การไปเยือนบ้านสวนอาจารย์พีทครั้งแรกของเรา คือความเซอร์ไพรส์สามชั้น
เซอร์ไพรส์ชั้นแรก เมื่อไปถึงตามโลเกชั่นที่เจ้าของสวนแชร์มาให้ เราไม่พบว่ารอบด้านจะมีอะไรที่เป็นการบ่งบอกว่ามีสวนซ่อนตัวลึกลับอยู่ในย่านชุมชนซอยอ่อนนุช 17 แบบนี้ได้
เซอร์ไพรส์ชั้นสอง ลึกเข้าไปหลังพ้นส่วนบ้านที่เป็นโซนพักอาศัย คือพื้นที่สวนขนาด 7 ไร่ ซึ่งเป็นสวนท้องร่องที่มีหน้าตาแบบสวนที่เรามักพบในชานเมืองหรือจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ และเป็นสวนโบราณที่ต้นไม้บางต้นอยู่คู่สวนมาเกือบร้อยปี
เซอร์ไพรส์ชั้นสาม สวนนี้ไม่ได้สวนที่ปลูกผักหรือไม้ผลเพื่อทำรายได้จากผลผลิตเป็นหลัก แน่นอนว่าผลผลิตเหล่านี้ถูกจำหน่ายไปยังลูกค้าที่เป็นขาประจำพืชผักปลอดสารเคมี แต่หลักใหญ่ของบ้านสวนอาจารย์พีท คือสถานะของการเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีคนใฝ่รู้ตั้งแต่เด็กเล็กที่จูงมือมากับผู้ปกครอง นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ครู ผ่านกิจกรรมสะเต็มในสวน หรือหลักสูตร “นักปลูกหัวใจสะเต็ม” ที่อาจารย์พีทออกแบบ ทดลอง และพัฒนาขึ้นเป็นโมเดลเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเชื่อมโยงกับการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการบูรณาการ 4 ศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสวน และโมเดลนี้กำลังจะได้รับการต่อยอดไปยังสถาบันศึกษาในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ
สะเต็มในสวนคือการนำศาสตร์สี่ศาสตร์มาแก้ปัญหาในสวน
“สะเต็มในสวนคือการนำศาสตร์สี่ศาสตร์มาแก้ปัญหาในสวน คือ วิทยาศาสตร์ (S-Science) เทคโนโลยี (T-Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (E-Engineering) และคณิตศาสตร์ (M-Mathematics) เช่น ทำจักรยานปั่นน้ำเพื่อรดผักในแปลง ตะกร้าใส่ไข่ จานจากใบไม้ สกัดสารไล่แมลงด้วยใบกะเพรา
“เราพาเด็กเข้ามาเรียนรู้ ปรากฏว่าเราเห็นดวงตาปิ๊ง ๆ ของเด็ก ที่คิดว่าเด็กจะต้องลำบาก ต้องร้อน เขาต้องบ่นแน่ ๆ ปรากฏว่าไม่เลย เขาสนุก กลับไปแล้วเขาก็อยากกลับมาอีก” รศ.ดร.ศศิเทพ ปิติพรเทพิน หรืออาจารย์พีท อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงการเรียนรู้แบบสะเต็มซึ่งมีที่มาจากการบูรณาการศาสตร์ดังกล่าว
และเชื่อหรือไม่ว่า โมเดลการเรียนรู้ชุดนี้ มีจุดกำเนิดขึ้นในสวนแห่งนี้ จากวันที่ครอบครัวของอาจารย์พีทคิดเพียงแค่ว่า จะทำอย่างไรกับอดีตสวนผักที่เคยรกร้างของครอบครัวให้เกิดประโยชน์ มากกว่าปลูกกล้วยปลูกมะนาวเพื่อหาทางออกจากปัญหาการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปรับอัตราสูงขึ้น เมื่อได้ลงมือทำแล้วก็ยิ่งได้เห็นทางไปต่อ และด้วยวิสัยของนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ จึงได้นำพาบ้านสวนอาจารย์พีทมาถึงจุดนี้
เราขอชวนคุณเดินเท้าเข้าสวน ข้ามท้องร่อง ทดลองกิจกรรม และฟังเรื่องเล่าจากสวนที่เป็นมากกว่าสวนแห่งนี้ไปด้วยกัน
สวนโบราณที่ผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่
ก้าวพ้นจากโซนบ้านพักและเดินผ่านซุ้มอัญชันเข้าไป สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเราคือสวนที่ดูเป็นธรรมชาติอย่างสวนทั่วไปที่ไม่ปรุงแต่ง ร่องสวนมีต้นไม้ต่างสายพันธุ์ปลูกผสมผสานกันอยู่ สลับกับท้องร่องที่ผันน้ำจากคลองพระโขนงก่อนพักเพื่อให้ธรรมชาติบำบัด แล้วปล่อยเข้ามาหล่อท้องร่องไว้ไม่ให้เหือดแห้ง ร่องน้ำเล็ก ๆ นั้นมีปลาที่คอยเก็บกินวัชพืชไม่ให้ร่องน้ำตื้นเขิน อาจารย์พีทเก็บชมพู่จากต้นโบราณอายุเกือบร้อยปีโยนให้ปลาคู้แดง หรือจาระเม็ดน้ำจืดกินเป็นอาหาร
“เมื่อก่อนที่นี่เป็นสวนเลย ร่องนี้คะน้า ร่องนี้กวางตุ้ง แม่ผมเป็นลูกชาวสวน พ่อเป็นพ่อค้า ปลูกแล้วก็ตัดไปขาย ที่ตรงนี้เป็นเขตสวนหลวง ลงสะพานมาก็เป็นสวนทุกแปลงที่ปลูกแบบเคมี เราก็เคยทำแบบนี้ แต่ก็หยุดไปเป็นสิบปีแล้ว พอมีสนามบินสุวรรณภูมิ มีรถไฟฟ้า คนละแวกนี้ขายที่กันหมด แต่เราไม่ได้ขาย ถ้าทิ้งเอาไว้เปล่า ๆ ก็จะเสียภาษีที่ดินเยอะ เลยพยายามจะปรับปรุงมันเพื่อทำเกษตร คุยกันในครอบครัวว่า ไหน ๆ จะทำแล้วก็ทำให้ยั่งยืนไปเลยแล้วกัน”
โชคดีที่สมาชิกครอบครัวเห็นตรงกันที่จะเก็บสวนนี้เอาไว้ เมื่อตัดสินใจว่าจะทำเกษตรก็ลงทุนขุดร่องน้ำเพิ่ม โดยพยายามคงสภาพร่องโบราณไว้ให้มากที่สุด เพราะสวนดั้งเดิมแบบนี้หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน
“เราเอาต้นไม้มาลง เน้นไม้กินได้ แต่เนื่องจากตรงนี้เราทิ้งไปสิบปี สารเคมีหายไปหมด ดินดี หญ้าโตเร็ว เราต้องต่อสู้กับหญ้าเยอะมาก ใช้เครื่องตัดหญ้ามาค่อย ๆ ตัด” อาจารย์พีทเล่าถึงช่วงเริ่มต้นที่การปรับปรุงสวนเป็นไปไม่ง่าย และการที่สวนกลับมามีหน้าตาแบบนี้ได้ก็ต้องยกเครดิตให้ลุงอ้วน คุณลุงของอาจารย์พีทที่เป็นกำลังหลักในการดูแลด้วยความรู้และภูมิปัญญาแบบคนรุ่นเก่า การได้กลับมาทำสวนทำให้แต่ละวันของลุงอ้วนเต็มไปด้วยความสุขและมีความหมาย เมื่อได้ถ่ายทอดเรื่องการทำสวนให้คนที่เข้ามาเยือน
เราเอาองค์ความรู้มาพลิกแพลง ผสมเป็นสูตรของเราจนกลายเป็นนวัตกรรม
“อย่างการปรุงดิน ลุงอ้วนจะใช้วิธีแบบดั้งเดิม ที่ต้องมีการตากดิน ฟันดิน แล้วใช้ถั่วลิสงหมักตากเป็นแผ่นแบนมาทุบให้ละเอียดโรยเป็นธาตุอาหารให้ดิน เราทำกันมาแบบนั้น จนได้มารู้จักกับโครงการสวนผักคนเมือง ได้เรียนรู้กับอาจารย์เติ้ล (เกศศิรินทร์ แสงมณี) เราก็เอาองค์ความรู้นั้นมาพลิกแพลง ผสมเป็นสูตรของเราเองจนกลายเป็นนวัตกรรมได้”
อาจารย์พีทยกตัวอย่างกระบะปลูกผักที่ทำขึ้นแบบยกพื้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เขาใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในละแวกอย่างไม้และแผ่นกระเบื้อง และนวัตกรรมใหม่ที่เขาประยุกต์ขึ้นก็ได้นำมาใช้กับการปรุงดินสูตรเฉพาะ
“ผมชอบคิดสูตรเอง ปลูกแล้วดูการเจริญเติบโต เพราะผมมีพื้นฐานมาทางวิทยาศาสตร์ เรียนด้านวิทยาศาสตร์ชีววิทยามา มีความรู้เรื่องธาตุอาหาร เราก็ผสมจุลินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพตามสูตรเรา อาจารย์เติ้ลใช้แกลบ ใช้ขุยมะพร้าว ใช้ขี้เถ้า แต่เราไม่อยากซื้อแกลบ ก็ใช้ของที่เรามีอยู่ในสวนเช่นใบไม้ใบไผ่ จากขี้วัวเราลองใช้สามขี้ คือขี้แพะจากฟาร์มของญาติที่ลพบุรีมาใช้ผสมกับขี้วัวและขี้ไก่จากฟาร์มลุงอ้วน ก็ปรากฏว่าได้สูตรที่โอเค ได้ผลผลิตที่โตทันใจ ซึ่งเราอธิบายได้ว่าขี้แพะมีลักษณะเป็นเม็ด จะค่อย ๆ ละลาย ทำให้ผักได้ปุ๋ยต่อเนื่อง สูตรนี้ก็มาจากการทดลองของเรา”
สูตรปรุงดินที่ว่านำมาขึ้นกระบะเป็นร่องปลูกผักสลัด เคล คะน้า กวางตุ้ง ที่กำลังอยู่วัยอนุบาล จักรยานปั่นน้ำที่อาจารย์พีทปั่นโชว์ให้เราดู นำสายน้ำส่งไปยังกระบะผัก เป็นจักรยานที่ลูกศิษย์คนหนึ่งเข้ามาทำโปรเจ็กต์ในสวน ที่ต้องคำนวณกำลังของมอเตอร์ ความดัน ขนาดของท่อ เพื่อลำเลียงน้ำให้ถึงกระบะทั้งหมด ส่วนการปลูกแน่นอนว่ายังคงเป็นหน้าที่ลุงอ้วน
“ลุงอ้วนจะไม่ทำเหมือนเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องไปเพาะแล้วมาปลูกทีละต้น แต่ลุงทำแบบดั้งเดิมคือหว่านแล้วพอต้นชิดกันก็ค่อยเอาไปกิน หนสอง หนสาม ต้นที่เหลืออยู่ก็จะต้นใหญ่ใบใหญ่ เราตากดินไว้สองสัปดาห์เพื่อให้โดนความร้อนและเชื้อราตาย ส่วนแมลงเราจะใช้วิธีหลอกล่อตั้งแต่ก่อนปลูก ด้วยการย้ายไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ทีเพื่อให้เขาลืมว่าตรงนี้เคยมีอาหาร และใช้เหล้าขาวผสมพริกแกงพ่น แต่ต้องทำตอนเย็นไม่อย่างนั้นใบจะไหม้” เขาเล่าวิธีการที่ฟังดูง่าย แต่จะทำให้ได้ผลก็ต้องตั้งใจจริง
นอกจากผักที่จะกลายเป็นผลผลิตซึ่งอาจารย์พีทนำไปขายแบบพรีออร์เดอร์ที่ตลาดนัดบ้านสวนอาจารย์พีท ในมหาวิทยาลัย และมีลูกค้าเป็นเพื่อนบ้านในละแวกใกล้ ๆ ที่สวนยังมีไม้ผลไม้ยืนต้นหลากหลาย มะม่วง ส้มโอ มะรุม กล้วยมะลิอ่อง ฯลฯ กระทั่งต้นกาแฟและต้นโกโก้ที่ปลูกไว้เพื่อให้คนได้รู้จักหน้าตา “บางต้นก็ปลูกเพื่อให้ความชื้น ให้ความร่มเย็น” อาจารย์พีทชี้ชวนให้ดูขณะพาเราชมสวน
พื้นที่เรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไปจนปริญญาเอก
ศาลาเล็ก ๆ ที่อาจารย์พีทเรียกว่า “อาศรม” วางตัวอยู่ท่ามกลางร่มไม้ในสวน พื้นอาศรมเว้นที่ว่างให้ต้นไม้ต้นเก่าได้ยืนอยู่บนดินเดิมแบบไม่ต้องตัดทิ้ง เป็นการออกแบบที่เคารพต่อธรรมชาติและได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในคราวเดียวกัน บริเวณนี้เป็นทั้งห้องเรียน ห้องกิจกรรมของเด็ก ๆ เช่นวันนั้นเป็นวันที่สวนเปิดให้เด็กเล็กเข้ามาเล่นสนุกในสวน ได้ทำงานศิลปะด้วยสีน้ำจากธรรมชาติ พากันทำจานด้วยใบบัวที่เก็บมาจากบึงหลังบ้าน ด้วยเตาทำจานที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอุปกรณ์เก่าของเครื่องปรับอากาศ ลุงอ้วนติดไฟด้วยฟืน รอจนเตาร้อนได้ที่ก็ให้เด็ก ๆ เอาใบบัวไปครอบที่แม่พิมพ์เพื่อทำเป็นจานใส่อาหารมื้อเย็นของวันนั้น
“เราเริ่มวางแผนทำสวนนี้ตอนปี 2560 ปี 2561 ก่อสร้าง พอปี 2562 ก็เปิดใช้ศาลานี้ แล้วมีกิจกรรมมาตลอดเกือบทุกเดิน มีพักช่วงโควิด หลังโควิดก็กลับมาเหมือนเดิม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสวนครอบครัวเราช่วยกันหมด คุณลุงสาธิตแปลง คุมฐานกิจกรรม คุณป้าทำกับข้าว น้องสาวเป็นสัตวแพทย์แต่เขาออกจากงานประจำมาทำสวนก็ดูด้านบริหารจัดการทั่วไป ลูกศิษย์ที่มาช่วยก็ได้ฝึกงาน ทุกคนมีความสุขกับกิจกรรมและพื้นที่นี้ มันเหมือนพื้นที่บำบัดของพวกเราเหมือนกัน”
อาจารย์พีทเฉลยว่าที่จริงเขาไม่เคยคิดว่าสวนจะกลายมามีรูปแบบเช่นนี้ กิจกรรมเรียนรู้ในสวนเกิดขึ้นจากแรงผลักของเพื่อน และประกายจากดวงตาของเด็ก ๆ ก็ทำให้เขาสุขใจและติดใจ ใช่แต่คนจัดที่ติดใจ เพราะคนที่เข้ามาเรียนรู้ก็ติดใจจนอยากกลับมาอีก เช่นเด็ก ๆ ในวันนี้ที่ทุกคนต่างก็เคยเข้ามากันแล้ว ที่นี่จึงเหมือนเป็นลานเล่นที่บ่มเพาะประสบการณ์ไปด้วย
“พอติดใจเราก็ทำมาเรื่อย ๆ เราเคยจัดโครงการวาเลนไทน์รักใครให้กินผัก เก็บผักมาทำสลัดโรล แม่เด็กก็ตื่นเต้นที่ลูกกินผัก มีจัดลอยกระทง ครั้งหนึ่งลูกศิษย์เราที่สามเสนอยากพาเด็กที่เขาสอนมาบ้าง เด็กก็ชอบ เขาตื่นตาตื่นใจกับสวน แล้วทำกิจกรรมเป็นฐานหมุน มีทั้งแบบครึ่งวันและเต็มวันแล้วแต่เขาจะเลือก จบแล้วเราก็จะสรุปกิจกรรมว่าเขามาแล้วได้อะไร เชื่อมโยงสะเต็มยังไง
เราใช้ทุนเดิมที่มีคือสวน เชื่อมกับสิ่งที่ชอบ จนออกมาเป็นรูปธรรม
“และจากการที่ผมเป็นนักการศึกษา ผมไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของผมในด้านการศึกษา แต่การจะพูดปากเปล่าว่าทำแบบนี้แล้วดีกับการเรียนรู้ของเด็กคงไม่มีใครเชื่อว่าดีจริง เราเลยขอทุนทำวิจัย สุดท้ายสร้างเป็นโมเดล Outdoor STEM เรียนรู้สะเต็มนอกห้องเรียนเพื่อพัฒนา STEM Literacy คือการรู้สะเต็มของครู เป็นโมเดลที่ใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสะเต็มศึกษา เราใช้ทุนเดิมที่มีคือสวน เชื่อมกับสิ่งที่ชอบ จนออกมาเป็นรูปธรรม”
ในหลักสูตรนักปลูกหัวใจสะเต็มของอาจารย์พีท บรรจุเอาไว้ด้วย 26 สะเต็มซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผนวกเอา 4 วิชามาใช้สร้างสรรค์และแก้ปัญหา เช่น สะเต็มแปลงเกษตรปลูกต้นไม้แบบยกพื้น ที่วิทยาศาสตร์คือการหาความสมดุลของจุดศูนย์ถ่วงให้ตั้งบนพื้นได้ เทคโนโลยีคือการเลือกใช้อุปกรณ์และการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต วิศวกรรมศาสตร์คือการระบุปัญหา ออกแบบ สร้าง ทดสอบประสิทธิภาพ และคณิตศาสตร์คือการวัดระยะคำนวณ การออกแบบรูปทรงการต่อท่อ
หรือสะเต็มจานใบไม้ ที่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์คือความร้อนในการขึ้นรูป แรงกด เทคโนโลยีคือการใช้เตาถ่าน จาน พิมพ์ กรรไกร วิศวกรรมศาสตร์คือการระบุปัญหา ออกแบบ สร้าง ทดสอบประสิทธิภาพ คณิตศาสตร์คือรูปทรง การคำนวณ และยังมีสะเต็มอื่น ๆ อย่างสะเต็มอุปกรณ์กันทาก สะเต็มที่ตากกล้วยพลังแสงอาทิตย์ สะเต็มที่รดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ
“ตอนนี้การเข้ามาเรียนรู้ในสวนมีอยู่สามแบบ แบบแรกคือเปิด open เราจะลอนช์ออกไปว่าสัปดาห์นี้เรามีกิจกรรมอะไร สนใจก็ลงชื่อมา ค่าใช้จ่ายแล้วแต่จะให้ โดยเรามีกล่องให้หยอด แบบที่สองคือเพื่อนทำโปรเจ็กต์พาลูกศิษย์เข้ามา ก็มีค่าวิทยากรตามเรตราชการ และแบบที่สามคือติดต่อเข้ามาแบบกรุ๊ป อย่างเช่นกรุ๊ปโรงเรียนสามเสน มีค่าใช้จ่ายเป็นรายคน หรือบางครั้งเราเปิดรอบ open แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายก็มี เช่น เรามีกิจกรรมทดลองเพื่อทดสอบว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ก็จะชวนเด็ก ๆ มาทดลองกิจกรรม
“แล้วธีมเราจะเป็น Circular Economy ใช้ขวดน้ำพลาสติกให้คุ้มค่า เด็กจะได้รู้ว่าเขาไม่ต้องเอาขวดไปทิ้ง เอามาใช้ประโยชน์ได้” เขายกตัวอย่างขวดพลาสติกที่ดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ไล่แมลงที่ภายในมีสารสกัดจากกะเพรา ภูมิปัญญาดั้งเดิมผนวกกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่พาเอาโลกเก่าและโลกใหม่มาบรรจบกัน
ผมไม่อยากทำโลกใหม่ให้มันยากกับคนทั่วไป ถ้าเราทำให้มันง่ายวิทยาศาสตร์จะเข้ามาอยู่ใกล้คนทั่วไปมากขึ้น
“ผมไม่อยากทำโลกใหม่ให้มันยากกับคนทั่วไป และผมสอนด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ คือทำให้มันง่าย และทำให้เขาเปิดใจรับ ถ้าเราทำให้มันง่ายวิทยาศาสตร์จะเข้ามาอยู่ใกล้คนทั่วไปมากขึ้น อย่างเราเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ในการสกัดสารจากกะเพราด้วยการใช้แอลกอฮอล์ในห้องปฏิบัติการ แต่เอามาให้เกษตรกรได้ทดลอง เกษตรกรก็สามารถทำได้โดยการเอาใบกะเพรามาทุบแล้วแช่แอลกอฮอล์ให้พอมีกลิ่น แล้วเราก็เอาสำลีไปซับใส่ขวดห้อยไว้ ถ้าอยากไล่แมลงหวี่ก็ทำให้มีสีเหลือง แมลงหวี่ชอบก็จะมาติด”
เมื่อเขาเอ่ยถึงเกษตรกร ก็ทำให้เราได้รู้ว่านอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก นักเรียน นักศึกษา การเรียนรู้ยังส่งต่อไปถึงคนในชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกรดั้งเดิมด้วย
“เขาได้ดัดแปลงไปทำกันที่บ้านเขา ตอนนี้เราเริ่มกลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือ คล้ายกับเป็น Community-based learning ใครมีความรู้อะไรก็มาเอื้อกันเพื่อให้องค์ความรู้มีพลังมากขึ้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่ละบ้านที่นับวันจะหายไปก็เอามาแบ่งปันกัน อย่างเรื่องอาหาร เช่น สูตรขนมจีนน้ำพริกของป้าคนนี้ที่ได้มาจากแม่ ป้าท้ายสวนทำกลีบลำดวนด้วยเทคนิคอบควันเทียน ทำขนมปังด้วยยีสต์ธรรมชาติ หรือผมก็ได้เทคนิคการเกษตรมาจากคนแถวนี้ เขาจะเอากะปิมาป้ายกิ่งตอนหลังจากควั่นกิ่งเสร็จ จะทำให้ออกรากเร็ว ซึ่งถ้าเราไม่ได้คุยกับเขาเรื่องพวกนี้ก็จะหายไปกับตัวเขา”
โมเดลต้นแบบจากบ้านสวนของครอบครัว
ก่อนหน้าที่เราจะนัดกับอาจารย์พีทไม่กี่วัน สวนแห่งนี้ได้ต้อนรับชาวฟิลิปปินส์ซึ่งสนใจโมเดลนี้ และนำเอาต้นแบบของบ้านสวนอาจารย์พีทไปทดลองทำในประเทศตน
“ฟิลิปปินส์มีบริบทใกล้เคียงกับเรา เขาเอาทุกอย่างที่เรามียกไปไว้ที่นั่น วัดผลออกมาแล้วปรากฏว่าได้ผลเหมือนกัน และผมกำลังจะเอาโมเดลนี้ไปทดลองทำที่ออสเตรเลีย เพื่อเปรียบเทียบว่าหากไปทำในประเทศที่มีบริบทที่ต่างกัน จะได้ผลยังไง”
ส่วนการขยายโมเดลในประเทศไทย ก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มกระบวนการ โดยปักหมุดอยู่ที่มหาวิทยาลัยใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาคที่มีลักษณะของกายภาพและบริบทที่ต่างกัน
“เพราะพอเราได้โมเดลบ้านสวนอาจารย์พีทที่นิ่งแล้วว่าต้องมีหลักการอย่างนี้ ต้องมีกิจกรรมที่ต้องเตรียมครูก่อนขึ้นฐาน พื้นฐานสะเต็มคืออะไร สะเต็มนอกห้องเรียนคืออะไร การเรียนรู้สะเต็มเป็นยังไง แล้วพามาทำกิจกรรมสาธิต 1 วัน เพื่อให้เขารู้ว่าแต่ละฐานเรามีลักษณะของ Outdoor STEM คือต้องแก้ไขปัญหาที่อยู่ในสวน แล้วมันเห็นผลด้วยตานะ ถ้าเกิดไม่ได้ผลก็ต้องเกิดแรงขับในการปรับเพื่อทำให้ได้ และต้องเกิดความร่วมมือของคนในชุมชน ต้องหาวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาแก้ไขปัญหา
“พอตกผลึกตรงนี้ได้ครูจะเริ่มรู้แล้วว่ามันยูนีค มันไม่เหมือนการเรียนการสอนทั่วไป เมื่อครูเข้าใจก็ลองจัดกิจกรรมลิงก์เข้ากับหลักสูตร ลิงก์เข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนของตัวเอง ในบริบทของตนเอง แล้วผมก็จะเข้าไปติดตามผลว่าคุณครูพัฒนามั้ย เกิด STEM Literacy มั้ย ความพึงพอใจเป็นยังไง ซึ่งตอนนี้หลังจากที่ได้ติดตามผลก็พบว่า ครูที่มาอบรมกับเราเขาไปใช้กับนักเรียนแล้วนักเรียนก็พัฒนาเรื่อง STEM Literacy เหมือนกัน ความพึงพอใจก็ดีเหมือนกัน”
ในตอนหนึ่งของการสนทนา อาจารย์พีทบอกกับเราว่า จากจุดเริ่มต้นในวันแรก เขาไม่คิดเหมือนกันว่าบ้านสวนอาจารย์พีทจะเดินทางมาถึงวันนี้ และแม้การทำสวนจะเป็นเรื่องการทำเกษตร สิ่งที่เป็นเนื้อในของการทำงานยังคงไม่พ้นงานด้านการศึกษา ซึ่งอนาคตข้างหน้า อาจารย์พีทจะมีตำแหน่งศาสตราจารย์นำหน้า และเขามองว่า
“คนที่เป็นศาสตราจารย์ได้จะต้องชี้นำสังคม ต้องชี้นำอะไรใหม่ ๆ และสิ่งที่เราทำอยู่นี้มันก็เป็นตัวเรา”
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร