แม้หลายๆ คนจะคุ้นเคยกับคำว่าออร์แกนิกในนิยามของอาหารที่สะอาดปลอดภัย แต่แน่นอนว่าการได้มาซึ่งอาหารเหล่านี้ก็ล้วนต้องอาศัยพื้นที่และปัจจัยที่เหมาะสม และแตกต่างกันไปตามแต่เหล่าเกษตรกรจะเลือกรังสรรออกแบบ
โดยหนึ่งในเทคนิคการออกแบบพื้นที่ ที่นอกจากจะทำให้เราได้วัตถุดิบสะอาด ปลอดภัยมากมายหลายชนิดแล้ว ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลตามธรรมชาติ และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกรทั่วโลก ก็คือการทำ ‘เพอร์มาคัลเจอร์’ นั่นเอง
คำว่า เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) หรือ Permanent Agriculture เป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นโดยคุณลุงบิล มอลลิสัน (Bill Mollison) นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนชาวออสเตรเลีย เขานิยามคำดังกล่าวไว้ว่ามันคือการออกแบบพื้นที่ที่คำนึงถึงความหลากหลาย ความมั่นคงและระบบนิเวศโดยรวมของเราและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เราได้ทั้งอาหาร พลังงาน ที่อยู่อาศัยและทรัพยากรต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตให้ยั่งยืน
บิลสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยังเด็ก เขาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 เพื่อมาช่วยงานร้านเบเกอรี่ของครอบครัว ตอนนั้นเองเขาได้ใช้เวลาที่เหลือในการลองทำงานที่หลากหลาย ทั้งการไปเป็นชาวประมง ทำงานในโรงสี เป็นนักธรรมชาติวิทยาให้กับ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) และด้วยความสนใจด้านธรรมชาติอย่างแท้จริง เขาจึงตัดสินใจกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญา เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สอนด้านชีววิทยาอีกครั้ง
ในปี 1959 เขาได้มีโอกาสไปศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ตระกูลมาร์ซูเพียล (marsupial) หรือสัตว์พวกที่มีกระเป๋าหน้าที่ท้องป่าฝนแทสเมเนีย เมืองบ้านเกิด การได้เข้าไปในป่าครั้งนั้นทำให้บิลพบว่าระบบนิเวศในป่าเกื้อกูลกันมาก บวกกับช่วงเวลาหลายปีที่เขาได้ทำงานให้กับ CSIRO เขายังพบว่าการใช้ชีวิตของเรายังต้องพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมมากมาย ที่นอกจากจะเป็นการฆ่าเราอย่างช้าๆ แล้ว มันยังค่อยๆ ทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์บนโลกนี้ด้วย
และเพราะข้อเสียมากมายจากระบบอุตสาหกรรมนี่แหละ บิลจึงริเริ่มหาแนวทางการพึ่งพาตัวเองโดยไม่สร้างพิษภัยต่อระบบนิเวศโดยรอบ ผ่านความช่วยเหลือของเดวิด โฮล์มเกรน (David Holmgren) พวกเขาทั้งสองร่วมกันคิดวิธีปลูกพืชและทำเกษตรกรรมที่จะสร้างความสมดุล จนในปี 1974 พวกเขาก็ได้นิยามคำว่า ‘เพอร์มาคัลเจอร์’ ขึ้นมาได้สำเร็จ และ 4 ปีต่อมา ทั้งคู่ก็ได้ร่วมกันทำหนังสือ ‘เพอร์มาคัลเจอร์ วัน’ (Permaculture One) เพื่ออธิบายแนวทางเกี่ยวกับการทำเกษตรดังกล่าวเอาไว้ และบิลยังเปิดสถาบันสอนเกี่ยวกับการทำ เพอร์มาคัลเจอร์ ภายใต้ชื่อ Permaculture Design Course and Certification (PDC) สำหรับสอนคนทั่วโลกที่สนใจในหลักการออกแบบและการปลูกพืชแบบนี้ และปัจจุบันมีคนเข้ามาเรียนแล้วกว่า 3 แสนคนทั่วโลก
ด้วยแนวคิดที่บิลได้ศึกษาอย่างตั้งใจนี้เอง ทำให้ในปี 1981 เขาได้รับรางวัล Right Livelihood Award (Alternative Nobelprize) จากการคิดค้นเรื่อง Permaculture ด้วย
แม้หลักการของเพอร์มาคัลเจอร์อาจจะฟังดูซับซ้อน เพราะต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การออกแบบโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ (ecological design) การออกแบบเพื่อการฟื้นฟู (regenerative design) และศาสตร์อื่นๆ อีกหลากหลาย แต่ในความเป็นจริง Permaculture ก็มีหลักการง่ายๆ อยู่ไม่กี่หลักเท่านั้น เพราะคุณลุงบิลเองก็อยากจะให้แนวความคิดของเขาสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน ในทุกสภาพพื้นที่
ดังนั้นหัวใจหลักของเพอร์มาคัลเจอร์ไม่ว่าจะนำไปใช้ที่ไหน อันดับแรกเลยก็คือการใส่ใจโลก เพราะถ้าไม่มีโลก เราเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ สอง การใส่ใจผู้อื่น เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ และสุดท้าย มีความเป็นธรรม เลือกใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นและคืนสิ่งที่ดีกลับสู่ธรรมชาติด้วย
การจัดพื้นที่แบบเพอร์มาคัลเจอร์ ยังเน้นการจัดวางที่ทำให้ทุกสิ่งเกิดประโยชน์สูงสุดในตัวเอง และเมื่อสิ่งเหล่านั้นรวมกันแล้วจะต้องเกิดประโยชน์สูงกว่าการที่พวกมันอยู่เดี่ยวๆ โดยต้องใช้พลังงาน แรงงานและสร้างขยะให้น้อยที่สุด ซึ่งเราสามารถทดลองสร้างระบบเพอร์มาคัลเจอร์ของตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการปลูกพืช 7 เลเยอร์ ซึ่งถือเป็นการปลูกพืชที่เกื้อกูลกันมากที่สุดและสามารถทำได้ไม่ว่าจะมีพื้นที่เล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม ดังนี้
- Canopy Layer ต้นไม้ใหญ่
- Understory Layer ต้นไม้ที่ต้องอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่อีกที
- Shrub Layer พุ่มไม้ ต้นไม้ที่มีความสูงจำกัด เช่น ต้นไม้ตระกูลเบอร์รี่
- Herbaceous Layer ต้นไม้ล้มลุก เช่น ต้นไม้ที่โตในช่วงหน้าหนาว และสมุนไพร
- Groundcover Layer พืชคลุมดิน เพื่อช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับพื้นดิน
- Underground Layer พืชหัว เห็ด หรือสิ่งอะไรที่เกี่ยวข้องกับดิน รวมทั้งการให้แมลงต่างๆ ที่ช่วยพรวนดินมาอาศัยอยู่ด้วย
- Vertical Layer ไม้เลื้อย
เมื่อจัดพื้นที่ปลูกผักได้แล้ว ใครที่มีพื้นที่มากหน่อย ก็ยังสามารถขยับขยายมาทดลองจัดพื้นที่ 6 โซน เพื่อทำให้พื้นที่ใช้สอยในการปลูกผักแต่ละชนิดส่งเสริมกันไปด้วยก็ได้ โดยไล่ลำดับความสำคัญจากพืชผักที่ใกล้ชิดกับตัวเรามากที่สุด ออกไปสู่ป่าขนาดใหญ่ แบบนี้
- Zone 0 โซนบ้านที่อยู่อาศัย เน้นการประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด ออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ และสมดุลทั้งในด้านการทำงานและการอยู่อาศัย
- Zone 1 โซนพืชผักใกล้บ้าน สำหรับปลูกพืชที่ต้องดูแลมากหน่อย เช่น ผักในฟาร์ม ผลไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นที่สำหรับทำเรือนกระจก เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยจากขยะอาหาร ถ้าเป็นเพอร์มาคัลเจอร์ ในเมืองจะนิยมปลูกพืชแบบ raised bed หรือการสร้างแปลงผักขนาดเล็ก
- Zone 2 ปลูกพืชที่ต้องการดูแลน้อยลงมาอีกหน่อย เช่น พืชหมุนเวียนตามฤดูกาล พืชหัว หรือเลี้ยงผึ้ง
- Zone 3 โซนปลูกพืชสำหรับนำไปขาย ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นประจำ อาจผลัดมาใส่ปุ๋ย หรือรดน้ำอาทิตย์ละครั้ง
- Zone 4 พื้นที่กึ่งป่า ปล่อยเอาไว้เพื่อเก็บผักกินหรือปลูกต้นไม้เอาเนื้อไม้ไปใช้
- Zone 5 โซนป่า หรือพื้นที่ที่ควรปล่อยทิ้งให้ระบบนิเวศจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง จึงมีทั้งแมลงและพืชต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเอง เพื่อช่วยบำรุงระบบนิเวศและส่งเสริมให้โซนอื่นๆ สามารถอยู่ได้
ส่วนใครที่จัดโซนแล้วยังเหลือพื้นที่ว่างบางส่วนก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ด้วยนะ แต่ถ้าไม่นิยมเลี้ยงสัตว์ก็สามารถทำวีแกนเพอร์มาคัลเจอร์ก็ได้ เพียงแค่ปล่อยให้สัตว์ที่เข้ามาอาศัยตามธรรมชาติพึ่งพากันและกันเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปจัดการ
แม้โดยมากหลักการดังกล่าวจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหมู่เกษตรกร แต่ใครที่อยากทดลองสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนของตัวเอง ก็สามารถนำวิธีการบ้างส่วน หรือการจัดพื้นที่บางโซนมาปรับใช้ในบริเวณบ้านของตัวเองก็ยังได้ หรือจะลองดัดแปลงจากโมเดลที่ใกล้เคียงกับการทำ เพอร์มาคัลเจอร์ อย่าง Hügelkultur หรือเทคนิคการทำเกษตรบนคันดิน โดยการฝังไม้ไว้ใต้ดิน เพื่อให้ไม้ช่วยซับน้ำฝน ทำให้เรามีดินชุ่มชื้นเหมาะแก่การเพาะปลูกตลอดปี หรือ วนเกษตร (Agroforesty) ซึ่งเน้นการปลูกพืชให้กลมกลืนกับป่าไม้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ส่วนในบทต่อไปเราจะหยิบเรื่องราวของวิถีอินทรีย์ที่น่าสนใจแบบไหนขึ้นมาเล่า ก็สามารถติดตามอ่านกันได้ที่นี่เลย!