กลับมาอีกครั้งกับ Greenery Journey หลังจากล่าสุด เราพากันไป ลุยสวน ล้อมวง ลงฟาร์มกับ ‘ลุงรีย์ & กำนันหนุ่ม’ รอบนี้ถึงเวลาท่องโลกความหวาน กับ Greenery Journey ตอน ความสัมพันธ์ของน้ำผึ้งป่า ระบบนิเวศ และวิถีชุมชน ที่อัดแน่นทั้งความรู้และความสนุก กับ เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ ผู้เชี่ยวชาญน้ำผึ้งป่าของไทย มาแบ่งปันประสบการณ์ว่า “ผึ้ง” มีส่วนสำคัญกับ “ระบบนิเวศ” และ “ชุมชน” อย่างไร ผ่านการชิมน้ำผึ้งหลากสายพันธุ์จากทั่วประเทศ
เส้นทางความหวานที่ยั่งยืน เริ่มกันแต่เช้าที่สเปซดี ๆ อย่าง ยัง แฮปปี้ ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์ ในบรรยากาศฟีลกู้ดสุด ๆ พร้อมด้วย เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ได้กล่าวต้อนรับเพื่อน ๆ ผู้รักการกรีนเข้าสู่กิจกรรมสนุก ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย WWF ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SCP) ระยะที่ 2 และตั้งใจที่จะมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืนเป็นประจำทุกเดือนไปจนถึงปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Eat Good Live Green”
ก่อนไปเรียนรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของน้ำผึ้งป่า เราขอแนะนำวิทยากรคนสำคัญของกิจกรรมนี้สักนิด เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ เป็นนักสะสมน้ำผึ้งและนักชิมน้ำผึ้งมามากกว่า 300 รส พ่วงด้วยการเป็นผู้พาน้ำผึ้งจากป่าออกเดินทางไปหาผู้บริโภค เพื่อบอกเล่าเรื่องความหลากหลายของน้ำผึ้ง ระบบนิเวศของป่าและชุมชนไปพร้อม ๆ กัน ภายใต้แบรนด์ ‘บำรุงสุข’
เบนซ์ ได้เริ่มต้นแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า “ปีนี้เป็นปีที่ 7 ที่ทำธุรกิจน้ำผึ้ง และวันนี้เราย่อยรสชาติน้ำผึ้งไทยได้ 10 รสชาติ คือจริง ๆ เมื่อก่อนเราทำหลายอย่างมาก ทำเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรียนเรื่องระบบนิเวศ จนปลายทางเราจบที่เรื่องของน้ำผึ้ง วันนี้เราเลยได้รับองค์ความรู้รวม ๆ ที่เป็นจิ๊กซอว์มาต่อกัน ต้องบอกว่าเราสามารถปลุกดินได้ ทำฮอร์โมนให้พืชได้ แต่สิ่งที่เราทำไม่ได้คือการผสมเกสร เหมือนกับพอเรามีฮอร์โมนให้พืช เขาพร้อมตั้งท้องได้ แต่ปัญหาคือไม่มีผู้ชาย เราเปรียบแมลงเป็นผู้ชาย ก็คือพาเกสรต่าง ๆ ทั้งตัวผู้ ตัวเมียมาผสมพันธุ์ เพื่อที่จะได้ผลผลิต”
นักสะสมน้ำผึ้งคนนี้ยังเล่าต่ออีกว่า ผึ้งหรือแมลงในวงศ์ผึ้ง ไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ในธรรมชาติ แต่ผึ้งคอยผสมเกสรและย้ายละอองเรณูจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง ทำให้พืชเหล่านั้นผลิดอกออกผล และมีบทบาทสำคัญมากในระบบนิเวศ รวมถึงรสชาติของน้ำผึ้งยังสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วย
“ปัจจัยที่ส่งผลต่อรสชาติน้ำผึ้งมีอยู่หลายอย่าง และตัวรสชาติเองก็เป็นตัวบ่งบอกว่าผืนป่าประเทศไทยเป็นแบบไหน คือความโชคดีของเมืองไทยคือเป็นเขตร้อน น้ำผึ้งเรามีความหลากหลายเยอะ นอกจากนี้รสก็ขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้งด้วย ซึ่งก็มีหลายชนิด เช่น แมลงภู่ ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม และชันโรง”
ส่วนรัศมีการหากินของผึ้งก็ต่างกัน อย่างผึ้งโพรงจะหากินประมาณ 1 กิโลเมตร คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือในรัศมี 1 กิโลเมตร จากบ้านเรา ดังนั้นระบบนิเวศในการเลี้ยงผึ้งโพรงที่ดี จึงต้องมีพื้นที่สีเขียวที่มีพืชอาหารของผึ้งในระยะที่เจ้าผึ้งออกเดินทางไปหากิน ต่อด้วย ผึ้งมิ้น การหากินอยู่ประมาณ 2 ร้อยเมตร ถึง 1 กิโลเมตรพอ ๆ กับชันโรง กลิ่นและรสค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับระบบนิเวศ เพราะส่วนใหญ่อยู่ตามสวนและในป่า เช่น เขตภาคกลาง ตามต้นไผ่ ต้นมะขาม ต้นมะม่วง เป็นต้น
และสำหรับชันโรง นับว่าเป็นตัวช่วยในเรื่องระบบนิเวศได้เยอะที่สุดของแมลงในวงศ์ผึ้ง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีชันโรงทั้งหมด 35 ชนิด ซึ่งเบนซ์บอกว่า ถ้าต้องการน้ำหวานให้เลี้ยงผึ้ง แต่ถ้าต้องการระบบนิเวศในสวนให้เลี้ยงชันโรง เพราะเป็นแมลงผสมเกสรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง และมีรังที่จัดการได้ง่ายเพราะไม่ต่อย ขนาดรังไม่ใหญ่ ที่สำคัญไม่ย้ายหนีรัง สามารถสร้างรังต่อเนื่องได้นาน ทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงมีโพรไบโอติกส์ชั้นดี แต่ทั้งนี้ชันโรงแต่ละชนิดกินอาหารต่างกัน ทำให้ได้รสชาติน้ำหวานที่ต่างกัน
มากกว่าชนิดของผึ้ง อาหารของผึ้งที่ส่งผลต่อรสชาติ เบนซ์อธิบายว่าแหล่งที่มาของน้ำผึ้งก็ส่งผลต่อรสชาติเช่นเดียวกัน “น้ำผึ้งถึงจะมาจากจังหวัดเดียวกันแต่คนละอำเภอ รสชาติก็ไม่เหมือนกัน เช่น น้ำผึ้งทางเหนือจะหวานและหอมชัด หรือบางที่ก็ติดเปรี้ยวบ้าง ส่วนทางใต้มักจะติดเปรี้ยวและมีกลิ่นเฉพาะ หรือบางที่รสก็เกิดจากดอกไม้หรือผลไม้ที่ผึ้งบินไปตอม ก็จะเกิดความซับซ้อนของรสชาติและคุณค่าทางอาหาร เช่น น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาวของป่าภาคใต้ หรือน้ำผึ้งดอกเถาวัลย์ของอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก”
นอกจากนี้นักสะสมน้ำผึ้งอย่างเบนซ์ ยังได้แชร์ถึงการเก็บน้ำผึ้งว่าควรเข้าใจธรรมชาติของผึ้ง เข้าใจฤดูการเก็บน้ำผึ้งและไม่เก็บน้ำผึ้งไปจากรังทั้งหมด เพื่อเซฟวงจรการทำงานของผึ้ง และมีน้ำผึ้งไว้ใช้บริโภคหรือใช้เป็นยาได้อย่างหมุนเวียน
หลังจากได้ฟังความรู้ดี ๆ ก็ถึงเวลาที่เราได้ชิมน้ำผึ้งหลากรสจากทั่วประเทศ โดยเบนซ์เล่าให้ฟังก่อนเริ่มต้นชิมว่า น้ำผึ้งที่ดีต้องมีหลายมิติในรสเดียว ส่วนรายละเอียดของรสชาติมีถึง 10 รสชาติ ได้แก่ รสหวาน หวานหอมกลิ่นดอกไม้ หวานนวล หวานเปรี้ยว หวานขม หวานเย็น หวานเค็ม และอีก 2 รสจากกลิ่นเฉพาะของพื้นที่ที่ชัดเจน เช่น น้ำผึ้งป่าชายเลนก็จะมีกลิ่นเหมือนกลิ่นผลไม้หมัก หรือน้ำผึ้งป่าพรุในระบบนิเวศน้ำกร่อยและน้ำจืดก็จะได้อีกรสหนึ่ง
ขั้นตอนการชิมรสน้ำผึ้งในครั้งนี้ เบนซ์ได้เตรียมตัวอย่างน้ำผึ้งมาหลายสิบขวด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรรมได้สัมผัสความหลากหลายที่ซับซ้อนของรสชาติ อันเกิดจากความต่างของชนิดผึ้ง สภาพอากาศ อายุของน้ำผึ้งรวมถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ผึ้งเก็บเกสรมาผลิตน้ำหวาน ด้วยการชวนให้ทุกคนค่อย ๆ นำไม้จุ่มน้ำผึ้งในขวดขนาดเล็ก ดมกลิ่น แตะลงบนลิ้น และชิมรส
บอกเลยว่ามิชชั่นนี้พาให้ทุกคนได้ตื่นตา ตื่นใจ และพูดคุยแลกเปลี่ยนรสชาติที่ตัวเองได้ชิมกันอย่างสนุกสนาน เพราะบางขวดก็ชวนให้บางคนเคลิ้มในความหวานหอมจนตาหยี บางขวดก็ให้รสชาติที่ซับซ้อนหลายมิติ อย่าง น้ำผึ้งโพรง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดลำพูน เดือน 5 ปี 66 ที่ให้รสหวาน หอม อมเปรี้ยว หรือจะเป็นขวดของน้ำผึ้งหลวง ดอกมะพร้าว บ้านปรก จังหวัดสมุทรสงคราม เดือน 8 ปี 66 ให้รสที่ไม่เคยเจอมาก่อนอย่างรสเค็ม อีกทั้งยังมีมิติของความหวานหอมและเปรี้ยวเบา ๆ
ส่วนรสหวานขม เราก็ได้ชิมจากขวดน้ำผึ้งดอกเถาวัลย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ปี 65 และผึ้งโพรง ดอกกาแฟ บ้านป่าแปร์ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดือน 5 ปี 66 ไปจนขวดผึ้งหลวงเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หยดใส ๆ สีเหลืองทองสวย ก็สร้างความเซอร์ไพรส์ให้เหมือนกัน เพราะไม่เคยคิดว่าน้ำผึ้งจะมีรสหวานเย็น และอีกขวดที่ปลุกความตื่นเต้น ก็คือน้ำผึ้งรสเผ็ด จากน้ำผึ้งหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เดือน 5 ปี 54 ที่มีสีดำเข้มและค่อนข้างมีความหนืด นอกจากนี้เรายังได้ชิมน้ำผึ้งจากต่างประเทศอย่างภูฏาน รัสเซีย และอีกหลายขวดที่ไม่สามารถเล่าตรงนี้ได้หมด
ตลอดกิจกรรมเบนซ์เน้นย้ำเรื่องความหลากหลายของรสชาติ และยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยของรสชาติที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ก็คืออายุของน้ำผึ้ง ถ้าเราชิมปีนี้กับชิมปีหน้า รสชาติก็ต่างกัน หรือบางคนก็บอกน้ำผึ้งต้องเดือน 5 แต่จริง ๆ อาจเป็นแค่เรื่องการตลาด แต่ถ้าถามเดือน 5 มีผลอย่างไรกับน้ำผึ้ง เดือน 5 มีความชื้นต่ำที่สุด เกสรดอกไม้หลากหลายที่สุด แต่ส่วนตัวมองว่าน้ำผึ้งดีทุกเดือน เราบอกไม่ได้ว่าน้ำผึ้งเดือนไหนอร่อยกว่ากัน มันเป็นเรื่องความชอบของแต่ละคน”
“ทั้งนี้ความหลากหลายของรสชาติ เป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้น้ำผึ้งป่าต่างกับน้ำผึ้งฟาร์ม ซึ่งสามารถลองสังเกตง่าย ๆ ว่าพวกน้ำผึ้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนซื้อปีไหนก็รสชาติเดียวกัน ต่างจากน้ำผึ้งป่าหรือน้ำผึ้งที่บำรุงสุขทำที่แต่ละล็อตหมดแล้วหมดเลย ที่สำคัญเราทำเรื่องความยั่งยืนทางอาหารด้วย เราจึงเชื่อว่าการกินอาหารที่หลากหลายเป็นเรื่องดี น้ำผึ้งแต่ละรสก็เหมาะกับอาหารที่ต่างกัน”
และด้วยความที่เบนซ์ทำเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร การทำงานของบำรุงสุข ฟาร์มจึงครบทั้งห่วงโซ่ ทั้งเป็นเกษตรกรที่มีน้ำผึ้งจากสวนอินทรีย์ของตนเอง เป็นตัวกลางรับซื้อน้ำผึ้งจากเกษตรกรชุมชนทั่วไทย และเป็นผู้ประกอบการที่สื่อสารเรื่องความยั่งยืนผ่านรสหวานของน้ำผึ้งนี้กับผู้บริโภคโดยตรง
ขณะเดียวกัน น้ำผึ้งบางล็อตของแบรนด์บำรุงสุข ถ้ายังไม่ได้มาตรฐานที่ตั้งไว้ เขาจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำผึ้งหมักผลไม้ ‘ไทยฮันนี่โซดา’ ที่วันนี้เขาได้ชงให้ผู้ร่วมวิถีกรีนดี กินดี ได้ชิมส่งท้ายกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่เบนซ์เลือกจับคู่น้ำผึ้งกับผลไม้ไทยทั้งหมด เช่น มะแปม ขิง พุทราไทย และกล้วย เรียกว่าเป็นแก้วที่ได้ทั้งรสชาติและกลิ่นที่แปลกใหม่ ทั้งสะท้อนมิติของความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
สำหรับคนที่พลาดกิจกรรมในครั้งนี้ รอติดตามกิจกรรมสนุก ๆ ครั้งต่อไป ได้ที่เพจ Greenery. กันไว้ได้เลย