ถ้าย้อนไปสักกว่าปีก่อน คำว่า ‘ตลาดสีเขียว’ เป็นสิ่งแปลกหูแปลกตาสำหรับคนเมืองอยู่มากเหมือนกัน เพราะในช่วงนั้น คำว่าเกษตรอินทรีย์ หรือพืชผักออร์แกนิก เพิ่งเข้ามาอยู่ในความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคได้ไม่นาน แต่ก็สร้างความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ ที่อยากจะตั้งต้นชีวิตที่ดี ด้วยการกินอาหารดีๆ และตลาดสีเขียวแห่งแรกที่เรารู้จักในกรุงเทพฯ ก็คือพื้นที่ขายสินค้าปลอดสาร ที่อยู่ในร้านบ้านนาวิลิต ของคุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ที่ตึกรีเจนท์เฮาส์ ราชดำริ
ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของตลาดเขียวแห่งแรกในเมืองนี้ ก็คือพี่ห่วน-วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ที่เป็นแขกเยือนชานบ้านของเราในคราวนี้
ตลาดเขียวในกรุงเทพฯ ที่เริ่มมีขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2547 นั้น มาจากแรงบันดาลใจของที่พี่ห่วนได้ไปเห็นตลาดสีเขียวในต่างจังหวัด อย่างในเชียงใหม่ สุรินทร์ สงขลา ซึ่งการเกิดขึ้นของตลาดสีเขียวในภูมิภาคเหล่านั้น ก็เนื่องจากว่า มีนักพัฒนาจากภาคสังคมเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ออกจากการใช้เคมีในการผลิต มาสู่การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ แต่การที่จะไปบอกให้เกษตรกรหยุดใช้ ก็ต้องส่งเสริมด้วยการสร้างตลาดก่อน เพราะเมื่อหยุดใช้สารเคมี สิ่งที่เกิดตามมาก็คือผลผลิตที่หน้าตาเปลี่ยนแปลงไป ทั้งผลเล็ก ไม่สวย ไม่ตอบโจทย์ตลาดกระแสหลัก ฝ่ายที่เข้าไปส่งเสริมจึงสร้างตลาดสีเขียวขึ้นมา
นั่นเป็นยุคแรกของการเกิดตลาดสีเขียวขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นด้วยนักพัฒนา หรือกลุ่ม NGO ที่เข้าไปส่งเสริมให้เกิดการทำเกษตรอินทรีย์ กระทั่งเข้ามาสู่ยุคที่สอง ซึ่งเป็นยุคของการเกิดตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ ที่เติบโตขึ้นได้ด้วยความใส่ใจเรื่องสุขภาพอาหารการกินของคนเป็นข้อสำคัญ
ตลาดสีเขียวที่ตึกรีเจนท์เฮาส์ในตอนนั้น ปักธงกันว่าจะมีขึ้นทุกสัปดาห์ โดยการสนับสนุนพื้นที่จากคุณวิลิต ชักชวนเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกจากสนามไชยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้นำสินค้ามาวางขายให้คนเมืองได้กิน
การจัดตลาดในตอนแรกก็เป็นเรื่องยากลำบากอยู่ไม่น้อย เพราะทั้งกลุ่มคนซื้อก็มีจำนวนน้อย ทั้งการสื่อสารเรื่องการกินผักพื้นบ้าน ผักปลอดสาร ก็ยังไม่เป็นที่รับรู้
การดึงให้เกษตรกรนำสินค้าเข้ามาขาย จึงอาศัยการสนับสนุนเรื่องค่าเดินทาง ด้วยเงินทุนที่ได้รับจาก สสส. ซึ่งสนับสนุนกันมาตั้งแต่คราวที่พี่ห่วนทำโครงการ CSA (Community Support Agricultural) ระบบที่คนกินร่วมลงทุนกับเกษตรกร ในการปลูกและจำหน่ายผลผลิตให้กับสมาชิก โดยสมาชิกได้กินผักตามที่เกษตรกรปลูก และกินผักตามฤดูกาล แต่ระบบนี้ก็ไม่อาจตอบโจทย์คนเมืองได้นัก จึงต้องหาหนทางให้เข้าถึงคนกินได้มากขึ้น ด้วยการสร้างตลาดสีเขียวขึ้นมารองรับอีกแรง
ตลาดสีเขียวเริ่มไปได้ดีขึ้น เท่าๆ กับที่ความนิยมจับจ่ายผลิตภัณฑ์ปลอดสารเริ่มมีมากขึ้น และผู้ค้าเริ่มมีรายได้เพียงพอโดยไม่ต้องอุดหนุนค่าเดินทางให้เหมือนในตอนแรก เช่นเดียวกับที่พื้นที่ตลาดสีเขียวก็เริ่มขยายออกไปในที่อื่นๆ ตามมาอีกหลายแห่ง ทำให้เกษตรกรอินทรีย์เริ่มแข็งแรง และขยายกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ออกไปกว้างกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
จนมาเมื่อสัก 5-7 ปีให้หลังมานี้เอง ที่เราเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนตัวเองของตลาดสีเขียว ด้วยมีส่วนผสมของคนรุ่นใหม่เข้ามา จากมุมมองของพี่ห่วน มองว่าในยุคที่สองนั้น ผู้บริโภคตลาดสีเขียวเป็นคนในยุค Baby Boom ที่ตระหนักถึงสุขภาพเป็นหลัก แต่ในยุคที่สามนี้คำว่าอินทรีย์หรือออร์แกนิกไปไกลมากกว่านั้นอีก เพราะเป็นกลุ่มคนในเจเนอเรชั่น X ไปจนถึง Z ที่ไม่ได้กรอบความสนใจอยู่แค่เรื่องการกินเพื่อสุขภาพที่ดี แต่มีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุน ด้วยการมาถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่
สิ่งที่เราเห็นในตลาดสีเขียวยุคที่สาม จึงเป็นการจัดตลาดที่จินตนาการของคนจัดตลาดยุคก่อนเองก็มองไปไม่ถึง เพราะสามารถจัดตลาดขึ้นในย่านกลางเมือง รวมถึงในห้างสรรพสินค้า
ทั้งยังจัดได้ถี่ขึ้นจนเกิดตลาดสีเขียวให้ออกไปจับจ่ายสินค้าปลอดสารและงานฝีมือกันได้ทุกสัปดาห์ เพราะคนเมืองก็ตอบรับ และคนทำหรือผู้ผลิตก็มีการออกแบบสินค้าและแปรรูปที่มีสไตล์มากขึ้น ประกอบกับผู้จัดตลาดรุ่นใหม่ก็มีความครีเอทีฟในการดีไซน์รูปแบบงานได้อย่างน่ามหัศจรรย์
แม้รูปแบบของตลาดจะแตกต่างกัน แต่การมีอยู่ของตลาดสีเขียวก็ไม่ได้แยกยุคกันเบ็ดเสร็จ เพราะตลาดในรูปแบบของยุคที่หนึ่งและยุคที่สองก็ยังคงมีอยู่ ขึ้นกับวิถีของคนที่เป็นลูกค้าของตลาดนั้น และยังมีเส้นใยที่โยงรวมกันในคุณค่าการผลิตด้วยวิถีอินทรีย์ กับสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตลาดเขียว อย่างความคิดเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติก็ยังมีอยู่ในทุกตลาด แล้วแต่ว่าตลาดนั้นจะเอื้ออำนวยสิ่งแวดล้อมแบบไหน ในบางที่มีการทำ ‘ธรรมนูญตลาด’ เพื่อให้มีหลักคิดเป็นที่ตั้ง เช่น ตลาดสีเขียวต้องเป็นพื้นที่สื่อสารของคน หรือเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ตลาดสีเขียวต้องสร้างความเป็นธรรม สร้างคุณภาพของคนในห่วงโซ่ คำนึงถึงสุขภาพของผู้คน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีหลักคิดแล้ว ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ต้องรักษาธรรมนูญนี้เอาไว้
หากมองให้กว้างออกไปกว่านั้นอีก เราจะเห็นว่าตลาดสีเขียวทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจัดตลาดอีกต่อไปแล้ว ในบางที่มีพื้นที่สวนให้ปลูกผักในลักษณะ city farm หรือ rooftop garden เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตลาดสีเขียวจึงพาไปสู่การเป็นต้นแบบให้คนที่เข้ามาเห็น ลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตอาหารได้เองด้วย ตลาดสีเขียวจึงเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมไปสู่ความยั่งยืนได้อีกหนทางหนึ่งด้วย
ในสายตาของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงตลาดเขียวมาทุกยุค สิ่งที่พี่ห่วนอยากเห็น ก็คือการขยายตัวของตลาดอย่างมีคุณภาพ และยกระดับตลาดสีเขียวให้เป็นตลาดกระแสหลัก เพื่อให้ตลาดเขียวได้สร้างแรงบันดาลใจในการคำนึงถึงสุขภาพของตัวเองทั้งคนกิน คนปลูก คำนึงถึงสุขภาพของโลกและสังคม คำนึงถึงความเป็นธรรมของราคา และเป็นพื้นที่ของการสื่อสารให้ความรู้กับผู้บริโภค แม้จะไม่ใช่ด้วยวาจา ก็สื่อสารผ่านผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์
ที่สำคัญคือการคงความจริงแท้ของการเป็นตลาดสีเขียวเอาไว้ เพราะหากตลาดสีเขียวแห่งนั้นไร้คุณภาพขึ้นมาเมื่อไร ในที่สุดก็จะกลายเป็นเพียงตลาดนัดไปเท่านั้น
เรื่องเล่าโดย: วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด เป็นที่รู้จักอยู่ในแวดวงผู้ประกอบการสังคมมานานกว่า 20 ปี เธอเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ที่พิมพ์หนังสือเพื่อจุดประกายความคิดและสร้างการเรียนรู้ให้ผู้คน ปัจจุบันได้ก่อตั้ง อินี่ เฮาส์ (INI หรือ Inovation Network International) เน้นการทำงานขับเคลื่อนเรื่องอาหาร เกษตรกรรม และชุมชน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ
ภาพประกอบ: Paperis