ถ้าได้ไปจอยอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับงานสายกรีนหรือสายความยั่งยืน เรามักจะเห็นบริการตุ๊กตุ๊กที่วิ่งรับส่งคนที่เข้ามาร่วมชมงาน มองเผิน ๆ แวบแรกก็ดูมีความคล้ายตุ๊กตุ๊กที่เป็นไอคอนิกขนส่งสาธารณะของเมืองไทย แต่แช่สายตาดูดี ๆ ก็จะเห็นความต่าง ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย สะอาดตา และที่สำคัญ นี่เป็นรถตุ๊กตุ๊กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์!

เรากำลังพูดถึงรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของ MuvMi ที่ตอนนี้นอกจากเรามักจะได้ใช้บริการในอีเวนต์ต่าง ๆ แล้ว ยังให้บริการรับส่งพาคนออกจากตรอกซอกซอยไปสู่ถนนสายหลักที่มีขนส่งสาธารณะให้เราได้เดินทางไปต่อ ที่ถึงวันนี้มีให้บริการอยู่ 11 ย่านในกรุงเทพฯ

ความน่าสนใจของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi คือการทำหน้าที่เคลื่อนคนให้เดินทางในเมืองหลวงได้สะดวกขึ้น ยังได้ช่วย “เคลื่อนเมือง” ที่มีปัญหาจราจรหนาแน่นให้ผู้คนได้รับความสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ก็ยังช่วยลดการเพิ่มมลพิษทางอากาศได้ด้วย นับว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาของเมืองให้ลดลงได้สองทาง ด้วยโจทย์ทางธุรกิจที่ตั้งขึ้นด้วยความฝันที่ว่า “อยากแก้ปัญหาการเดินทางให้คนกรุงเทพฯ”

และในวันที่สิ่งแวดล้อมของเมืองต้องการการเยียวยา ธุรกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาเมืองพร้อมกับแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยจึงไปได้ไกล และเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 5-6 ปี ทั้งยังมีโอกาสที่จะขยายตัวไปสู่เมืองหลักนอกจากกรุงเทพฯ อีกด้วย

ปักหมุด MuvMi ให้มูฟเมือง
MuvMi เริ่มตั้งไข่เมื่อปี 2017 โดยบริษัทสตาร์ทอัพที่เก็บเอาประสบการณ์การเดินทางในเมืองที่โครงสร้างเต็มไปด้วยตรอกซอกซอย แม้จะมีระบบขนส่งสาธารณะแต่ก็ไม่เชื่อมต่อและครอบคลุม เพื่อจะทำให้การเดินทางทุกวันในเมืองมีราคาถูก ปลอดภัย และง่ายขึ้น พวกเขาจึงพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่เหมาะกับกายภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยทางซอกแซก และใช้ระบบอัลกอรึทึ่มเพื่อจัดสรรให้คนเดินทางสามารถเดินทางไปด้วยกันในเส้นทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นแอปพลิเคชั่น MuvMi ที่ช่วยมูฟคนเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย และยังไร้มลพิษอีกด้วย

ระบบ Ride Sharing ทำให้ลดปริมาณรถบนถนนลง และช่วยประหยัดพลังงาน

และนั่นคือการปักหมุดของ MuvMi ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกที่จะเข้ามาเสริมระบบการเดินทางของ Mass Transit ด้วยแนวคิด Microtransit หรือการขนส่งขนาดเล็กที่ยืดหยุ่น ช่วยพาคนไปส่งยังขนส่งสาธารณะ และพาคนจากขนส่งสาธารณะเดินทางต่อไปออฟฟิศหรือกลับบ้าน เป็นบริการง่าย ๆ แต่ก็เอื้อปัจจัยพื้นฐานที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ด้วยรูปแบบ Ride Sharing ให้บริการเฉพาะย่าน ที่ลูกค้าที่มีปลายทางใกล้เคียงกันนั่งไปด้วยกันได้ ซึ่งระบบ Ride Sharing ทำให้ลดปริมาณรถบนถนนลง และช่วยประหยัดพลังงาน ในขณะที่ก็ได้ช่วยเซฟค่าเดินทางให้ผู้โดยสารด้วย เพราะค่าบริการเริ่มต้นครั้งละ 10 บาท แต่ถ้ามากับเพื่อนค่าบริการก็จะลดลงตามส่วน แต่ก็ยังยืดหยุ่นให้กับคนที่อยากจะเดินทางแบบส่วนตัวสามารถกด No Sharing ได้เหมือนกัน ในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

สแกนบาร์โค้ด ขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไปด้วยกัน
หลายคนที่เรารู้จัก เป็นแฟน MuvMi เพราะใช้บริการจนเป็นขาประจำ บางคนถึงขั้นไม่ขับรถส่วนตัวเลยหากไม่ต้องขนข้าวของพะรุงพะรัง เพราะการออกจากซอยด้วยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ไปต่อ BTS หรือ MRT นั้นสะดวกกว่าและกะเก็งเวลาไปถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องต่อรองราคาหรือห่วงว่าราคาจะขึ้นถ้ารถติด

ในการใช้บริการ เราต้องดาวน์โหลดแอปพลิชั่น MuvMi ลงมือถือก่อน แล้วลงทะเบียนเพื่อเติมเงินเข้า wallet จากนั้นก็ใช้งานได้เลย โดยปักหมุดจุดที่จะให้รถมารับและปลายทางที่จะไป แอปฯ จะโชว์ข้อมูลคนขับและทะเบียนรถ ค่าโดยสาร พร้อมทั้งรูปสถานที่ที่ให้เราไปยืนรอรถซึ่งจุดนี้เราเลือกเองไม่ได้ แต่จุดที่แอปฯ กำหนดไว้ให้ก็เป็นจุดที่สะดวกอยู่แล้ว ระหว่างที่รอเราสามารถดูว่ารถมาถึงไหนแล้วได้ เมื่อรถมาถึงก็สแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเพื่อจ่ายเงิน แล้วให้รถพาเราเดินทางต่อไปโดยไม่ต้องคอยบอกจุดจอด เพราะทั้งหมดมีแจ้งไว้บนหน้าจอคนขับอยู่แล้ว

พิมพ์สรณ์ จันผา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ MuvMi ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้บริการประจำทุกวันมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพราะความอินกับการเดินทางในรูปแบบนี้จนปฏิเสธการมีรถส่วนตัว ทำให้เราอยากรู้ว่าในฐานะผู้ใช้จริงแล้ว MuvMi มีดียังไง

“มองในฐานะคนใช้งาน สรณ์ว่าถ้าเราอยู่ในย่านที่มี MuvMi เราไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวเลย มีความปลอดภัย คนขับทุกคนจะต้องผ่านการเทรนมาก่อน มีการควบคุมความเร็วให้ไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรารู้ราคาค่าบริการก่อนคอนเฟิร์ม ซึ่งเป็นราคาสมเหตุสมผล และความที่เป็นรถไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงรบกวนเพราะไม่มีเครื่องยนต์”

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามีพื้นที่สำหรับผู้โดยสาร 6 ที่นั่ง ความกว้างขวางที่มีมากกว่ารถตุ๊กตุ๊กปกติ เกิดจากการปรับโครงสร้างของรถโดยไทยรุ่ง ยูเนียนคาร์ โรงงานประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน

“รถตุ๊กตุ๊กที่ใช้แก๊ส เขาต้องยกสูงช่วงหลังเพื่อเก็บถังแก๊ส ทำให้ผู้โดยสารมีที่นั่งได้ประมาณ 3-4 ที่ แต่ความที่เราต้องการพาผู้โดยสารไปแบบ car pooling หรือ ride sharing เราก็ต้องปรับตัวรถเพื่อให้รับผู้โดยสารได้ 6 ที่”

ความเป็นมิตรของรถคันนี้ คือการออกแบบให้มีพื้นต่ำ ผู้โดยสารทุกวัยสามารถใช้งานได้สะดวก แม้กระทั่งคนสูงอายุก็ไม่ต้องกังวลในการก้าวขึ้นลง

เมื่อรถไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีท่อไอเสีย ทำให้เราไม่มีการปล่อยฝุ่น PM2.5

“การเป็นรถไฟฟ้าทำให้มีค่าซ่อมบำรุงถูกลง อุปกรณ์กลไกของรถก็มีน้อย ทำให้ดูแลง่ายขึ้น และเมื่อรถไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีท่อไอเสีย ทำให้เราไม่มีการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากการสันดาปของเครื่องยนต์” เหตุผลนี้บอกถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอีกหนึ่งมิตร

ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน
ตอนนี้ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi จัดเส้นทางวิ่งเอาไว้ 11 ย่าน คือ อารีย์-ประดิพัทธ์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, บางซื่อ, รัชดา-พระรามเก้า, พหลโยธิน-เกษตร, จุฬา-สามย่าน, ชิดลม-ลุมพินี, สีลม-สาทร, รัตนโกสินทร์, สุขุมวิท และอ่อนนุช เราสงสัยว่ามีการจัดสรรย่านหรือเส้นทางอย่างไร พิมพ์สรณ์ให้คำตอบกับเราว่า

“พื้นที่ที่เราจะทำได้ต้องมีลักษณะเชื่อมโยงกับขนส่งหลัก เช่น มีการเดินทางที่ต้องไปต่อรถเมล์ รถไฟฟ้า MRT หรือมีการเดินทางในย่านเยอะ เช่น การทำกิจกรรมระหว่างวัน มีนักเรียน กลุ่มแม่บ้าน หรือคนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นต้องเดินทางออกมาทำกิจกรรม

“ในแต่ละย่านเราจะหากลุ่มลูกค้าหลักให้ได้ก่อน อย่างเรารู้แล้วว่าจุฬา-สามย่านเป็นนักเรียนนักศึกษา ย่านสุขุมวิทกลุ่มหลักเป็นคนญี่ปุ่น เกาหลี หรือเอ็กซ์แพต เราจะเช็กข้อมูลหลังบ้านว่าใครคือผู้ใช้งานของเรา และเขามีพฤติกรรมการเดินทางแบบไหน ย่านสุขุมวิทคนญี่ปุ่นจะใช้บริการค่อนข้างเยอะ พฤติกรรมของเขาคือรับส่งลูกเช้าเย็น กลางวันไปช้อปปิ้งหรือทำธุระ เมื่อรู้พฤติกรรมแล้วเราก็มาดูเรื่องบริการว่าอะไรที่จะทำให้เขาใช้บริการเราต่อไป อะไรที่เราจะต่อยอดได้

“เราเปิดให้ลูกค้าเสนอ hop point แต่การจะเปิดเราต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น ตรงนั้นเป็นจุดที่เหมาะกับการเชื่อมต่อกับขนส่งอื่น ๆ มั้ย มีอาคารสำนักงาน ร้านอาหาร หรือที่พักมั้ย เพราะถ้าเรามีหมุดเยอะเกินแต่ย่านนั้นคนน้อย มันจะไปดึงเวลาการรอของลูกค้าคนอื่น เราต้องการพาคนหลายคนเดินทางไปพร้อมกัน การเปิดหมุดจึงต้องพิจารณาปัจจัยนั้นด้วย”

บางย่านใช้เวลารอค่อนข้างนาน-เรากระซิบปัญหาที่เคยเจอ พิมพ์สรณ์ยอมรับว่าเรื่องนี้ยังมีปัจจัยที่บางอย่างก็แก้ลำบาก

พอเริ่มเป็นที่รู้จักมากเราจึงต้องมาแข่งกับการจัดการว่าจะจัดระบบยังไงให้รับลูกค้าได้ไวที่สุด

“เรื่องการใช้เวลาหรือรอนานมันประกอบกับหลายส่วน ทั้งจากปริมาณรถที่ยังน้อยไปด้วย การจราจรที่รถติดด้วย  เราเก็บฟีดแบ็กของลูกค้ามาพัฒนาได้พอสมควร ทาง MuvMi Hero หรือพี่คนขับก็จะฟีดแบ็กมาด้วย แต่เราก็พยายามทำให้ลูกค้าเข้าใจที่สุด ช่วงต้น ๆ ความที่เป็นสตาร์ทอัปเราก็มีความเออร์เรอร์บ้าง อย่างจุฬา-สามย่านไม่มีเวลาไหนที่เป็นช่วง off-peak คนใช้งานเยอะตลอด ผู้โดยสารมีหงุดหงิดบ้างเพราะคิวเยอะ เราก็พยายามเพิ่มจำนวนรถขึ้น แต่ก็โตไม่ทันความต้องการของลูกค้า พอเริ่มเป็นที่รู้จักมากเราจึงต้องมาแข่งกับการจัดการว่าจะจัดระบบยังไงให้รับลูกค้าได้ไวที่สุด”

ที่ฮับของ MuvMi ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ มีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจำนวนมากเตรียมไว้รองรับผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างการขอป้ายทะเบียนซึ่งต้องใช้เวลา ที่นี่เป็นทั้งสถานีชาร์จโดยรถทุกคันในย่านนี้รวมถึงย่านอนุสาวรีย์จะเข้ามาชาร์จแบตเตอรี่ มีช่างคอยดูแลรถ ส่วนลานกว้างที่อยู่อีกด้าน เป็นลานฝึกขับรถของพี่ๆ MuvMi Hero

จำลอง ชัยวงศ์ ขับรถรับผู้โดยสารให้กับ MuvMi มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นพนักงานออฟฟิศและขายของตลาดนัด ตอนนี้ว่างจึงไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ “รถขับไม่ยาก เขาเน้นฝึกเรื่องความปลอดภัย มารยาท การพูดคุยกับลูกค้าต้องสุภาพ เราต้องผ่านการสอบใบขับขี่สาธารณะที่ขนส่งก่อน อย่างอื่นไม่มีอะไรยาก หน้าที่เราคือต้องแสตนด์บายไอแพดไว้ตลอดเวลา เพื่อรอคำสั่งจากโอเปอเรเตอร์ว่าจะให้เข้าไปรับหรือไปรอลูกค้าที่จุดไหน แล้วเราก็ทำตามคำสั่ง”

“ขับยากมาก” ว่าที่ MuvMi Hero อีกคนหัวเราะลั่นเมื่อเราถามว่าขับยากไหม เขาเพิ่งมาฝึกได้วันนี้เป็นวันที่สาม และยังพะวงหน้าพะวงหลังเพราะการขับสามล้อเป็นเรื่องที่เขาต้องฝึกใหม่ทั้งหมด

“มันเป็นลูกครึ่งระหว่างมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์ แล้วเราเคยขับรถแบบเกียร์ธรรมดา พอมาเป็นรถไฟฟ้าก็ต้องฝึกให้คล่อง แล้วมุมมองตอนขับรถก็จะไม่เหมือนกัน ต่อให้ขับรถเก๋ง สิบล้อ หกล้อ มาเจอสามล้อนี่ไปไม่เป็นเลย” เขาตอบก่อนขยับมือเพื่อพารถเดินหน้าต่อ เมื่อฝึกได้ 7 วัน และผ่านเกณฑ์ทดสอบ เขาจะได้ขับรถคันนี้ออกรับผู้โดยสารบนถนนจริง

ปลายทางที่กำลังไปให้ถึง
นอกจากรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าซึ่งมีให้บริการอยู่มากกว่า 350 คัน MuvMi ขยับการให้บริการไปสู่รถ EV Taxi ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองวิ่งในย่านพระรามเก้า

“ลูกค้าชอบค่ะ เพราะบางคนยังชอบนั่งรถติดแอร์มากกว่า แต่ในมุมของผู้ให้บริการเราก็ยังพบข้อที่ต้องพัฒนา เพราะรถเราเป็นรถยนต์สีขาวที่มีสติกเกอร์ MuvMi แปะ คนยังมองเห็นไม่ชัด ทำให้คนไม่ค่อยรู้

“อย่างนั้นแล้ว การให้บริการหลักจึงยังคงอยู่ที่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่ปีนี้มีแผนจะขยายย่านบริการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด และมีโอกาสที่จะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต “ซึ่งเราต้องดูก่อนว่าแพทเทิร์นการเดินทางของคนในย่านนั้นหรือในชุมชนนั้นเป็นยังไง เซอร์วิสของเราจะไปตอบโจทย์เขาได้จริงหรือเปล่า เรื่องนี้อยู่ในแผนของเรา”

หากมองในเรื่องจังหวะและโอกาส การเติบโตของ MuvMi เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ยังมีอยู่ได้ไม่น้อย

การใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ไม่ปล่อยมลพิษ ก็เป็นคุณค่าที่เข้ามาส่งเสริมกัน สิ่งที่ทำให้ธุรกิจโตได้เร็ว

“เรามี pain point ที่อยากแก้ปัญหาคือการเชื่อมโยงเรื่อง Microtransit แล้วการใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ไม่ปล่อยมลพิษ ก็เป็นคุณค่าที่เข้ามาส่งเสริมกัน สิ่งที่ทำให้ธุรกิจโตได้เร็ว คิดว่ามาจากความที่เราเข้าใจลูกค้า และเห็นช่องว่างในการเสนอทางเลือกที่เป็นประโยชน์ให้กับเขาได้ แนวทางธุรกิจที่ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับผู้คนจึงมีโอกาสที่จะเติบโต”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, MuvMi