อาจจะฟังดูเป็นคำถามที่แปลกๆ ในยุคที่คนส่วนมากไม่ค่อยยอมขยับร่างกาย คนที่มีกิจกรรมไปเล่นกีฬาแล้วก็ควรจะมีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี แต่ผมแนะนำว่าควรต้องมาเช็กกันอีกที เพราะว่าแม้เราจะเล่นกีฬากันแล้ว แต่หลายกีฬาก็ให้ผลลัพธ์ไม่เพียงพอที่จะทำให้สุขภาพเราแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย

สาเหตุก็เพราะกีฬากับการออกกำลังกายนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มีเพียงบางส่วนที่ซ้อนทับกันอยู่ โดยความหมายของคำว่าออกกำลังกายคือ การขยับเพื่อให้เกิดการพัฒนาสมรรถภาพทางกาย ส่วนความหมายของกีฬาสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งนั่นก็คือ มีกติกาและมีการแข่งขัน

กิจกรรมบางอย่างเป็นได้ทั้งสองอย่าง คือเป็นทั้งกีฬาและการออกกำลังกาย แต่บางอย่างเป็นได้แค่อย่างเดียว

เช่น ถ้าเราไปวิ่ง ก็จะเป็นการออกกำลังกาย แต่ถ้าเราวิ่งแข่งกับเพื่อน แข่งกับตัวเองว่าจะวิ่งให้ได้เร็วขึ้น ไกลขึ้น แม้จะยังไม่ต้องลงงาน แข่งขันจริงจังก็นับว่าเป็นกีฬาด้วย  เช่น ถ้าเราเล่นเวทเทรนนิ่งเป็นการออกกำลังกาย แต่ถ้าเป้าหมายเพื่อลงแข่งเพาะกายก็จะกลายเป็นกีฬา ซึ่งส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร

แต่กีฬาบางอย่างไม่ได้มีความหนักพอที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางกาย เช่น สนุกเกอร์ โบว์ลิ่ง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งกีฬายอดฮิตอย่าง แบดมินตัน ปิงปอง ฟุตบอล บาสเก็ตบอลเองก็ตาม เพราะบางกีฬาแม้จะดูเหนื่อยดูหนัก แต่พอเราไม่ใช่นักกีฬาจริงจัง การเคลื่อนที่ก็น้อย ไม่ทำให้เหนื่อย เช่น เล่นแบดมินตัน ปิงปอง ก็อาจจะเป็นแค่การตีโต้กันเฉยๆ ไม่ได้มีการเคลื่อนที่ไปพยายามรับลูกยากๆ เล่นบาสเก็ตบอลก็อาจจะเป็นแค่การยืนชู้ต รับส่ง เดินไปมา ไม่ได้มีการวิ่งจริงจัง

สาเหตุที่ผมมาเขียนเรื่องนี้ ก็เนื่องจากในคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้มีไกด์ไลน์ว่า

ถ้าอยากมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้วละก็ ควรจะมีกิจกรรมขยับร่างกายแบบแอโรบิก

โดยเป็นการแอโรบิกที่ทำให้ร่างกายมีความเหนื่อยระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ร่วมกับการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การออกกำลังกายไม่ใช่การสร้างกล้ามเนื้อ แต่การออกกำลังกายทำให้ร่างกายเกิดการเสียหาย ซึ่งมันจะไปกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมและสร้างเสริมส่วนที่สึกหรอ ดังนั้นถ้ากิจกรรมที่เราทำ เบาและน้อยเกินไปก็จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น

ถ้าเราอยากรู้ว่ากีฬาที่เราเล่นนั้นหนักเพียงพอแล้วหรือไม่ ต้องไปออกกำลังกายเสริมหรือเปล่า นอกจากการใช้นาฬิกาวัดชีพจรแล้ว เราก็สามารถประเมินได้ง่ายๆ โดยความเหนื่อยระดับปานกลางที่หน่วยงานสุขภาพทั้งหลายต้องการให้เราทำ จะต้องเป็นกิจกรรมที่เราร้องเพลงไม่ไหว เพราะมันต้องเหนื่อยจนเราหายใจแรงกว่าปกติ จึงจะเป็นสัญญาณว่ากิจกรรมที่เราทำมีความหนักเพียงพอ

ดังนั้นใครที่เล่นกีฬาเป็นประจำ แต่ประเมินแล้วว่ากีฬาส่วนมากที่เราเล่นเป็นระดับเบา เล่นไปร้องเพลงไปได้สบายๆ ก็ลองเล่นให้จริงจังมากขึ้นหรือจะหาเวลาออกกำลังกายเสริมก็ได้นะครับ

ภาพประกอบ: missingkk