พูดกันตามตรง มาถึงนาทีนี้ เรารู้กันอยู่แล้วแหละว่าการงดรับถุงพลาสติก ถือแก้วไปซื้อกาแฟแทนการใส่แก้วใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือพกกล่องข้าวดีกว่าใช้กล่องโฟมเป็นไหนๆ แต่ก็ยอมรับกันตรงๆ ว่าบางทีมันก็ทำไม่ได้อ้ะ! เมื่อวานเพิ่งลืมแก้วไว้ไหนก็ไม่รู้ วันก่อนพกกล่องข้าวไปกินที่ออฟฟิศ แต่ยังไม่ทันได้กิน ผัดเผ็ดก็ซึมออกมาเลอะกระเป๋า พกตะเกียบไปเองจะได้ไม่ต้องใช้ตะเกียบครั้งเดียวทิ้ง แต่ดันลืมเอาออกมาล้าง ราขึ้นจนไม่กล้ากลับไปใช้อีกเลย นี่ยังไม่นับที่อุตส่าห์แบกกล่องข้าวติดกระเป๋าไว้ทั้งสัปดาห์ แต่ไม่เห็นมีโอกาสได้ใช้ พอเอาออกเท่านั้นแหละ มีอันต้องใช้ขึ้นมา ฯลฯ
หากคุณคือคนหนึ่งที่เคยมีความตั้งใจ แต่กว่าจะเป็นนิสัยก็ท้อใจไปซะก่อน เรามีเรื่องควรรู้ เคล็ดลับ และเสียงจากผู้ใช้จริงมาแชร์ให้ฟังว่าทำยังไง ไลฟ์สไตล์สร้างขยะให้น้อยชิ้นถึงจะเกิดขึ้นได้จริง
“หากอยากจะจริงจังกับการลดใช้ภาชนะครั้งเดียวทิ้ง เราต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความสะดวกสบาย คือมันอาจจะไม่สะดวก แต่สบายใจกว่าการใช้แล้วทิ้ง”
นี-อุษณีย์ ปุณโณปกรณ์ หนึ่งในเจ้าของร้านสวนชั้น ๑ it’s going green และเจ้าของไลฟ์สไตล์สีเขียวที่พกภาชนะและอุปกรณ์ใช้ซ้ำเป็นประจำมาเป็นสิบๆ ปีเล่าให้ greenery ฟังถึงชีวิตประจำวันและวิธีที่ทำให้เธอแบกกล่องข้าว ขวดน้ำ และอุปกรณ์การกินใส่ถุงแล้วเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกวัน ด้วยเหตุผลว่าน้ำหนักที่ต้องถือสบายใจกว่าการผลิตขยะอย่างไม่จำเป็น
และนี่คือวิธีที่น่าสนใจและน่าจะลองเอาไปปรับใช้ดูนะ
1. เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะกับชีวิตประจำวันและความชอบส่วนตัว
นีบอกว่า บ่อยครั้ง เธอเลือกแบกกล่องแก้วหนักๆ หรือกล่องสเตนเลส แทนกล่องพลาสติกเพราะขี้เกียจล้างคราบมันที่ต้องขัดๆ ถูกๆ หลายรอบ ส่วนเซ็ตช้อนและตะเกียบในกล่องจิ๋ว ถอดด้ามมาต่อเป็นตะเกียบหรือช้อนได้ แถมมีดีไซน์น่ารัก คืออุปกรณ์ชิ้นโปรดที่เธอพกและใช้มาเกือบสิบปี เพราะชอบทั้งหน้าตาและฟังก์ชั่นของมัน บางทีก็เอากล่องของเล่นรูปไข่ของหลานมาใส่ไข่ต้มพกมากิน นอกจากจะพอดีเด๊ะ กินไข่ต้มเสร็จยังเก็บเปลือกไข่กลับไปใส่ต้นไม้ที่บ้านได้ด้วย นีบอกว่า สำหรับสาวๆ อุปกรณ์น่ารักจะช่วยให้อยากพก อยากใช้ มากขึ้นนะ
2. รู้ล่วงหน้าและวางแผนชีวิต จะช่วยให้ไม่พกเก้อหรือเผลอลืมพก
ก่อนออกจากบ้านก็คิดและวางแผนซะหน่อยว่ากิจกรรมประจำวันนั้นๆ มีอะไรบ้าง จะไปทำอะไร ซื้ออะไร กินอะไร จะได้เผื่อภาชนะไปด้วย เช่น วันนี้ว่าจะแวะซื้อกาแฟเย็น จะได้เอาแก้วเก็บอุณหภูมิไป ตอนเย็นจะแวะไปเยาวราช งั้นต้องซื้อบะหมี่เกี๊ยวเจ้าโปรดกลับมากิน ก็จะเตรียมกล่องแก้วที่เอาเข้าเตาอบอุ่นกินได้เลย
3. ภาชนะเดียว ใช้ได้หลายอย่าง
นีเชียร์หม้ออวยอีนาเมลแบบโบราณขนาดย่อมๆ ที่มีฝาปิด ว่าเป็นภาชนะใบโปรด เพราะถือไปซื้อแกงที่ตลาด เอากลับมาอุ่นกินได้เลยไม่ต้องเทใส่หม้อ และยกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะได้เลย พอง่าย ไม่ต้องล้างเยอะ ก็อยากใช้ อยากถือไปตลาดบ่อยๆ และพอถือไปบ่อยๆ จนคนในตลาดจำได้ ก็ได้ยินมาว่าหลายคนเห็นแล้วก็ได้แรงบันดาลใจลองถือภาชนะมาจ่ายตลาดอยู่เหมือนกัน
4. พกถุงที่ถนัดไว้ใส่เสบียงแยกอีกใบ
นีบอกว่าถุงใบโปรดที่เธอเลือกใช้ใส่เสบียงคือถุงอิเกียที่เป็นผ้าใบสีฟ้าสด เพราะว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ อาหารเกิดหกเลอะขึ้นมาจะทำความสะอาดง่ายกว่าถุงผ้าที่คราบอาจจะฝังแน่นซักออกยาก (ยิ่งถ้าหกใส่กระเป๋าที่รวมทุกอย่างเอาไว้ทั้งกระเป๋าสตางค์หรือโทรศัพท์มือถืออาจจะเกิดปัญหาหนักกว่า) หรือเวลาถือไปจ่ายตลาด เวลาซื้อผักที่อาจจะมีดินติดอยู่ตามราก หรือน้ำฉ่ำแฉะ จะได้ไม่ต้องกลัวเปื้อนกระเป๋าเพราะล้างง่ายสบายใจอยู่แล้ว
อีกใบโปรดของนีคือถุงผ้า replace ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ที่มีอายุใช้งานถึง 15 ปี เพราะเป็นถุงผ้าทรงถุงก๊อบแก๊บ มีหูหิ้ว จุของได้เพียบ แถมยังเบาและซักง่าย เป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์จนใช้ได้อย่างยาวนาน
5. ล้างให้เป็นนิสัย แต่ถ้าขี้เกียจก็ผัดได้นิดนึง
เมื่อกลับบ้านในทุกๆ วัน นีบอกว่าต้องเอากล่องข้าว ขวดน้ำ และเซ็ตช้อนส้อมมาล้างเสมอจนเป็นนิสัย เพราะถ้าลืมจะยิ่งทำใจลำบากตอนล้างเพราะกลิ่นและแบคทีเรียชวนอ่ี๋ แต่ถ้าวันไหนเกิดกลับดึกมากๆ หรือเหนื่อยมากๆ จนไม่ไหวจริงๆ แต่ไม่อยากทิ้งไว้ในซิงค์ เคล็ดลับของนีคือจับทุกอย่างยัดใส่ตู้เย็นให้แบคทีเรียไม่ออกมาทำงาน ตอนเช้าหายเหนื่อยค่อยเอาออกมาล้าง สบายใจและสบายจมูก
วิธีเลือกภาชนะที่มาพร้อม PROs และ CONs
กล่องข้าวน้อยค่ะแม่
จะพกข้าวไปกินตอนกลางวัน หรือติดมือไปจ่ายตลาดจะได้ไม่ต้องตักกับข้าวหรือแกงใส่ถุงให้วุ่นวาย คือประโยชน์ของกล่องข้าวและภาชนะใช้ซ้ำทั้งหลาย หลายคนเลือกแบบคลาสสิกอย่างปิ่นโตที่แยกย่อยได้หลายชั้น ใส่ได้เต็มอิ่ม ถ้าใช้แบบสแตนเลสหรืออีนาเมลก็ตั้งเตาอุ่นได้ง่ายๆ แต่ก็ติดที่ความเทอะทะแบกยากเหมือนกันนะเวลาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ตัวเลือกที่เราแนะนำมีดังนี้
กล่องสเตนเลสพร้อมฝาปิดมิดชิด
ข้อดีคือเบา ไม่แตก ทนทาน ไม่เก็บกลิ่นเหมือนพลาสติก และอุ่นร้อนบนเตาได้ แต่ไม่เหมาะกับไมโครเวฟตามที่รู้กัน ใช้กันไปยาวๆ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย
กล่องแก้วพร้อมฝาปิดมิดชิด
ข้อเสียแน่นอนคือหนักและแตกง่าย แต่ไม่เก็บกลิ่น ไม่ต้องกังวลหรือการดูดซับหรือปล่อยสารพิษใดๆ หากมีแรงแบก แนะนำให้ห่อผ้ากันกระทบกระทั่งก่อนลงถุง
กล่องพลาสติกเกรดใช้ซ้ำ
ถูกและเบา ไม่หวั่นวันของเยอะ แตเช็คให้ดีว่าเป็นเกรดที่ใช้ซ้ำได้จริง เอาเข้าไมโครเวฟได้ชัวร์ ข้อเสียสำคัญคือล้างออกยากหากใส่ของมัน และมีกลิ่นตกค้าง อาจหืนๆ บ้างถ้าเอามาดม วิธีล้างที่น่าจะพิชิตคราบมันได้ดีที่สุดคือลวกน้ำร้อนช่วย
BPA-free คืออะไร
Bisphenol A หรือ BPA เป็นสารที่นิยมใช้กันทั่วไปเพื่อทำให้ขวดพลาสติก มีความใส แต่สารพิษจะแทรกซึมลงในของเหลวและอาหารที่บรรจุอยู่ภายในได้เมื่อใช้งาน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาร Bisphenol A จำนวนเพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นสาเหตุของการเริ่มเป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไฮเปอร์ (hyperactivity) และอื่นๆ การเลือกผลิตภัณฑ์ BPA-Free จึงปลอดภัยจากสารน่ากลัวตัวนี้อย่างน้อยก็หนึ่ง
phthalate คืออะไร
สารก่อมะเร็งยอดฮิตอีกตัวหนึ่ง เป็นสารที่ใส่เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว ยืดหยุ่น ใส และยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น แต่ข้อเสียคือมันจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายเราและก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ หลายประเทศจึงมีความพยายามที่จะเลิกใช้สารตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เนื่องจากการส่งผลต่อสุขภาพ
ช้อน – ตะเกียบ
อีกสองสิ่งเล็กๆ ที่พกแล้วก็ไม่ได้หนักกระเป๋า เผลอๆ จะเบาว่าที่ชาร์จแบตหรือกระเป๋าเครื่องสำอาง พกเอาไว้แทนการใช้ช้อนพลาสติกกินมื้อง่ายๆ หรือชิมอะไรแค่นิดหน่อย ส่วนตะเกียบที่พกเอง ก็ดีกว่าตะเกียบในซองพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่แสนจะเปลืองทรัพยากร แถมอาจจะมีสารฟอกขาวตกค้างให้ผื่นแพ้ถามหาอีกต่างหาก เลือกที่มีกล่องหรือเย็บซองเล็กๆ ใส่ เวลากินเสร็จแล้วเช็ดใส่กระเป๋าให้เป็นสัดเป็นส่วน หรือมีกล่องใส่แยกไปเลยก็ทำความสะอาดง่ายดีนะ
ดื่มได้ ดื่มดี
ขวดน้ำพกพา
อย่าให้การหิวน้ำแต่ละครั้งหมายถึงการทิ้งขวดน้ำพลาสติกเป็นขยะไปหนึ่งขวดด้วยการพกขวดน้ำติดตัวไว้เสมอ ไม่ต้องกลัวไม่ได้ใช้ เพราะยังไงเราก็ต้องกินน้ำตลอดวัน เลือกใบขนาดพอดีจะได้ไม่ต้องแบกมวลน้ำที่หนักจนท้อใจ แต่ก็ต้องหาแหล่งเติมน้ำที่สบายใจได้ ตั้งแต่น้ำในตู้เย็นที่บ้าน ตู้กดน้ำของออฟฟิศหรือตึกเรียน หรือจะตู้กดน้ำดื่มตามฟู้ดคอร์ดในห้าง บางครั้งหายากหน่อย แต่อย่ายอมแพ้นะ!
ขวดน้ำพลาสติกเกรดใช้ซ้ำ
เบาและถูก สีเยอะ มีให้เลือกแยะ แต่ที่แน่ๆ ควรเลือกที่ฝาปิดแน่นหนาป้องกันปัญหารั่วซึม และมองหาตรา BPA-free เอาไว้
กระติกน้ำเก็บอุณหภูมิ
หากชอบดื่มน้ำอุ่นๆ หรือเครื่องดื่มเย็นๆ จะลงทุนอีกนิดกับกระติกสองชั้นด้านในเป็นสเตนเลสก็ดี
แก้วพร้อมฝา
อันนี้อาจจะไม่เหมาะกับพกระหว่างเดินทาง แต่เอาไว้ถือไปซื้อกาแฟมากินแล้วล้างเก็บใช้ซ้ำร่ำไปมากกว่า
ขนาดไหน ถามใจเธอดู?
หากเป้าหมายหลักคือแก้วหรือขวดสำหรับซื้อกาแฟดื่มแล้วไม่รู้ว่าไซส์ไหนถึงจะตรงกับแก้วมาตรฐานในร้านกาแฟ มาเทียบได้จากตรงนี้
แก้วเล็กร้านกาแฟทั่วไป หรือแก้ว Grande ในสตาร์บัค
16 ออนซ์ หรือ 473 มิลลิลิตร ขวดหรือแก้วไซส์ครึ่งลิตรเอาอยู่
แก้วใหญ่ร้านกาแฟทั่วไป หรือแก้ว Venti ในสตาร์บัค
แก้วใหญ่คือ 22 ออนซ์ หรือ 650 มิลลิลิตร (แต่แก้วใบโตในสตาร์บัคจะใหญ่กว่าอีกนิดไปที่ 710 มิลลิลิตร) ขวดหรือแก้วต้องใหญ่ขึ้นมาอีกนิดหรือไม่ก็ลดน้ำแข็งลงอีกหน่อย
หลอดใช้ซ้ำ
หลอดซิลิโคน
สัมผัสหยุ่นๆ คุ้นลิ้นคล้ายหลอดพลาสติกที่เราใช้จนชิน แต่ใช้ซ้ำได้ถ้าล้างสะอาดพอ คุณสมบัติคือความทนทาน ใช้นานหายห่วง ข้อระวังเดียวคืออย่าลืมทิ้งไว้ เสียดายสตางค์นะ
หลอดสเตนเลส
ทนแน่ๆ แต่บางคนที่ไม่ชอบสัมผัสแข็งๆ และความเย็นเฉียบอาจไม่ชอบ อันนี้แล้วแต่ตอบโจทย์ของแต่ละคน
หลอดแก้วทดลอง
มาในเชิงประยุกต์นำหลอดทดลองมาใช้ ฟังดูเปราะบางจะพบยังไง แต่ถ้าเย็บถุงเล็กๆ บุผ้านุ่มๆ หลอดแก้วก็พร้อมให้เราพกติดตัวเหมือนกัน ข้อดีคือใส มองทะลุปรุโปร่งสำหรับคนที่ไม่สบายใจว่าจะมีอะไรอยู่ในหลอดไหมนะ
หลอดไม้ไผ่
อีโค่มากๆ เพราะทำมาจากวัสดุธรรมชาติ แต่ระยะเวลาการใช้งานก็อาจจะสั้นกว่าหน่อยและทำความสะอาดยากกว่านิด เพราะผิวของไม้ไผ่มีรูพรุนพร้อมสะสมแบคทีเรียได้มากกว่า
วิธีล้างให้ใช้ซ้ำได้แบบไม่อี๋
นอกจากซื้อหลอดแล้ว ควรซื้อแปรงขนาดจิ๋วมาด้วย เวลาใช้ให้สอดเข้าไปแล้วล้างให้ทั่วแล้วตากให้แห้ง จะได้ไม่เกิดการหมักหมมของแบคทีเรีย แต่ถ้าไม่สบายใจ จะเอาไปเก็บในตู้เย็นเพื่อป้องกันการหมักหมมก็สะดวกดีนะ