ตอนเด็กๆ เรามักเห็นภาพคุณแม่แยกขวดแก้วและกระป๋องใส่ลังไว้ มัดกองหนังสือพิมพ์และนิตยสารรอขายในวันสุดสัปดาห์ คุณลุงซาเล้งบ้างเป็นรถถีบ บ้างเป็นรถเครื่อง ยกของขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก แล้วขยะของเราก็กลายมาเป็นเงิน
ภาพของรถซาเล้งคันเก่าที่บรรทุกของกองพะเนิน สัมภาระมีทั้งถุงใบใหญ่ที่แน่นไปด้วยขวดพลาสติก กองหนังสือพิมพ์ ลังกระดาษ สารพัดข้าวของที่หมดสภาพการใช้งาน วันนี้มีให้เห็นน้อยลง
เพราะเราทิ้งขยะกันน้อยลง? แล้วซาเล้งหายไปไหน?
ต้นทุนและราคาที่ต้องจ่ายของการขายของเก่า
พี่อึ่ง หนึ่งในซาเล้งซึ่งเป็นสมาชิกโครงการเเบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยมูลนิธิกระจกเงา* เธอมารอรับซื้อของเก่าจากทางมูลนิธิฯ เพื่อนำไปแยกและขายต่อ
“ของที่นี่แล้วแต่ว่าแต่ละวันจะมีอะไร ถ้าโชคดีก็มีตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ๆ เราเอาไปแกะชิ้นส่วนขายได้ราคา แต่การขนส่งมันก็ยากหน่อย ต้องหารถใหญ่มาบรรทุก พวกพลาสติกก็เอาไปแยกขาย ถ้าเป็นพวกเสื้อผ้า ตุ๊กตา ตะกร้า แก้วน้ำจานชามที่ยังใช้ได้อยู่ ก็เอาไปขายตามตลาดนัด หรือแถวที่มีก่อสร้าง ขายชิ้นละห้าบาทสิบบาทได้”
พี่อึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวเเรงหลักของบ้าน ที่ทำงานหาเลี้ยงสามีที่ป่วย และลูกๆ วัยเรียนอีกสามคน สามีของเธอมีโรคประจำตัวหลายโรคทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้ และต้องไปหาหมอทุกเดือน การขายของเก่าจึงเป็นรายได้หลักเพียงทางเดียวสำหรับเลี้ยงดูคนทั้งครบครัว แม้จะเจอปัญหาและความลำบากหลากรูปแบบ เธอก็ยังยิ้มสู้เสมอ
“เราทำอาชีพนี้มานาน สิบกว่าปีก่อนราคาขยะสูงมาก เป็นช่วงที่เราลืมตาอ้าปากได้เลยนะ ใช้หนี้หมด เริ่มมีค่าเช่าบ้าน มีเงินส่งลูกเรียน หลังๆ มานี้ราคามันตกลงกว่าแต่ก่อนเยอะ ยิ่งช่วงสองสามปีมานี้ เมื่อก่อนเคยหาได้วันละ 700-800 บาท เดี๋ยวนี้ 300 ก็เก่งแล้วนะ บางทีทั้งอาทิตย์ได้แค่พันกว่าบาท โชคดีที่มีที่ให้ซื้อของจากมูลนิธิได้”
ทุกเช้าที่มูลนิธิกระจกเงา จะมีเหล่าพ่อค้าแม่ค้าและซาเล้งในเครือข่าย มารอต่อแถวเพื่อเลือกซื้อของไปขาย ซึ่งต้องมาเสี่ยงกันว่าแต่ละวันจะมีของอะไรบ้าง แล้วจะเอาไปขายต่อได้มากได้น้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่สายตานักเลือกและฝีมือการขายของซาเล้งแต่ละคน
บ่ายวันอาทิตย์ เรามาพบพี่อึ่งแอนด์เดอะเเก๊ง เพื่อมาตามดูวิธีการแยกขยะ รถกระบะจอดอยู่ข้างทาง ด้านข้างมีผ้าใบขึงกับกองของเรียงรายบนพื้นถนนเพื่อเป็นเพิงกันฝน
“ช่วงนี้ไม่มีขยะเลย วันนี้เลยเอาเหล็กเก่าๆ มาแยก” พี่อึ่งบอกหลังจากทักทายกัน
ฝนเพิ่งหยุดได้ไม่นาน กองน้ำเฉอะแฉะ และกระสอบหลายสิบใบเปรอะคราบสนิมวางกองอยู่ที่พื้น ชายหญิงสี่ห้าคนนั่งก้มหน้าก้มตาคัดแยกของ เพื่อเเข่งกับเวลาและท้องฟ้าที่ตั้งท่าจะเทฝนลงมาอีกครั้ง
ต่างหู สร้อยข้อมือ แหวน ลูกปัด กิ๊ฟติดผม พวงกุญแจ อัดแน่นอยู่เต็มกระสอบ
“เราเอามาแยกขายเป็นเศษเหล็ก ขายได้กิโลละ 4 บาท ต้องแกะพวกห่อพลาสติก กระดาษ เอาของที่ไม่ใช่เหล็กออกให้ได้มากที่สุด ถ้าผสมเยอะเขาจะไม่รับซื้อ”
พี่อึ่งเล่าว่า ของเหล่านี้เธอซื้อเหมามาจากมูลนิธิฯ เช่นกัน เสี่ยงดวงเอามาขาย ข้างในมีทั้งเครื่องประดับและลูกปัด เครื่องประดับเคยเอาไปลองขายตามตลาดนัดแล้ว แต่ขายไม่ได้ ส่วนลูกปัดก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เนื่องด้วยบ้านเช่าไม่มีที่ให้เก็บของมากนัก เธอจึงอาศัยมาตั้งเพิงข้างทางเป็นที่เก็บของชั่วคราว บริเวณนี้เป็นทางเข้าอุโมงค์ที่กำลังก่อสร้างจึงไม่มีรถวิ่งผ่านไปมา ถ้าหลังจากอุโมงค์สร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพิงตรงนี้ก็เก็บของได้เพียงชั่วคราว ยิ่งช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวันเศษเหล็กจึงเต็มไปด้วยคราบสนิม
ปกติทุกวันเสาร์อาทิตย์เธอจะแยกของที่หามาได้เพื่อเตรียมขาย ถ้าเป็นพลาสติกก็นำมาแยกชนิด ขวดแชมพูเอามาแกะสติกเกอร์ แยกหัวปั๊ม และสามารถแยกสปริงในหัวปั๊มออกมาขายเป็นเศษเหล็กได้ด้วย ขวดน้ำดื่ม แกะสลาก แยกฝาขวดและวงแหวนออก ถ้าพลาสติกแบบรวมหลากชนิดไม่แกะเลย อาจขายได้กิโลละ 1 บาท ถ้าแยกประเภท จะขายได้เพิ่มเป็นโลละ 3-5 บาท ยิ่งแยกละเอียดเท่าไหร่ก็ขายได้ราคามากขึ้น แต่อาทิตย์นี้ของมีไม่มากนัก เธอและเพื่อนๆ จึงมานั่งช่วยกันแยกเศษเหล็กเพื่อให้มีรายได้ ส่วนเศษพลาสติกและขยะที่ไม่สามารถขายได้ ก็นำไปทิ้งกับกทม. จ่ายเงินตามน้ำหนักหรือเหมาจ่ายคันละ 300 บาท
แล้วถ้าที่มูลนิธิไม่มีของ ไม่มีขยะ ทำยังไง?
“เอาซาเล้งออก เริ่มขับออกไปตอนเช้า แต่มันร้อนมาก พอกลางวันก็กลับมากินข้าวที่บ้าน อาบน้ำพักเหนื่อยหน่อย บ่ายๆ ออกไปต่อ แล้วเอาของที่ได้ไปขายตอนเย็น แต่เดี๋ยวนี้มันยากมาก แต่ก่อนพอหาได้อย่างน้อยวันละ 300 บาท ช่วงนี้ หาได้ร้อยนึงก็เยอะแล้ว ไม่ค่อยเอารถออกแล้วมันไม่คุ้ม ก็ไปหารับจ้างก่อสร้างหรือเป็นแม่บ้านรายวันแทน” ป้าอ้วน ซาเล้งที่นั่งแยกเศษเหล็กอยู่ด้วยกันเล่าถึงวิถีหาเงินของเธอและสามี
“ขยะตอนนี้มันหายาก อย่างพวกหมู่บ้านใหญ่ๆ หรือมหาวิทยาลัย เขาก็ไม่อยากให้เราเข้าไปเก็บ ปิดประตูบ้าง ไล่เราออกมาก็มี คือเขาไม่อยากให้เราไปยุ่งกับขยะของเขา กลัวทำเลอะเทอะ ก็ต้องอาศัยหาตามข้างทาง เจอตรงไหนก็จอดเก็บมา เอารถออกทีก็มีค่าน้ำมัน ไม่ค่อยได้ออกทุกวันแล้วละ มันไม่คุ้ม”
แล้วถ้าวันไหนไม่มีรายได้ทำอย่างไร เราเอ่ยถาม
“ก็กู้ (นอกระบบ)”
เรื่องราวของพี่อึ่ง พี่กบ ป้าอ้วน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตซาเล้งอีกกว่า 1,500,000 ชีวิตทั่วประเทศ ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตราคาขยะตกต่ำ และการหาขยะที่ยากขึ้นทุกวัน
“ยังมีชีวิตก็ต้องสู้กันไป หัวเราะไว้ เครียดไปก็เท่านั้น” พี่อึ่งกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
เส้นเลือดฝอยของการจัดการขยะ
หากเปรียบนิเวศการจัดการขยะเป็นร่างกาย ระบบการจัดการขยะของส่วนกลาง รถขยะของกทม. คือเส้นเลือดใหญ่ที่ลำเลียงขยะสู่หัวใจอย่างโรงแยกขยะ เตาเผาและโรงงานรีไซเคิล
ซาเล้งคือกองกำลังที่พาขยะหลากชนิด จากซอยเล็กซอยน้อย บ้านเรือน และขยะที่ถูกทิ้งไว้ตามข้างทาง มาแยกแบบละเอียดยิบเพื่อส่งไปยังร้านรับซื้อของเก่ารายย่อย แปลงเศษขยะให้กลายเป็นเงิน
ซาเล้งส่วนใหญ่ทำอาชีพนี้มาเป็นสิบปี จึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการแกะแยกชิ้นส่วน มีองค์ความรู้ที่ส่งต่อกันในวงการ เพราะยิ่งแยกได้ละเอียดเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เงินมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งแยกได้มากเท่าไหร่ ก็หมายถึงปริมาณขยะถูกนำไปรีไซเคิลได้มากเท่านั้น แถมช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ การหมุนเวียนของขยะในวงจรเล็กๆนี้ จึงเป็นกำลังสำคัญในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ขนส่งขยะจากพื้นที่แทบทุกตารางเมตรของประเทศสู่โรงงานรีไซเคิล
นอกจากนั้นการหมุนเวียนของขยะในวงจรนี้ ยังช่วยให้เกิดอาชีพ และสร้างรายได้ให้ซาเล้ง และผู้ประกอบร้านรับซื้อของเก่ารายย่อยจำนวนมาก จากสถิติแล้ว ปัจจุบันมีซาเล้ง 1,500,000 รายทั่วประเทศ
ทว่าในวันนี้อาชีพซาเล้ง กำลังค่อยๆหายไป
ซาเล้งที่หายไป กับขยะที่เพิ่มขึ้น
“ยังมีชีวิตก็ต้องสู้กันไป” แล้วตอนนี้ซาเล้งต้องสู้กับอะไรบ้าง
สู้กับราคาขยะที่ต่ำลงกว่าครึ่ง เนื่องจากการนำเข้าขยะ เริ่มจากปี 2561 รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะมูลฝอยหลายประเภท ทำให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นปลายทางของขยะจากทั่วโลก เนื่องจากมีต้นทุนในการกำจัดขยะต่ำกว่า และมีกฏหมายที่ไม่เข้มงวด
และเมื่อการนำเข้าแต่ละครั้งมีปริมาณมาก รถจะขนคอนเทนเนอร์ไปส่งถึงหน้าโรงหลอมและขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเนื่องจากมีต้นทุนมาต่ำกว่า ตัดราคาในตลาด ทำให้ร้านรับซื้อรายย่อยเริ่มอยู่ไม่ไหวและปิดตัวลง เมื่อไม่มีร้านรับซื้อซาเล้งก็ไม่มีที่ขาย โดยเฉพาะขยะประเภทกระดาษและพลาสติกที่ราคาตกลงอย่างต่อเนื่อง
พี่อึ่งเล่าว่า ราคาที่เธอขายได้ปัจจุบัน ราคากระดาษเอสี่ขาว เหลือกิโลละ 0.3 บาทจากเดิมที่ขายได้ 1-2 บาท ขวดน้ำพลาสติกขายได้ที่กิโลกรัมละ 5 บาท หากแกะสลากจะขายได้ 7 บาท ขวดพลาสติกอื่นๆ กิโลละ 3 บาท แก้วโลละ 0.5 บาท เหล็กกิโลละ 4 บาท กระป๋องกิโลละ 25 บาท ที่กว่าจะได้หนึ่งกิโลต้องใช้ถึง 72 ใบ
สู้กับราคาขยะลดลงจนแทบไม่คุ้มกับเวลาและแรงงานในการแยก เมื่อรายได้ไม่พอซาเล้งและร้านรับซื้อจึงเริ่มเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ในขณะที่ปริมาณขยะยังคงมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายขยะเหล่านี้จะกลายเป็นภาระของเทศบาลและรัฐบาลที่ต้องนำภาษีไปจ่ายค่าจัดการขยะ
สู้กับภาพลักษณ์และการไม่ได้รับความยอมรับจากสังคม เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ซาเล้งไม่สามารถเข้าถึงขยะของภาคธุรกิจ ห้างร้าน หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งขยะจำนวนมากได้ ป้าอ้วนเล่าว่า เธอเคยขับซาเล้งไปแล้วโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน ถูกปิดประตูใส่ ขยะตามมหาวิทยาลัยล็อกกุญแจไว้ เพราะกลัวว่าซาเล้งจะเข้าไปสร้างความเลอะเทอะ ไม่เป็นที่ต้อนรับนัก การทำงานกับขยะกลายเป็นถูกมองว่าเป็นขยะของสังคมเสียเอง ทั้งที่หากพิจารณากันให้ดี การทำงานของซาเล้งนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนการรีไซเคิลและช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล
สู้กับสภาพความเป็นอยู่ และขาดพื้นที่ในการประกอบอาชีพ การแยกคือหัวใจของการขาย ยิ่งแยกละเอียดยิ่งได้ราคา ซึ่งการแยกนั้นต้องการพื้นที่ในการจัดการและจัดเก็บ การเช่าห้องอพาร์ตเม้นไม่ตอบโจทย์พื้นที่ บวกกับราคาการเช่าที่ในเมืองที่สูงขึ้น ซาเล้งส่วนใหญ่ไม่มีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่ใช้งานมากนักหรือมีรายได้ไม่มากพอไปเช่าที่ ภาพกองขยะและรถซาเล้งตามข้างถนนจึงมีให้เห็นกันชินตา บ้านพักในชุมชนแออัด หรือเพิงพักใต้ทางด่วนจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า
สู้กับหนี้นอกระบบ เมื่อรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม รายรับที่ไม่แน่นอนทำให้ไม่สามารถยื่นกู้กับธนาคารได้ กู้นอกระบบแม้ดอกเบี้ยจะโหดในระดับที่ต้องจ่ายดอกร้อยละ 10-20 แบบรายวันก็ต้องยอม หนี้นอกระบบจึงเป็นปัญหางูกินหาง เพราะนี่คือทางเลือกเดียวที่มี หากใครพูดว่าจนเพราะไม่ขยัน
ปัญหาขยะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องได้รับความร่วมมือกันแก้จากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเชิงนโยบาย น่าดีใจที่ทุกวันนี้คนหันมาตื่นตัวเรื่องการลดขยะกันมากขึ้นบ้างแล้ว แต่ความพยายามในการลด ละ เลิก ของเราจะไม่มีค่าอะไรเลยหากผู้มีอำนาจยังคงใช้นโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม และละเลยคนบางกลุ่ม อาจถึงเวลาที่เราควรลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบมากกว่าการออกแคมเปญและผลักความรับผิดชอบมาให้ผู้บริโภคช่วยกันเพียงฝ่ายเดียว
สุดท้ายนี้อยากจะฝากว่า หากวันไหนเราไปเจอซาเล้งบางคน หรือพนักงานเก็บขยะบางคันที่อาจจะไม่ยิ้มรับขยะที่แยกแล้วของเรา หรือใส่ลงไปรวมในรถเก็บขยะ ก็อยากให้เข้าใจว่าการแยกขยะที่เป็นพวงถุงท้ายรถนั้นเป็นการทำเพื่อหารายได้เสริมของพนักงาน แล้วราคามันตกต่ำมากจนไม่คุ้มเหนื่อยจริงๆ ค่ะ แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจในการแยกนะ เพราะยังมีพี่ๆ ซาเล้งอีกหลายคนที่พร้อมรับ
ถ้าเราช่วยกันแยกให้ขยะที่แยกแล้วมีจำนวนมากขึ้น ก็จะเป็นอีกกลไกที่ช่วยให้ธุรกิจการขายขยะในประเทศฟื้นตัวได้อีกครั้ง
*โครงการเเบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง รับบริจาคสิ่งของทุกชนิด โดยขั้นที่หนึ่ง จะนำของไปมอบให้ผู้ที่ต้องการในพื้นที่ด้อยโอกาส ขั้นที่สอง ของที่เหลือนำมาเปิดขายเพื่อระดมทุน และขายเหมาในราคาถูก เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ที่มีายได้น้อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าของมือสองตามตลาดนัด และซาเล้ง
ภาพถ่าย: Parppim Pim