เจมส์ 500 คือฉายาของ เจมส์-ปทาน อุ้มมีเพชร ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่คราวที่เขารวมตัวกับเพื่อนๆ ‘Fedfe Boyband’ ชวนกันทำคลิปภารกิจแสนจะกวนและห่ามผ่านช่องยูทูบจนมีแฟนรายการติดตามมากกว่า 3 ล้านในเวลาไม่กี่ปี เมื่อ Fedfe ถึงคราวแยกย้าย เจมส์หันตัวเองมาสู่ของโลกของคนทำเกษตรอินทรีย์ ที่เขาเองก็เพิ่งรู้จักอย่างจริงจังได้ไม่นานนัก

พื้นที่ข้างบ้านเช่าที่เคยเป็นป่ารกร้างขนาด 60 ตารางวา กลายเป็นพื้นที่ของคาเฟ่และสวนผัก ที่เขาค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ขึ้นทีละชิ้นตั้งแต่ยังเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย จนตอนนี้มันได้กลายเป็นสวนแปลงย่อมๆ กลางเมืองในหมู่บ้านสัมมากร ที่ด้านหน้าสวนคือคาเฟ่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบของกลุ่มเพื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน ส่วนด้านในคือสวนที่ปลูกทั้งผักและต้นไม้อื่นๆ เท่าที่พื้นที่จะอำนวย มีที่นั่งให้ลูกค้าได้ฝังตัวอยู่ในห้อมล้อมของสีเขียวที่ชื่อว่า ‘James500 Organic Farm Style’

เรามาพบกับเจมส์หลังจากที่เขาเพิ่งจบ Private Group ไปเมื่อตอนบ่าย เขาเปิดวงสนทนาแชร์ประสบการณ์ของการทำฟาร์มคาเฟ่ข้างบ้าน ให้คนที่สนใจเข้ามาตั้งคำถามในสิ่งที่คนอยากรู้ นั่นเป็นอีกขาหนึ่งของเจมส์ที่นอกเหนือจากปลูกผักและปรุงอาหาร และด้วยการวางให้ร้านเปิดบริการเฉพาะวันหยุด เขาจึงมีเวลาเหลือไปทำสิ่งอื่นที่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำสวนและปลูกผัก ทั้งการทำคลิปเรื่องการปลูกหรือทำแปลงผักที่อดีตยูทูเบอร์อย่างเขาเข้าใจวิธีการสื่อสารดีอยู่แล้ว รับจ้างทำแปลงผัก รับจ้างทำสวน ออกแบบสวน และขายต้นไม้ที่ปลูก

“มันเป็นการชาเลนจ์ตัวเองว่า อาชีพที่เกี่ยวกับต้นไม้มันหาตังค์แบบไหนได้บ้าง วิธีการทำงานเป็นยังไง และเวลาทำอะไรพวกนี้เรารู้สึกยังไง เจมส์ว่ามันโคตรดีเลย คนปลูกผักไม่เป็นมีเยอะ เขาไม่รู้จะทำยังไง ไปทำให้เขาแล้วเขาก็ได้กินดี เราก็ได้ตังค์ ส่วนการทำไพรเวตกรุ๊ปเราก็ได้เพื่อนเพิ่ม บางทีมีเชฟมา มีนักโภชนาการอาหารมา เราก็ได้ความรู้จากเขาด้วย”

เจมส์ชวนเราขึ้นไปนั่งคุยบนกระท่อมท้ายสวนท่ามกลางผักและแคคตัสนานาที่เขาปลูกเอาไว้ เมื่อเราขอให้เขาเล่าถึงการต่อจิ๊กซอว์ให้เต็มเฟรมในเวลาที่เขาบอกว่ามีอยู่จำกัด และต้องทำมันให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งแรงขับที่อยู่เบื้องหลังนั้นมาจากการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเมื่อคิดจะลองสักตั้ง

“ถ้าเราไม่มีเดดไลน์ความฝัน ไม่มีเป้าหมาย ก็จะไม่มีฮาวทูตามมา”

ก่อนฝันจะเต็มเฟรม

บางทีมนุษย์เราก็ไม่ได้รู้จักตัวเองดีจนกว่าจะมีใครสักคนยื่นกระจกมาส่องให้เห็น เหมือนกับเจมส์ที่ก็ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีความรู้เรื่องต้นไม้แค่ไหน ด้วยก่อนหน้านั้นเขาทำงานด้านโปรดักชั่น สายตาของเขาจึงมักสอดส่องหาพร็อพต่างๆ มาเก็บไว้ และตอนนี้มันก็ได้กลายเป็นของตกแต่งสวนและคาเฟ่แห่งนี้ไปด้วย

“เดิมที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เจมส์เปิดบริษัทกับเพื่อนในหมู่บ้านนี้ แล้วไม่อยากขับรถไปกลับ จึงหาที่เช่าในหมู่บ้านดีกว่า ก็ได้บ้านหลังนี้ ที่ข้างๆ เป็นป่ากระถินรกๆ เราก็ซื้อต้นไม้มาปลูก หาของที่มีดีเทล ดีไซน์และรูปทรงที่คิดว่า ถ้าเราซื้อต้นไม้มาใส่มันน่าจะสวย เก็บของพวกนี้ไว้หลังบ้าน จนผ่านมาหลายปีพวกเราก็เลิกทำบริษัทกัน ตอนแรกก็มีความรู้สึกเหมือนคนตกงานนะ แล้วเรามีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ตัวเองไม่คิดทำงานประจำ ก็คงต้องทำอะไรสักอย่าง

“คนเขาบอกกันว่าจะทำงานหรือทำธุรกิจอะไรสักอย่างต้องหาแพสชัน ก็ไม่รู้หรอกอะไรคือแพสชัน จนไปอ่านบทความ เขาก็บอกว่า ถ้าจะหาแพสชันแล้วหาไม่เจอ ให้ลองคิดกลับกันว่า คนชอบมาปรึกษาอะไรเรา อันนั้นอาจเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี”

“แล้วก็มาคิดได้ว่าเพื่อนชอบมาถามเรื่องต้นไม้กับเราเยอะ และผมเป็นคนชอบซื้อต้นไม้ มองเห็นว่าต้นไม้มีดีไซน์ มีความงาม ทำงานโปรดักชั่นเริ่มมีเงินเพื่อนซื้อมอเตอร์ไซค์ ซื้อของแต่งบ้าน แต่เราซื้อต้นไม้”

อาชีพเกี่ยวกับต้นไม้จึงวาบเข้ามาในความคิด เขาเริ่มค้นหาว่ามีอะไรที่ตัวเองจะทำได้บ้าง อาจจะจัดสวน หรือขายต้นไม้ เขาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ จนเปิดเจอเรื่องราวของโจน จันได จอน นอนไร่ และเกษตรกรระดับไอดอลอีกหลายคนที่ก็ต่างมีแนวทางทำเกษตรที่ต่างกัน แต่ระหว่างนั้นเขาก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ด้วยคำนวณดูแล้วว่าเงินเก็บที่มีเมื่อใช้ไปกับการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัว เขาว่าน่าจะพออยู่ได้ห้าเดือน นั่นหมายความว่าเดือนที่หกเขาต้องมีรายได้เข้ามาแล้ว

“เดือนแรกเราเริ่มไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ว่าเกษตรมีแบบไหนบ้าง แล้วอาชีพเกษตรที่พอจะหาเงินได้มีแบบไหนบ้าง พยายามไปหาดูว่าอะไรที่ใกล้เคียงกับจริตเรา ระหว่างเดือนแรกที่ดูไอดอลด้านเกษตรเยอะๆ ก็มีคำถามว่า เฮ้ย มันจริงหรือเปล่า ทำไมทำเกษตรมันสวยงามจัง จะมีด้านไม่สวยบ้างหรือเปล่า

“พอเข้าเดือนที่สองที่สาม ก็เลยเดินเข้าไปศึกษาในพื้นที่จริงๆ เริ่มกรุ๊ปคนที่น่าจะใกล้เคียงกับเรา คนแรกคือ ลุงรีย์ (ชารีย์ บุญญวินิจ แห่งฟาร์มลุงรีย์) เขาทำเกษตรในเมือง เราก็คนเมืองเหมือนกัน แล้วเขายังวัยรุ่นอยู่ ก็เลยคิดว่าน่าจะคุยกันได้เข้าใจ ลุงรีย์เคยพูดกับเราว่า-พี่อยากปลูกผัก เคยปลูกผักสักแปลงหรือยัง ถ้าอย่างนั้นพี่ต้องไปลองก่อน มันจะมีสิ่งที่พี่ชอบและไม่ชอบ พี่ต้องไปรู้ก่อน แล้วจะได้เลือกสิ่งที่พี่ชอบแล้วไปทำมัน ฉะนั้นเราจึงใช้เวลาในเดือนที่หนึ่งถึงเดือนที่สามในการเรียนรู้”

ความรู้จากจอสี่เหลี่ยมไม่พอที่จะสนองความอยากรู้ เจมส์เริ่มออกเดินทางไปหาบทเรียนจากของจริง ด้วยการไปคลุกคลีกับเกษตรกรจริงๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่า อะไรที่ถูกจริตจริงและเขาทำมันได้ เขาตระเวนไปพบกับจอมยุทธ์ในวงการเกษตรพื้นบ้านอย่างติ๋ม (กศิมา สินสิงค์ เกษตรคนกล้าคืนถิ่น รุ่นที่1) ที่ปลูกผักและตัดผักขายเอง การได้ช่วยงานที่สวนผักจริงๆ เขาจึงได้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบตื่นเช้าไปตั้งแผงขายผัก แต่ชอบการได้ปลูกผัก ขุดดิน ทำปุ๋ยมากกว่า หรือการไปใช้เวลาอยู่ในไร่รื่นรมย์ เพื่อไปคุยกับ เปิ้ล (ศิริวิมล กิตะพาณิชย์) ด้วยคำถามที่พกไปว่า อุปสรรคของการทำไร่คืออะไร และยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่เขานับเป็นครูซึ่งเขาได้พบเวลาเข้าคอร์ส อาทิ เจ้าของสวนมังคุดที่ชุมพร ซึ่งเมื่อมังคุดราคาตก เขาแปรผลมังคุดเป็นน้ำหมักคอมบูชา เจ้าของฟาร์มไก่ไข่อินทรีย์ในสุพรรณ ที่ทำให้เขาได้เห็นปัญหาเรื่องการกระจายวัตถุดิบ หรือการออกแบบพื้นที่ของสวนศิลป์บินสิ ฯลฯ

สามเดือนของการหาความรู้กับเกษตรกรอินทรีย์และออร์แกนิก ทำให้เจมส์ตกผลึกทางความคิด เขาขึงเฟรมของอาชีพใหม่ในเดือนที่สี่ และเติมให้เป็นภาพด้วยจิ๊กซอว์ที่เขาเก็บไว้กับตัว

กินดี อยู่ดี ทำดี

หากไปถึง James500 Organic Farm Style เราจะพบข้อความที่ขึ้นหราอยู่ในคาเฟ่ว่า ‘กินดี อยู่ดี ทำดี’ เจมส์บอกว่าตัวเขาเองชอบคำว่า ‘เป็นเกษตร’ และอยากจะเป็นเกษตรกร “พอได้ยินคำนี้แล้วมันเขียวขึ้นมาเลย”

“เจมส์เลยอยากให้พื้นที่ตรงนี้มีความเป็นเกษตรในเมือง ให้เป็นแรงบันดาลใจว่าข้างบ้านของคุณก็สามารถทำเกษตรได้ ปลูกผักกินเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ของฟาร์มนี้ก็คืออยู่ดี กินดี ทำดี อยู่ดี”

“ความหมายก็คืออยู่ในที่ที่ดี ที่ชอบ ดีไซน์ชีวิตเอง ว่าเราอยากอยู่ในที่แบบไหน กินดีคือ มีวัตถุดิบดีๆ ให้กิน ผักในแปลงไร้สารเคมี เรามีผักจากพี่เกษตรกรที่ปลอดภัย เราได้กินดี คนที่มาซื้อเราก็ได้กินดี ทำดีก็คือการส่งต่อแรงบันดาลใจต่างๆ ให้ทุกคนที่สนใจ”

ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการได้กลับมาทบทวนตัวเองหลังจากที่ได้ไปเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน และเกษตรกรรุ่นพี่ ว่าภาพฝันของการเป็นเกษตรกรของเขา จะออกมาในรูปแบบไหน และธุรกิจของเขาจะมีอะไรอยู่ในนั้น

“เดือนที่สี่เป็นเดือนของการหยิบจิ๊กซอว์มาต่อ เจมส์มีเงินเก็บอยู่สามแสน สองแสนใช้สำหรับดำรงชีวิตในห้าเดือน และหนึ่งแสนสำหรับทำธุรกิจใหม่ ทีแรกก็อยากจะไปทำที่เชียงใหม่เชียงราย อยากชิกคูล แต่ถ้าจะต้องสร้างที่อยู่ เงินจะหมดแล้วคงยังไม่ได้ปลูกอะไรสักแปลง แล้วเวลาเราไปลงคอร์สต่างๆ เราได้เจอคนอื่นๆ ได้เห็นว่าปัญหาของแต่ละคน มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเจมส์อยู่กรุงเทพฯ นี่ดีนะ คนกรุงเทพฯ เข้าใจคำว่าออร์แกนิก เข้าใจคำว่าอินทรีย์ และมีกำลังซื้อ เราเคยเป็นยูทูเบอร์ มีคนตามตั้งสามล้านกว่า แบบนี้ก็น่าจะช่วยเพื่อนขายได้สิ”

ปัญหาของเพื่อนๆ เกษตรกร ข้อจำกัดของพื้นที่ที่เขามี และเวลาที่กระชั้นเข้ามา เข้ามารื้อแผนเดิมที่เคยคิดจะปลูกผักสลัดออร์แกนิกขายทิ้งไป เพราะหากต้องรอรอบเก็บเกี่ยว รายได้ต่อเดือนย่อมไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เขาจึงนึกย้อนไปถึงวันที่ไปไร่รื่นรมย์ ได้เห็นว่าการมีคาเฟ่จะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียน และยังเป็นจุดช่วยกระจายวัตถุดิบให้กับเพื่อนๆ เกษตรกรได้ด้วย

“ฉะนั้นเราทำสิ่งที่ตัวเองถนัดดีกว่า คือการสื่อสาร การดีไซน์ การจัดวาง ผลผลิตต่างๆ ก็มาจากเครือข่ายผู้ปลูกออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ที่เราเคยไปเรียนรู้มา ซึ่งก็ดีกับเราด้วย ไม่ต้องทำเองเพราะพื้นที่เราไม่มี เวลาเราก็มีน้อย แล้วเราก็ปลูกในสิ่งที่เราพอจะทำได้”

ต้นโรสแมรี่กำลังออกใบงามอยู่ในกระถางแคร่ วอเตอร์เครสผลิต้นอยู่ในผลมะพร้าวอ่อนที่เมื่อขายน้ำและเนื้อไปแล้วก็แปลงร่างเป็นกระถางต่อ ภาชนะปลูกผักของเจมส์ไม่ได้จำกัดอยู่ในกระถาง แต่มีอยู่ทั้งในกระเป๋าเดินทางเก่า หม้อหุงข้าวเก่า วัสดุเหลือใช้รวมถึงพร็อพที่เขาเคยซื้อเก็บเอาไว้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งปลูกผักและตกแต่งคาเฟ่ นอกจากบรรยากาศที่ทำให้คนเข้ามาได้รู้สึกพักเบรกจากโลกภายนอกได้ขณะหนึ่ง ความครีเอทีฟของเจมส์ยังเปิดโลกที่แปลกใหม่ของการกินและดื่มที่แตกต่างไปจากคาเฟ่ทั่วไป

“หน้าที่ของเจมส์คือการดีไซน์เมนูต่างๆ ในร้าน และสื่อสารคุณค่าของวัตถุดิบต่างๆ ออกไปให้ถึงคนกิน อย่างเช่น ชาสิงห์เหนือเสือใต้ คาแร็กเตอร์จะหอมแบบชาเหนือ เข้มแบบชาใต้ ซึ่งเป็นการผสมผสานจากใบชาหอมๆ ของพี่ๆ เกษตรกร จังหวัดเชียงราย และชาอัสสัมรสเข้ม จากจังหวัดนครศรีธรรมราช”

การกินดื่มที่เขาดีไซน์ขึ้นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะการดีไซน์รสชาติอย่างการดื่มน้ำมะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิกจากราชบุรีด้วยการบีบมะนาวลงไปเพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย แต่เป็นการดีไซน์กระบวนการรับรสชาตินั้นด้วย คอมบูชาที่เขาเสิร์ฟมาพร้อมโซดาและน้ำผึ้ง เราจะต้องผสมโซดากับคอมบูชาในสัดส่วนเท่ากัน ดื่มจิบแรกเพื่อสัมผัสรสเดิม จิบที่สองเขาลองให้เราตักน้ำผึ้งป้อนเข้าปากเพื่อให้น้ำผึ้งเคลือบลิ้น ก่อนจะยกแก้วเดิมจิบตามแล้วลองเปรียบเทียบดู ความหวานของน้ำผึ้งให้ความสดชื่นไปจากการดื่มคอมบูชาแบบที่เคย

หรืออย่างการเสิร์ฟสลัด ที่ฮาวทูการกินของเขานั้นเรารับประกันว่าไม่เหมือนที่ไหน

“ด้วยความที่เราทำฟาร์มออร์แกนิก ฉะนั้นเราจึงอยากให้เขาซึมซับผักที่เราตั้งใจคัดสรรเมล็ดพันธุ์ผักออร์แกนิก ดูแลอย่างปลอดภัยไร้สารเคมี สลัดผักของเราจึงไม่นำน้ำซอสอะไรมาราดผัก เพราะจะกลายเป็นกินน้ำซอสแทน ถ้าน้ำซอสไม่อร่อย กลายเป็นว่าผักจานนั้นก็ไม่อร่อย เจมส์เลยแยกเสิร์ฟเป็นผักจานหนึ่ง ซอสอีกจานหนึ่ง ท็อปปิ้งที่ใส่ก็คืออีกจาน แล้วก็มีน้ำสำหรับล้างมือ เพื่อหยิบผักกินทีละใบ ไม่ให้ใช้ส้อม เพื่อให้คนกินได้ตระหนักถึงความอร่อยของผักออร์แกนิก ที่อร่อยกรอบ ไม่ขม เหมือนเป็นการสะท้อนให้คนกินได้เข้าใจความพิถีพิถันของการปลูกผักของเราด้วย”

ความมั่นคงในนิยามของเจมส์ 500

3 ห่วง 2 เงื่อนไข ในแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คอยเตือนใจเขาอยู่กลางสวนเกษตร เจมส์เล่าให้ฟังว่า

“ฟาร์มที่นี่จริงๆ เริ่มจากทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง คือเราเริ่มจากปลูกกินเองก่อน พอได้เด็ดผักตัวเองกิน อ๋อ นี่ไงที่เขาบอกมีความสุขก่อนไปหาตังค์เป็นแบบนี้ แล้วไม่ต้องเสียเงินค่าน้ำมันรถไปกลับเพื่อซื้อผักที่เราก็ไม่รู้ด้วยว่าผักมีสารเคมีไหม นี่มาข้างบ้าน เด็ดผักไปวักน้ำสองทีไล่ฝุ่นไล่ดินกินได้แล้ว และการที่เราเหลือเงินจากที่ไม่ต้องไปซื้อผัก ก็คือเรามีตังค์เพิ่มแล้วนะ ซึ่งเงินที่เพิ่มตรงนี้ก็คือการหารายได้รูปแบบหนึ่งเหมือนกัน จากที่เราเคยสงสัย แสดงว่าปรัชญา 9 ขั้นนี่อาจจะจริงก็ได้ เพราะขั้นที่ 1 มันจริง ขั้นที่ 2 ที่ 3 ก็อาจจะจริง น่าศึกษาทำต่อ เราเลยเริ่มทำเกษตรมาเรื่อยๆ

“จริงๆ เจมส์ว่าเราว่าไม่ได้จำเป็นต้องไปตามขั้น มันอาจมีข้ามขั้นบ้างก็ได้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านบอกว่า อย่ายึดติดกับตำรา ต้องดูภูมิศาสตร์ รู้จักตัวเองด้วย ก็เลยมีการปรับใช้ อย่างการสร้าง การขาย ซึ่งอยู่ขั้นบนๆ แต่เราก็เริ่มทำแล้ว

“หรือที่บอกว่าปลูกสวนป่าเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย หรือปลูกไม้มะค่า ตะแบกนา เพื่ออีก 10-20 ปี แล้วนำไปขาย เราก็มาแปรความคิดว่า พื้นที่ 60 ตารางวาของเราคงปลูกไม่ได้ แล้วอีกอย่างพื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ใช่บ้านเรา เป็นบ้านที่เราเช่า ก็เลยคิดว่า กระบองเพชรก็เป็นพืชเศรษฐกิจคนเมืองเหมือนกันนะ จึงค่อยเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใส่เติมเข้ามาในจิ๊กซอว์นั้น”

จากการที่ได้ศึกษาและเรียนรู้จากพี่ๆ เกษตรกร ทำให้เจมส์เข้าใจได้ว่าการปรับกลยุทธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่แต่ละคนจะค้นเจอด้วยตัวเอง

“เราไม่สามารถเป็นแบบคนอื่นได้เลย สุดท้ายเราค้นพบว่าไอดอลของเราคือฝั่งขาวของตัวเอง คือฝั่งขยันของตัวเราเอง ที่มีไอเดียเต็มไปหมดเลย และรู้จักตัวเอง มีเหตุมีผลว่าเราควรจะทำอะไร ถ้าเราทำแบบในหัวฝังขาวเราได้ นั่นแหละโคตรไอดอลเลย แต่ก็อาจมีที่ฝังดำมาฉุดเราเป็นเรื่องธรรมดา ว่าเฮ้ย ทำแล้วจะดีจริงเปล่า คนจะมาหรือเปล่า จะเจ๊งหรือเปล่า อันนี้คือฝั่งดำที่หลายคนกลัวอยู่เสมอ แล้วไม่กล้าเริ่ม ก็เป็นระบบความคิดหลักจิตวิทยาทั่วไป สมองมนุษย์จะสร้างสารออกมาให้เรากลัว เพื่อตัวเองจะได้ไม่ตาย เพื่อจะหาทางออกว่าทำยังไงได้บ้างที่จะผ่านวิกฤตหรือหารายได้เลี้ยงชีพได้

“ตอนนี้ฝั่งดำของเราก็ยังมีอยู่ ยังมีสิ่งที่เรากลัว จะทำยังไงให้คนมาตลอด ทำยังไงให้คนมาวันธรรมดาด้วย หรือทำอย่างไรเพื่อจะซื้อที่ของตัวเอง ซึ่งก็ต้องใช้เงินหลายล้านบาทนะ มีความกลัวตลอดว่าจะทำยังไง มีความไม่กล้า แต่เราก็ต้องค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ป”

เราถามเขาถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ ว่าทั้งหมดนี้เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เขาได้ไหม สำหรับคนหนุ่มวัย 35 ที่ชีวิตเคยผ่านความโลดโผนมาก่อน

“ความมั่นคงของเจมส์คือการยืดหยุ่นและรักษาบาลานซ์ ไม่ใช่มั่นคงแล้วอยู่กับที่ ไม่ทำอะไรต่อแล้ว”

“แบบฉบับของเราคือมั่นคงที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สามารถเลี้ยงดูครอบครัว และได้ช่วยคนอื่นด้วย มันคือการสอดประสานกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจ คือการพอเพียง หิวมากก็กินมากหน่อย หิวน้อยก็กินน้อย เหลือก็แบ่งปัน เป็นรูปแบบการบาลานซ์ชีวิตของเรา

“ถามว่าเรายังเป็นคนเดิมไหม เจมส์ก็ยังเป็นคนเดิม คนเรามีทั้งด้านขาว ด้านดำ ด้านมาร ด้านสนุกสุดโต่ง เราก็แค่บาลานซ์ให้เป็น ถ้าเราอยากเงียบๆ ก็ปิดวันธรรมดา นอนพักผ่อนอยู่บ้าน หาความรู้ เสาร์อาทิตย์เราอยากพูดคุยกับคน ตรงนี้เรากลายเป็นอีกคนแล้ว เราต้องออกไปสื่อสารกับคน ความบ้า ความมันในการออกไปทำคลิปวัตถุดิบก็ยังมีอยู่ มันเป็นเรื่องของการเลือกใช้ชีวิตให้เหมาะสมมากกว่า”

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ