เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่ Greenery Challenge สังคมออนไลน์สีเขียว ชักชวนให้สมาชิกผู้สนใจการลดขยะ มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงสนุกสนานไปกับสารพัดภารกิจลดขยะประจำเดือนที่ช่วยให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นภารกิจ #ขวดเดียวแก้วเดิม  #ไม่หลอดเนาะ #รีแล้วกรีน เเละอีกมากมาย

จากสมาชิกกว่าหมื่นคนที่อยู่ในกลุ่ม เราได้ไปพูดคุยกับ 9 สมาชิกที่ร่วมสนุกและแชร์ไอเดียสีเขียวอย่างสม่ำเสมอมาตลอดทั้งปี ชนะภารกิจกรีนๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนถูกยกระดับให้กลายเป็นสมาชิกสีเขียวระดับมงกุฎเพชร (ที่เราต้องตั้งฉายาให้) มาดูเคล็ดลับและแรงบันดาลใจแบบกรีนๆ ในมุมมองของแต่ละคนกัน

Nuu BlueFern (หนู กรีนเต็มพิกัด)

หนู-วิมล​มาลย์​ เอก​ลัคนารัตน์ เป็นหนึ่งในสมาชิกที่สามารถนำความกรีนเข้าไปอยู่ในทุกวิถีของการใช้ชีวิตได้ ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ไปตลาด ไปห้างสรรพสินค้า หรือเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ไกลๆ เธอก็ยังสามารถคงความกรีนได้ตลอด จนกลายเป็นสมาชิกสายกรีนเต็มพิกัดที่เราอดถามเคล็ดลับจากเธอไม่ได้

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ใช้ชีวิตได้กรีนเต็มพิกัด

พยายามหาตัวช่วยให้เหมาะกับวิถีของตัวเอง​ มีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและพยายามเอาชนะความสะดวกสบายก่อนค่ะ สำรวจดูว่า​ เราทำขยะประเภทใดทุกวัน​ เช่น ต้องซื้อข้าวซื้อกับข้าวใส่ถุง​ทุกวัน​ ก็เตรียมพกกล่องข้าวเบาๆ​ ไว้ หรือถ้าสะดวกใส่ปิ่นโต​ ก็จะมั่นใจในภาชนะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และถ้าพยายาม​ใช้ของ​ Reuse ที่มี ก็ช่วยลดขยะได้อีกทางค่ะ

แต่ถ้าอุปกรณ์มีไม่พอ​ เราใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ค่ะ พยายามมองหาวัสดุที่ทดแทน​พลาสติก เช่น กระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ได้จริง​ๆ​ อาจต้องจัดการแยกให้ขยะพลาสติกทุกชิ้นให้มีที่ไป อย่างน้อยเราทำขยะให้เกิดประโยชน์ต่อได้​เช่นกัน เรื่องกรีนไม่ยุ่งยากค่ะ​ ถ้าทำให้เป็นเรื่องของไอเดียสนุกๆ ที่ปลุกความคิดสร้างสรรค์ การจัดการขยะให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น​ และทำให้วัฒนธรรมกรีนส่งต่อเป็นคลื่นความถี่สีเขียว​ให้กันและกัน​และทำให้ยั่งยืนนั้น​ เกิดขึ้นได้จริง​ เริ่มที่ตัวเราก่อนได้เลยนะคะ

“กลุ่ม​ Greenery Challenge ทำให้วิถีกรีนเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น ภารกิจต่างๆ ทำให้เราพัฒนาความกรีนที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน สร้างพลังสีเขียวให้เข้าถึงคนทั่วไป​ สร้างทัศนคติที่ดีต่อคนรุ่นใหม่ให้ช่วยกันลงมือสร้างสังคมที่เราออกแบบได้​ด้วยการลงมือทำ​”

Jeep Patchamon (จิ๊ป กรีนสายประดิษฐ์)

ทำสบู่ ยาสีฟัน ที่ล้างจานจากใยบวบ เย็บถุงผ้า นำผ้าอ้อมเก่ามาตัดใช้เเทนสำลีเช็ดหน้า และอีกสารพัดไอเดียสุดกรีนไม่ซ้ำวันที่ จี๊ป-พัชมณ ปานะโปย แบ่งปันลงในกลุ่ม Greenery Challenge สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการลดขยะด้วยการ Reuse ให้สมาชิกในกลุ่มได้อย่างมากมายเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกเจ้าไอเดียที่ใครๆ ก็ติดตาม

แรงบันดาลใจที่ทำให้ลุกขึ้นมาประดิษฐ์สิ่งของกรีนๆ ใช้เอง คืออะไร

จิ๊ปเป็นคนที่สนใจเรื่องสุขภาพ ประหยัดมัธยัสถ์ เห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ อยู่แล้ว เป็นนิสัยแบบนี้ตั้งแต่จำความได้ เรารู้สึกว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้มันไม่ลำบาก เราชอบของสวยๆ สะอาดๆ ก็หาของสวยๆ ทำให้มันสะอาดๆ ใช้ จะได้สนุกเวลาทำ เช่น ชอบแก้วกับถุงผ้า ก็ซื้อแก้วสวยๆ มาใช้ จะได้ชอบหยิบไปไหนมาไหนด้วยกัน สะสมถุงผ้า ใครให้มาจะเก็บไว้ใช้อย่างดี ซักจนสะอาด ไม่เคยซื้อถุงผ้าเองสักใบ ได้รับแจกมาหมด คือทำทุกอย่างจนเป็นงานอดิเรกไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราแล้วมีความสุขมากเพราะเราไม่อยากทิ้งสิ่งไม่ดีให้กับโลก

“เราคิดเเค่ว่าก่อนที่เราจะตายจากโลกใบนี้ไป เราน่าจะตอบแทนให้โลกบ้าง เริ่มจากไม่ทำร้ายโลกเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะทำดีตอบแทนด้วย อย่างดูแลต้นไม้ ปลูกต้นไม้เพิ่ม เมื่อวันสุดท้ายมาถึง ลมหายใจสุดท้ายมาถึง เราจะจากไปอย่างไม่ติดค้างใดๆ เลย”

มณีรัตนา ไทยธวัชกุล (น้ำผึ้ง นักลดจอมนับ)

การนับขยะเป็นหนึ่งในภารกิจที่สมาชิกหลายๆ คนให้ความสนใจ และพบว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้เราจัดการขยะในมือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับ น้ำผึ้ง-มณีรัตนา ไทยธวัชกุล เจ้าของชัยชนะจากภาระกิจนับขยะทั้งสามครั้งที่บอกเราว่า การนับขยะสำหรับเธอนั้น สำคัญพอๆ กับการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเลยทีเดียว

การนับขยะ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณได้ยังไง

เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใกล้ตัวมากๆ เลย ถ้าเรานับทุกอย่างที่เราได้มา เราก็จะรู้ว่าแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ครอบครัวหนึ่งจะสร้างขยะได้มากขนาดไหน เมื่อก่อนถุงหูหิ้วที่บ้านเยอะมาก ขยะใกล้ตัวเยอะไปหมด จนรู้สึกอยากจัดการถุง จัดการขยะให้น้อยลง ซึ่งการนับขยะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับครอบครัวอื่นๆ ด้วย เปรียบเทียบการนับขยะเหมือนทำบัญชีในครัวเรือนนะคะ ปีหนึ่งใช้เงินมากขนาดไหน แล้วเก็บได้เยอะไหม การนับขยะก็สำคัญแบบนั้น

“ทุกคนรู้ว่าขยะเป็นปัญหาโลก แต่ต้องคิดว่าเราทำอะไรให้โลกหรือยัง ไม่ใช่บ่นแต่ว่าโลกร้อน ต้องคิดก่อนจะรับพลาสติกในมือ ว่าเราจะทำอย่างไร หรือเอาไปจัดการแบบไหนต่อไป”

Pim Pimsuda (ตุ้ย กรีนเพื่อนเยอะ)

ใช้วิถีชีวิตแบบกรีนๆ ด้วยตัวเองได้ก็ว่าดีแล้ว จะดียิ่งกว่าถ้าเราสามารถส่งต่อความกรีนให้คนรอบข้างได้ แต่การหาเพื่อนกรีนนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงไปหาเคล็ดลับจาก ตุ้ย-ดวงสุดา​ ทั้งพรม เเชมป์จากภารกิจ #เพื่อนกรีนหาง่าย ที่สามารถส่งต่อความกรีนให้คนรอบข้างครบทุกวันตลอดทั้งเดือนมาให้ทุกคนได้รู้

เคล็ดลับสุดยอดในการชักชวนเพื่อนมาร่วมกรีน คืออะไร

ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง​และพยายามกระตุ้นให้คนรอบข้างเห็นความสำคัญในการลดขยะ อย่างเราเองมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาขยะจากที่บ้านของตัวเอง​และในชุมชน​ ซึ่งที่บ้านห่างไกลจากเทศบาล​ ไม่มีระบบในการจัดเก็บและทิ้งขยะ​ แต่ละบ้านต้องจัดการเอง​ เช่น การเผาขยะ​ แถมตรงพื้นที่ไม่ไกลจากบ้านนักก็มีคนเอาขยะมาทิ้ง​ ทำให้เกิดปัญหา​ขยะเน่าเหม็น​ การขยายพันธ์ุของเหล่าแมลงวัน​ นานวันเข้าการเผาขยะนั้น​ก็สร้างมลพิษทางอากาศ​จนถึงขนาดมีการร้องเรียนกันขึ้น​ ส่วนตัวจึงมาเริ่มต้นลดขยะ​ แยกขยะ​ และใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้สูงสุด​

“การใช้วิถีชีวิตแบบกรีนๆ นั้น บางทีก็เหมือนเป็นการต่อสู้ของตัวเราเอง ต้องอดทนต่อสายตา​และคำต่อว่าจากคนรอบข้างในระยะเริ่มต้น​ แต่ทุกวันนี้เขาเริ่มเข้าใจมากขึ้น เพราะมีการรณรงค์​และส่งเสริม มีองค์กรที่เห็นคุณค่าในการลดขยะมากขึ้น”

Mommam Mam (แหม่ม คุณแม่สายกรีน)

นอกจากจะเดินทางสายกรีนด้วยตัวเองแล้ว ความท้าทายสำคัญของคุณแม่สายกรีนหลายๆ คน คงเป็นแนวทางในการแบ่งปันความกรีนจากตัวเองไปให้คนในครอบครัวได้ ซึ่งแหม่ม-สิรีธร เอื้อภราดร คุณแม่ยังสาวสายกรีนคนนี้ ก็มีเคล็ดลับแบ่งปันความสำเร็จในการส่งต่อความกรีนไปให้ครอบครัวมาฝาก

เปลี่ยนครอบครัวให้กลายเป็นสายกรีนไปด้วยกัน ได้ยังไง

ต้องเริ่มจากเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักสิ่งแวดล้อม เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเราแล้วค่อยส่งต่อให้ลูกๆ ดูค่ะ ทุกวันนี้ เราวางแผนก่อนออกไปข้างนอกว่าต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้าเป็นกลางวันก็หิ้วกระบอกน้ำ กระบอกกาแฟ ตะเกียบ ช้อน หลอดสแตนเลสส่วนตัว ใส่ถุงผ้าไปค่ะ อาจจะติดกล่องอาหารไปซักใบเผื่อซื้อผลไม้

ส่วนลูกๆ เราจะให้เขาพกแก้ว กระบอกน้ำ กระบอกกาแฟส่วนตัวของแต่ละคน พกถุงผ้าติดตัว ถือถุงผ้าติดไว้ ให้กับสมาชิกในครอบครัว พูดคุยกับเขาเรื่องไม่รับหลอดแก้วพลาสติกและถุงพลาสติกที่เป็นปัญหาจัดการยาก เล่าข้อดีของการพกอุปกรณ์ช่วยกรีนมาเอง และดึงดูดโดยซื้อกระบอกน้ำเก็บความเย็นลายที่ชอบให้สมาชิกตัวน้อยในบ้านด้วยค่ะ

“การปลูกฝังแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก จะช่วยลดการสร้างภาระเรื่องขยะให้กับสังคมในอนาคตได้”

สุดา แจ่มจันทร์ (แป๊ว กรีนสายอาร์ต)

ไม่เพียงแค่ปรับวิถีชีวิตกรีนให้เหมาะกับชีวิตส่วนตัวเเล้ว สมาชิก Greenery Challenge อย่าง แป๊ว-สุดา แจ่มจันทร์ ยังนำความกรีนเข้ามาอยู่ในอาชีพศิลปินของเธอได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการนำกระดาษจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้แล้วมารียูชให้กลายเป็นเฟรมภาพสีน้ำ เพื่อสร้างงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ในทุกๆ วัน

การจัดการขยะกับศิลปะ เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

เราพยายามนำสายอาชีพที่มีมาใช้กับการแก้ปัญหาเรื่องข้าวของที่แยกเก็บไว้ล้นบ้าน เราเองเริ่มแก้ปัญหาเรื่องถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตั้งแต่ปี 1995 ที่เดินทางไปศึกษาปริญญาโทที่อินเดีย ตอนนั้นต้องพกถุงสำหรับใส่ของทุกครั้งที่ไปมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษากลับมาบ้าน ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ อยู่นอกเขตเทศบาล ไม่มีรถเก็บขยะผ่านมาเก็บ เลยต้องทะยอยขนขยะไปลงถังหน้าบ้านคนอื่น รู้สึกเกรงใจและกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่น เป็นเหตุให้แยกขยะเปียก แห้ง และเริ่มซักล้างถุงพลาสติกที่ใส่อาหารอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา

ในปีนี้เราจึงเกิดแนวคิดในการจัดการขยะกับงานศิลปะ เพราะชีวิตกับงานเป็นเรื่องเดียวกัน แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่รับมาแปลงสิ่งนั้นเป็นพื้นที่ทางศิลปะ เพื่อให้ขยะที่มีนำไปใช้ต่อได้

“ทุกคนต่างอยู่ในวัฏจักรการเพิ่มและลดขยะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มลพิษจากสิ่งต่างๆ ก็เช่นกัน จึงสำคัญที่เราจะต้องกรีนไปด้วยกันเพื่อโลกของเราที่น่าอยู่ไปนานๆ เป็นของขวัญให้คนรุ่นหลัง”

Ling  Bakewithlove (หลิง กรีนสายปรุง)

เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เป็นกระบวนการที่สร้างขยะไว้อย่างมากมาย ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ไปยันเศษอาหาร สมาชิกจาก Greenery Challenge หลายคนได้มาแบ่งปันไอเดียการจัดการขยะจากการกิน รวมถึง หลิง-วริญญา ​ชิ​ติ​รัต​นท​รีย์ นักพกปิ่นโตจากเชียงใหม่ ที่ขยันแชร์รูปอาหารในปิ่นโตหน้าตาน่ากิน ไปจนถึงการจัดการเศษขยะจากอาหาร จนที่บ้าน จนเราขอยกให้เธอเป็นเทพีแห่ง Zero Waste ในเรื่องกินกันเลย

มีวิธีทำอาหารที่ช่วยลดขยะได้อย่างไรบ้าง

ปกติที่บ้านจะทำอาหารรับประทานกันเองเป็นประจำอยู่แล้วค่ะ อาหารทุกมื้อแทบจะไม่มีเหลือทิ้งขว้าง เพราะจะทำแบบพอดีๆ ที่ให้สมาชิกที่บ้านทุกคนกินอิ่ม บ้านเรานี่กินคลีนกันเลย คือเรียกว่าเกลี้ยงจาน (ฮา) ไม่มีเหลือให้เป็นขยะ ขนมส่วนมากก็ทำเองด้วย พอเราทำทานเอง เราก็ลดการรับบรรจุภัณฑ์ที่มากับสินค้าขายปลีก แต่ถ้าบางอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็พยายามซื้อให้น้อย หรืออันไหนล้างแล้วรียูสได้ก็ทำค่ะ

อีกอย่างที่ชอบทำให้ลูกมากๆ คืออาหารปิ่นโต เบนโตะของลูกช่วยลดขยะไปได้เยอะมาก ถ้ามื้อไหนรีบไม่ได้ทำพี่ก็หิ้วปิ่นโตไปซื้อเอาค่ะ คือจะพยายามทำทุกทางที่จะลดถุงพลาสติกให้มากที่สุด พอทำได้เราก็ดีใจและภูมิใจที่เรามีส่วนได้ช่วยให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นมาก คิดว่าบ้านเราทำได้ถึง 70-80% เลยค่ะ แม้จะยังไม่ 100% แต่ยังดีกว่าที่เราเพิกเฉยหรือไม่ทำอะไรเลย ดีใจที่ได้ทำตรงนี้อย่างจริงจังและพยายามอย่างมุ่งมั่นค่ะ

สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตสำนึกที่ดี ความตั้งใจและความมุ่งมั่น เสียงรอบข้างอาจมองว่าเราทำแค่เพราะตามกระแส แต่ตอนนี้เราทำมาเกือบจะครบ 1 ปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกดีกับชีวิตตัวเองมากเท่านี้เลย”

Primsagee Paphaworachoke (พริม นักแยกขยะสายแข็ง)

ในบรรดากิจกรรมกรีนๆ ทั้งหมด การเเยกขยะน่าจะเป็นวิถีกรีนสุดหินที่สมาชิกสายกรีนหลายคนอยากพิชิตให้ได้ ซึ่งพริมเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีการแยกขยะที่บ้านอย่างจริงจังและมักจะมีไอเดียเคล็ดลับต่างๆเกี่ยวกับการจัดการขยะมาแบ่งปันเพื่อนๆ ในกลุ่มเป็นประจำ จนหลายคนยกให้เธอเป็นสายแข็งในการแยกขยะ

ทำยังไงถึงแยกขยะได้อย่างจริงจัง

ที่บ้านเราเป็นร้านอาหาร ทำให้มีขยะทุกวัน เราจึงคิดหาวิธีการจัดการกับขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้โดยไม่ส่งไปเป็นภาระของเทศบาล เราเก็บขวดพลาสติกและกล่องนมไว้เยอะมากและไม่อยากทิ้ง จึงเริ่มหัดคัดแยกขยะให้ถูกต้อง พยายามหาที่ไปของขยะทุกชิ้นให้ได้ ซึ่งเคล็ดลับง่ายๆ ในครัวเรือนของเรา คือต้องเริ่มลงมืออย่างจริงจัง และขอความร่วมมือคนในบ้านทุกคนให้ส่งขยะพลาสติกมาที่เราก่อน โดยจัดแขวนถุงแยกไว้ให้ตามจุดทิ้งขยะทั่วไป ชิ้นไหนเป็นพลาสติกต้องแยกมาให้เรา จากนั้นขั้นตอนล้าง ตาก และหาที่ไปให้ขยะทุกประเภททั้งการ Reuse Recycle หรือ Upcycle

“เราทำให้คนเห็นเป็นเรื่องปกติในทุกๆ วัน ให้เริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ค่อยไปสอนคนรอบข้าง และแผ่กระจายออกสู่ชุมชน อีกไม่นานทุกคนจะร้องอ๋อ…แบบนี้ที่บ้านเราก็ทำนะ”

Pattraniya Mongkol (ขวัญ ผู้ประกอบกรีน)

นอกเหนือไปจากการจัดการขยะในชีวิตของตัวเองและครอบครัวแล้ว การจัดการขยะในระดับองค์กรก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราควรให้ความสนใจ สมาชิกของ Greenery Challenge อย่าง ขวัญ-ภัทรณิญา​ มงคล นั้นได้​แบ่งปันแนวทางการจัดการขยะในองค์กรของเธอ รวมถึงความสำคัญของผู้ประกอบการในการสร้างสังคมสีเขียวให้เกิดขึ้นได้จริง

ผู้ประกอบการมีพลังมากแค่ไหน ในวัฏจักรกรีนๆ

เราเป็นผู้ให้บริการคลินิกความงาม การส่งกระปุกยารีไซเคิลหรือการเปลี่ยนการใช้ single-used สู่ circular packaging นั้นไม่ยากเลย ทุกวันนี้อัตราการรีไซเคิลของคลีนิกเราอยู่ที่ 80% ของขยะชนิดไม่ย่อยสลายทั้งหมด นอกจากนั้นขยะติดเชื้อต่างๆ จะถูกส่งเข้าระบบการกำจัดของ กทม. ซึ่งเราคิดว่าถ้าผู้ประกอบการรายเล็กเพียง 1 สาขา สามารถลดได้กว่าพันชิ้นในแต่ละเดือน ในกลุ่มเชนใหญ่ต้องลดได้เป็นหมื่นชิ้นต่อเดือนแน่นอน เพียงแต่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจลงมือทำหรือเปล่า

เรามองว่าการจัดการธุรกิจขนาดเล็กได้เปรียบเพราะเข้าถึงได้มากกว่า เลยอยากให้รายย่อยที่เป็นสายกรีน ไม่กลัวที่จะเติบโต เพราะยิ่งเราโตขึ้นในแต่ละวัน ก็ยิ่งสามารถส่งผ่านความรักษ์ในสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเท่านั้น

“โลกได้ข้ามผ่านยุคการผลิตและการบริโภคที่เกินจำเป็น มาสู่การคำนึงถึงส่วนรวม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการที่เปลี่ยนผ่านแนวคิด ผู้คนธรรมดาก็สามารถเริ่มได้”

Greenery Challenge ขอขอบคุณทุกคนมาร่วมสนุกและแชร์ไอเดียการลดขยะในชีวิตประจำวันกันมาอย่างเหนียวแน่นตลอดทั้งปี ในปีต่อไปเราจะมีภารกิจสนุกๆ ที่ชวนทุกคนร่วมอุดมการณ์สีเขียวอย่างไรบ้าง สามารถเข้าร่วมกรุ๊ปและติดตามกันได้เลยที่ www.facebook.com/groups/GreeneryChallenge