ไม่เกินจริงเลย หากคนข้างตัวเอ่ยคำว่า ‘กาแฟไทย’ เมื่อใด เราจะนึกถึงชื่อ Roots เป็นอันดับแรก เพราะเมื่อกวาดสายตามองร้านและโรงคั่วกาแฟรอบตัวเราแล้ว Roots เป็นร้านกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ที่โฟกัสเรื่องระบบการผลิตและบริโภคกาแฟหรือ Supply Chain ของกาแฟได้ครบลูปจริง ๆ และมั่นใจว่า ลูกค้าที่อุดหนุน Roots ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รู้ว่าพวกเขาจริงจังกับการทำงานร่วมกับต้นน้ำไม่แพ้ใครเลย

เพราะสิ่งที่ เต้-วรัตต์ วิจิตรวาทการ และพาร์ตเนอร์ผู้ก่อตั้ง รวมถึงทุกคนในทีม Roots ช่วยกันทำควบคู่ไปกับการขยับขยายธุรกิจ คือการช่วยยกระดับคุณภาพกาแฟไทย ส่งทีมหลังร้านเดินทางขึ้นเหนือไปทำงานร่วมกับต้นน้ำ ส่วนทีมหน้าร้านก็ทำหน้าที่เป็นไกด์พาคนกินไปรู้จักกับแหล่งปลูก รวมถึงเป็นคนส่งต่อเรื่องราวความพยายามของคนต้นน้ำกาแฟไทยที่ได้พบเจอระหว่างทางให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง

ร้าน Roots ยังมีดีเทลน่ารัก ๆ อย่างการเรียกชื่อเมล็ดกาแฟตามชื่อคนปลูกและคนแปรรูปที่ Roots ได้มีโอกาสทำงานด้วย เช่น ‘พี่โสภา’ ที่เป็นกาแฟจากอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ‘หนุ่ยและอ้อย’ จากดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ หรือ ‘ช่างเปา’ จากบ้านเลอตอโกร จังหวัดตาก เป็นต้น ซึ่งตามวิธีเรียกสากลแล้ว ในวงการกาแฟพิเศษจะนิยมเรียกชื่อเมล็ดกาแฟตามชื่อพื้นที่ผลิตมากกว่า และที่ Roots เลือกทำสิ่งที่ต่างไปก็เป็นเพราะว่าการทำให้ชื่อของ ‘เจ้าของผลงานตัวจริง’ ได้เป็นที่รู้จัก สำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นเรื่องสำคัญ

ในแง่ธุรกิจ ความตั้งใจนี้คงเป็นตัวที่บ่งบอกว่าธุรกิจเลือกที่จะให้คุณค่ากับอะไร และในแง่ความสัมพันธ์ ดีเทลน่ารัก ๆ นี้ ยังช่วยเพิ่มพูนความภาคภูมิใจและกำลังใจในการทำงานของคนต้นน้ำอีกด้วย

วนกลับมาที่การพัฒนาต้นน้ำกาแฟไทย Roots เรียกการทำงานกับคนปลูกและคนแปรรูปในนาม ‘Cup to Farm’ โปรเจ็กต์นี้ไม่ได้ตั้งชื่อเพื่อล้อกับคำว่า Farm to Cup ให้สะดุดหูอย่างเดียว ทว่าแก่นของมันคือการบอกลูกค้าว่า กาแฟทุก ๆ แก้วที่คนปลายน้ำกินมันช่วยพัฒนาระบบได้จริง ต่อให้เราจะไม่อินกับที่มาของกาแฟแก้วตรงหน้า กำไรส่วนหนึ่งที่ Roots ได้จากบิลค่ากาแฟที่เราจ่ายก็จะถูกตีกลับไปช่วยซัพพอร์ตการทำงานและคุณภาพชีวิตของคนต้นน้ำอยู่ดี

คำว่าซัพพอร์ตสำหรับ Roots แล้ว มันกว้างกว่าความสัมพันธ์ที่มีแค่การซื้อ-ขายกาแฟ ทว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างคนต่างแบ่งปันเรื่องราวและช่วยเหลือกันและกัน Roots เอาฟีดแบ็กจากหน้าร้านไปเล่าให้ฟัง แชร์ไอเดียและเชียร์ให้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ คนต้นน้ำก็รับฟังและลงมือทำให้ หรือเวลาที่มีปัญหา ขาดชุดความรู้หรือเครื่องมือแบบไหน Roots ก็จะหาทางส่งต่อสิ่งที่ต้องการไปให้ถึงที่

การเดินทาง 10 ปีกับจำนวนสาขาที่เติบโตถึง 12 สาขาทั่วกรุงเทพฯ หากเป้าหมายของการขยับขยายธุรกิจเพื่อให้กาแฟไทยเป็นของที่เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน ไม่ใช่โจทย์ท้าทายสำหรับวรัตต์และทีมอีกต่อไปแล้ว จากนี้ อะไรคือหมุดหมายที่ Roots ร้านกาแฟพิเศษที่ไม่ได้คิดว่างานของตัวเองเป็นแค่การคั่ว-ชง-เสิร์ฟ อยากจะลงมือทำต่อ มาฟังคำตอบจากวรัตต์ในบทสนทนาด้านล่างนี้กัน

เริ่มด้วยการคั่วความตั้งใจให้เข้ม
ก่อนที่ Roots จะหายใจเข้า-ออกเป็นกาแฟไทยเหมือนทุกวันนี้ ความตั้งใจในการเปิดร้านของวรัตต์และพาร์ตเนอร์เมื่อ 10 ปีก่อน เริ่มต้นแค่การพาคนไทยไปรู้จักกับโลกกาแฟพิเศษ เมล็ดที่พวกเขาเลือกมานำเสนอหน้าบาร์ ไม่มีเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในไทยเลยสักเปอร์เซ็นต์เดียว

“ตอนนั้นกาแฟพิเศษถือว่าเป็นเรื่องที่ยังใหม่มาก แต่พอเราได้มีโอกาสเดินทางไปหาต้นน้ำ เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วบ้านเราก็มีของดีนะ แล้วเราก็อยู่ใกล้กันมาก เดินทางไปจากกรุงเทพฯ ไม่กี่ชั่วโมงก็ไปถึง เลยรู้สึกว่าอยากสร้างความสัมพันธ์หรืออะไรบางอย่างที่น่าจะนำไปสู่การพัฒนาได้”

ในเวลาต่อมา เมล็ดกาแฟไทยก็ได้เป็นตัวเลือกให้ลูกค้าเลือกหน้าบาร์ ประจวบกับปี พ.ศ. 2557 ที่วรัตต์ใช้เมล็ดกาแฟไทยในการแข่งขันบาริสตาระดับประเทศ (รายการ National Barista Championship) แม้จะชนะจนได้เป็นตัวแทนไปแข่งเวทีระดับโลกที่อิตาลี ฟีดแบ็กที่ใครบางคนพูดให้เจ้าตัวได้ยินเกี่ยวกับกาแฟไทย เป็นอีกหนึ่งแรงผลักที่พา Roots มาถึงวันนี้

แล้วก็หวังว่าสักวันหนึ่งกาแฟไทยจะไปถึง Cupping Score (คะแนนที่เป็นเกณฑ์ประเมินว่ากาแฟตัวนั้นอยู่ในคุณภาพระดับไหน) ที่ดีได้

“เขาบอกว่า ถ้าเราเอากาแฟไทยไปแข่งระดับโลกนะ ยังไงก็ไม่ชนะหรอก เพราะมันดีไม่พอในเวทีโลก เราเข้าใจมุมเขา เพราะกฎการแข่งขันถูกเขียนขึ้นมาเอื้อให้กับกาแฟบางประเภทชนะ แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมถึงดูถูกกาแฟไทยขนาดนี้” ไฟในใจของวรัตต์โหมขึ้น “เราอยากทำให้กาแฟไทยเป็นกาแฟที่ดีพอจะชนะสายตากลุ่มคนที่กว้างขึ้น เพราะคุณค่าสำหรับเรามันคือการที่เราได้รู้จักกับคนทำ เราได้เห็นสิ่งนี้ดีขึ้น ได้ซัพพอร์ตธุรกิจโลคัล ได้เรื่องราวจริง ๆ ที่น่าเอามาเล่าต่อ แล้วก็หวังว่าสักวันหนึ่งกาแฟไทยจะไปถึง Cupping Score (คะแนนที่เป็นเกณฑ์ประเมินว่ากาแฟตัวนั้นอยู่ในคุณภาพระดับไหน) ที่ดีได้”

เขาตัดสินใจคุยกับเพื่อนที่ลงเรือลำเดียวกันว่า ตนอยากจะโฟกัสกับการพัฒนากาแฟไทย และเพื่อให้ทำมันได้อย่างเต็มแรงจริง ๆ Roots อาจจะต้องตัดตัวเลือกที่เป็นกาแฟนอกออกไป แล้วยกพื้นที่ทั้งหมดนี้ให้กับการโชว์เคสกาแฟไทย

“เรายังรู้สึกมาถึงวันนี้ ว่ามันเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดของแบรนด์เลย”

ใช้ความจริงใจซื้อความเชื่อใจ
ในการทำงานกับผู้ปลูกกาแฟต้นทางในปีแรก ๆ Roots เองก็ต้องใช้ความพยายามในการพิสูจน์ความจริงใจกับเกษตรกร เพราะคนปลูกกาแฟเองก็มีประสบการณ์เจ็บช้ำจากการที่มีใครสักคนขึ้นไปติดต่อหรือชักชวนให้ลงแรงทำอะไรด้วยกันแล้วทิ้งกันไว้กลางทางเหมือนกับคนปลูกผลผลิตอื่น ๆ

พอครั้งที่สองที่ขึ้นไป เราเอากาแฟของเขาที่เราเอาไปคั่ว กลับไปชงให้เขาชิม อย่างพี่ศรี ปลูกกาแฟแต่ไม่เคยกินกาแฟของตัวเองเลย ก็เริ่มมีบทสนทนาแลกเปลี่ยน มีความเชื่อใจกันมากขึ้น

“ตอนขึ้นไปหาพี่จรูญกับพี่ศรี เขาก็งง ๆ เราในตอนนั้นเป็นใครก็ไม่รู้ที่อยากจะเข้าไปคุย ไปบอกว่าอยากพัฒนากาแฟนะ ดูหน้าเขาแล้วรู้เลยว่าคงมีใครเคยพูดแบบนี้ไปแล้ว ก็เลยขอให้เขาลองเปิดใจ ไม่เป็นไร ให้เวลาพิสูจน์เองว่าเราคือใคร พอครั้งที่สองที่ขึ้นไป เราเอากาแฟของเขาที่เราเอาไปคั่ว กลับไปชงให้เขาชิม อย่างพี่ศรี ปลูกกาแฟแต่ไม่เคยกินกาแฟของตัวเองเลย ก็เริ่มมีบทสนทนาแลกเปลี่ยน มีความเชื่อใจกันมากขึ้น”

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความตั้งใจของ Roots ที่ไม่ว่าจะเป็นการเอาฟีดแบ็กจากลูกค้าไปเล่า การเรียกชื่อกาแฟแต่ละตัวตามชื่อผู้ผลิต หรือการส่งต่อเรื่องราวของพวกเขาให้คนอื่น ๆ เห็น ทำให้เกษตรกรและนักแปรรูปรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานตัวเองมากขึ้น ซึ่งความรู้สึกนี้คือเชื้อเพลิงที่ดีมาก ๆ ในการเริ่มต้นพัฒนา

การมีโปรเจ็กต์ Cup to Farm ที่มีพาร์ตเนอร์ธุรกิจอย่าง กรณ์ สงวนแก้ว Green Buyer และ Head Roaster (เมล็ดกาแฟทุกตัวในร้านผ่านการค้นหาและเลือกสรรโดยพาร์ตเนอร์คนนี้) เป็นตัวตั้งตัวตี คอยใส่ใจดูแลความสัมพันธ์นี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น บินและขับรถขึ้นดอยไปเยี่ยมคนต้นน้ำทุกปี เอาข้อมูลงานวิจัยใหม่ ๆ ไปเล่าให้ฟัง เอาเมล็ดกาแฟแต่ละล็อตการผลิตมาคั่วแล้วตั้งโต๊ะชิมรสชาติ (Cupping) ไปกับคนต้นน้ำแล้วก็ช่วยกันคอมเมนต์เรื่องกระบวนการ ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจ ก็ช่วยกันหาว่าล็อตต่อไปจะทำให้ดีขึ้นยังไงได้บ้าง

หรือเวลาที่คนต้นน้ำเล่าว่าไร่กาแฟมีปัญหา เช่น โดนมอดเจาะทำลายผลผลิต ทีม Roots ก็ช่วยติดต่อผู้เชี่ยวชาญให้มาช่วยแนะวิธีสู้กับมอดอย่างเต็มที่ เป็นต้น ทำให้การทำงานระหว่าง Roots และเกษตรกรมีอุปสรรคเรื่องการสื่อสารน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุด Roots ก็กลายเป็นคนที่เกษตรกรกาแฟมั่นใจว่าไว้เนื้อเชื่อใจได้

แถมแผนการดูแลความสัมพันธ์กับคนต้นน้ำนี้ไม่ได้มีแค่วรัตต์ กรณ์ หรือคนจากทีมโรงคั่วกาแฟเท่านั้น ทีมบาริสต้า คนจากแผนกการตลาด คนทำกราฟิก หรือกระทั่งคนทำบัญชี ทุกคนใน Roots ล้วนเคยมีประสบการณ์ไปไร่ พบเจอคนปลูกและคนแปรรูปเมล็ดกาแฟที่พวกเขาเคยเสิร์ฟให้ลูกค้ามาแล้วทั้งสิ้น

ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวกาแฟแต่ละปี Cup to Farm จะจัดทริปไร่กาแฟให้พนักงานได้เวียนกันไปเก็บประสบการณ์ เป้าหมายของทริป นอกจากจะเปิดโอกาสให้พนักงาน (ที่ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ) ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนปลูกกาแฟและลองสัมผัสชีวิตของคนต้นน้ำจริง ๆ แล้ว ทริปเหล่านี้ยังเป็นการย้ำเตือนทุกคนด้วยว่า งานชงกาแฟหรืองานหน้าคอมพิวเตอร์ที่ตัวพวกเขาอาจมองว่ามันเล็กน้อย แต่หากไม่มีสองมือของทุกคนมาช่วยกันทำ การเดินทางของธุรกิจและการพัฒนากาแฟไทยในวิธีของ Roots อาจจะมาได้ไม่ไกลเหมือนที่เห็นในวันนี้ก็ได้

แผนยกระดับที่คิดเผื่อต้นน้ำทุกคน
การผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดีและอร่อยเป็นงานที่ซับซ้อนมากทีเดียว ถ้าไม่นับที่ต้นทุนของต้นกาแฟที่ว่าด้วยสภาพพื้นที่ที่มันเติบโต และการได้รับการดูแลอย่างใส่ใจจากคนปลูก สิ่งที่มีผลมาก ๆ กับเมล็ดกาแฟ คือเทคนิคการแปรรูปที่นักแปรรูปเลือกใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับต้นทุนหรือของที่โรงแปรรูปมีด้วย เช่น เครื่องปอกเปลือกกาแฟ เครื่องดูดความชื้น เครื่องวัดค่าต่าง ๆ ลานหรือโรงตากมาตรฐาน ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีความพร้อมของคนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย

การที่ Roots มีแผนสำหรับทุกคนน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้นน้ำแต่ละคนรู้สึกว่าเราไม่ได้มาแค่ซื้อกาแฟนะ แต่เขาจะได้อะไรที่มันมากขึ้นจากเราด้วย อาจจะเป็นความรู้ เป็นการซัพพอร์ตในบางเรื่อง หรือว่าการที่ Roots เอาเรื่องราวของเขาไปส่งต่อ

“เราคอยไปดูว่าเขาขาดอะไร เราเติมอะไรให้เขาได้บ้างหรือเปล่า การที่ Roots มีแผนสำหรับทุกคนน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้นน้ำแต่ละคนรู้สึกว่าเราไม่ได้มาแค่ซื้อกาแฟนะ แต่เขาจะได้อะไรที่มันมากขึ้นจากเราด้วย อาจจะเป็นความรู้ เป็นการซัพพอร์ตในบางเรื่อง หรือว่าการที่ Roots เอาเรื่องราวของเขาไปส่งต่อ

“ส่วนปีหน้า Cup to Farm ต้องเริ่มคิดไปอีกสเตปหนึ่ง เพราะว่าเครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างเขามีเงินทุนที่ซื้อเองได้แล้ว มีอะไรบ้างที่เขาอยากได้แต่ตัวเขาไม่สามารถหามาเองได้ แต่ Roots หาไปให้ได้ เราเอาตรงนี้มานำเสนอเขา เช่น เราอาจจะชวนผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟจากต่างประเทศบินมาทัวร์ไร่กาแฟ ให้เขามาช่วยแนะนำเรื่องการปลูกหรือการแปรรูป”

ทุนในการทำโรงตากกาแฟ ซื้อเครื่องดูดความชื้นหรือถังหมักกาแฟส่งไปให้เกษตรกร มีต้นทางมาจากคนปลายน้ำที่ซื้อกาแฟ Roots แทบทั้งหมด การให้คนกินได้รู้ว่าตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากระบวนการผลิตกาแฟได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของแบรนด์ด้วยเช่นกัน

ถ้าคนเลือกสนับสนุนกาแฟไทยมากขึ้น ก็เท่ากับว่าคุณภาพชีวิตของต้นทางก็ดีขึ้น ทั้งกำลังใจและศักยภาพในการพัฒนากาแฟไทยตั้งแต่ต้นน้ำก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ดี ๆ จะกลับมาที่คนกินแบบเราอีกทีหนึ่ง นั่นคือตัวเลือกของกาแฟอร่อยที่มีให้เราเลือกมากขึ้นนั่นเอง

สิ่งที่ต้องจับตาในวันนี้ : โลกร้อน
เรื่องเล่าจากต้นน้ำที่ Roots แบ่งปันไปยังคนกินกาแฟไม่ได้มีแค่เบื้องหลังว่ากาแฟตัวนี้แปรรูปโดยใคร แต่ยังเล่าถึงข้อจำกัดหรือปัญหาต่าง ๆ ที่ต้นน้ำกำลังเจอ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกาแฟที่เราจะได้กินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างปีก่อน ๆ บางพื้นที่ประสบภัยแล้งทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีแปรรูปกาแฟที่ต้องใช้ทรัพยากรน้ำเยอะ ๆ อย่าง Washed Process มาเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำมากขึ้นอย่าง Natural Process ซึ่งมันทำให้คุณสมบัติของกาแฟเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ ส่วนปัญหาที่เกษตรกรกาแฟไทยกำลังเจออยู่ในเวลานี้ เป็นอะไรที่เดาได้ไม่ยากเลย

“ตอนนี้สิ่งที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดคือโลกร้อน ไม่ใช่แค่เกษตรกรกาแฟไทยนะ แต่ทั่วโลกเลย การที่อยู่ดี ๆ ก็มีฝนหลงฤดู มีภัยแล้ง มีมอด แล้วผลผลิตหายไป 60 เปอร์เซ็นต์ อันนี้น่ากลัว”

ความร้อนที่มากเกินไปทำให้ต้นกาแฟที่โตกลางแดดอ่อนแอ เกษตรกรไทยบางคนเลยใช้วิธีการปลูกไม้ยืนต้นแทรก เพื่อให้อย่างน้อย ๆ ร่มไม้จะช่วยบรรเทาความร้อนแรงของแดด แต่กว่าที่ต้นไม้จะโตก็อาจกินเวลาหลายปี ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเราจะหมดความหวัง เพราะในวงการกาแฟโลกมีหน่วยงานที่ตื่นตัวเรื่องนี้ กำลังทดลองหาสายพันธุ์กาแฟที่อยู่กับอากาศร้อนได้ดีกันอยู่

หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ Roots ได้ลองทำในปีนี้ คือป๊อปอัพคาเฟ่ที่รันด้วยพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ล้วน ๆ ที่จับมือทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการทางเลือกพลังงานสะอาดอย่าง Banpu NEXT ทดลองให้บริการที่สวนเบญจกิติประมาณ 2 เดือนนิด ๆ (ปัจจุบันปิดบริการแล้ว) ความน่าสนใจของกาแฟทุกแก้วที่เสิร์ฟที่ร้านนี้ คือมีตัวเลขที่บอกว่าแต่ละแก้วลดคาร์บอนไปได้เท่าไหร่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติ

“การกินกาแฟโลคัลช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์มหาศาล ถ้าเทียบว่าเราเปลี่ยนจากกาแฟที่ส่งมาจากเอธิโอเปีย โคลอมเบีย หรือเปรู คุณจะลดคาร์บอนไปได้ 60-70% น่าจะเป็นสัดส่วนที่เยอะสุดแล้วในกาแฟหนึ่งแก้ว ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับวิธีการแปรรูป การปลูก ภาชนะที่ใช้ ถ้าไม่สร้างของเสียก็ลดลงไปอีก

“จากโปรเจ็กต์นี้ เราเรียนรู้ว่าถ้าไม่มีเขา เราทำเองไม่ได้แน่ ๆ” วรัตต์แชร์บทเรียน “เพราะต้นทุนของเทคโนโลยีไม่ได้เอื้อให้ธุรกิจขนาดเล็กทำสิ่งนี้ได้จริง ๆ ห้องขนาด 4×4 เมตร ไม่ติดแอร์ เราต้องใช้โซลาร์เซลล์ 30 กว่าแผ่น มีแบตเตอรี่เก็บไฟอีกประมาณหนึ่งเพื่อให้เปิดร้านได้ มันอาจจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ปั้นไปได้อีก แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่างรออยู่เหมือนกัน”

Route ต่อไปของ Roots
ถึงจะเป็นยุคที่ใคร ๆ ก็พร่ำบอกว่าหันไปทางไหนก็เจอร้านกาแฟพิเศษ Roots ไม่ใช่ร้านที่เราจะตั้งคำถามว่าพวกเขาจะเอาตัวรอดยังไงจากสนามนี้ ทว่าสิ่งที่เราสงสัยคือ Roots อยากจะทำเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรต่อไปต่างหาก

มิสชั่นของเรายังเหมือนกับวันแรกที่เลือกมาทำร้านกาแฟ คือทำยังไงให้กาแฟที่มีคุณภาพเข้าถึงคนได้อย่างง่ายที่สุด ให้มันอยู่ทุกแห่ง ซึ่งพอเปลี่ยนโฟกัสมาเป็นกาแฟไทย มันคือการทำยังไงให้กาแฟพิเศษไทยเข้าถึงทุกคนได้ง่ายที่สุด สำหรับเรามันคือเป้าหมายเดิมที่ลงลึกขึ้นมานิดหนึ่ง

“แล้วพอมาถึงวันนี้ที่ร้านกาแฟดี ๆ มีเยอะมาก เราหากาแฟดี ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ยากเลย สิ่งนี้มันเป็นเป้าหมายของเราแต่เราไม่ได้ทำให้มันเกิดขึ้นคนเดียว แล้วพอมันเกิดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว ฉะนั้น Roots ควรจะปรับมุมมองยังไง และต่อไปเราจะหาอะไรเป็นความท้าทายให้ตัวเอง

“อย่างตอนนี้ก็เริ่มไปดูกาแฟโรบัสตา เพราะเป็นกาแฟที่ปลูกได้ทุกที่ในประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากกว่าอาราบิกา เพราะอาราบิกามันดีถึงจุดหนึ่งแล้ว ไปมากกว่านี้ก็อาจจะยากขึ้นอีก แต่โรบัสตายังพัฒนาได้อีกเยอะ การหาเรื่องใหม่ ๆ มาพัฒนาก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ”

เราย้อนถามถึงสิ่งที่วรัตต์เอ่ยไว้ในตอนแรกว่าอะไรคือหลักฐานที่ยืนยันว่าการเลือกกาแฟไทยเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดของแบรนด์

“เรารู้สึกว่าการที่เลือกเดินมาทางนี้มันได้สร้างความชัดเจนว่า Roots ทำอะไร และพอเป็นอย่างนั้นเราเลยโชคดี เพราะมีคนที่เชื่อในเรื่องเดียวกันเดินเข้ามาหาเราเยอะ แล้วมันทำให้กลุ่มของเราโตขึ้น เรามีความสัมพันธ์ต่อกันที่ดีขึ้น มีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ถ้าเรายังทำแบบเดิม วันนี้เราอาจจะไม่ได้ทำงานกับแบรนด์อื่น ๆ ที่มองเห็นว่าเราเป็นคนที่ทำงานกับต้นน้ำกาแฟไทยจริง ๆ

หรืออย่างคนที่เข้ามาทำงานกับเรา เขาไม่ได้รู้สึกว่างานฉันคือการชงกาแฟ แต่รู้สึกว่างานฉันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากาแฟไทย ทั้งหมดนี้รวม ๆ กันแล้วทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทาง

คำตอบนี้ทำให้เรานึกถึงปรัชญาการทำงานของพวกเขาที่ปรากฏอยู่บนแก้วกาแฟ แพ็กเกจสินค้ากาแฟ ของที่ระลึกของแบรนด์ รวมไปถึงลายสกรีนเล็ก ๆ บนเสื้อยืดที่วรัตต์สวมในวันนี้อย่าง Coffee, People, For Tomorrow

ระบบการผลิตและบริโภคกาแฟจะไปข้างหน้าไม่ได้เลย ถ้า People ที่ประกอบไปด้วยคนปลูก คนแปรรูป คนซื้อ-ขายกาแฟ คนทำธุรกิจ คนคั่ว คนชง และคนดื่ม ไม่ได้มองเห็นว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย และมีคนอีกหลายคนที่ยืนอยู่ข้างหลังสิ่งนั้น

ความหมายของธุรกิจยั่งยืนสำหรับเรา คือการที่เราสามารถซัพพอร์ตคนในระบบการผลิตและตัวเราเองไปได้เรื่อย ๆ

“ความหมายของธุรกิจยั่งยืนสำหรับเรา คือการที่เราสามารถซัพพอร์ตคนในระบบการผลิตและตัวเราเองไปได้เรื่อย ๆ ต่อให้มีเรื่องที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้น ถ้าเราสร้างชุมชนที่เหนียวแน่น แล้วทุกคนช่วยเหลือเจือจุนกันได้ ไม่ว่าจะปัญหาอะไร เราจะผ่านมันไปด้วยกันได้แน่นอน”

คนปลูกและคนแปรรูปกาแฟที่มีกำลังใจในการทำงาน คนคั่วและคนชงกาแฟที่รู้ว่างานตัวเองมีความหมาย คนกินกาแฟที่เข้าใจและพร้อมจะเดินไปกับร้านด้วย การทำให้วงจรนี้เกิดขึ้นและรักษาให้ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งวันนี้เรามองว่า Roots ทำได้แล้ว

ขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Roots