มีคำบอกเล่าตกทอดกันมาจากคนรุ่นก่อนว่า คนสุโขทัยอยู่สบาย ไม่ต้องดิ้นรนหากินให้ลำบาก เพราะแค่เอามือราน้ำ ก็ได้ปลามาทำกินอิ่มท้อง

คำว่าลูกแม่น้ำของคนสุโขทัย หมายความเช่นนั้นจริง ๆ คือตั้งแต่เกิด เติบโต ชีวิตของพวกเขาอยู่กับสายน้ำ ลูกแม่น้ำสุโขทัยไม่เคยกลัวน้ำ เพราะเด็ก ๆ ทุกคนถูกฝึกให้ว่ายน้ำ ถึงแม้ไม่ฝึก เด็กหลาย ๆ คนตามพ่อแม่ไปหาปลา ก็ว่ายน้ำเป็นไปโดยไม่ต้องสั่งสอนกัน

ระบบการหาปลาของคนสุโขทัยจะเป็นแบบ ใครใคร่หาปลาหา ทุกปีเข้าช่วงเทโว หลังจากออกพรรษา พอน้ำเริ่มลดระดับลงเสียหน่อย เราจะได้เห็นภาพผู้คนพากันออกหาปลา เป็นวิถีชีวิตที่ชินตาของคนที่นี่

รูปแบบการหาปลาของคนสุโขทัยมีทั้งการจับปลาแบบรายบุคคลคนและการจับปลาโดยใช้เรือ ส่วนใหญ่แต่ละคน แต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบของตัวเองแล้วแต่ความถนัด เราจะได้เห็นตั้งแต่คนลงไปในประตูระบายน้ำ แบกสวิงชิ้นใหญ่ ดักปลาเอาจากพื้นที่น้ำไหล ปลาที่ได้จะมีตั้งแต่ปลาเล็กปลาน้อย ส่วนใหญ่ประตูน้ำจะได้ปลาสร้อย โชคดีหน่อยจะได้ปลาใหญ่อย่างปลากดคัง สุโขทัยมีภาษาพื้นถิ่นเรียกกันว่า “ไอ้แก้ว”

ส่วนอีกรูปแบบใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่ “ยอยักษ์” ที่เป็นการใช้ “ยอ” ลักษณะเหมือนแหขนาดใหญ่ ทำจุ่มทิ้งลงในแม่น้ำ รอจะกระทั่งปลาเริ่มเข้ามาในแห ก็ทำการยกขึ้น บางเจ้าใช้แรงคน บางเจ้าใช้เครื่องยนต์ทุ่นแรง แล้วแต่กำลัง พลังทุนรอนของแต่ละบุคคล

ชาวประมงที่เราไปทำความรู้จักชื่อว่า “น้าอิ๋ว” เป็นคนบ้านกงแต่กำเนิด แกบอกว่าแกนี่แหละ ลูกแม่น้ำตัวจริง น้าอิ๋วมียอยักษ์ส่วนตัว ตั้งอยู่โค้งน้ำบริเวณห่างออกมาจากเกาะกงพอสมควร

เราย้อนกลับไปที่เส้นทางปกติของการซื้อปลา จากประสบการณ์ส่วนตัว เราจะได้ปลาสด ๆ ก็ต่อเมื่อลุกจากที่นอนตื่นไปตลาดเช้า แต่เมื่อเราได้มาคลุกคลีกับชาวบ้านจริง ๆ ปลาแม่น้ำที่สดที่สุด ต้องมาในช่วงบ่ายแก่ ๆ เท่านั้น

คล้อยบ่ายตกประมาณสามโมงเย็น น้าอิ๋วพายเรือเล็กขนปลาจากแพที่ติดตั้งยอยักษ์เข้ามายังชายฝั่ง ก่อนที่จะค่อย ๆ ยกกระถางที่เต็มไปด้วยปลาน้อยใหญ่ เทลงบนพื้นที่ปูผ้าไว้อย่างดี ครู่เดียวก็มีคนเริ่มเข้ามา บางส่วนเป็นทีมงานที่นัดกันไว้มาช่วยคัดปลา อีกส่วนเป็นลูกค้าที่มารอซื้อปลาสด ๆ ส่งตรงจากแม่น้ำยม
“เย็นนี้ต้มยำปลาหมู่ให้อร๊อยเล๊ย” เสียงลอดออกมาจากกลุ่มคนที่มารอซื้อปลา
“แก๋คัดเอาตัวใหญ๋ ๆ ซี๊” ลูกค้าสั่ง
“แก๋อยากคัดก็มาคัดเอาเอง ฉันก็เหนื่อยมาทั้งวัน จะมาสั่งโน่นสั่งนี่” น้าอิ๋วตะโกนกลับไป

จริง ๆ สองคนไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน แต่เป็นการหยอกเอินของคนรู้จัก ในภาษาสำนวนตามรูปแบบของคน “ซุ๊โข่ทัย” ซึ่งเราเห็นก็ยิ้มตามไป เพราะทั้งสองฝั่งก็มีใบหน้าเปื้อนยิ้มใส่กันตลอดเวลา

“น้าอิ๋ว แยกปลาให้ผ๋มได้เม๊าะ เดี๋ยวผ๋มจะถ๋ายรูป” เราขอให้น้าอิ๋วแยกประเภทของปลาที่จับได้ในเฉพาะวันนี้ให้เราดู เพื่อจะเก็บข้อมูลความหลากหลายของปลาในแม่น้ำยม บันทึกไว้ให้คนรุ่นต่อไปดูว่า แค่หนึ่งวัน หนึ่งชาวประมงพื้นบ้านของการจับปลาในฤดูน้ำหลาก สุโขทัยก็มีความหลากหลายของชนิดปลามากมายขนาดไหน

ปลาหมูเขียว ปลารากกล้วย เป็นชนิดปลาที่ได้ราคาดีที่สุด อยู่ที่ประมาณ 300-400 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและความหายากในแต่ละปี ส่วนปลาที่ได้จำนวนเยอะที่สุด คือปลาสร้อย ในวันหนึ่ง ๆ คนหาปลาด้วยเครื่องมือใหญ่แบบน้าอิ๋ว จะได้ปลาจำนวนหลายร้อยกิโลกรัม บางทีได้เป็นตัน ๆ

น้าอิ๋วเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนปลาเยอะกว่านี้มาก นี่ที่เห็นคือน้อยแล้ว ขนาดน้อยแล้ว เราก็ว่าเยอะมาก สมัยก่อนเมืองไทยเราต้องอุดมสมบูรณ์ขนาดไหนกันนะ เราได้แต่คิดในใจ…

“เอ้า ถ๋ายรูปเสร๊จยั๋ง จะเอาปลาไปส๊ง เดี๋ยวก็เน่ากันพอดี” เป็นอันวางกล้อง เร่งมือช่วยน้าอิ๋วคัดปลาสร้อยรีบไปขายให้ร้านรับซื้อ …

ส่วนเครื่องมืออีกชนิด มีความหวือหวา (วี๊ดวิ๊ววว) ขึ้นมาหน่อย เขาเรียก “เรือสนั่น” เป็นการหาปลาที่ “ฮ็ฮตฮิต” ของคนกงไกรลาศ ต้องบอกว่าใครได้มาเห็นน่าจะตื่นตาตื่นใจ เพราะช่วงฤดูหาปลา แม่น้ำยมจะเต็มไปด้วยเรือยนต์งัดสนั่น แล่นฉิวกันไปมากลางสายน้ำ หลักการของเรือสนั่นนั้นง่ายมาก ว่ากันให้เห็นภาพก็คือ เป็นเรือหางยาวขนาดพอให้บรรจุปลา ติดสนั่นมีคานลักษณะคล้ายกระชอนขนาดใหญ่ไว้ที่หัวเรือ

พอเรือแล่นไปได้ที่ ก็ให้คนหนึ่งบนเรือ ออกแรงทิ้งน้ำหนักตัวที่ปลายด้าม ให้กระชอนยักษ์ยกขึ้น ปลาก็จะถูกตักยกขึ้นจากแม่น้ำ แล้วคนในเรือจึงค่อย ๆ ตักปลากันออกมาใส่ถังที่บรรจุไว้บนเรือ ทำอย่างนี้ไปจนเต็มลำ ค่อยเข้าฝั่งเป็นรอบ ๆ ที่ชายฝั่งก็จะมีพ่อค้ารอรับซื้อ มาจากหลากสารทิศ เพื่อนำปลาไปขายต่อ

เด็กชายเทน้ำหนักตัวลงบนไม้คาน สนั่นค่อยยกตัวขึ้นมาเผยให้เราเห็นปลาสร้อยจำนวนมหาศาลถูกตักขึ้นจากแม่น้ำ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ไม่กี่นาทีเรือก็แล่นเข้าฝั่ง
“เอาปลาสักกี๊โลเล่า” คนหาปลาถามเรา
“เอาสักยี่สิ๊บโลครับ เอาไปทำน้ำปลา” เราตอบ
“ทำเองทำไมเล๊า ไปซื้อเอาก็ได้ โด๋นะ ถั๊ดไปอีกหนอย บ้านยายนวลโน่น” คนขายปลาบอกกับเราว่า ไม่เห็นต้องทำเอง ไปซื้อน้ำปลาบ้านกงแท้ ๆ จากบ้านที่เขาทำน้ำปลาง่ายกว่าเยอะ จริงด้วย!

กงไกรลาศเป็นพื้นที่หลักของสุโขทัยในการทำอาหารหมักดองจากปลาแม่น้ำ ที่ขึ้นชื่อจะมีตั้งแต่ปลาร้าปลากระดี่ น้ำปลา ปลาย่าง ตอนต่อไปเราจะพาไปดูการทำน้ำปลาแบบสุโขทัย ที่ในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่เจ้า เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ลิ้มรสให้รู้รากเราพยายามเก็บรักษาองค์ความรู้ และทดลองสูตรตามที่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อนไม่ให้หายไปในรุ่นเรา