ถึงฤดูกาลเข้าสวนกินผลไม้แล้วค่ะ

ที่แม่กลอง สมุทรสงคราม นอกจากเรามีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดทะเล มีวิถีชีวิตของคนน้ำเค็ม ประมงชายฝั่ง ทำน้ำปลา ทำกะปิ ทำนาเกลือ ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งของจังหวัดยังเป็นพื้นที่บ้านสวน ตามลักษณะที่ตั้งซึ่งเป็นบริเวณปากแม่น้ำมีแร่ธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์จากตะกอนที่พัดพามาตามกระแสน้ำ ผืนดินที่นี่จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยอาศัยความรู้ภูมิปัญญาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ระบบน้ำลักจืดลักเค็มคือมีการผสมผสานระหว่างน้ำจืดจากแม่น้ำแม่กลอง น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยตอนใน และน้ำกร่อยที่กลั้วระคนปนเป ยังทำให้พืชพันธุ์ผลไม้ที่ปลูกได้ที่นี่มีรสชาติเข้มข้นดีงามกินอร่อย

สวนผลไม้แถบแม่กลอง สมุทรสงครามคือ บางช้างสวนนอก เคียงข้างเป็นฝาแฝดกับ บางกอกสวนใน ซึ่งอดีตเคยเป็นสวนผลไม้แบบทำดินยกร่องและปลูกผลไม้ผสมผสานหลากหลายชนิดเหมือนกัน เพียงแต่ทุกวันนี้บางกอกและฝั่งธนฯ เปลี่ยนสภาพพัฒนาเป็นเมืองและย่านที่อยู่อาศัยไปแทบหมดแล้ว ขณะที่บางช้างยังคงลักษณะบ้านสวนเดิม ๆ เอาไว้ได้มาก เมื่อมาเยือนบ้านสวนผลไม้แห่งนี้ทั้งในเขตพื้นที่อำเภออัมพวา และบางคนที จึงให้ความรู้สึกเหมือนได้เดินทางย้อนอดีตกลับไปในวันวานอย่างอัตโนมัติ

บ้านสวนที่เราอยากชวนคนอ่านมารู้จักเป็นพิเศษคือที่ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที

ก่อนหน้านี้ บางสะแกไม่ได้เป็นที่สนใจของคนทั่วไปหรือแม้แต่ในจังหวัดด้วยซ้ำ บางสะแกเป็นพื้นที่สวนผลไม้ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ ไม่ใช่ทางผ่าน ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ไข่แดงสีเขียวเพราะแวดล้อมด้วยสวนร้อยเปอร์เซ็นต์ คนบางสะแกคือชาวสวนที่ถนัดทำงานกับธรรมชาติ ชีวิตและหน้าที่การงานของพวกเขาอยู่ในต้นไม้ ผลไม้ อยู่ในร่องสวน อยู่กับดินกับน้ำ เป็นชุมชนชาวสวนที่แสนสงบเงียบและเรียบง่าย

จุดเปลี่ยนของบางสะแกเกิดขึ้นเมื่อได้ผู้นำท้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง กำนันมนัส บุญพยุง หรือกำนันหน่อย เขาเป็นลูกชาวสวนบางสะแกแท้ จบการศึกษาและใช้ชีวิตทำงานในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง แต่ที่สุดก็เลือกจะกลับบ้านเพราะรู้ว่าเมืองใหญ่นั่นไม่ใช่ที่ของเขา กำนันหอบเอาความรู้และมุมมองที่เห็นโลกกว้างกลับมาอยู่บ้านสวน ขันอาสาเข้ามาทำงานเป็นผู้นำให้ชุมชน ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาบ้านเกิดให้เข้มแข็งเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยไม่หลงลืมรากเหง้าตัวตนของชุมชนดั้งเดิม

เดิมที สวนบางสะแกปลูกมะพร้าวกันเป็นส่วนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสวนส้มโอและสวนลิ้นจี่ตามความนิยมของตลาด โดยเฉพาะส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ซึ่งเริ่มปลูกกันเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว กลายเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดและเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มโอขาวใหญ่มีลักษณะเด่นซึ่งเป็นที่ถูกใจคนกินคือ ผลค่อนข้างใหญ่ รสชาติหวานถึงอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีน้ำมากแต่เนื้อไม่แฉะ กุ้ง (กลีบเล็ก ๆ ที่เรียงเบียดแน่นรวมกันเป็นกลีบใหญ่) มีขนาดใหญ่ สีขาวอมเหลือง เมล็ดลีบหรือไม่มีเมล็ด ทั้งยังสามารถเก็บได้นานเป็นเดือนหลังจากการเก็บเกี่ยว

ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามปลูกมากที่สุดที่บางสะแกนี่เอง คนทั่วประเทศรู้จักส้มโอขาวใหญ่ แต่ไม่มีใครรู้จักบางสะแก ชาวสวนได้แต่ขายส้มให้พ่อค้าคนกลาง กำไรที่ได้ส่วนมากจึงอยู่ที่พ่อค้า ออกจากสวนราคาต่ำ แต่พอไปวางขายในตลาดน้ำอัมพวา ห่างจากบางสะแกแค่ไม่กี่กิโลเมตร ราคาก็พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว

เขาเชื่อว่าการที่คุณค่าของท้องถิ่นได้การยอมรับและรับรู้จากสาธารณะจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

โจทย์ท้าทายของผู้นำคนใหม่คือ ทำอย่างไรให้บางสะแกเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เขาเชื่อว่าการที่คุณค่าของท้องถิ่นได้การยอมรับและรับรู้จากสาธารณะจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ คนมีรายได้ดีขึ้น มีอาชีพ หนุ่มสาวมีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ชุมชนจะมั่นคงอยู่ได้ไม่ล่มสลาย

แนวทางการทำงานของกำนันหน่อยคือ ใช้การรวมกลุ่ม ไม่ได้เป็นผู้นำเดี่ยว แต่ใช้การรวมพลังจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ จิตอาสา พี่ป้าน้าอาในชุมชน ซึ่งมีความใกล้ชิดผูกพันกันเป็นทุนเดิมตามแบบสังคมชนบทอยู่แล้ว จัดตั้งเป็นทีมทำงานผู้นำชุมชนที่มีการฝึกฝนพัฒนาตนเองเพิ่มศักยภาพให้กล้าคิดและกล้าสื่อสาร การทำงานกับชุมชนเน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งในการระดมความคิดเห็นและการกำหนดทิศทางอนาคตของชุมชน จะทำโครงการอะไรในพื้นที่ต้องมีการทำประชาคมถามความเห็นชอบจากชาวบ้านก่อน ชาวบางสะแกจะมีวาระการประชุมสม่ำเสมอประจำทุกเดือน และมีกิจกรรมสร้างความสามัคคีที่ทำต่อเนื่องมานานนับสิบปีจนกลายเป็นกิจกรรมเด่นของชุมชนนั่นคือ การลงแขกลงคลอง

การลงแขกลงคลองเริ่มจากนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้แต่ละชุมชนดูแลสะสางทางน้ำในพื้นที่ของตนเอง ชุมชนอื่น ๆ ทำบ้างเลิกบ้างก็ว่ากันไป แต่ที่บางสะแกทำไม่เลิก เกษตรกรอย่างพวกเขารู้ดีว่าน้ำคือทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เส้นทางน้ำลดความสำคัญลง ถ้าไม่ดูแลรักษาขุดลอกกำจัดวัชพืช อนาคตทางน้ำอาจจะตีบตันหรือตื้นเขิน กิจกรรมลงแขกลงคลองจึงสำคัญต่ออนาคตของพวกเขา โดยชาวบางสะแกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปดูแลลำคลองสายต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วชุมชน ใครมีแรงก็ช่วยลงแรง ใครไม่มีแรงก็ช่วยออกตังค์หรือหาข้าวหาน้ำมาเลี้ยงดูกัน

พวกเขาตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “รักษ์บางสะแก” ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนแบบวิถีชาวสวนผลไม้ มีการไปออกร้านประชาสัมพันธ์ชุมชนและจำหน่ายส้มโอและผลผลิตจากชุมชนที่ส่งตรงมาจากสวนบางสะแก สร้างเครือข่ายกับชุมชนภายนอก และเป็นฝ่ายต้อนรับขับสู้เวลาที่มีคณะดูงานมาเยี่ยมชมท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มแม่ ๆ หรือคนมีฝีมือด้านการทำอาหารก็รวมตัวกันเป็นทีมแม่ครัวทำกับข้าวอาหารบ้านสวนไปขายให้คนได้ชิม เมนูเด็ดหากินยากที่ขึ้นชื่อลือชาประจำกลุ่มคือ แกงกระดองกรุบ ซึ่งใช้กะลามะพร้าวที่ยังอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แกงใส่กะทิ รสชาติหวานมันกรุบกรอบของกะลาอ่อนเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ขนมรุม ใช้ไข่ขาวโรยเป็นแพทำเป็นเปลือกชั้นนอก ข้างในห่อไส้ทำจากถั่วลิสงคั่ว แฟงเชื่อม พลับแห้ง และงาขาว เคี่ยวกับน้ำตาลมะพร้าวปั้นเป็นก้อน ขนมวง หน้าตาเหมือนโดนัทแต่รสชาติไทย ๆ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำและเนื้อมะพร้าว แล้วปั้นเป็นวงกลมเล็ก ๆ มีรูตรงกลาง นำไปทอดจนกรอบ แล้วชุบหน้าด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวอีกทีหนึ่ง

ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของบางสะแกยังมีน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ ลิ้นจี่อาจไม่มีให้กินทุกปี แต่ดอกลิ้นจี่ออกทุกปี ชาวสวนก็ได้ผึ้งมาเป็นพนักงานช่วยผสมเกสรแล้วยังให้ผลพลอยได้เป็นน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ที่หวานหอมเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมี ส้มแก้ว ซึ่งเป็นส้มพื้นเมืองของไทยแต่โบราณ จากหลักฐานบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว ส้มแก้วลูกใหญ่กว่าส้มเขียวหวาน เนื้อเยอะ รสหวานอมเปรี้ยว ปัจจุบันนี้มีเหลือปลูกแห่งเดียวในเมืองไทยคือที่บางสะแกนี่เอง แต่ส้มแก้วจะออกแค่ครั้งเดียวในช่วงปลายปี ไม่เหมือนส้มโอที่มีให้กินแทบตลอด

หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าชุมชนบางสะแกก้าวมาไกลขนาดไหน จากที่ไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบทั้งด้านความสามัคคีและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกวันนี้ ที่ทำการของกำนันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นห้องรับแขกของชุมชน มีคณะดูงานเข้ามาเยี่ยมชมและทำกิจกรรมในพื้นที่อยู่เสมอ เมื่อยามที่ชุมชนทำกิจกรรมพิเศษขึ้นมาก็ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไป อย่างเช่น การจัดงานวิ่งมินิมาราธอน Pomelo Run เพื่อหารายได้มาสร้างสนามเด็กเล่นในชุมชน เป็นกิจกรรมวิ่งตามถนนในสวนส้มโอซึ่งไม่มีที่ไหนเหมือน แถมชุมชนยังทำผ้าป่าส้มโอ ระดมส้มโอตามจิตศรัทธาของชาวบ้านเพื่อนำมาปอกแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิมกันอย่างอิ่มหนำ หรือการจัดงานตลาดนัดกลางสวนส้มโอ “หลงเข้าสวน ชวนมารักษ์บางสะแก” เปิดโอกาสให้ชาวชุมชนนำผลิตภัณฑ์มาออกร้านจำหน่ายสินค้าของตัวเองเพื่อกระตุ้นดัชนีความสุข คุณลุงคุณป้าบางท่านได้แสดงศักยภาพที่ไม่เคยทำมาก่อน ด้วยการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้หรือทักษะส่วนตัวแก่ลูกหลานที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นป้า ๆ แม่ครัว หรือลุงเปี๊ยก ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์และเวลาว่างทำกระถางต้นไม้ DIY จากผ้าขนหนู

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านสวนบางสะแกจะเปิดประตูต้อนรับโลกภายนอกมากขึ้น แต่ความเป็นสังคมชาวน้ำชาวสวนยกร่องก็ยังมั่นคงอยู่ คนบางสะแกตัดสินใจว่าพวกเขาจะยังคงรักษาจุดแข็งในการเป็นชาวสวนอย่างที่เป็นตลอดมา ใช้การท่องเที่ยวเพียงเพื่อส่งเสริมภาคการเกษตร ไม่ใช่กลายเป็นชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

ฤดูร้อนปีนี้ ลิ้นจี่แม่กลองมีออกมาให้กิน (ตอนที่เราไปถ่ายรูปยังเป็นลูกเล็กสีเขียวอยู่) ส้มโอขาวใหญ่ก็อร่อยรสจัด เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะมาเยือนดินแดนสวนนอกบางช้าง และถ้าหากคุณนึกอยากมาบางสะแก แค่ปล่อยใจสบาย ๆ ขับรถมาตามถนนสายเล็ก ๆ ที่คดโค้งและมีต้นผลหมากรากไม้เรียงรายตลอดทางสองฝั่ง ถนนจะทำให้ขับเร็วไม่ได้ ใจของเราจะเย็นลงโดยปริยาย แล้วถ้าเกิดหลงทางก็ให้จอดถามกับชาวบ้าน เปิดโอกาสให้ตัวเองสัมผัสความใจดีมีมิตรจิตมิตรใจของคนที่นี่ แวะซื้อลิ้นจี่และส้มโอ รวมถึงผลไม้อื่น ๆ ที่มีวางขายหน้าสวน ในราคายุติธรรมและกำไรตกถึงชาวสวนจริง ๆ หากมีเวลาอาจแวะไปเยี่ยมชมวัดบางสะแก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน ไม่ใช่แค่ในฐานะที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่หลวงพ่อเจ้าอาวาสและบทบาทของวัดยังเป็นหนึ่งหน่วยของชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาไปพร้อมกันกับชาวบ้าน

บางสะแก ถึงไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นพื้นที่สีเขียวที่อาจปลอบประโลมใจเราให้เป็นสุขได้

ภาพ : วีรวุฒิ กังวานนวกุล