม เพราะ Greenery. นัดเจอผู้ร่วมกรีน ที่ Hacking Coffee Roasters ที่เป็นทั้งร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟ กับบรรยากาศเป็นใจในการล้อมวงคุยกัน และฟังเรื่องราวจากแขกรับเชิญพิเศษของทริป ‘มะเป้ง’ พงษ์ศิลา คำมาก Food Activist จาก Slowfood Chiangmai และ Sansaicisco ผู้เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ที่การบริโภค ‘ทอมมี่’ ธนบัตร กายเออร์ คอกาแฟ บาริสตาที่คลุกคลีอยู่ในวงการกาแฟไทยกว่า 10 ปี และ ‘น้ำหวาน’ นันทนา จันทวี เกษตรกรกาแฟรุ่นใหม่ วัย 26 ปี ที่แต่เดิมเป็นคนเก็บเมี่ยง (ชาป่า) จากบ้านห้วยน้ำกืน จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งของเส้นทางค้าชาโบราณ มาร่วมแชร์เรื่องราวความยั่งยืนของกาแฟไทยให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนในวันนี้

กิจกรรมดำเนินไปพร้อมกับการชิมกาแฟไทย ที่เคล้ากับเรื่องภูมิศาสตร์ของแหล่งเพาะปลูกกาแฟ จากมะเป้ง หนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการรักษาโลกผ่านอาหารปลอดภัย โดยเขาเริ่มต้นเล่าถึงปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรของไทยว่าสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งผลร้ายคือธรรมชาติเสียสมดุล ไปจนถึงสัมพันธ์กับอาหารการกิน การดำรงชีวิตโดยตรง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์กำลังทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน ซึ่งจะสะท้อนผ่านรสชาติกาแฟแต่ละแก้วในวันนี้ ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี อาหารจะดี และส่งผลต่อความยั่งยืนของชุมชน ธรรมชาติ และเศรษฐกิจท้องถิ่นได้

สำหรับกาแฟแก้วแรกเป็นของพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มะเป้งเล่าว่าเป็นอำเภอฟากตะวันตกของเชียงใหม่ที่ติดกับตาก และเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งของสภาพแวดล้อมดี ซึ่งกาแฟตัวแรกเป็น Single Origin เมล็ดกาแฟคั่ว ขุนตื่น แปรรูปแบบ Natural Process ของ Sopa’s Estate กลุ่มเกษตรกรนักพัฒนากาแฟ ที่ปลูกกาแฟร่วมกับการปลูกป่า (Shade Grown Forest Coffee) ขนานไปกับความตั้งใจพัฒนาคน ชุมชมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โทนรสของกาแฟแก้วนี้มีความหวานที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ ดื่มง่าย นุ่มนวล สะอาด และมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

มาถึงแหล่งเพาะปลูกกาแฟที่สอง มณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน พื้นที่ที่สมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศที่ดี ประกอบกับข้อได้เปรียบเรื่องความสูงของพื้นที่ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่หลายคนอาจรู้จักกาแฟหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จากการเป็นต้นกำเนิดกาแฟเกอิชา แต่วันนี้ตัวที่เราได้ชิมเป็นเมล็ดกาแฟ Dry Process สายพันธุ์ Typica จากสวนรองกล้วย แบรนด์เดอม้ง ที่โดดเด่นด้วยกรรมวิธีปลูกแบบอินทรีย์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจิบ ซึ่งสะท้อนผ่านกาแฟแก้วนี้ที่รับรู้ได้ถึงความใส สะอาด รสเข้ม หอมกลิ่นฟรุ้ตตี้สะท้อนเอกลักษณ์พื้นที่ชัดเจน

สำหรับพื้นที่ปลูกกาแฟที่สาม คือ แม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย จากกาแฟของอนุสรณ์ จือปา เป็น Anaerobic Natural Process การแปรรูปที่ใช้วิธีการหมักโดยไม่ใช้ออกซิเจน ช่วยให้เมล็ดกาแฟที่ได้นั้นได้รับความหวานมากยิ่งขึ้น ใช้เวลานาน ได้คุณภาพของผลผลิตที่คุณภาพสูง แต่เกษตรกรต้องแลกมาด้วยปริมาณน้อยลงจากระยะเวลาที่แต่ละผลจะสุก ส่วนแก้วสี่ แสนชัย Estate อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ Signature Natural Process ถูกปลูกใต้ร่มไม้และถูกปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ เชอร์รี่กาแฟแก้วนี้เลยมีระดับน้ำตาลที่คุณภาพดี หวานแบบผลไม้สุกงอม

ระหว่างชิมกาแฟ น้ำหวานสะท้อนให้เห็นว่าการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ ด้วยวิธีปลูก Shade Grown หรือปลูกภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในป่าต้นน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่าและไม่ใช้สารเคมี ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่านำมาซึ่งต้นน้ำที่บริสุทธิ์มาก ทำให้ได้กาแฟคุณภาพสูง เพราะดินอุดมสมบูรณ์และน้ำอุดมไปด้วยแร่ธาตุ “ป่ามีความสำคัญมาก อย่างปีที่ผ่านมาสวนของเราได้รับผลกระทบเรื่องภาวะความแปรปรวนของอากาศค่อนข้างเยอะ ฝนตกช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตก็เสียหาย แต่การปลูกแบบ Shade Grown ก็มาช่วยปกป้องกาแฟของเราได้มาก”

แน่นอนว่าป่าสัมพันธ์กับเส้นทางความยั่งยืน และส่งผลต่อคุณภาพของกาแฟ แต่การที่นักพัฒนากาแฟเข้าไปทำให้ชุมชนเห็น หรือเพาะองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดจากความต้องการของคนพื้นที่ได้ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ ซึ่งฟากคอกาแฟ อย่างทอมมี่ได้แชร์เสริมว่า “ผมเคยขึ้นดอยไปกับพี่ลี (อายุ จือปา) ที่พัฒนาแม่จันใต้มายาวนาน แล้วได้ถามพี่ลีว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ หรอ สเตปแรกสิ่งที่พี่ลีทำคือ ทำให้คนในชุมชนเห็น และให้ความสำคัญกับป่าตั้งแต่ต้น ซึ่งพอดินดีขึ้น พื้นที่ไม่แห้ง และดีต่อเมล็ดกาแฟ ซึ่งทุกวันนี้หมู่บ้านแม่จันใต้ก็พัฒนามา แต่ละคนเกาะกลุ่มกันและมีแบรนด์ของตัวเองอย่างชัดเจน”

นอกจากนี้มะเป้งได้เล่าถึงการคลุกคลีในวงการกาแฟไทยแต่ละพื้นที่ให้ฟังว่า “ค่าเฉลี่ยของเกษตรกรกาแฟไทยค่อนข้างดี มีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น แล้วมันมีผลต่อพื้นที่ปลูกกาแฟที่เป็นป่าต้นน้ำ คือผมว่าไม่มีใครดูแลป่าต้นน้ำได้ดีเท่าคนพื้นที่.. สิ่งสำคัญพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ เป็นต้นทุนที่ดีก็ส่วนหนึ่ง แต่ตัวพื้นที่จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าขาดคนที่มีทัศนคติ ซึ่งในวันนี้วงกาแฟไทยในแต่ละพื้นที่มีคนกาแฟเก่ง ๆ ฝังตัวอยู่ มีการรวมกันด้วยเป้าหมายที่อยากจะพัฒนากาแฟไทยให้ดีขึ้นร่วมกัน”

มาถึงแก้วสุดท้าย จากสวนกาแฟเล็ก ๆ ของครอบครัวน้ำหวาน รายล้อมด้วยร่มเงาไม้ใหญ่และต้นชา กับพื้นที่ห้วยน้ำกืน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หนึ่งในกาแฟ Washed Process ของไทยที่บอดี้นุ่มนวล บ่งบอกได้เลยว่าต้นกาแฟได้รับการดูแลมาอย่างดี โดยน้ำหวานได้เล่าถึงความน่าสนใจของพื้นที่ว่า “ห้วยน้ำกืน ยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ แต่เดิมเราทำอาชีพชาเมี่ยง พื้นที่มีน้ำทั้งปีและดินดี ซึ่งสวนของเราให้ความสำคัญกับป่า และใส่ใจตั้งแต่ การปลูก การเลือกเก็บและโปรเซสแบบธรรมชาติ”

หลังจากชิมกาแฟไทยทั้ง 5 แก้ว ในช่วงสุดท้ายเรายังชวนกันแลกเปลี่ยนประเด็นการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนคนต้นน้ำ โดย ‘เอซ’ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ได้เริ่มแชร์ในฐานะผู้บริโภคว่า “ทุกคนสามารถสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพกแก้วกาแฟ ซึ่งจะช่วยลดขยะถึง 3 ชิ้น แก้ว ฝา หลอด สมมุติเราซื้อกาแฟ 365 วัน ก็ลดขยะได้เป็นพันชิ้น วันนี้ถ้าทั้ง 30 คน ที่มาร่วมกิจกรรม เปลี่ยนวิถีการบริโภคด้วยการพกแก้วส่วนตัว เราจะช่วยลดขยะ single use plastic กว่าสามหมื่นชิ้นต่อปี หรือการเลือกดื่มกาแฟที่สนับสนุนเกษตรกรชุมชน ก็ช่วยส่งเสริมรายได้ให้เขามีรายได้ที่มากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนได้เหมือนกัน”

ส่วนมะเป้งช่วยเสริมว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นงานกลุ่ม ไม่ใช่งานเดี่ยว ต่อให้ผมทำเรื่องนี้มากแค่ไหน แต่ถ้าคนในโลกนี้ไม่ได้ร่วมมือ เรื่องนี้ก็ไม่มีวันสำเร็จ เหมือนเรื่องขยะที่พี่เอซบอก ถ้าวันหนึ่งพอโลกมันรวน ก็ส่งผลกระทบไปที่ต้นทาง แล้ววันหนึ่งผลนั้นก็จะส่งกลับมาที่เรา ถ้าวันนั้นมาถึงก็ไม่รู้มันช้ากว่าที่เราจะแก้ได้หรือเปล่า”

ต่อด้วยฟากเกษตรกรรุ่นใหม่ น้ำหวาน ได้ฝากว่าผู้บริโภคหรือคนปลายน้ำ มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้คนผลิตพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น “กาแฟของน้ำหวานถึงเราจะตั้งใจทำแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนส่งต่อหรือสนับสนุน ก็ไปต่อไม่ได้ ก็อยากขอบคุณผู้บริโภคที่หันมาส่งเสริมสนับสนุนเกษตรทางเลือกที่ทำให้เราต่อยอดต่อไปได้”

ปิดท้ายด้วยมุมมองผู้ผลิตตัวเล็ก ๆ ทอมมี่ ที่แชร์เพิ่มว่า “การที่เราเข้าใจไปถึงต้นตอ หรือหาโอกาสขึ้นไปที่ไร่กาแฟสักครั้งหนึ่ง เพื่อไปให้รู้ว่ากาแฟแก้วที่เรากินมาจากไหน มันสนุกกว่าเรื่องที่เล่าให้ฟังในวันนี้เยอะ อย่างน้อย ๆ ก็ได้ไปกินกาแฟในไร่ที่เราชื่นชอบ ได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติ ผมว่าลองหาโอกาสไปสักครั้งแล้วคุณจะอินกับกาแฟที่กินมากกว่าเดิม”

ทั้งนี้ถึงกิจกรรม Greenery Journey ทริปนี้จะจบลง แต่ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมก็ยังแลกเปลี่ยนกันต่อนอกรอบ เป็นบรรยากาศดี ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้มาจอยกัน และต้องบอกเลยกาแฟไทยรสชาติโดดเด่นแพ้ใครจริง ๆ แถมทริปนี้ยังได้รู้จักกาแฟ Single Origin ที่ชัดเจนทั้งรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งเพาะปลูก ซึ่งการได้รู้ที่มาที่ไปของเมล็ดกาแฟ รับรู้ถึงความปราณีตในการผลิตของเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ ก็ยิ่งชวนให้มั่นใจได้ว่ากาแฟทุกแก้วในวันนี้ ดีทั้งต่อผู้บริโภค เกษตรกร และผืนป่าของไทยไปพร้อม ๆ กัน

ภาพบรรยากาศ Greenery Journey ตอน จิบกาแฟไทย 5 สายพันธุ์เด่น เข้าใจชุมชน ธรรมชาติ และความยั่งยืน