“แถวนั้นมีอะไรกิน”

เสียงเพื่อนสาวพูดพลางจิ้มทาร์ตมะนาวเข้าปาก เมื่อเราบอกว่า จะย้ายไปทำงานที่ออฟฟิศใหม่แถวถนนบรรทัดทอง ถึงจะเป็นเส้นถนนไม่ห่างจากสยามและมาบุญครองเท่าไรนัก แต่ก็ดูเหมือนยากที่จะนึกได้ในทันที เพราะถนนบรรทัดทองไม่ใช่เส้นทางสัญจรหลักแบบสุขุมวิท และเอาเข้าจริง มันคือย่านระดับตำนานแหล่งรวมร้านค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ตั้งแต่ฟุตบอล แบดมินตัน ปิงปองไปจนถึงยกน้ำหนัก อาหารน่ะเหรอ ดูเป็นปริศนาธรรมสำหรับพนักงานออฟฟิศใหม่อย่างเรามาก

แน่นอนว่าในช่วงแรก เรามองเห็นแค่ร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งไม่กี่ร้าน ร้านสะดวกซื้อที่เข้าจนเคยชินนั้นอยู่นอกเขตรัศมี จนเมื่ออยู่ไปสักพัก เพื่อนร่วมงานก็เริ่มชี้ให้เราเห็นช่องทางใหม่ๆ เราพบว่ามีอาหารซุกซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆ ของชุมชน

ทั้งร้านข้าวราดแกงของคุณป้าที่ทอดหมูได้กรอบ อร่อย เนื้อฉ่ำนุ่มที่สุดจนอยากยกมิชลินสตาร์ให้ 1 ดวง (ซึ่งความจริงแถวนั้นมีร้านก๋วยเตี๋ยวที่ติดลิสต์มิชลิน ไกด์อยู่นะ) ร้านลูกชิ้นปลากุ้งที่สดและใหม่สไตล์โฮมเมด ร้านเย็นตาโฟเตาถ่านที่ต้องนั่งหลบประกายไฟปลิวมาเป็นระยะ ร้านโจ๊กและก๋วยเตี๋ยวหลอดที่ทำกันในคูหาเล็กๆ ตามสูตรคนในบ้าน ยิ่งพอตกดึก บรรทัดทองยิ่งคึกคัก อาหารซีฟู้ดและขนมหวานเริ่มแสดงตัว ดึงดูดให้เราเข้าไปเติมพลังหลังเลิกงานก่อนกลับบ้าน อาหารรอบออฟฟิศล้อมเราไว้ และกลายเป็นชีวิตประจำวันที่น่าสนุกมากกว่าการเดินหยิบข้าวกล่องแช่แข็งมาอุ่นในไมโครเวฟของร้านสะดวกซื้อ

สำหรับพนักงานออฟฟิศ ร้านอาหารไม่ใช่แค่เป้าหมายในการกินตอนพักเที่ยง แต่ยังเป็นช่วงเวลาให้เราเดินผ่อนคลาย ออกไปเจอผู้คนแปลกหน้า และยังได้ใช้เวลากับผู้คนคุ้นหน้าที่ไปหาอะไรกินด้วยกัน ที่จริงแล้วคงไม่ใช่แค่บรรทัดทอง ย่านออฟฟิศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกมัย ทองหล่อ สีลม รัชดาหรืออารีย์ ก็ล้วนมีอาหารรายรอบทั้งนั้น และหมวดอาหารส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกัน คือ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ของทอด ผลไม้และขนมจุบจิบ ราคาถูกหรือแพงหลากหลายแล้วแต่พื้นที่ มีให้ทุกคนเลือกซื้อ เลือกตุนไว้ในลิ้นชัก รอเวลาหยิบมาเคี้ยวแก้ง่วงช่วงบ่าย

หลังจากเป็นพนักงานออฟฟิศมาหลายปี เราพบว่าเลือกให้อร่อยไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือการดูแลสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยการต่อสู้กับ ‘ความเคยชิน’ อย่างหนักหน่วง แน่ล่ะ, ช่วงแรกอาจตื่นเต้นเพราะทุกอย่างกำลังใหม่ คิดว่าร้านไหนก็น่าสนใจไปหมด แต่การใช้ชีวิตเป็นลูปซ้ำเดิมในที่ทำงานกว่า 200 วันต่อปี (หักลบวันหยุดที่ไม่ต้องมา) สร้างนิสัยบางอย่างให้กับการกินของเราโดยไม่รู้ตัว หลายคนเริ่มชินกับการเข้าร้านประจำ สั่งเมนูเดิม ซื้อเกี๊ยวทอดทุกครั้งในเวลาเบรกเดิม หรือสั่งลาเต้ มอคค่า ชาเขียวดื่มตบท้ายเป็นกิจวัตร สะสมแต้มไปแลกฟรีกินซ้ำได้อีก! เป็นความเที่ยงตรงที่น่าหวั่นใจ จนทางเลือกอื่นๆ ที่เคยพบอยู่รอบออฟฟิศกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม เป็นทางเลือกที่ ‘ไม่ถูกเลือก’ เป็นระบบการหาของกินแบบอัตโนมัติ เหมือนออโต้ไพลอทที่ขับเคลื่อนไปด้วยตัวเอง เหนื่อย หิวหรืออยากพักก็พุ่งไปหา ดีหรือไม่ไม่สำคัญเท่าชอบหรือไม่อีกต่อไป สุขภาพถูกผลักไว้ด้านหลังและเราก็เริ่มลืมมันเสียสนิท

ทั้งที่ความจริงแล้ว ในร้านอาหารตามสั่งไม่ได้มีแค่หมูทอด แต่ยังมีผัดผักและยำแคลอรีต่ำ (แต่รสชาติอร่อยเข้มข้นไม่แพ้เมนูอื่น) ในร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นยังมีร้านที่ไม่ใส่ผงชูรส แต่หวานจากน้ำต้มกระดูกหมู ข้างร้านหมูปิ้งเจ้าโปรดยังมีร้านข้าวน้ำพริกปลาทูเสิร์ฟพร้อมผักพื้นบ้าน และในร้านส้มตำก็ไม่ได้มีแต่แคบหมูแต่ยังมีไก่ย่างที่เราสามารถลอกหนังไก่ไหม้ๆ ออกเองได้ เราหลายคนรู้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เลือก ไม่ต้องวิ่งหนีของที่เราชอบทุกวันหรอก แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีสักวันที่เราวิ่งไล่ตามสุขภาพที่ดีบ้าง

การหยุดตัวเองลงสักนิดก่อนสั่งอาหารที่คุ้นเคย แล้วกวาดตามองเมนูอื่นๆ บนกระดานข้างฝาผนังร้าน สำรวจอาหารที่ล้อมเราไว้อย่างถี่ถ้วน หรือแม้แต่เดินให้ไกลออฟฟิศอีกสักนิด เพื่อจะพบว่ามีร้านอาหารอื่นๆ ที่ช่วยให้เรา ‘กินดี’ ขึ้นบ้างในบางมื้อ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีไม่น้อย พอทำซ้ำๆ แบบนี้บ่อยขึ้น โปรแกรมที่เคยถูกเซ็ตอัตโนมัติไว้ในตัวเราจะถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ถึงจะถูกล้อมไว้หนาแน่นแค่ไหน เราก็สามารถเลือกอาหารที่ให้ความสุขและผลลัพธ์ที่ดีแก่กระเพาะและจิตใจของเราได้

วางแผนหาทางรอดกันเถอะ!
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า หลายอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกิจวัตรและความเคยชินของตัวเราเอง เหมือนที่หนังสือ The Power of Habit: Why We Do What We Do in Life and Business ของ Charles Duhigg บอกว่า พฤติกรรมน่ะเกิดจาก 3 สิ่งคือ จิตใจ อารมณ์ และร่างกาย ถ้าจะเปลี่ยนการกระทำเดิมๆ มันต้องเน้น 3 ด้าน คือ การให้คิว กิจวัตรประจำวัน และการให้รางวัล

อย่างเช่น Bob Bowman โค้ชของนักว่ายน้ำระดับโลกอย่าง Michael Phelps ที่บอกว่า เขาไม่ได้อยากคุม Phelps ไปเสียทุกด้าน แต่จะเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างและตั้ง Mindset (กระบวนความคิด) ที่ถูกต้อง เช่น ให้ Phelps นึกภาพตัวเองกระโดดว่ายน้ำไปจนถึงเส้นชัยในหัว การพูดคำสั่งบางอย่างก่อนลงมือทำ เมื่อแข่งจริงและได้ยินคำสั่งนั้น เจ้าตัวก็จะเคยชินและมุ่งมั่นฮึดทำจนสำเร็จ ซึ่งเป็นวิธีแบบ Neurological Pattern หรือสร้างแพตเทิร์นให้สมองนั่นเอง

วกกลับมาที่การกินของเรา เมื่อ ‘ความอยาก’ เกิดขึ้น จนทำให้เราชินกับการหยิบอะไรกินก็ได้ตามใจปาก ลองแทรกแซงพฤติกรรมเดิมๆ แล้วทดแทนด้วยพฤติกรรมใหม่ เริ่มจากตั้งกฎให้ตัวเองทำตาม ส่งคิวสัญญาณในการเลือกทำหรือไม่ทำ จากนั้นปฏิบัติซ้ำๆ จนชิน อย่าลืมให้รางวัลตัวเองบ้างเพื่อทำให้สมองรู้สึกดีและอยากกลับไปทำอีก ถึงจะไม่ได้แข่งโอลิมปิกอย่างเขา แต่เราก็จริงจังและมีชีวิตที่ดีไม่แพ้ใครเลยล่ะ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง