ก่อนจะเข้าเรื่องรัก ขอเกริ่นอย่างรวบรัดก่อน
ตูเช่ – อังสุมารินทร์ เหล่าเรืองธนา และเบียร์-นิกร ศรีพงศ์วรกุล คือเจ้าของร้าน craft bread ร้านขนมปังสุดน่ารักริมทะเลสาบในหมู่บ้านสัมมากร ความพิเศษของขนมปังร้านนี้คือใช้แป้งโฮลวีตออร์แกนิก 100% ปราศจากนม เนย ไข่ และวัตถุกันเสีย มีดีกรีดีต่อสุขภาพกายและสบายใจทั้งคนทำคนกิน ซึ่งถ้าย้อนไปตอนเริ่มแรก ทั้งคู่เปิดเตาขายผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก แต่ความอร่อยโดดเด่นเป็นที่เลื่องลือทำให้ต้องขยับขยายมีหน้าร้านควบการส่งทางไปรษณีย์ กิจการขนาดกะทัดรัดดำเนินไปได้ด้วยดี แต่จู่ๆ ก็มาประกาศปิดร้านพักเตายาวนานหลายเดือน
เมื่อต้นปี craft bread เปิดประตูอีกครั้งและได้รับการต้อนรับจากแฟนประจำอย่างอบอุ่นเกือบเท่าอุณหภูมิอบขนมปัง เราจึงถือโอกาสนี้ชวนทั้งคู่คุยกันยาวๆ ตั้งแต่รักกันได้ยังไง หายไปไหนมา เลยรวมไปจนถึงเรื่องสุข เรื่องเศร้า และเรื่องที่ทำให้ใจพองโต
และนี่คือเรื่องรักที่ไม่มีใครพูดคำว่ารัก แต่จะทำให้เราหันกลับมารักตัวเอง
.
ความรักของคนรัก
ความรักของคนสองคนคือจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ตูเช่และเบียร์คือเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกันที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งคู่แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตเมื่อเรียนจบ ชายหนุ่มก้าวขาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะ Director of Photography ทำงานในกองถ่ายโฆษณาและซีรีส์ตรงสาย ส่วนหญิงสาวเลือกเป็นแอร์โฮสเตสที่ได้เดินทางท่องเที่ยวอย่างที่ชอบ และมีรายได้ที่ดีเพื่อดูแลครอบครัว แต่บนเส้นทางที่เหมือนจะห่างออกไป ทำให้เมื่อได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นคนรัก และกลายเป็นคู่ชีวิตตามลำดับเมื่อฝ่ายชายเอ่ยปากขอแต่งงาน
เรียบง่ายเหมือนความรักส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ พวกเขาได้ใช้ชีวิตที่ชอบ ได้ทำงานที่รัก ได้ใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน จนกระทั่งร่างกายของตูเช่เริ่มรวน มีอาการชาครึ่งซีกมาเคาะประตูเรียกเป็นพักๆ และในวันที่แอร์โฮสเตสสาวต้องทำหน้าที่บนเครื่อง ใบหน้าของเธอก็เกิดเบี้ยวไปครึ่งซีกและน้ำตาไหลไม่หยุด ในขั้นแรก หมอวิเคราะห์ว่าเธอเป็นเส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ แต่เมื่อทำ MRI ก็พบว่าเส้นเลือดในสมองข้างขวาตีบ ทำให้เกิดอาการชาที่ซีกซ้าย อันเป็นผลพวงมาจากโรคน่ากลัวอย่าง SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองที่มีชื่อเล่นว่าโรคพุ่มพวง
“โรคแพ้ภูมิตัวเองหลากหลายมากค่ะ บางคนลงที่ระบบผิวหนัง ลงระบบไต แต่ของเช่มันขึ้นระบบประสาท เลยทำให้เราเส้นเลือดในสมองตีบ ตอนนั้นก็ยังมีฝืนไปบินนะ แต่นาฬิกาชีวิตของเราไม่เหมือนคนอื่นอยู่แล้ว กินนอนไม่เป็นเวลา เดี๋ยวตื่นเช้ามืด เดี๋ยวตื่นบ่าย สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว เลยลงมาทำงานที่ออฟฟิศก่อน แต่มันก็ไม่ใช่ทางเราเลย และเราจะมีช่วงที่โรคสงบกับโรคกำเริบ ถ้าเราดูแลร่างกายดีกินยาสม่ำเสมอก็จะสงบ แต่ถ้ากำเริบขึ้นมาก็ต้องนอนนิ่งๆ ทำอะไรไม่ได้เลย”
.
ขนมปังบำบัดทุกข์ คนรักบำรุงสุข
ถามถึงสาเหตุ คุณหมอส่ายหน้าไม่อาจชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ผู้ป่วยอย่างเธอเชื่อว่าการใช้ชีวิตที่ผ่านมาน่าจะมีผล อย่างมากในการก่อโรค “ที่คนไทยป่วยกันเยอะ เช่ว่าเป็นที่อาหาร มันเกี่ยวกับจิตสำนึกของคนทำอาหารด้วยนะคะ ว่าเขาคัดเลือกวัตถุดิบอะไรมาให้เรากิน คือแต่ก่อนเช่ไม่ได้เครียดเรื่องกินเลย เป็นคนกินอะไรก็ได้หมด อยู่บนเครื่องต้องกินอาหารลูกเรือที่เตรียมมาให้เรา ซึ่งมันอาจจะอบในพลาสติกหรือฟอยล์ก็ได้ เราก็คิดว่ากินๆ ไปเถอะ ตอนนั้นรู้สึกนะว่าคนที่กินยาก นี่ทำไมต้องยากขนาดนั้นนะ ไม่เห็นมีอะไรเลย พอมาเจอกับตัวเองถึงรู้”
โรคนี้ทำให้ร่างกายของเธอตอบสนองต่อความผิดปกติของอาหาร สภาพอากาศ และการพักผ่อนอย่างจับต้องได้ อาการตัวบวมครึ่งซีก เหนื่อยง่าย ปวดข้อกระดูก จะมาก่อกวนทันที นี่ยังไม่นับความเครียดและความเศร้าที่ต้องลาออกจากงาน ตูเช่เริ่มเรียนรู้ที่จะรักตัวเองอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตใหม่ โดยมีคู่ชีวิตอย่างเบียร์คอยดุและปลอบอยู่ข้างๆ รวมทั้งคะยั้นคะยอให้ภรรยาลุกออกจากความเศร้าด้วยการลงมือทำ
หญิงสาวไปเรียนทำขนมปังกับครูแป้น พัชรบูรณ์ ด่านโพธิวัฒน์ แห่งห้องเรียนขนมปังทำเอง แม้จะไม่ใช่นักเรียนดีเด่นและเก่งอะไร แต่เธอก็ค้นพบว่าการทำขนมปังเป็นความสุขที่จับต้องได้และอร่อยด้วย นักเรียนขี้เห่อกลับมาอบขนมปังเป็นบ้าเป็นหลัง และมองหาวัตถุดิบที่ดีกับผู้ป่วยอย่างเธอ แป้งสาลีโฮลวีต 100% และวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพอย่างน้ำผึ้งธรรมชาติ น้ำมันมะกอกเกรดดี ถั่ว ช็อคโกแลต แครนเบอร์รี่ ชาร์โคล และผลไม้แห้งคัดสรร กลายเป็นคำตอบ เธอค่อยๆ ปรับสูตร เพิ่มนั่น แปลงนี่จนกลายเป็นบันก้อนกลมเป็นโลฟเนื้อแน่นน่ากินหลากหลายแบบ และใครๆ ที่ได้ลองชิมเป็นต้องติดใจ เมื่อมีแรงยุให้ลองเปิดขายผ่านช่องทางออนไลน์ เธอก็ได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้า เริ่มมีสื่อให้ความสนใจช่วยประชาสัมพันธ์ ออร์เดอร์ส่งไปรษณีย์เยอะขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งขยับขยายมีหน้าร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง
.
“ทำขนมปังเป็นการคลายทุกข์ของเช่ค่ะ เราได้ทำอะไรบางอย่างที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา เหมือนทำงานศิลปะบางอย่างที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วพอมีคนกินแล้วเขาแฮปปี้ แล้วเขาบอกเรากลับมาด้วยว่า เฮ้ย มันดีน่ะ เราเริ่มรู้สึกว่าเราหายเศร้าเพราะมัน เลยใช้คำว่า ‘all sorrow are less with bread’ เป็นสโลแกนร้าน” ตูเช่ยิ้มและให้เครดิตว่าแม้ว่าการทำขนมปังจะเป็นงานที่หนักเกินกว่าคนป่วยอย่างเธอจะรับมือ แต่เบียร์คืออีกกำลังหลักหลังร้านที่คอยซัพพอร์ตอย่างแข็งขัน
“ผมเห็นเขานั่งทำทั้งวันเลย ตื่นมา 6 โมงเช้าอยู่หน้าเตาถึง 5 โมงเย็น เหนื่อยไปไหมนะ แล้วยิ่งเขาไม่สบาย ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าเราแบ่งเบาอะไรได้ก็อยากทำ กลัวเขาไม่สบายแล้วทรุดอีก เริ่มจากแรกๆ ก็ให้เขาสอนก่อน เอาผสมง่ายๆ แล้วก็เริ่มปั้น จนเริ่มทำเป็น จริงๆ ผมก็ไม่ได้อินหรือรู้สึกถึงการได้ทำขนมปังอย่างเช่หรอก ผู้ชายน่ะครับ แต่เราเข้าใจกระบวนการของมัน แล้วเราได้เห็นเขามีความสุข ก็รู้สึกดีที่ทำให้เขามีความสุขได้” คู่รักตัวอย่างบอกเล่าอย่างซื่อตรง ในขณะที่หญิงสาวยิ้มกว้างอยู่ข้างๆ และยืนยันว่าไม่เคยพูดเรื่องแบบนี้กัน แม้เจ้าตัวก็จะรู้สึกขอบคุณอยู่เสมอก็ตาม
.
แฮปปี้เอนดิ้ง?
ความรักที่ดี และงานที่เต็มไปด้วยความสุขคือคำตอบที่น่าอิจฉา แต่ชีวิตไม่ง่ายและงดงามเสมอไป
หลังจากเปิดร้านได้ไม่นาน ตูเช่ต้องประกาศปิดเตาและหยุดร้านชั่วคราว เพราะพบมะเร็งในเนื้อเยื่ออ่อนและเนื้องอกบริเวณแขนหลายจุด ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรค SLE แน่นอนว่าการต้องเข้าผ่าตัดรักษาตัวครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เธอป่วยแค่กาย ใจก็เป๋เซตามไปด้วยเพราะไม่สามารถใช้แขนนวดขนมปังได้เหมือนเดิม ความรู้สึกของคนป่วยที่พบ ‘ยารักษาโลก’ ของตัวเอง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ เป็นเรื่องชวนเศร้าระดับหมดเรี่ยวหมดแรง
แต่สิ่งที่น่ารักคือเบียร์ยังคงคอยอยู่ข้างๆ ดูแลตอนนอนป่วย พาไปพักฟื้นต่างจังหวัด และไปกางเต้นท์นอนในคอร์สธรรมชาติบำบัดด้วย!
“ตอนไปคอร์สธรรมชาติบำบัด ไปเรียนรู้เรื่องการควบคุมอาหาร อาหารฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น ว่าเราต้องกินผักแบบนี้ เช่ร่างกายร้อน ก็ควรหลีกเลี่ยงพวกเนื้อสัตว์ ให้กินผักฤทธิ์เย็นมากๆ จริงๆ ตอนไปก็รู้สึกว่าสายแข็งจัง แต่เราก็ไปศึกษาแล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง ซึ่งเราชอบเรื่องสมดุลมาก เขาพูดเรื่องสมดุลร้อนเย็น และความสมดุลของเราในทุกๆ เรื่องของชีวิต ซึ่งดันไปสอดคล้องกับตอนที่ไปเวิร์กช็อปทำอาหารกับคนญี่ปุ่นที่มา ตอนที่หยุดไปก็พยายามทำอาหารกินเองบำบัดเครียดด้วยแหละค่ะ พอทำเองเรารู้ว่าเราเลือกอะไร รู้ว่ามันไม่ได้ใส่ผงชูรส มันก็บำบัดใจได้ด้วย” แม่ครัวมือใหม่เล่ายิ้มๆ ส่วนคนที่คอยชิมอยู่ข้างๆ ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะดูแลเรื่องการกินของตัวเองให้ดีขึ้นไปด้วย เพราะ “ถ้าต้องกินของที่เขากินไม่ได้ ก็รู้สึกผิดเหมือนกัน”
เอาเข้าจริง ทั้งคู่ไม่ได้เพิ่งมารู้จักความสมดุลตอนไปคอร์สธรรมชาติบำบัดหรือเวิร์กช็อปทำอาหาร บทเรียนเรื่องนี้อยู่ในห้องครัวในทุกวันที่ลงมือทำขนมปัง เพราะแป้งโฮลวีตไม่ได้นุ่มนิ่มเหมือนขนมปังขาวที่ใส่นมเนยแล้วจะนุ่มฟู นักอบขนมปังร้านนี้ต้องดูเรื่องความชื้นและอัตราส่วนอย่างดี และไม่สามารถตวงตามสูตรสำเร็จได้เสมอไป เพราะอุณหภูมิแต่ละวัน หรือแป้งแต่ละถุงก็ไม่เคยเท่ากัน ความสมดุลของส่วนผสมจึงเป็นเรื่องที่เธอและเขาได้เรียนรู้
อยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลานำออกมาปรับใช้ พวกเขาได้ใช้มันกับชีวิตด้วย
“ความรู้สึกตอนที่รู้ว่าป่วย มันเป็นความรู้สึกที่หนัก เหมือนฉุดลากเราลงไปในหลุมดำ แต่พอยิ่งเครียด ยิ่งท้อ มันก็ยิ่งกดตัวเองต่ำลงไป ต้องหาพลังบวกมาเติม มาทำให้มันสมดุล”
และพลังบวกที่ว่านั้น มาจากลูกค้านักกิน.
.
เปิดร้านรับความรัก
“ช่วงที่ปิดไป ลูกค้าไลน์มาคุยบ่อยมาก คือส่วนหนึ่งเขาคงคิดถึงขนมปังเราแหละ แต่มีความเป็นห่วงเราด้วย ลูกค้าบางคนนับถือคริสต์ก็บอกว่าจะอธิษฐานให้ บางคนมาหา มาให้กำลังใจ เราเป็นพวกประเภทอ่อนไหวด้วย มันซึ้งนะ ก็บอกเบียร์ว่าเราปิดไม่ได้หรอก มาขนาดนี้แล้ว มันไปไกลเกินกว่าจะหยุดแล้ว”
ทั้งคู่เพิ่งเริ่มต้นอบขนมปังอีกครั้งเมื่อต้นปี และได้กำลังใจจากลูกค้าเต็มเปี่ยมในรูปแบบต่างไป บางคนขับรถจากกรุงเทพฯ เพื่อตามไปอุดหนุนขนมปังในงานออกร้านที่ปากช่อง บางคนมาให้กำลังใจในวันแรกที่เปิดร้าน และบางคนก็มาหาเพื่อยืนยันว่าความรักเผื่อแผ่และแบ่งปันกันได้จริง
“มีลูกค้าเป็นครูสอนเปียโนค่ะ ไม่ได้สนิทกัน เจอกันแค่ 2-3 ครั้ง พี่เขาเป็นมะเร็ง วันนั้นมาหาที่ร้านแล้วพูดกับเช่ว่า “เศร้าเมื่อไหร่ไปหาพี่นะ ไปเล่นเปียโนด้วยกัน คิดว่าเป็นเพื่อนกันนะ” แล้วก็กอดกัน เหมือนว่าเราได้ผ่านจุดที่ยากมาเหมือนกัน ตอนนั้นร้องไห้กันทั้งคู่เลยค่ะ เบียร์ก็ยืนร้องไห้อยู่ข้างหลังร้าน” เช่หัวเราะทั้งที่มือยังปาดน้ำตาไปด้วย
.
“ผมรู้สึกว่า ความรู้สึกของเช่ที่ทำขนมปังที่ดีลงไป มันสามารถส่งผ่านไปให้ลูกค้าได้ จริงๆ ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเชื่อว่าการที่เรามานั่งประณีตกับอาหาร คนที่กินเขาจะรู้สึกได้ แต่สิ่งนี้เปลี่ยนความคิดเรา คือเวลาที่เราตั้งใจทำ เลือกของที่ดีที่สุดลงไป คนที่กินเขารู้สึกได้จริงๆ ว่ามันดี แล้วมันสะท้อนกลับมา” เบียร์เล่าถึงลูกค้าน่ารักที่คอยอุดหนุน ให้กำลังใจ และส่งกลับความน่ารักมากมายที่ไม่ใช่แค่การซื้อขายหรือตัวเงิน ก่อนที่เช่จะเสริมต่อด้วยเสียงสดใส “ยังคุยกันว่าเหมือนในหนังเลยนะ ใครเขียนบทมาหรือเปล่า พลังบวกมันส่งกันได้จริงๆ”
และความรักที่รายล้อมอยู่รอบตัวของทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีให้กันและกัน ไปจนถึงความรักที่ส่งต่อสื่อสารกันผ่านขนมปังก้อนแล้วก้อนเล่า น่าจะเป็นคำตอบของความสมดุลในแบบฉบับของเขาและเธอ
FB: www.facebook.com/craftbread
ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง