ใครที่อยู่ในเทศกาล Wonderfruit เมื่อวันที่ 14-18 ธันวาคมที่ผ่านมา คงจะได้เห็นชาววันเดอร์เรอร์หลายคนสวมเครื่องประดับดีไซน์แปลกตาเดินเล่นอยู่ภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นริสต์แบนด์ สร้อยคอ ต่างหู ที่ครีเอตขึ้นจากห่วงกระป๋องอะลูมิเนียมและร้อยให้เข้ากันด้วยเชือกที่มาจากผ้าสีสันคัลเลอร์ฟูล

และหากย้อนเส้นทางที่มาของเครื่องประดับเหล่านี้ จะพบว่ามีจุดตั้งต้นอยู่ที่บูธน้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียม Greenery Water ที่ทำงานร่วมกับ Wonderfruit เป็นปีที่สอง โดยนำน้ำดื่ม Special Edition มาเสิร์ฟให้กับผู้ร่วมชมเทศกาลดนตรีที่มีจุดยืนเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน อยู่ในแนวคิด

“Wonderfruit จะไม่มีน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก เพราะเป็นเทศกาลดนตรีที่มีจุดยืนในการไม่สร้างขยะ จึงมีจุดเติมน้ำให้บริการทั่วงาน และคนเข้ามาเที่ยวในงานก็จะต้องพกกระบอกน้ำมาเอง ซึ่งการดื่มน้ำแบบรีฟิลเป็นรูปแบบที่ยั่งยืนที่สุด และในครั้งนี้ก็เพิ่มจุดเติมน้ำขึ้นมาเยอะพอสมควรจากปีที่แล้ว แต่ในบางสถานการณ์ที่ไม่เหมาะหรือบางคนอาจไม่สะดวกกับการไปเติมน้ำที่จุดรีฟิล Greenery Water ก็เข้ามาเสริมเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดื่มน้ำที่ยั่งยืน”

ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery Water เล่าให้ฟังถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเทศกาลนี้ และยังชวนเพื่อนหัวใจกรีนอีกสองแบรนด์อย่าง ATTA Studio และ ReThink มาร่วมกันออกแบบบูธและกิจกรรม เพื่อสื่อสารความเข้าใจเรื่องการ reuse และ recycle ผ่านประสบการณ์ที่จับต้องได้ ตลอดทั้ง 5 วัน 4 คืน

“เราทั้งสามมีมิสชั่นเดียวกัน คืออยากสร้างประสบการณ์ที่ทำให้คนในงานได้เห็นว่า เฟสติวัลขนาดใหญ่ที่มีคนมาร่วมกว่า 2 หมื่นคน ก็สามารถไม่สร้างขยะ single use ได้ และช่วยกันสร้างประสบการณ์เรื่องการ reuse และ recycle ให้กับคนที่มาที่บูธ Greenery Water”

และไอเดียนี้ก็ต่อยอดมาสู่บูธน้ำดื่ม Greenery Water ที่ออกแบบอย่างคำนึงถึงความยั่งยืนทุกองค์ประกอบ โดยมีตั้ม-พงศกร อ้นประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้ง ATTA Studio ทีมนักออกแบบที่หยิบยื่นเรื่องราวของความยั่งยืนนำเสนอผ่านโครงการต่าง ๆ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบนี้

ตั้มเล่าถึงที่มาของแนวคิดนี้ว่า “ผมนึกถึงการสร้างปรากฏการณ์เล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่มีอิมแพคกับคนเห็น ทำให้คนเข้าใจเรื่องการรีไซเคิล เลยคิดถึงการตกแต่งบูธที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับขยะ โดยเริ่มจากพื้นที่เปล่า ๆ ผนังไม้ไผ่เปล่า ๆ และตะแกรงลวด เราเลือกใช้วัสดุที่รียูสได้ และผ่านกระบวนการมาน้อย เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์และลดการใช้พลังงาน”

ด้วยโจทย์นี้จึงลงตัวที่ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ที่โตเร็ว หลังเก็บเกี่ยวก็ไม่ต้องปลูกใหม่เพราะสามารถสร้างลำต้นขึ้นได้อีก จึงเป็นไม้ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนได้ดี ไม้พาเลทที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้วถูกนำมาใช้ซ้ำ ผ้าดิบที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อมใช้นำมาประกอบเป็นกันสาดเพื่อกันแสงแดด ใช้สลักไม้และลวดรัดในการประกอบบูธแทนการใช้วัสดุพลาสติก

ผนังโครงไม้ไผ่ติดตาข่ายลอดเพื่อใช้เป็นที่เก็บกระป๋องใช้แล้ว นำไปติดตั้งเข้ากับโครงสร้างด้านหน้าของบูธ ในแต่ละชั่วโมง กระป๋องน้ำที่ดื่มหมดแล้วจะค่อย ๆ เติมเต็มลงในผนังที่ว่า จากกระป๋องเปล่าซึ่งปกติถูกเรียกว่า “ขยะ” คราวนี้เปลี่ยนสถานะมาเป็นของตกแต่งอย่างสร้างสรรค์ ด้วยมือของคนที่มาเที่ยวในงาน บางคนดื่มเสร็จที่หน้าบูธแล้วหย่อนลงเมื่อดื่มหมด บางคนนำไปดื่มที่อื่นแล้วหอบกลับมาทิ้งในภายหลัง และยังมีทีมงานที่ช่วยกันนำกระป๋องอะลูมิเนียมจากจุดต่าง ๆ ในงานมาเติมจนเต็มผนัง เพื่อรอการเคลื่อนย้ายเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อ

ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมให้คนได้ออกแรงเล็ก ๆ ด้วยการช่วยกันบีบอัดกระป๋องเพื่อลดพื้นที่จัดเก็บ ทั้งการออกแรงบีบด้วยมือแล้วหย่อนลงในกระป๋อง Greenery Water ขนาดยักษ์ บางคนก็สนุกกับการปั่นจักรยานที่ทุกรอบการปั่นจะช่วยบีบอัดกระป๋องให้เล็กลงในที่สุด

ส่วนห่วงบนฝากระป๋อง ก็กลายมาเป็นเครื่องประดับในกิจกรรม DIY ที่มีคนแวะเวียนมาล้อมวงตลอดทั้งวันทั้งคืนจนจบงาน โดยมี ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ ผู้ก่อตั้ง ฟาร์มลุงรีย์ หรือ UncleRee’s Farm ที่ครั้งนี้มาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ReThink กับการออกแบบกิจกรรมที่ชวนทุกคนมา “คิดใหม่”

“ปกติคนจะรู้จักผมในหมวกของลุงรีย์ ที่ทำ UncleRee’s Farm ซึ่งปีที่แล้วผมก็ได้มาครีเอตเครื่องดื่มจากกล้วยและน้ำดื่ม Greenery Water ในงาน Wonderfruit เพื่อให้คนเข้าถึงน้ำดื่มได้ง่ายขึ้น แต่ปีนี้ผมมีหมวกอีกใบหนึ่งที่ทำงานด้านศิลปะจากขยะ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรม และได้มาร่วมกับ Greenery Water ชวนคนมาทำ Festival Accessories เพื่อให้เขาได้เข้าถึงคำว่า Reuse for Lifestyle”

ห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม เศษผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจาก Moreloop คือสองวัสดุที่จะเปลี่ยนขยะเป็นชิ้นงานศิลปะที่สวมใส่ได้ โดยนำมาร้อยเข้าด้วยกันในรูปแบบต่าง ๆ นอกเหนือไปจากต้นแบบที่ทีมนำมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังเกิดไอเดียสดใหม่และดีไซน์ใหม่ ๆ แต่ที่มากกว่าผลงานใส่อวดกันในงาน คือบทสนทนาระหว่างการล้อมวงทำ ที่นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องการ reuse และ recycle มากขึ้น และเป็นการสร้างประสบการณ์ว่า เราสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นของที่มีคุณค่าต่อตัวเองได้ หลายคนที่ได้ลองทำในครั้งแรกชวนเพื่อนมาทำด้วย และบางคนก็กลับมาทำซ้ำ

“ไม่น่าเชื่อเลยว่ากิจกรรมเล็ก ๆ อย่างการเอาผ้ามาร้อยห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม จะดึงให้คนมาเข้าร่วมได้วันละเป็นร้อยคน ทั้งที่เป็นเทศกาลดนตรีที่คนต้องอยากเข้าไปดูดนตรีเป็นหลัก แต่เขากลับมานั่งกันอยู่ที่บูธน้ำกันสองสามชั่วโมงเพื่อทำสิ่งนี้ แสดงว่าเขามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ และสนใจว่าคืออะไร ผมคิดว่าเป็นบูธที่นำเสนอเรื่อง reuse และ recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ฉลาดน่ารักและเซ็กซี่ที่สุดในงาน”

“ภายในงานเราได้เห็นภาพของคนรุ่นใหม่มาเอนจอยกับกิจกรรม มาถ่ายรูปกับบูธ มาทำเวิร์กช็อป น่าดีใจที่บูธซึ่งนำเสนอเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแบบนี้ มีคนมาล้อมวงทำกิจกรรมทั้งวัน” ธนบูรณ์สะท้อนมุมของคนเบื้องหลัง

และเมื่อจบงานทั้ง 4 วัน กระป๋องน้ำดื่ม Greenery Water กว่า 80,000 กระป๋อง และกระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมภายในงาน รวมทั้งหมดกว่า 158,000 กระป๋อง ที่มีน้ำหนัก 2,060 กิโลกรัม ได้ถูกบีบอัดรวมกันให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เพื่อนำส่งเข้าระบบรีไซเคิลทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ที่โรงงานของ TBR โดย Aluminum Loop เป็นผู้ดูแลการรีไซเคิลต่อ ก่อนจะกลับออกมาเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมใบใหม่ ชนิดที่ว่า 1 กระป๋องรีไซเคิล เกิดเป็นกระป๋องใบใหม่ 1 ใบ ภายใน 60 วัน และรายได้จากการจำหน่ายกระป๋องทั้งหมดกว่า 100,000 บาท ได้ส่งมอบให้กับมูลนิธิขาเทียมเพื่อผลิตขาเทียมให้กับผู้มีความต้องการ

“เราดีใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมโปรเจ็กต์นี้ ต้องขอบคุณ Wonderfruit ที่เลือกจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้นด้วยการเลิกใช้น้ำดื่มขวดพลาสติก ขอบคุณ Aluminum Loop ที่เป็นตัวเชื่อมให้เราได้มาเจอกับมูลนิธิขาเทียม เพื่อส่งมอบรายได้จากการจำหน่ายกระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วให้กับมูลนิธิ และขอบคุณมูลนิธิขาเทียมที่มอบโอกาสให้กับผู้พิการทางขา ขอบคุณทุกคนที่ช่วยดูแลโลกใบนี้

“Can Change the World เราเชื่อว่าทุกคนมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้”