‘อาหารแห่งอนาคต’ หรือ Future Food เป็นหนึ่งในหัวข้อที่คนในแวดวงอาหารและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกให้ความสำคัญมานับทศวรรษ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ระบบอาหารกำลังโดนท้าทายด้วยหลายปัญหา ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การขาดแคลนพลังงาน การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤติโรคระบาด

และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจ ‘อาหารทางเลือก’ ซึ่งไม่ใช่เพียงในประเทศที่มีเทคโนโลยีอาหารก้าวหน้าเท่านั้นที่ลงลึกศึกษาเรื่องนี้ แต่รวมถึงประเทศไทยเราที่มีองค์กรอย่าง TastebudLab ที่ใส่ความพยายามในการพัฒนาวัตถุดิบในประเทศให้กลายเป็นอาหารแห่งอนาคตอย่างเต็มประสิทธิภาพมานานหลายปี

ผลลัพธ์ของความพยายามข้างต้นปรากฎให้เราได้ชิมกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ เทศกาล Bangkok Design Week 2023 เมื่อ TasteBud Lab และ Bio Buddy ร่วมมือกับเหล่าเชฟผู้ยืนบนวิถีความยั่งยืนอาทิ เชฟโอ-ตนัย พจน์อารีย์ จาก TasteBudLab, เชฟเทพ-มนต์เทพ กมลศิลป์ จากร้าน TAAN, ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ จาก Uncleree Farm และเชฟมืออาชีพอีกหลายท่าน จัดงาน Where’s the future of future food เพื่อสื่อสารถึงศักยภาพของวัตถุดิบไทย ที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นอาหารที่ดีต่อทั้งตัวเราและโลกได้อย่างมีศิลปะ

อาทิ ‘เมนูส้มตำ Hot & Spicy Krathong Tong’ ซึ่งเลือกใช้ผลไม้ท้องถิ่นที่มีผลผลิตมากอย่างมันแกวมาแทนเส้นมะละกอ เสิร์ฟคู่กับหมูกรอบทำจากโปรตีนพืช (Plant-based Cripspy Pork) และแผ่นโปรตีนกรอบทำจาก ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดพื้นถิ่นของภาคอีสาน ที่ประเมินกันว่าเป็นหนึ่งในโปรตีนทางเลือกอนาคตไกล ด้วยอุดมทั้งสารอาหาร มีรสชาติเอกลักษณ์ และเปลี่ยนเป็นเมนูได้หลากหลาย นอกจากนั้นยังมีเมนูที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ สาเต๊ะทำจาก ‘เห็ดแครง’ อีกหนึ่งโปรตีนทางเลือกที่รสชาติน่าสนใจ ทั้งยังปลูกง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ภาพการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตที่ฉายขึ้นในงานนี้ เป็นการยืนยันถึงเป้าหมายของ TastebudLab ในการเดินหน้ายกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาระบบอาหารในองค์รวม ตามที่ สันติ อาภากาศ หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรกล่าวไว้ว่า สิ่งที่ TasteBudLab อยากก้าวไปให้ถึงคือการเป็นนักพัฒนาและตัวกลางประสานความร่วมมือ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ดึงศักยภาพของวัตถุดิบไทยออกมาให้มากที่สุด

เพื่อผลิตอาหารที่เพียงพอและเป็นมิตรกับโลก รับมือกับจำนวนประชากรโลกที่จะเติบโตถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050 และการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้นยังเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอาหารทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย เรียกว่า ‘อนาคตแห่งอนาคต’ นั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัวหากพิจารณาจากบริบทปัจจุบัน ในโลกที่อาหารไม่ใช่เพียงอาหารเพื่อยังชีพอีกแล้ว

ภาพ : www.tastebudlab.com