ช่วงนี้ที่นิวยอร์กอากาศดีมากค่ะ สิ่งที่เราอิจฉาคนที่นี่ที่สุด คือการมีสวนสาธารณะให้ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ และยิ่งเพิ่มความอิจฉาไปอีกเมื่อได้รู้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า นิวยอร์กจะมีสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็นสามเท่าของเซ็นทรัลพาร์ก ซึ่งเคยเป็นแลนด์ฟิลด์ (สถานที่ฝังกลบขยะ) ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกมาก่อนด้วย!
From Landfill to Landscape
Freshkills Park ตั้งอยู่บนเกาะ Staten Island ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐนิวยอร์ก ใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีด้วยฟรีเฟอร์รี่จากเกาะแมนฮัตตัน เรือเดียวกับที่เป็นทางเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่จะได้ทักทายเทพีเสรีภาพแบบฟรีๆ นั่นเอง
ย้อนกลับไปปี 1948 ชื่อของสถานที่แห่งนี้คือ FreshKills Landfill เป็นปลายทางของขยะนับล้านล้านตันจากทั้ง 5 เขต (borough) ของเมืองนิวยอร์ก ในช่วงพีค มีขยะส่งมาที่นี่มากถึง 29,000 ตันต่อวัน และนับเป็นแลนด์ฟิลล์ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก จนกระทั่งรัฐบาลเมืองนิวยอร์กออกกฎให้แต่ละเขตจัดการขยะของตัวเอง เพื่อลดจำนวนแลนด์ฟิลด์ทีเป็นแหล่งสร้างมลภาวะ ในปี 2001 จึงเป็นปีสุดท้ายที่ขยะถูกลำเลียงมาที่นี่ และสิ้นสุดการเป็นแลนด์ฟิลล์ที่ยาวนานกว่า 50 ปีลงอย่างถาวร
หลังจากนั้นทางเมืองนิวยอร์กจึงได้เริ่มโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะโดยเริ่มเปิดให้ประกวดแบบในปี 2001 และได้ผู้ชนะในปี 2003 คือ บริษัท James Corner, Field Operation (ผู้ออกแบบเดียวกับ The High Line) เฟรชคิลพาร์คมีขนาด 5,560 ไร่ (15 เท่าของสวนลุม) สวนนี้ไม่เพียงจัดการขยะ แต่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมที่ดีให้ทั้งคนและสัตว์ และเป็นของขวัญตอบแทนชาวเกาะ Staten จึงวางแผนการพัฒนาแบบจากพื้นที่วงนอกเข้าวงใน (outside-in) เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงได้มีโอกาสเข้ามาใช้สวนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาส่วนอื่นๆ ไปด้วย
สร้างสวนบนกองขยะได้ยังไง
ภาพจำของแลนด์ฟิลล์คงไม่ใช่พื้นที่ที่รื่นรมย์นัก ทั้งมลภาวะ มลพิษ กลิ่นเหม็น เชื้อโรค ยิ่งไปกว่านั้นการทับถมของขยะยังสร้างก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซตัวร้ายที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกและสุขภาพของเรา โปรเจกต์นี้จึงไม่ง่ายแค่การเอาสวนไปปูทับกองขยะเหมือนผ้าคลุมโต๊ะ แต่เป็นการจัดการขยะอย่างซับซ้อน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และภูมิสถาปัตกรรม
โครงสร้างของผืนดินที่นี่ แบ่งออกเป็น 7 ชั้น ภายใต้ผืนดินที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ มีพระเอกคือส่วน Landfill cap ซึ่งเป็นชั้นที่คลุมขยะไว้ หนา 3-12 ฟุต แล้วลึกลงไปจากนั้น ก็ประกอบไปด้วยส่วนประกอบอีก 7 ชั้น ดังนี้
Planting Soil Layer เป็นชั้นดินสะอาดสำหรับปลูกพืช หนาอย่างน้อย 6 นิ้ว ข้อสังเกตคือที่นี่จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ๆ เหมือนสวนอื่นๆ เพราะรากต้นไม้จะไปทำลาย landfill cap ต้นไม้ขนาดกลางที่เราเห็นคือต้นไม้ที่มีอยู่เดิมหรือเอามาจากบริเวณใกล้เคียง
Barrier Protection Material ชั้นทราย หนาประมาณ 2 ฟุต มีไว้เพื่อปกป้อง landfill cap และเพิ่มความหนาให้กับชั้นดินสะอาด ทำให้พื้นที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนมาใช้
Drainage Layer ชั้นระบายน้ำจากด้านบนที่ไหลผ่านจากชั้นดินลงมา โดยส่วนนี้จะมีระบบระบายน้ำให้ไหลออกและกันไม่ให้ไหลลงไปถึงชั้นขยะด้านล่าง
Impermeable Plastic Liner เป็นแผ่นพลาสติกบางๆ ที่เป็นเกราะป้องกันอากาศและน้ำไม่ให้ผ่าน (นึกภาพเหมือนที่ wrap อาหาร) ทำหน้าที่สองทาง คือช่วยคลุมไม่ให้ก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและกันไม่ให้น้ำจากด้านบนลงไปยังชั้นขยะ นี่คือเทคโนโลยีสำคัญที่กันไม่ให้หน้าดินดีมีโอกาสมาปนเปื้อนกับขยะ เราจึงมั่นใจได้ว่าจะใช้สวนนี้ได้อย่างปลอดภัย
Gas Venting Layer ชั้นนี้เป็น thick geotextile ทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำ สำหรับดูดซับก๊าซจากดินและขยะ รวมทั้งลดแรงดันตามธรรมชาติของของแลนด์ฟิลล์เมื่อมีการทับถมของขยะ ในระหว่างย่อยสลายจะสร้างก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอัตราการสร้างก๊าซจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลา เฉลี่ยจะหมดลงในประมาณ 20 ปีและอีกส่วนสำคัญคือมีการติดตั้งท่อและ Landfill gas well เพื่อลำเลียงก๊าซไปยังระบบจัดเก็บ (Landfill gas collection system) ที่จะกรองก๊าซพิษ ไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และก๊าซปลอดภัยที่ได้จะถูกส่งไปใช้กับระบบฮีตเตอร์บนเกาะนี้ในหน้าหนาวอีกด้วย
Soil Barrier Layer คือชั้นดิน หนาอย่างน้อย 2 ฟุต เพื่อให้มั่นใจแบบสุดๆ ว่าก๊าซจะไม่รั่วขึ้นมา และช่วงเสริมความแข็งแรงให้กับเนินดิน เนื่องจากการทับถมของขยะด้านล่างจะมีการยุบตัวลงเรื่อยๆ เวลาย่อยสลายประมาณ 10-15% ซึ่งใต้ชั้นดินนี้จะมี Landfill Cap ปิดอีกครั้ง
Waste ชั้นล่างสุด คือขยะที่ที่เก็บสะสมมากว่า 50 ปี กำลังย่อยสลายแล้ว มีลักษณะคล้ายดินเหนียว
นอกจากฝั่งระบบภูมิสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแล้ว ที่นี่ยังมีระบบวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อีก 3 ระบบ เพื่อทำให้มั่นใจในความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ที่นี่ ประกอบด้วยระบบการตรวจสอบปรับปรุง (Covering, Stabilizing, Maintaining) ระบบควบคุมก๊าซและน้ำเสียจากขยะ (Landfill and Leachate Gas Collection System) และระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของน้ำและอากาศอีกด้วย
พื้นที่สาธารณะที่จะไม่เป็นเพียงฝัน
ไม่เพียงแต่โครงสร้างที่เป็นนวัตกรรมสุดล้ำ ความเท่ของที่นี่คือการสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อให้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งทำวิจัยและพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นบ้านของสัตว์นับพันสายพันธุ์ เริ่มจากโครงการวิจัยพันธ์ุเต่าและค้างคาว อีกด้านคือศิลปะที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน สวนนี้จะเปิดรับศิลปินมาเป็นอาร์ติสอินเรซิเดนท์ มีกิจกรรมให้คนทั่วไปมาวาดรูปภูมิทัศน์ ทัวร์ถ่ายภาพ ล่าสุดมีโปรเจกต์ทำกระดาษจากพืชในสวน
เรามีโอกาสได้คุยกับเมแกน หนึ่งในทีมงานของสวนนี้ ซึ่งเธอเองก็เติบโตขึ้นที่เกาะนี้เช่นกัน เธอบอกเราว่าที่เธอเลือกมาทำงานให้ที่นี่ เพราะเชื่อว่ากลยุทธในการพัฒนาเมืองซึ่งเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี คือการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
“พื้นที่สีเขียวก็เหมือนอากาศ คนไม่เห็นความสำคัญว่ามันมีอยู่แต่มันจำเป็น”
การเติบโตในเมืองนี้ทำให้เธอได้เห็นผลกระทบจากแลนด์ฟิลล์และความเหนื่อยหน่ายต่อพื้นที่นี้ของคนบนเกาะ เธอตั้งใจสร้างโปรแกรมเรียนรู้ที่หลากหลายและมีกิจกรรมที่ให้คนได้เข้ามาทำความรู้จักพื้นที่นี้ ผ่านองค์ความรู้เรื่องโมเดลการจัดการขยะและการให้คนได้ทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่สาธารณะไปในตัว ที่นี่จึงเป็นของขวัญตอบแทนชาวเกาะ
“ทุกอย่างต้องใช้เวลา ฉันรู้ดีว่าสิ่งที่ทำอยู่คืองานระยะยาว แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ก็จะไม่มีวันถึงเส้นชัยนะ” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
โปรเจกต์ Fresh Kills Park อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2035 โดยปัจจุบันยังไม่เปิดให้เข้าชมทั้งหมด แต่เปิดให้ใช้บริการได้บางส่วน เช่น Schmul Park (2012) สนามเด็กเล่น และ Owl Hollow Fields (2013) เป็นสนามฟุตบอล และมีกิจกรรมจัดตลอดทั้งปี ถ้าหากใครสนใจอยากมาสัมผัสบรรยากาศจริงแบบกรณีพิเศษมีได้สองทาง คือ วัน Openhouse ที่จะจัดปีละสองวัน และ ทัวร์ทางเรือ หรือจะ virtual tour อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ที่บ้านก็ได้เช่นกัน
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://freshkillspark.org