ไม่เกินจริงเลย หากจะบอกว่าการบริโภคของเรา (และคนทั้งโลก) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการคมนาคมเสียอีก ทั้งการทำฟาร์มปศุสัตว์ การเพาะปลูกในภาคเกษตร รวมถึงการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
พฤติกรรมการกินของเราก็ใช่ มีการประเมินกันว่า บ้านที่สั่งอาหารดิลิเวอรี สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอน มากกว่าบ้านที่ไม่ได้สั่งมากมายมหาศาล และในปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากขยะพลาสติกจากการบริโภคของเรา
Food Delivery หรือบริการจัดส่งอาหาร จากที่เคยเป็นบริการเสริมเพิ่มเติมความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไปแล้ว นอกจากความสะดวกที่คนกินติดใจ ราคาและส่วนลดก็ดึงดูดเราให้ใช้บริการอยู่บ่อยครั้ง
ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลาหลายปี ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจนี้ แพ็กคู่มากับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 3,684 ล้านชิ้น ซึ่งในปริมาณนี้ ให้น้ำหนัก 55,260 ตัน คิดเป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ 331,560 ตัน (จากข้อมูลในปี 2565) และในขยะกองพะเนินนั้น มีเพียง 25% ที่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกวิธีมาตั้งแต่ต้นทาง นำเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่อีก 75% ถูกโยนทิ้งรวมมารอฝังกลบกับขยะอื่น ๆ สร้างมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศ และมีผลถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ในกองขยะที่ถูกทิ้งรวมมานั้น หากเรารู้จักแยกทิ้งให้ถูกวิธีและที่ทางตั้งแต่ต้น มันจะมีมูลค่ากว่า 174 ล้านบาท เชียวนะ!
สั่งอาหารดิลิเวอรีแค่กล่องเดียว ขยะพลาสติกเยอะจนงง
เมื่อภาคธุรกิจปรับรูปแบบให้พนักงาน Work from home และ Hybrid working (พนักงานหลายแห่งเลือกได้ว่าจะเข้าออฟฟิศกี่วัน ทำงานที่บ้านกี่วัน) หรือจะเป็นการทำงานแบบ Remote working (ทำงานจากที่ไหนก็ได้) มากขึ้น ก็เร่งสร้างพฤติกรรมให้คนที่นั่งทำงานที่บ้านเลือกสั่งอาหารดิลิเวอรีมากขึ้นกว่าเดิม แม้ในวันที่เดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ก็ยังเลือกสั่งอาหารมาส่งถึงที่ทำงาน แทนการเดินออกไปกินร้านใกล้ ๆ ในช่วงพักกลางวันอย่างเคย
เราอาจนึกไม่ถึงว่าการสั่งอาหารดิลิเวอรีมากินแค่บางมื้อ สร้างขยะกองมหึมาได้อย่างไร อยากชวนทุกคนลองนับชิ้นส่วนที่ได้จากการสั่งอาหารแต่ละมื้อกันดูเล่น ๆ
ยกตัวอย่าง สั่งข้าวกล่องจากร้านอาหารตามสั่ง 1 รายการ เราอาจจะได้รับขยะพลาสติกอย่างน้อย ๆ ดังนี้
- กล่องและฝา หรือ ถุงใส่อาหาร
- ถุงจิ๋วใส่พริกน้ำปลา หรือ ถ้วยน้ำจิ้ม
- ซองเครื่องปรุงอื่น ๆ เช่น น้ำตาล พริกป่น พริกน้ำส้ม
- ช้อนส้อมพลาสติก
- ถุงบรรจุช้อนส้อม
- ถุงซุป หรือ ถุงแกง
- ถุงหูหิ้วใบใหญ่ สำหรับบรรจุอาหารทั้งหมด
จะเห็นว่า แค่สั่งอาหารเมนูง่าย ๆ อย่างข้าวผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว ผัดไทย ข้าวมันไก่ หรือก๋วยเตี๋ยว ที่ปรุงมาแบบพร้อมกินทันที แถมใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็กินหมด กลับสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ย 7-9 ชิ้น ต่อคนต่อมื้อ ลองนึกต่อไปอีกว่า ถ้าสั่งอาหารดิลิเวอรีมาพร้อมเพื่อน 3 คน เราจะสร้างขยะมากกว่า 20 ชิ้นต่อมื้อ และหากอยู่กันเป็นครอบครัว 4 คน เราจะสร้างขยะมากกว่า 30 ชิ้นต่อมื้อ ทรัพยากรมากมายที่ถูกนำไปผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง กลับถูกใช้งานแค่ไม่กี่นาที และกลายเป็นขยะจัดการยากที่ถูกโยนทิ้งไป
เลิกสั่งดิลิเวอรีไม่ได้ แต่ลดขยะพลาสติกได้อยู่นะ
แม้จะรู้อย่างนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตปัจจุบัน การจะชักชวนใครสักคนให้เลิกสั่งอาหารดิลิเวอรี อาจไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้เสียทีเดียว สิ่งที่พอจะทำได้ในระดับครัวเรือน คือการทำอาหารกินเองบ้างบางมื้อ เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งในการสั่งอาหารมาส่งอย่างเดียว และการปรับพฤติกรรมเล็กน้อยในการสั่งดิลิเวอรีแต่ละครั้ง ก็พอช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่ต้องจัดการได้อยู่นะ
1. บอกลาช้อนส้อม ไม่รับเครื่องปรุง
แม้ปัจจุบันแพลตฟอร์มการส่งอาหารจะตั้งค่า ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก’ ไว้เป็นค่ามาตรฐานอยู่แล้ว (หากต้องการรับก็แค่เลือกความต้องการนั้นลงไป) แต่ในความเป็นจริง หลายคนสั่งอาหารจานโปรดมากินที่บ้าน แต่ยังได้รับอุปกรณ์การกินในรูปแบบพลาสติกจำนวนอย่างน้อย 2 ชิ้น กับเครื่องปรุงรสอีกจำนวนหนึ่งติดมาด้วยอยู่ดี อาจเพราะร้านอาหารหลายแห่งชินมือกับการหยิบช้อนส้อมและเครื่องปรุงโยนลงถุงไปแล้ว สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการย้ำกับร้านอีกครั้งด้วยการระบุข้อความเพิ่มเติมว่าไม่รับช้อนส้อมและเครื่องปรุง และสิ่งที่ร้านค้าทำได้เหมือนกันคือให้ความร่วมมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องนี้ ข้อดีอีกแง่ ร้านค้าก็ได้ลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปด้วยเหมือนกัน
2. บอกร้านคลุกมาเลย ไม่ต้องแยกยิบย่อย
สาวกยำ ตำปลาร้า ย่อมรู้ดีว่าการคลุกเคล้าน้ำปลาร้ากับเครื่องปรุงมาแบบพร้อมกิน อร่อยกว่าการแยกเครื่องเป็นไหน ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่สั่งอาหารดิลิเวอรีประเภทที่ต้องแยกยิบย่อย เช่น ยำ ส้มตำ ข้าวยำ การบอกที่ร้านให้คลุกมาเลย นอกจากจะสะดวกคนกินในแง่ที่ว่าอาหารมาถึงกินได้ทันที ร้านอาหารเองก็ไม่ต้องแยกวัตถุดิบกับเครื่องปรุงยิบย่อยมาให้ เพราะการแยกแต่ละครั้งใช้ถุงหรือกระปุกพลาสติกจำนวนมากจากการกินยำแค่ครั้งเดียวของเรา หลายคนกังวลว่าถ้ารวมแล้วยังไม่กินทันทีจะเซ็งไหม ทางแก้คือการแช่ตู้เย็นจะช่วยชะลอความยมให้อาหารจานยำหรือส้มตำยังสดชื่นอยู่เสมอ
3. เลือกร้านที่ใส่ใจ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก
ชวนบอกลาร้านอาหารที่ยังใช้โฟมใส่อาหารให้เรากิน นอกจากโฟมจะใช้เวลาย่อยสลายแสนนานเป็นพันปีอย่างที่เรารู้ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาวอย่างน่ากังวล เพราะความร้อนจากอาหารจะทำให้สารสไตรีน (Styrene) สารเคมีในขั้นตอนการผลิตโฟม ละลายมาปนเปื้อนกับอาหาร หากเรากินอาหารร้อน ๆ ในบรรจุภัณฑ์โฟมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งขึ้นหลายเท่า
มองหาร้านที่ใส่ใจในการเลือกบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุจากธรรมชาติ ชานอ้อย กระดาษ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่หลงกลเหล่าบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เราเข้าใจว่าย่อยสลายได้ แต่จริง ๆ มีเงื่อนไขมากมายให้ทำความเข้าใจ เช่น Biodegradable คำกำกวมที่ไม่ได้บอกว่าย่อยสลายได้ภายในกี่ปี หรือย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการอย่างไร ส่วนคำว่า Compostable Plastic ก็ต้องมาดูอีกทีว่าย่อยได้เองในครัวเรือน หรือต้องอาศัยสารพัดกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรมถึงจะย่อยได้ เป็นต้น
4. สั่งจากร้านใกล้ ๆ ระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร
ชวนสั่งอาหารจากร้านใกล้บ้าน ระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตรก็พอ เป็นการสนับสนุนชุมชนคนในย่าน และได้ลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการจัดส่งด้วยอีกแรง ที่สำคัญอาหารมาถึงมือเราแล้วยังรสอร่อย อุณหภูมิยังได้ ไม่ชืดไม่เซ็งจนเสียรสชาติ
ล้างสะอาด ตากแห้ง แยกทิ้ง
ทำได้ทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว ปลายทางสำคัญอย่างสุดท้าย อยู่ในขั้นตอนการทิ้ง พลาสติกจากอาหารดิลิเวอรีทั้งหมดที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ควรผ่านการล้างสะอาด ตากแห้ง แยกทิ้งหรือส่งต่อให้ถูกที่ทาง เพื่อผลักดันให้ขยะพลาสติกมีชีวิตรอบสอง สาม สี่ (และมีมูลค่า) อย่างที่ควรเป็น
● ถุงหูหิ้ว ถุงซิปล็อก
ถุงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกยืด (ที่ดึงแล้วยืดได้) สามารถส่งไป วน (WON) แปรรูปพลาสติกยืดให้เป็นเม็ดพลาสติกและวนกลับมาเป็นถุงอีกครั้ง เช็กจุดรับ WON ได้ที่ WON Drop point หรือสะดวกรวบรวมส่งพัสดุไปรษณีย์ไปที่ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 โทร 080-305-3642
● กล่องอาหารพลาสติก ฝากล่อง ช้อนส้อม
พลิกดูประเภทของพลาสติก PP (Polypropylene) / PS (Polystyrene) / PET (Polyethylene Terephthalate) / HDPE (High Density Polyethylene) พลาสติกเหล่านี้รีไซเคิลได้ (ยิ่งแยกประเภทถูกต้อง ราคายิ่งสูง) เก็บไว้ขายเองที่ร้านรับซื้อขยะใกล้บ้านคุณ หรือเช็กสาขาของร้านวงษ์พาณิชย์ wongpanit.com ถ้าไม่สะดวกเก็บไว้ขายเอง ส่งต่อให้ป้าแม่บ้านหรือลุงซาเล้ง รับไปชั่งกิโลขาย
● ซองเครื่องปรุง
แยกเก็บในที่สะอาด เลี่ยงความร้อนชื้น รวมส่งต่อให้ร้านตามสั่งใกล้บ้านที่ตกลงกันไว้ หรือส่งต่อให้ N15 Technology ได้เหมือนกัน แต่ต้องเทเครื่องปรุงออก และตากแห้งก่อนส่งไปนะ
● ถุงแกง ถุงน้ำจิ้ม
รวมทั้งเทปกาว สติกเกอร์ กระดาษห่อ ทั้งหมดนี้รีไซเคิลไม่ได้ ส่งต่อ N15 Technology เพื่อนำขยะกำพร้าเหล่านี้ บดย่อยเป็นเชื้อเพลิงขยะใช้แทนถ่านหิน (RDF) สามารถส่งได้ที่จุดรับ และตามที่อยู่นี้ บจก. N15 เทคโนโลยี 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160 โทร 063-834-2494
สั่งอาหารดิลิเวอรีครั้งหน้า หากส่งต่อจัดการพลาสติกได้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง นอกจากขยะพลาสติกเลอะเทอะจะน้อยลง ปลายทางไม่จมอยู่ในหลุมฝังกลบ ท้ายที่สุด คนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คือพวกเราทุกคนที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ย่ำแย่ไปกว่านี้
ที่มาข้อมูล:
– www.hospitalitytech.com
– ej.eric.chula.ac.th
– tdri.or.th
– www.kasikornresearch.com
– www.wongpanit.com
– เทคนิคง่ายๆ ขายขยะได้แพงขึ้น 10 เท่า ที่วงษ์พาณิชย์ l Zero Waste Thailand