จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถฝึกฝนสมองให้ช่วยลดน้ำหนักลงได้จริง

เรื่องนี้มีคนทำสำเร็จแล้ว เมื่อทีมนักจิตวิทยาจาก University of Exeter ได้เปิดตัวแอพลิเคชั่นเกมใหม่ในชื่อ Food Trainer โดยมีกฏกติกาง่ายๆ มาในลักษณะการ์ดเกมให้คุณจิ้มเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพและนิ่งเฉยต่ออาหารทำร้ายสุขภาพ เช่น คุ้กกี้ ช็อคโกเลต ขนมนมเนย ฯลฯ เพื่อฝึกฝนสมองของคุณให้มองข้ามสิ่งปลุกเร้าอย่างน้ำตาลและอาหารที่อุดมด้วยไขมันและแคลอรี่สูง หลังพบว่าพฤติกรรมเสพติดอาหารเป็นผลพวงจากการทำงานของสมอง เมื่อผลการวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) พบว่าการกินของอ้วนๆ กระตุ้นระบบให้รางวัลชีวิต (Brain reward system) ที่ฝังอยู่ในสมองของคนเรา เมื่อพื้นที่ส่วนนี้ถูกกระตุ้นก็จะหลั่งสารโดพามีนและเอ็นโดฟิน ซึ่งเป็นสองสารที่ทำให้คนเรารู้สึกพึงพอใจ ทำให้อยากกินเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเสพติด และคิดว่าการกินน้ำตาลหรือขนมหวานช่วยให้คุณรู้สึกดี (เหมือนเวลากินของคาวแล้วติดกินผลไม้ล้างปาก หรือสูบบุหรี่เพราะคิดเอาเองว่ามันช่วยคลายเครียด) ทั้งที่มันมีวิธีอีกล้านแปดที่เราสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารดังกล่าวได้โดยไม่เป็นภัยกับร่างกาย เช่น การดูหนังตลกหรือการออกกำลังกาย  

ดังนั้นหน้าที่ของแอพฯ คือฝึกสมองของคุณให้ยับยั้งชั่งใจต่ออาหารอ้วนมากขึ้น ถือเป็นการหยุดกินเพื่อฆ่าตัดตอน เพียงเล่นเกม 10 นาทีต่อวันก่อนกินข้าวหรือเวลาอยากขนม จากผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 83 คนที่ได้เล่นเกมนี้ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่าสามารถลดปริมาณแคลอรี่ต่อวันลงถึง 220 แคลอรี่ ซึ่งอาจฟังดูน้อยแต่ถ้าหนึ่งสัปดาห์ก็เท่ากับ 1,540 แคลอรี่ ในขณะที่ 7, 000 แคลอรี่เท่ากับ 1 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าทำได้ 3 สัปดาห์ (1,540 x 3 = 4, 620) พวกเขาจะลดน้ำหนักได้เกือบหนึ่งกิโลกรัม โดยไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังอดอาหารอยู่เลย เจ๋งไหมล่ะ  

หรือจะลดภาระให้สมอง
นอกจากการฝึกฝน เรายังสามารถลดภาระให้สมองเพื่อช่วยลดหุ่น เพราะการตัดสินใจของคนเราเกิดจากพลังควบคุมจิตหรือพลังควบคุมตนเอง (Willpower) ซึ่งเจ้าพลังที่ว่าก็เหมือนกล้ามเนื้อที่หากคุณใช้งานเยอะเกินไป การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทำได้แย่ลง เช่น รู้ว่ากินถั่วอัลมอนด์แล้วดีแต่สุดท้ายก็หยิบคุ้กกี้มากิน ดังนั้นหากเราต้องการให้สมองช่วยเราลดน้ำหนัก เราก็ต้องลดภาระของมันด้วยการปลูกฝังนิสัยใหม่ สร้างความมุ่งมั่นให้เราอยากเอาชนะความอยากกินนู่นกินนี่ แทนที่จะให้สมองตัดสินใจทุกเรื่องไม่เว้นแม้เรื่องของกิน (20% ของแคลอรี่ที่เผาผลาญในแต่ละวันหมดไปกับสมองของคนเรา) เราจึงควรฝึกร่างกายให้ตอบสนองต่ออาหารเฮลท์ตี้ได้อย่างอัตโนมัติ โดยเอาระบบการให้รางวัลชีวิตมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือ ‘ทำแล้วต้องรู้สึกดี’   

ดังนั้น แทนที่จะต้องกินอาหารโจทย์ยากเหมือนคนอื่นให้คุณเปลี่ยนมากินสิ่งที่ 1. คุณชอบ 2. หาซื้อได้ง่าย และ 3. สามารถกินได้บ่อย เช่น ถ้าไม่ชอบบรอกโคลีก็เปลี่ยนเป็นผักอื่น ไม่ชอบกินสลัด? ลองกินผักจิ้มน้ำพริกไหม หรือถ้าไม่อยากกินข้าวกล้อง ลองลดข้าวขาวแล้วแทนที่ด้วยฟักทองหรือมันนึ่งให้อิ่มท้อง อย่าลืมว่าเราต้องการให้ร่างกายเสพติดพฤติกรรมใหม่ที่ทำแล้วสนุก จับต้องได้ ไม่ใช่ถูกบังคับ ให้เริ่มปรับทีละ 2-3 พฤติกรรมซึ่งส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะเห็นผล วิธีนี้ช่วยลดภาระให้สมองและทำให้การควบคุมจิตของคุณเข้มแข็งขึ้น พร้อมรับมือกับสิ่งยั่วยุภายนอกในยามที่คุณต้องการใช้มันจริงๆ

สมองและกระเพาะอาหาร
แม้อวัยวะสองส่วนนี้อยู่ห่างกันแต่อย่าลืมว่าร่างกายมนุษย์ทำงานเชื่อมโยงกันหมด การลดน้ำหนักให้ประสบความสำเร็จต้องเกิดจากสมองและจิตที่เลือกกิน และกระเพาะอาหารส่งสัญญาณบอกว่าอิ่มแล้ว ซึ่งวิธีที่แนะนำไปข้างต้นอาจไม่ได้ผลสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักแบบเร่งด่วนด้วยวิธีอดอาหาร (เรื่องนี้ต้องคุยกันยาว) แต่เหมาะสำหรับคนที่มองเป้าหมายระยะยาว เพราะน้ำหนักที่ลดอาจไม่หวือหวาแต่ไม่ทุกข์ทรมาน สุขภาพโดยรวมดีขึ้นเพราะกินแต่ของดีมีสารอาหารครบถ้วน และที่สำคัญมันจะอยู่ติดกับคุณไปอีกนาน ไม่ใช่พอปุ๊บปั๊บเลิกทำ น้ำหนักตัวก็เด้งกลับมาเท่าเดิม…หรืออาจจะมากกว่า

ภาพประกอบโดย รุ่งนภา คาน