ในบรรดาวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารท้องถิ่นทางเหนือและอีสาน “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” คือตัวละครสำคัญที่ช่วยชูรสและสีสันให้กับมื้ออาหารยามย่างเข้าฤดูฝน ด้วยความอร่อยของเห็ดเมล็ดกลมที่มีเนื้อในเป็นครีมขาวละมุนนั้นส่งให้มันกลายเป็นสินค้ามีราคา ช่วงต้นฤดูกาลบางปีเห็ดเผาะจึงอาจมีราคาถึง 5-6 ร้อยบาทต่อกิโลกรัม และด้วยข้อจำกัดของเห็ดเผาะที่จะเติบโตอยู่เฉพาะในป่าเต็งรังที่ห่างไกลจากมลพิษและสารเคมี รวมถึงต้องมีต้นไม้ใหญ่หยั่งรากลึกเป็นบ้านให้กับมัน ทำให้การเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะมีต้นทุนสูงมาก การได้มาซึ่งเห็ดชนิดนี้จึงมักเป็นการเก็บหาจากธรรมชาติเกือบทั้งหมด และนั่นทำให้กิจกรรมเก็บเห็ดเผาะเป็นเรื่องที่ถูกจับตามอง

ปัจจุบันมีข้อพิสูจน์พบว่าการเผาหน้าดินไม่ได้ส่งเสริมการเติบโตของเห็ดเผาะแต่อย่างใด

ด้วยเห็ดเผาะนั้นจะเติบโตดีช่วงต้นฤดูฝน เมื่อพายุฤดูร้อนพัดมาและทำให้ป่าเต็งรังชุ่มชื้นขึ้นอีกครั้ง สลับกับอากาศร้อนอบอ้าวของปลายฤดูร้อน จะช่วยเร่งให้เชื้อเห็ดเผาะที่แฝงอยู่บริเวณรากไม้ใหญ่ก่อตัวกลายเป็นเห็ดเมล็ดกลมสีดำเจือน้ำตาล และเมื่อนั้นเองที่นักล่าเห็ดเผาะจะเริ่มให้เทคนิควิธีต่างๆ เสาะหามันลงตระกร้า และหนึ่งใน ‘ความเชื่อ’ ที่กล่าวกันว่าจะทำให้เห็ดเพาะขึ้นดี คือการเผาหน้าดินในป่าเต็งรังซึ่งในบางครั้งอาจเกิดไฟลุกลามและกลายเป็นต้นเพลิงของไฟป่าอย่างไม่คาดคิด กินพื้นที่ป่าในวงกว้างทำลายทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงปัจจุบันมีข้อพิสูจน์พบว่าการเผาหน้าดินไม่ได้ส่งเสริมการเติบโตของเห็ดเผาะแต่อย่างใด

ทีมวิจัยจากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยป่าไม้และชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอว่าการเผาหน้าดินนั้นนอกจากไม่ได้เพิ่มปริมาณเห็ดเผาะในธรรมชาติแล้ว ยังทำลายสปอร์เห็ดที่อยู่บริเวณผิวดิน ส่งผลให้เห็ดเผาะในฤดูกาลถัดไปลดจำนวนลงด้วย การเผาหน้าดินจึงเป็นเพียงการกรุยทางให้สะดวกต่อการเก็บเห็ดเท่านั้น ไม่ได้มีผลส่งเสริมการงอกของเห็ด ทั้งยังทำให้เห็ดเผาะกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ ในสายตาใครหลายคนไปโดยปริยาย กระทั่งกลายเป็นว่าการสนับสนุนให้บริโภคเห็ดเผาะนั้นนับเป็นเรื่องทำลายธรรมชาติ ทั้งที่ความจริงแล้ว เห็ดเผาะเป็นเพียงเหยื่อของความเข้าใจผิดเท่านั้น

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกันคิดค้นวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะตามธรรมชาติที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชนจนประสบความสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากการจำลองบ้านของเห็ดเผาะ ผ่านการสกัดเอาเชื้อเห็ดจากเผ็ดเผาะแก่จัด มาผสมกับอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วนำไปรดลงบนกล้าไม้ยืนต้นเป็นประจำราว 2-3 เดือน กระทั่งกล้าไม้เเข็งแรงจึงนำไปปลูกลงดินในพื้นที่ห่างไกลจากมลพิษ จากนั้นเชื้อเห็ดจะค่อยๆ เติบโตอยู่แถวรากไม้ และกลายเป็นเห็ดเผาะเนื้อครีมภายในระยะเวลา 1-3 ปี

มากไปกว่านั้น ยังมีวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดเพาะอีกหลายแบบที่ให้ผลผลิตดีไม่แพ้กัน อาทิ การนำเชื้อเห็ดเผาะผสมกับปุ๋ยมูลสัตว์และนำไปบำรุงไม้ยืนต้นเป็นประจำ โคนต้นไม้ใหญ่นั้นก็จะให้กำเนิดเห็ดเผาะคุณภาพดีอย่างต่อเนื่องได้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าไม่ว่าจะโคนต้นไม้ใหญ่ประจำบ้านหรือประจำชุมชนใดก็สามารถมีเห็ดเผาะขึ้นให้เก็บกินได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเสาะหาเห็ดเผาะในป่าลึกหรือป่าเต็งรังอย่างที่เคยเป็นมา

อย่างไรก็ตาม วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่สังคมต้องร่วมกันพัฒนา อาทิ การร่วมมือกันดูแลป่าชุมชนหรือพื้นที่สีเขียวต่างๆ อันเป็นบ้านของเห็ดเผาะให้ห่างไกลจากมลพิษและสารเคมี เพื่อให้เห็ดเผาะได้เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และได้กลายเป็นอาหารประจำหน้าฝนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสืบไป

ภาพถ่าย: สิทธิโชค ศรีโช

ที่มาข้อมูล: www.facebook.com/p/ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้