ย้อนไปราว 3-4 ปีก่อน กระแสการพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองพร้อมกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนให้คนปลูก-คนซื้อคุ้นหน้าคุ้นตากันมากขึ้น ทำให้โมเดลสวนในเมืองหรือ Urban Gardening เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก หลังจากนั้นความฮอตฮิตของสวนในเมืองก็ต่อยอดไปสู่โมเดลแบบ CSA (Community-supported agriculture) ที่สามารถรวบความแบบกระชับได้ว่า เป็นระบบผูกปิ่นโตระหว่างคนปลูกกับคนกินทุกสัปดาห์หรือรายเดือน โดยแต่ละรอบคนปลูกก็จะจัดส่งผลผลิตสดๆ จากสวนให้ลูกค้าที่ลงทะเบียนไว้แบบถึงหน้าประตูบ้านเลย

ข่าวร้ายมีอยู่ว่า แม้ว่ากระแสของ Urban Gardening จะยังคึกคักอยู่ในหลายเมืองใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าทุกสวนจะอยู่รอดปลอดภัยในระบบของ CSA ได้ เช่นเดียวกับในเมืองโกเตนเบิร์กที่เราอาศัยอยู่ สวนในเมืองนี้ส่วนใหญ่เป็นสวนขนาดเล็กและดูแลโดยเกษตรกรเพียง 2-3 คนที่ยังทำงานประจำ จำนวนคนและเวลาที่จำกัดเช่นนี้ทำให้หลายสวนยอมรับว่าการปลูกพืชผักในหน้าหนาวของสวีเดนยิ่งทวีความท้าทายขึ้นไปอีก ผลต่อเนื่องที่ตามมาจึงทำให้ไม่มีผลผลิตมากพอที่จะให้ลูกค้าลงทะเบียนเป็นระบบได้ เมื่อไม่มีรายได้จากการผูกปิ่นโตก็ทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้มากพอที่จะทำให้สวนยืนหยัดได้ในระยะยาว

ทว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวใหม่ของหลายสวนที่พยายามก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ด้วยการเปลี่ยนจากระบบ CSA เป็นแบบ self-picking ที่ชวนผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้ของแต่ละสวนเข้ามาเด็ดผัก เก็บดอกไม้สดๆ จากแปลง แล้วจ่ายเงินตามน้ำหนักของข้าวของที่เราหยิบมา

สวนจึงเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านที่การันตีความสดใหม่แบบตาเห็น

การปรับตัวของสวนกินได้ในเมือง

สองสวนได้ที่เราเพิ่งแวะเวียนไป ก่อตั้งขึ้นด้วยพลังของสาวสาวสาวล้วนๆ สวนแรกคือ Renströmska trädgården ของโอซ่า ซาร่าลินเนีย และโทเว่ ที่เปิดให้ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงเข้ามาเก็บผลผลิตได้ทุกวันศุกร์ ความสนุกก็คือผลผลิตแต่ละรอบจะหน้าตาไม่ซ้ำกันสักนิด แถมยังมีสีสันตระการตา หากช่วงไหนผักน้อย ก็อาจมีไข่ไก่จากไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยมาชดเชย


นอกจากนี้ หลังจากเปิดสวนไปเมื่อปี 2019 เมื่อหน้าร้อนที่ผ่านมา ทางสวนก็พยายามขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของสวนในเมือง ด้วยการทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าที่ปลูกผัก เช่น บางศุกร์อาจมีนักไวโอลินมาเล่นดนตรีสดประกอบการเก็บผัก บางสัปดาห์อาจมี Farm to Table ที่เชฟมาหยิบวัตถุดิบในสวนแล้วโชว์ปรุงอาหารค่ำแบบสดใหม่

หรือหากบริษัทไหนต้องการจะจัดเลี้ยง เปิดตัวโปรเจ็กต์ หรือใครอยากจัดปาร์ตี้หรืองานวันเกิด ทาง Renströmska ก็พร้อมจะสร้างประสบการณ์ใหม่น่าประทับใจในสวนตามความต้องการ แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาได้ตามที่โอซ่าเล่าว่า พวกเธอต้องการสร้างสถานที่พบปะสำหรับใครก็ตามที่สนใจเรื่องการเพาะปลูก อาหาร และวิถีชีวิตแบบยั่งยืน ฉะนั้นคอนเซ็ปต์ของสวนจึงมีอยู่ว่า หากประตูสวนเปิดเมื่อไหร่ ก็แปลว่าพร้อมให้ทุกคนก้าวเท้าเข้ามาสังสรรค์ได้เสมอ

อีกสวนหนึ่งคือ Slaktarens trädgård ที่ดำเนินการโดยพลังของสามสาวเช่นกัน คือรีเบกกา โยฮันนา และหลุยส์ ที่ริเริ่มมาจากความเป็นคนเมืองของตัวเองโดยแท้จริง ซึ่งพวกเธอออกตัวว่า พวกเธอไม่เคยปลูกผักมาก่อน และหลายครั้งก็ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาว่าก่อนที่ผักจะถูกตัดแล้วนำมาบรรจุห่อเพื่อวางขายนั้น ผักบางอย่างมีหน้าตาอย่างไร การทำสวนแห่งนี้จึงเป็นเหมือนการสร้างความรู้ให้ตัวเองพร้อมกับเปิดให้คนที่โตมากับเมืองคนอื่นๆ ได้ใกล้ชิดผลิตผลสดจากสวนมากขึ้น แม้ว่าสวนแห่งนี้จะยังมีรอบการเปิดให้เข้ามาเก็บผักได้ไม่แน่นอน เพราะยังเป็นสวนขนาดเล็กมาก และสามสาวชาวสวนก็มีเวลาเข้ามาดูแลแบบจำกัด แต่เราเชื่อว่าแค่ได้มาดึงหัวแครอตสดๆ จากดิน ก็ฟินไปถึงไหนๆ แล้ว

นอกจากนี้ สวนของสามสาวยังเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ Grow Gothenburg ซึ่งเป็นโครงการที่เจ้าของพื้นที่อนุญาตให้คนที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ของตัวเองเพื่อปลูกผักได้ ความน่าสนใจของสวนนี้ก็คือ พวกเธอได้แปลงปลูกในบริเวณโรงฆ่าสัตว์ที่ปิดกิจการไปนานแล้ว การเปิดสวน Slaktarens จึงเป็นเสมือนการชุบชีวิตให้พื้นที่ทิ้งร้าง พร้อมกับสร้างโอกาสให้เกษตรกรหน้าใหม่ไปด้วย

ทางตันและทางไปต่อของสวนในเมือง

เป็นเรื่องน่าดีใจที่เทศบาลเมืองโกเตนเบิร์กเปิดไฟเขียวให้สวนในเมืองอย่างเต็มที่ ทางเมืองถึงขั้นมีแผนกเฉพาะสำหรับสอนชาวสวนหน้าใหม่ ตระเตรียมอุปกรณ์บางส่วน เช่น เรือนกระจก รั้ว ระบบน้ำ หรือแปลงทดลอง เพื่อลดอุปสรรคที่จะทำให้ชาวสวนหน้าใหม่ไม่ถอดใจง่ายๆ การสนับสนุนนี้ก็ทำให้เมืองโกเตนเบิร์กมีสวนกินได้ราว 200 แห่งแล้วในปัจจุบัน

ข้อมูลจากแผนกการจัดการที่ดินและสวนในเมืองของโกเตนเบิร์กชี้ว่า อุปสรรคของการทำสวนในเมืองยังมีอีกมาก เช่น ภาพลักษณ์ของสวนในเมืองมักติดอยู่กับความเท่ ฮิป เก๋ ที่ทำให้ผู้บริโภคยังมองไม่ออกว่าระบบชาวสวนรายย่อยย่อมจะเข้ามาแทนที่การผลิตของฟาร์มใหญ่ได้อย่างไร หลายสวนยังต้องพับเก็บไปกลางคันเพราะข้อจำกัดเรื่องภูมิอากาศ เวลา และจำนวนคน ยิ่งไปกว่านั้น ชาวสวนในเมืองหลายคนยังรู้สึกว่าสิ่งนี้ยังกลายเป็นอาชีพประจำไม่ได้ เช่นเดียวกับที่รีเบกกาจากสวน Slaktarens ผู้ที่เลือกทำงานประจำแล้วทำสวนเป็นงานอดิเรกเล่าว่า นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชาวสวนในเมืองใช้ชีวิตด้วยการทำสวนอย่างเดียวไม่ได้ แม้ว่าเราจะกินผักกันมากแค่ไหนก็ตาม นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายไม่มากนักสำหรับการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร

แต่ถึงอย่างนั้น เทศบาลเมืองโกเตนเบิร์กก็พยายามทลายข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยการสร้างนโยบายระยะยาว เช่น ให้ความรู้เรื่องคุณค่าที่แท้จริงของผลิตผลจากสวนใกล้ตัวที่ไม่ควรพิจารณาจากราคา เพราะการสนับสนุนนักปลูกผักผลไม้รายย่อย จะเชื่อมโยงกับการสร้างแรงกระเพื่อมในการลดคาร์บอนในสิ่งแวดล้อมไปด้วย หรือการติดป้ายพิเศษบนผลิตภัณฑ์ที่มาจากสวนในเมือง เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความตระหนักและเลือกสนับสนุน

ถึงแม้จะยังเป็นหนทางอีกยาวไกลที่สวนในเมืองจะอยู่รอดได้แบบยั่งยืน แต่การเกิดขึ้นเรื่อยๆ ของสวนเมืองก็เป็นเหมือนโมเดลที่แสดงให้เห็นคุณค่าว่า สวนประเภทนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความอยู่ดีกินดีของคนในชุมชนได้อย่างไร

บางทีทางชนะอาจไม่ใช่การผลิตมากๆ เพื่อสู้กับระบบฟาร์มขนาดใหญ่ แต่คือการสนับสนุนให้เกิดเกษตรกรหน้าใหม่มากขึ้นๆ

เฉกเช่นที่เทศบาลเมืองโกเตนเบิร์กสนับสนุนชาวสวนหน้าใหม่แบบเต็มแรงเช่นนี้

ที่มาข้อมูล
www.stadsnaraodling.goteborg.se
www.goteborgdirekt.se

ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์, Renströmska, Slaktarens