เพราะสมญาของ “บางกอก”​ คือเป็นเมืองแห่งความเร่งรีบ มาก่อนได้ก่อน ใครไวใครได้ ช้าหมดอดกิน คล้าย ๆ จะบอกให้เราเร่งปรับจูนสปีดของชีวิตให้ทันต่อความอยู่รอดในเมืองใหญ่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วชีวิตไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เร็วก่อนไวกว่าไปเสียทุกเรื่อง อย่างน้อยการปล่อยวางความรีบด่วนไปเดินช้า ๆ ในตลาดนัดของของคนรักสุขภาพ ก็เป็นการผ่อนคันเร่งชีวิตให้อยู่ในสถานะ “ช้าลง = สุขชัวร์” ได้ไม่ยาก

ทุกวันเสาร์แรกของเดือน มหาชนคนเดินช้าจะทราบกันดีว่านัดหมายสำคัญของชาวเราที่ตลาด Slow Life บางกอกเวียนมาถึงอีกครั้ง ตลาดสินค้าออร์แกนิก ศิลปะ ผักและอาหาร ในบรรยากาศของบ้านพักส่วนตัวและสวนสวยของ จิ้น กวีวิรัญจ์ บัวสุวรรณ และ จิง ธีรา ลี้อบาย สามีภรรยาผู้ก่อตั้งตลาดในบ้าน หรือบ้านในตลาดที่ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าและผู้ค้าได้มาพบปะกัน แม้จะเป็นตลาดขนาดเล็ก ๆ แต่ก็เต็มไปด้วยคุณภาพของสินค้าและบทสนทนาของคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกัน

เร็วจากไหนไม่ว่า แต่อยากให้มาช้าที่นี่
ก่อนหน้าที่จะเป็นตลาด Slow Life บางกอก บ้านนี้ก็เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมมาตลอด ทั้งจัดดอกไม้ จัด Chef’s Table ที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรที่อยู่ในวิถีธรรมชาติ วิถีอินทรีย์ เพื่อเผยแพร่ให้คนเมืองได้สัมผัส เมื่อเราได้พบกับมูลนิธิ MOA Thai ที่ทำงานเผยแพร่เรื่องเกษตรธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ก็เลยชักชวนมาร่วมจัดตลาด มีบูธผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย

จากนั้นก็เริ่มชวนเพื่อน ๆ สายออร์แกนิกมาออกตลาดด้วยกัน ย้อนกลับไป 10 เดือนที่แล้วตอนจัดตลาดครั้งแรกมีร้านค้ากว่า 30 ร้าน ลูกค้าที่เป็นสายออร์แกนิกพอรู้ว่าตรงนี้มีตลาดเขาก็จะมาหาเรา ส่วนในชุมชนใกล้เคียงก็เริ่ม ๆ ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะคงเห็นว่าอยู่ดี ๆ ที่นี่ก็มีคนเยอะแยะ เพื่อนบ้านซอยข้าง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรามีผักออร์แกนิก พอรู้ข่าวก็จะเริ่ม ๆ เข้ามา บางคนก็ได้เข้ามาเป็นผู้ค้าที่นี่ด้วย

ไม่ใช่ให้ช้าแต่ร่างกาย แต่อยากให้หัวใจได้เดินช้า ๆ

ที่มาของชื่อ Slow Life บางกอก มาจากความคิดของจิ้น ที่อยากให้พื้นที่แห่งนี้พอเข้ามาแล้วรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากข้างนอก ให้เหมือนเป็นคนละโลกกัน ไม่ใช่ให้ช้าแต่ร่างกาย แต่อยากให้หัวใจได้เดินช้า ๆ ด้วย นี้คือโลกที่เราเคยสัมผัสมาเมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ

ส่วนเรื่องของการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมในตลาด เราเริ่มจากการแยกขยะก่อน อันนี้เป็นกระดาษ เป็นพลาสติกที่ รีไซเคิลได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็พบว่าถึงจะแยกแต่ก็เยอะอยู่ดี เราเลยกลับมาคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้น้อยลง คือนอกจากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แล้วก็คือการรับของตัวเองกลับไปด้วย

ตอนที่จัดตลาดครั้งแรก ๆ ก็มีหลายคนมาชมแล้วบอกว่า โอ้ พื้นที่แค่นี้ก็สามารถเป็นตลาดได้ ซึ่งเราสองคนสามีภรรยาคุยกันตลอดว่าเรื่องแบบนี้จะไม่ได้จบที่เรา ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมุ่งมาที่นี่”

จะว่าไปแล้วความ Slow Life ที่นี่ ทุกอย่างไม่ได้ช้าไปเสียทั้งหมด เพราะสิ่งที่เร็วคือการเลือกจับจ่ายสินค้านานาชนิด หรืออาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานแทบจะเรียกได้ว่าหมดวับในพริบตา รู้ตัวอีกทีคืออาหารหวานคาว พืชผักผลไม้ และข้าวเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็เต็มไม้เต็มมือไปหมด

สวนดินคานาอัน
ฟู้ดทรักคันเก๋ที่ครบครันประโยชน์ใช้สอยจากร้าน สวนดินคานาอัน นี้ เต็มไปด้วยอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงยาสมุนไพรแบบออร์แกนิก พี่มะลิเจ้าของร้านกำลังนั่งย่างอะไรบางอย่างอยู่บนเตาถ่าน custom made ที่ท้ายรถ มองไกล ๆ เห็นสีม่วง ๆ คล้ายเป็นมันม่วง แต่พอเข้าไปไกล้ ๆ กลับได้กลิ่นหอมคล้าย ๆ แป้งย่าง เหลือบตาดูป้ายที่ติดไว้จึงถึงบางอ้อ สิ่งนี้คือ “พัฟฟ์ย่าง” ทำไมต้องเป็นพัฟฟ์ และทำไมต้องย่าง พี่มะลิเล่าให้ฟังตามนี้

“พัฟฟ์ย่างเป็นขนมที่เราคิดค้นขึ้นมา เป็นรูปทรงเหมือนกะหรี่ปั๊บ แต่แตกยอดออกมาเป็นกะหรี่ปั๊บที่ใช้แป้งข้าวกล้องไทย ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และปั่นแป้งเองเพื่อลดการใช้แป้งอุตสาหกรรมที่อาจจะมีสารเคมีจากการอบฆ่ารา ฆ่ามอด ใช้สารฟอกขาว ซึ่งแต่ละครั้งที่มาขายก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไส้กันไป ไส้ประจำก็จะเป็นมันม่วงมะพร้าวอ่อน และผักโขมอบชีส
ที่เป็นพัฟฟ์ย่างเพราะเราคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ความเร่งรีบของคนเมือง บางครั้งการที่ต้องกินขนมอย่างเดียว กินข้าวอย่างเดียวก็อาจจะใช้เวลามากเกินไป ขนมเราจะจะเป็นขนมที่ตอบโจทย์เรื่องการให้พลังงานและชดเชยบางมื้อของคนเมืองได้โดยไม่เสียเวลามาก”

แวะชมแวะชิมพัฟฟ์ย่างไส้ต่าง ๆ เปิดประสบการณ์อาหารมื้อด่วน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่อิ่มท้องอิ่มใจของพี่มะลิได้ที่ Facebook : สวนดินคานาอัน Line ID : lovearoundme

ทอดมันน้าหมวย
เพราะเป็นคนชอบกินทอดมัน และทอดมันปลากรายคือที่สุดของความอร่อย ความเหนียวหนุบกัดแล้วเด้งน้อย ๆ หนึบนิด ๆ หอมเครื่องแกงและสมุนไพร ที่สำคัญคือปลาต้องไม่คาวและน้ำจิ้มต้องกลมกล่อมไม่หวานโดด หรือเปรี้ยวไป เค็มเกิน โชคดีที่วันนี้ได้เจอ ทอดมันน้าหมวย ที่ตลาด Slow Life บางกอก แม้จะออกตัวว่าเพิ่งเป็นสมาชิกใหม่ ๆ หมาด ๆ ของตลาด แต่ฝีมือและและสบการณ์การทำอาหารของน้าหมวยเป็นดีกรีของแม่ครัวเก่าเป็นของร้านอาหารมาก่อน รสมือของแม่ครัวเก่าจึงการันตีความอร่อยของทอดมันร้อน ๆ กระทะนี้ได้

“เพราะเราเคยทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อน วัตถุดิบของเราจึงมาจากต้นทาง อย่างปลากรายที่น้าหมวยเลือกใช้ก็เป็นปลาแม่น้ำมาจากสุพรรณบุรี ส่งเข้ามากรุงเทพ แพ็กและเก็บความเย็นอย่างดีเพื่อคงความสดใหม่และลดความคาว ถ้าคนที่ชอบเนื้อหนึบ ๆ ก็จะแนะนำเป็นปลากรายล้วน แต่ถ้าชอบแบบนุ่ม ๆ ก็จะแนะนำปลากรายผสมปลายี่สก

วันนี้มี 2 อย่างให้เลือกค่ะ พริกแกงของน้าหมวยก็ปราศจากสารกันบูดที่น้าหมวยตำเอง กะเพรากรอบก็เป็นผักปลอดสารพิษ ทอดในน้ำมันดี ๆ ไม่ใช้น้ำมันเก่า น้ำจิ้มก็ใช้น้ำมะขามเปียกปลอดสาร แม้จะมาขายได้ไม่กี่ครั้งแต่ก็รู้สึกอบอุ่นและมีความสุขกับทั้งเพื่อน ๆ ผู้ค้าและลูกค้า เหมือนทุกคนได้มาใช้เวลาดี ๆ ร่วมกันในตลาดแห่งนี้ และเพราะความคุ้นเคยกับน้องจิงและน้องจิ้น เจ้าของตลาดที่ชักชวนมาขายที่นี่ การนับวันให้ถึงทุก ๆ วันเสาร์แรกของเดือนจึงเป็นสิ่งที่ทำให้แม่ครัวเก่าอย่างน้ารอคอยมากเป็นพิเศษค่ะ”

สนใจความหนึบหนับและสดใหม่ของทอดมันปลากรายแท้จากลุ่มน้ำสุพรรณบุรี ต้องมาชิมให้ได้ถึงที่นี่ ที่ตลาด Slow Life บางกอกแห่งเดียวเท่านั้น

ผักเกษตรธรรมชาติเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิ MOA Thai
ผลิตผลของการทำการเกษตรภายใต้แนวคิด “ผักที่ปลูกตามธรรมชาติ จะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต ซึ่งพลังเหล่านี้จะไปช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายของเราตั้งภายใน” ของมูลนิธิ MOA Thai องค์กรเกษตรกรรมธรรมชาติเพื่อสุขภาวะ ที่ริเริ่มโดยคุณ โมกิจิ โอกาดะ ชาวญี่ปุ่น

ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 32 ปีที่ MOA Thai วิจัย พัฒนาและส่งต่อองค์ความรู้และความรักเรื่องผักเกษตรธรรมชาติให้กับเกษตรกรไทยและผู้สนใจทั่วไป และเป็นพันธมิตรแรกตั้งของตลาด หากไม่มีเวลาเพียงพอหรือสถานที่ไม่อำนวย ก็สามารถมาเลือกหาผักปลอดภัยที่ส่งตรงมาจากแปลงปลูกของมูลนิธิได้ที่ตลาด Slow Life บางกอก นี้

ในฐานะที่เป็นคนมีความรู้เรื่องผักไม่มาก และกินผักเฉพาะที่คุ้นเคย ประสบการณ์การกินผักจึงค่อนข้างไม่หลากหลาย แต่พี่ ๆ จากมูลนิธิ MOA Thai ก็ช่วยให้คำแนะนำถึงธรรมชาติของผักแต่ละชนิด รสชาติพิเศษของผัก วิธีการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ผักธรรมดา ๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด พอได้รับฟัง story ของพืชผักที่มีความหมายตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ลม และอากาศ ผักเดิม ๆ ก็ดูพิเศษขึ้นมาในทันที ผักที่ปลูกด้วยใจรักจริง หารับประทานกันไม่ได้ง่าย ๆ วันนี้จึงได้ผักกาดขาว 1 หัวโต ๆ คะน้าต้นอวบ 1 กำใหญ่ และมะเขือเปราะ 1 ตะกร้ากลับไปเป็นวัตถุดิบสำหรับมื้อเย็นที่บ้าน

ถืออะไรมา = พาสิ่งนั้นกลับ
ความอิ่มอร่อยของอาหารปาก อาหารตา อาหารใจในตลาดแห่งนี้มีพร้อมเสิร์ฟอย่างไม่อั้น แต่เพราะมีกติการ่วมกันว่าในตลาดจะไม่มีถังขยะไว้บริการ ลูกค้าในตลาดจะพกถุงผ้า กระบอกน้ำ หรือกล่องใส่อาหารส่วนตัวของตนเองมาด้วย เช่นเดียวกันกับผู้ค้าทุกร้านที่ต้องรับผิดชอบเก็บขยะทุกชิ้นกลับออกไปด้วยเช่นกัน ส่วนร้านที่มีบริการกล่องหรือแก้วกระดาษเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็ต้องนำกลับไปฝากทิ้งในร้านที่เราซื้อมาเท่านั้น เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแห่งนี้ การช่วยกันดูแลและรับผิดชอบร่วมกัน ประหยัดและใช้เท่าที่จำเป็น เริ่มที่ตัวเราและจบที่ตัวเรา ก็จึงเป็นเรื่องที่เราฝึกฝนและปฏิบัติให้คุ้นเคยได้ไม่ยาก

Slow Life บางกอก เชิญชวนทุก ๆ ท่านมาพาชีวิตไปช้า ๆ แต่ว่ามั่นคงได้ทุกวันเสาร์แรกของเดือน เวลา 10.00-18.00 น. ณ ซอยจามจุรี รัชดา32/ลาดพร้าว 23 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หรือติดตามข่าวสารและการประชาสัมพันธ์กิจกรรมดี ๆ ได้ที่ Facebook : Slow Life บางกอก

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร