คำว่า PM 2.5 กำลังอยู่ในความสนใจของคนกรุง เพราะต้นเหตุหมอกหนาทึบที่กำลังปกคลุมหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครอยู่ในขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ออกมาชี้แจง และให้ข้อมูลว่า มวลขมุกขมัวดังกล่าวคือฝุ่นละออง PM 2.5

เอาชัดๆ เจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้ คืออะไร
คำตอบก็คือ มันไม่ได้มีอะไรพิสดารต่างจากฝุ่นละอองปกติที่เรากำลังสูดหายใจเข้าปอดอยู่ทุกวัน เพียงแต่มันมีขนาดเล็ก ประมาณ 2.5 ไมครอน ขณะที่ฝุ่นละอองในอากาศทั่วๆ ไป จะมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 ไมครอน หากเราจะพยายามจินตนาการว่า เจ้าฝุ่นจิ๋วนี่ต้องเล็กขนาดไหน ให้ลองจินตนาการง่ายๆ ว่า มันมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลาง ของเส้นผมของเรา พอนึกภาพตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่า มันมีขนาดเล็กกว่าฝุ่นละอองปกติหลายเท่าทีเดียว

ต้นกำเนิดของเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้มาจากแหล่งมลพิษต่างๆ ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง โดยส่วนใหญ่ที่สุดมาจาก การคมนาคม ตามมาด้วยการผลิตไฟฟ้า กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และการเผาไหม้ในที่โล่งของภาคการเกษตร ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาระยะยาว จึงเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของภาครัฐ อย่างการออกแบบระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อลดการเผาไหม้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล และการออกแบบเมืองโดยภาพรวม เพื่อปรับเปลี่ยน และบริหารการใช้พลังงาน ในภาคการผลิต แต่ทั้งหมดนี้ จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อ มันถูกดำเนินการควบคู่ไปกับ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

เล็กกว่าแล้วไง?
และเมื่อมันเล็กขนาดนั้น ก็แปลว่า มันจะสามารถผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือดของเราได้อย่างง่ายดายมากๆ และย่อมกลายเป็นต้นเหตุ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โรคไม่ร้ายแรงอย่างภูมิแพ้ หรือผื่นคันต่างๆ ไปจนถึงโรคที่อันตราย และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อย่างโรคติดเชื้อในปอด โรคทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง!

องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมเจ้าฝุ่นจิ๋วนี่ ให้มีปริมาณอยู่ที่ 25 ไมโครกรัม ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับหน่วยเวลา 24 ชั่วโมง แต่ในประเทศไทย เรากลับมีมาตรวัตในอัตราส่วนของเจ้าฝุ่นจิ๋วต่อปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร อยู่ที่ 50 ไมโครกรัม นั่นแปลว่ามาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด หลายหน่วยงานจึงเรียกร้องให้ภาครัฐใช้ดัชนีคุณภาพอากาศที่ PM 2.5 และเผยแพร่ข้อมูลฝุ่นมลพิษ PM 2.5 รายวัน เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ามลพิษที่แท้จริงเป็นอย่างไร และสามารถป้องกันตนเองได้

แล้วอย่างงี้ ต้องทำไง
หากยังไม่มั่นใจในมาตรวัดจากกรมควบคุมมลพิษ ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ด้วยตัวเอง โดยองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (US-EPA) แนะนำว่า ให้เราสังเกตด้วยตาเปล่าก่อน หากละอองที่เราเห็นเป็นสีขาว ให้แน่ใจได้ว่านั่นอาจเป็นเพียงหมอกธรรมดา แต่ถ้าเริ่มออกเป็นสีขุ่น หรืออกสีน้ำตาล ให้ระวังไว้ก่อนว่า อาจมีเจ้าฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 อยู่ในปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน

ดังนั้น ถ้าต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และอยากแน่ใจกันไปเลย วิธีการง่ายที่สุดคือ เช็คค่าดัชนีคุณภาพอากาศผ่านทาง http://aqicn.org/city/bangkok/ หรือหาเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 หรือที่เรียกว่า Smart Air Quality Monitor มาใช้ (สั่งซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์ทั่วไปครับ มีราคาตั้งแต่ไม่กี่พันบาท ไปจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว) ซึ่งเจ้าเครื่องนี่ จะบอกระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 โดยอิงกับดัชนีคุณภาพอากาศของ US-EPA โดยตรง โดย 0-50 แปลว่า อากาศในบริเวณนั้นมีคุณภาพดี 51-100 คือระดับปานกลาง 101-150 คือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มไวต่อมลพิษ 151-200 คือมีผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลทั่วไป 201-300 คือมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก และ 301-500 คืออยูในระดับอันตราย และควรหลีกเลี่ยงบริเวณนั้น

และถ้าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย US-EPA ได้แนะนำข้อปฏิบัติที่เราสามารถทำเพื่อป้องกันตัวเองในเบื้องต้น ตามนี้

  1. พยายามอยู่กับบ้าน ปิดประตู หน้าต่างให้มากที่สุด
    2. ทำความสะอาดบ้านเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศ และถ้าเป็นไปได้ ควรเลิกกิจกรรมเกี่ยวกับการเผาไหม้ไปเลย เช่น การสูบบุหรี่ จุดเทียน ฯลฯ
    3. ลดกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ต้องหายใจเร็วอย่างการออกกำลังกาย เปลี่ยนมานั่งดูทีวี หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายในร่มแทน
    4. หากต้องการมั่นใจมากขึ้น การซื้อเครื่องกรองอากาศมาไว้ที่บ้าน และใช้เครื่องพ่นไอน้ำคู่กับน้ำมันหอมระเหยก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง
    5. กรณีที่จำเป็นต้องออกจากบ้าน ในช่วงเวลานั้นจริงๆ อย่าลืมหาหน้ากากแบบกรองอนุภาคมาสวมไว้ เพราะหน้ากากปกติที่เราใช้กัน ไม่สามารถกรองเจ้าฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนี่ได้