ไม่มีใครไม่รู้หรอกว่า ผักผลไม้เป็นอาหารดี มีประโยชน์ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน และอีกสารพัดความดีความชอบ แต่ไม่รู้ยังไง ดูเหมือนการกินผักให้มากพอจึงกลายเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

ถือโอกาสเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดกิจกรรมแถลงข่าวภายใต้แคมเปญรณรงค์ ‘ผลักดันให้ผักนำ’ ในบรรยากาศร่มรื่นใต้ต้นไม้ใหญ่ ณ Park@Siam และความคึกคักของการแลกเปลี่ยนผักผลไม้ปลอดภัยในตลาด Greenery Market ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ยังเป็นเวทีที่ทำให้เราได้รับข้อมูลชวนคิด และแรงบันดาลใจชวนกินไปพร้อมๆ กันด้วย

โสดก็ไม่กินผัก มีครอบครัวแล้วก็ยังกินผักไม่พอ

ดร. สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ สสส. เล่าถึงตัวเลขน่าสนใจที่ทำให้ทุกคนต้องหันมาสนใจและร่วมผลักดันการกินผักทั้งในระดับนโยบายชาติและในบ้านของเราเองกันมากขึ้น เพราะผลสำรวจพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ปี 2561 พบว่าคนไทยกินผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมแทบทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กหญิงช่วง อายุ 6-14 ปี กินผักไม่เพียงพอสูงถึง 74.5% แต่เมื่อนับช่วงอายุที่ 15 ปีขึ้นไป พบว่ากลุ่มผู้ชาย 68.7% คือกลุ่มที่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอแทน และหากดูละเอียดเข้าไปอีก พบว่าเป็นคนโสดถึง 74.5% โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศ มีโอกาสเข้าถึงผักผลไม้ในแต่ละมื้อต่ำมากเช่นกัน ส่วนหนุ่มๆ ที่อาศัยอยู่กับครอบครัว ก็เลือกฝากท้องไว้กับแม่หรือภรรยา เรียกว่าซื้อหามายังไงก็กินอย่างนั้น และส่วนใหญ่คือไม่มีผักเพียงพอนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ แม่และภรรยาที่ต้องซื้อหาอาหารให้ครอบครัว จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คนในบ้านกินผักได้มากขึ้น แคมเปญจึงเลือกสื่อสารว่า ‘เพราะรักจึงผักนำ’ เพื่อให้เราๆ เห็นความสำคัญของการกินผัก และอยากเลือกซื้อเลือกหาผักมาเพิ่มพื้นที่ในมื้ออาหารให้มากขึ้น ส่วนในเชิงนโยบายระดับชาติ ก็จะมีการขับเคลื่อนเรื่องผักผลไม้ปลอดภัย แหล่งการซื้อขายที่เข้าถึงง่าย ไปจนถึงการสนับสนุนให้ปลูกผักสวนครัวกินเอง เพราะการร่วมใจกันทั้งภาพใหญ่และหน่วยย่อย จะช่วยให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินผักและผลไม้มากขึ้นนั่นเอง

เน้นผักนำทุกมื้อ เลือกผักตามฤดูกาลทุกวัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งๆ ที่บ้านเราเป็นชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีผักผลไม้ให้เลือกกินตลอดทั้งปี แต่คนไทยกลับกินผักน้อยมากและกินเป็นอยู่ไม่กี่อย่าง สูตร 2 : 1 : 1 ที่ สสส. ย้ำอยู่เสมอว่าให้กินผักนำเพื่อนร่วมจาน อยู่ที่ผัก 2 ส่วน คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอย่างละ 1 ส่วน ซึ่งเป็นทางลัดแสนง่ายที่จะทำให้เรากินผักได้มากพอความต้องการในแต่ละวัน มากกว่านั้น ให้เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาลเสมอ เพราะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องสารเคมีตกค้างจากการเร่งผลผลิตนอกฤดูกาล เพราะผักตามฤดูกาลสามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติ มีความต้านทานโรคสูงอยู่แล้ว และหากสามารถเข้าถึงผักผลไม้อินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีตั้งแต่การปลูก ก็ยิ่งมั่นใจว่าเราจะได้กินผักผลไม้อย่างปลอดภัยมากขึ้นด้วย

อีกคนสำคัญที่มาช่วยยืนยันอีกเสียงว่ารัฐและเราต้องผลักดันการกินผักในเป็นวาระจริงจัง คือ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่บอกเล่าถึงข้อดีในการกินผัก ซึ่ง สสส. เลือกสื่อสารผ่าน TVC น่ารักน่าหยิก หยิบผีกระสือที่คนไทยคุ้นเคยมาบอกว่าผักมีไฟเบอร์ที่ช่วยกวาดสิ่งหมักหมมและสารพิษในเยื่อบุลำไส้ ไม่ให้สะสมจนก่อให้เกิดโรคต่างๆ นานา นอกจากนี้ ผักผลไม้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเราในช่วงเวลาที่มีโรคน่ากลัวระบาดมากมายได้ด้วย

โอโคโนมิยากิผักพื้นบ้าน เมนูผักนำที่ทำให้การกินผักง่ายขึ้น

มาในพาร์ทสร้างแรงบันดาลใจกันต่อ ในงานแถลงข่าวนี้ สสส. ได้ชวนป๋วย อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ นักกำหนดอาหารสายเฮลท์ตี้ดี อินทรีย์ด้วย มามิกซ์แอนด์แมตช์เมนูอาหารทำเองในบ้านให้มีผักนำ เช่น เปลี่ยนแป้งโรตีให้เป็นแป้งเครปผักโขมแดง กินคู่กับแกงเขียวหวานมังสวิรัติที่เน้นผักเต็มชาม หรือจะเป็นเมนูที่เธอสาธิตให้ดูแบบจะจะ ว่าทำง่าย อร่อยไว หน้าตาดี แถมได้กินผักเพียบสมกับที่ สสส. ชักชวน

เริ่มจากส่วนประกอบหลักอย่างผัก ป๋วยแนะนำให้เลือกผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่สามารถหาซื้อได้ในตลาดสีเขียว เคล็ดลับคือเลือกผักหลากหลายสี ยิ่งครบทุกสีได้ยิ่งดี เน้นผักใบหลากหลายที่ใช้แทนกะหล่ำปลีล้วนแบบโอโคโนมิยากิสูตรดั้งเดิม และเพิ่มเติมผักพื้นบ้านอื่นๆ ได้อีกเพียบ โดยเฉพาะกระเจี๊ยบเขียวที่ช่วยให้รสสัมผัสหนืดนิดๆ เหมือนมันมือเสือ หรือถ้าใครหามันมือเสือได้ จะลดแป้งในสูตรออกก็ได้เช่นกัน


ส่วนผสม

ผักพื้นบ้านชนิดใบ เช่น ผักโขมแดง คะน้า
ผักพื้นบ้านอื่นๆ เช่น กระเจี๊ยบเขียว สายบัว ดอกแค
เห็ดหอมคลุกน้ำมันอบกรอบ (ใช้แทนเบคอนกรอบ)
บีทรูทและขิงดองเอง
พริกไทย
น้ำมันรำข้าว
ซอสโอโคโนมิยากิทำเอง (ผสมซอสเปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ เกลือ อุ่นให้เข้ากัน)
มายองเนสสูตรไขมันต่ำ
ปลาแห้งญี่ปุ่น (หรือจะใช้กุ้งแห้งป่นก็ได้)

วิธีทำ

1. ซอยผักเตรียมไว้

2. ผสมแป้ง พริกไทย คนให้เข้ากัน ใส่ผักที่ซอยไว้ ตอกไข่ คนให้เข้ากัน

3. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันนิดหน่อย รอให้กระทะร้อน (ควรใช้น้ำมันเพราะเป็นตัวทำละลายวิตามินให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ครบถ้วน) เทส่วนผสมลงไป ใช้ตะหลิวเกลี่ยให้เป็นแผ่น

4. เมื่อผักด้านหนึ่งเริ่มสุก ให้กลับด้าน ทอดจนสุกดี

5. ราดด้วยซอส มายองเนสไขมันต่ำ โรยหน้าด้วยปลาแห้งญี่ปุ่น แนมกับผักดองทำเอง

6. พร้อมอร่อยไม่แพ้โอโคโนมิยากิสูตรต้นตำรับ แต่ได้กินผักนำหน้าเพื่อนไปไกลเลย!

เพราะรักจึงผักนำ เมื่อสารพัดชื่อผักกลายมาเป็นเนื้อเพลงติดหู

ปิดท้ายด้วยเพลงประจำแคมเปญที่ร้องและแต่งโดยสิงโต นำโชค อย่าง เพราะรักจึงผักนำ เพลงบอกรักผ่านผักหลากหลาย เพราะอยากชวนให้ทุกคนที่รักได้กินผักนำในทุกๆ มื้อ เพลงน่ารักชวนร้องตามนี้จึงมีสรรพผักมากมาย ตั้งแต่มะเขือเทศ มะเขือเปราะ ขิง ข่า ดอกแค ดอกขจร แตงโมอ่อน ถั่วฝักยาว ผักบุ้งนา ปวยเล้ง กวางตุ้ง ยันมะรุม และคะน้า

ไปฟังและหาผักกินพร้อมกันหลังฟังเพลงจบได้เลย!

ภาพถ่าย: สุจิตรา นาคะศิริกุล