หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดผลกระทบมากที่สุดคือขยะพลาสติก ซึ่งทั้งโลกผลิตออกมากว่า 300 ล้านตัน ในแต่ละปี และครึ่งหนึ่งคือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Used Plastic) และพลาสติกมีอายุเป็นร้อยปี ง่าย ๆ ว่าพลาสติกชิ้นแรกบนโลกปัจจุบันก็ยังไม่ย่อยสลายไปไหน ที่มันทนทานขนาดนี้เพราะความทนทานคือจุดเริ่มต้นของพลาสติก

ในช่วงศตวรรคที่18 กีฬาบิลเลียตได้รับความนิยมสูงสุด ลูกบิลเลียตบนโต๊ะทั้ง 16 ลูก ทำมาจากงาช้าง เพราะในเวลานั้นยังไม่มีสสารใดที่มีความทนทานในการกระแทกได้ดีเท่างาช้าง โดยที่งาทั้งสองข้างของช้างตัวผู้โตเต็มวัยสามารถนำมาผลิตเป็นลูกบิลเลียตได้ประมาณ 9 ลูก ถ้าครบ 16 ลูก บนโต๊ะบิลเลียตคือชีวิตช้าง 1 ตัวครึ่ง และในทุก ๆ โต๊ะบิลเลียตทั่วโลกคือชีวิตช้างปีละ 100,000 ตัว

ปี ค.ศ. 1863 บริษัท Brunswick-Balke-Collender (ถ้าใครโยนโบว์ลิ่งก็จะคุ้นชื่อนี้เพราะทำอุปกรณ์โบว์ลิ่งเช่นกัน อะไรตึงตังเขาทำหมด) ได้ตั้งรางวัลมูลค่า 10,000 เหรียญสหรัฐให้กับผู้ใดก็ตามที่คิดค้นวัสดุที่มีความทนทานเพื่อเอามาทำลูกบิลเลียต เพื่อลดการล่าช้างเอางาและก่อให้เกิดปัญหาการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของช้างแอฟริกา และผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้กอบกู้ชีวิตช้าง (Elephant Hero) คือคุณ จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) ผู้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “เซลลิลอยด์” (Celluloid) ซึ่งยังมีส่วนผสมของเส้นใยจากพืชอยู่และได้ใช้ในการเป็นวัสดุทดแทนลูกบิลเลียต รวมถึงคีย์เปียนโนและอีกหลายสิ่งที่สามารถทดแทนการใช้งาช้างได้ ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นั้นเป็นรากฐานและจุดเริ่มต้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 เลโอ บาเกอลันด์ (Leo Baekeland) ได้ประสบความสำเร็จในการทำ “เบกคิไลต์” (Bakelite) พอลิเมอร์สังเคราะห์ชนิดแรกที่ไม่มีส่วนผสมจากธรรมชาติเลย โดยเป้าหมายคือเอามาแทนครั่ง วัสดุที่ทนไฟ (รองรับการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในยุคแรก)ใช้ได้มากกว่า 1,000 ครั้ง และนี้คือครั้งแรกที่วัสดุดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “พลาสติก” (รากศัพท์ Plasticus ภาษาลาติน แปลว่า บิดเบี้ยวได้) พอผ่านมา 60 ปี ในช่วงยุค 60 ได้มีการตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล จากสิ่งที่ช่วยชีวิตช้างกลับฆ่าเต่า ปลา และสัตว์น้ำจำนวนมาก มากเสียจนในปี ค.ศ. 2050 ในทะเลจะมีพลาสติกมากกว่าสัตว์น้ำ ด้วยความสะดวกสบายและต้นทุนการผลิตที่ต่ำทำให้พลาสติกครองมหาสมุทร พอช่วงปลายยุค 70 จึงมีการออกแบบพลาสติกที่มีการ รีไซเคิล นำมาผลิตซ้ำเพื่อพยายามแก้ปัญหานี้

มะเป้งเองก็ทำแคมเปญชื่อ “The Last Straw เชียงใหม่” เป็นแคมเปญเรื่องการลดขยะพลาสติก และการลดที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้มันแต่แรก เรากลับไปเป็นเหมือนเด็กประถมอีกครั้ง พกกระบอกน้ำ พกกล่องข้าว ในส่วนของงานประจำปีของสโลว์ฟู้ดเองก็เริ่มปักธงเลยว่างานอาหารเราจะไม่มีภาชนะให้ ผู้ที่มาเข้าร่วมต้องเตรียมมาเองจากบ้าน คนชอบก็เยอะคนด่าก็เยอะ แต่เราสร้างบรรทัดฐานที่งานเราเองได้

ในบรรดาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวเนื่องในเรื่องของอาหารการกิน เพราะฉะนั้นวงการอาหารและเครื่องดื่มเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เราเองเคยฝากความเชื่อไว้กับพลาสติกที่ยอยสลายได้เองตามธรรมชาติ เล่าถึงตรงนี้ขออนุญาตเปิดวงเล็บกระซิบเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า (นานมาแล้ว เราก็ซื้อเจ้าพลาสติกที่บอกว่าย่อยสลายได้มาใช้ แพงกว่าก็ยอม แต่เราก็อยากรู้ว่าย่อยสลายยังไง เลยลองเอาเจ้าพลาสติกนั้นมาฝังดินเพราะอยากเห็นว่าใน 90 วันจะย่อยสลายยังไง ผลคือผ่านไป 120 วันหน้าตามันยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เลยโทรไปที่บริษัท ฝ่ายการตลาดก็อ้ำอึ้ง ส่งให้คุยกับนักวิทย์ จึงได้ข้อสรุปว่ามันจะย่อยสลายได้ที่อุณหภูมิหนึ่ง ความชื้นหนึ่ง พูดง่ายง่ายคือในดินตามธรรมชาติไม่มีสิทธิย่อยสลาย ต้องเป็นที่คุมอุณหภูมิและความชื้นเท่านั้น ฟังจบก็ตระหนักว่า เขาไม่ได้โกหก แต่เขาพูดความจริงไม่หมด)

มะเป้งเคยไปร่วมทำ Waste Audit กับ Greenpeace ประเทศไทย อธิบายง่าย ๆ คือ ไปคุ้ยขยะ เอาขยะออกมาทำสถิติ เพื่อให้เกิดภาพสะท้อนกลับไปที่ผู้ผลิตเพราะเมื่อแพ็กเกจจิงของเขาไปอยู่ในธรรมชาติ เขาควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ คนส่วนมากเห็นสัญลักษณ์ของพลาสติกรีไซเคิล ก็จะภูมิใจว่ามีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกแล้ว แต่ไม่ใช่เลย ไม่ใกล้เคียงเลย การทำให้ขยะพลาสติคเข้าไปที่โรงงานเพื่อรีไซเคิลแล้วกลับออกมาเป็นแพ็กเกจจิงใหม่หมุนเวียนกันตลอดไป ด้วยความซับซ้อนในทางปฏิบัตินั้นทำให้เกิดขึ้นจริงยากมาก (ไม่ถึง 10% ที่เข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลและเมื่อผ่านออกมาจะเป็นเกรดที่ต่ำกว่าตอนก่อนรีไซเคิล) ถึงจะยากแต่ก็มีคนจำนวนไม่มากที่ทำมันได้อย่างสมบูรณ์

อย่างเช่น ขวดน้ำอัดลม PET#1 เมื่อดื่มเสร็จ ต้องล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แยกฝา (พลาสติก HDPE) แยกฉลาก (อาจเป็น PP หรือ PVC) ถ้าเราทำแบบนี้แล้วเอาไปไว้ถังแยกขยะตามที่สาธารณะ แล้วใครไม่รู้ ไม่สนอะไรเลยเอาถุงลูกชิ้นปิ้งโยนลงมาในถังขยะรีไซเคิล ขวดน้ำเราสกปรก ขบวนการรีไซเคิลจะคัดออกเป็นขยะไม่สามารถทำการรีไซเคิลได้ แล้วนำไปฝังกลบหรือเผาเพราะต้นทุนในการทำความสะอาดไม่คุ้ม ที่เราพยายามมาก็ล้มเหลว

เราจึงต้องแยกขยะที่บ้านเรา แล้วต้องรวมให้ได้เยอะ ๆ (ตรงนี้แอบถามว่า บ้านคุณใหญ่ไหม ? เพราะแค่สมบัติเราก็เต็มบ้านละนะอย่าลืม แต่เพื่อโลกที่เรารักเราต้องหาที่เก็บให้ได้) ให้คุ้มกับที่คนรับซื้อของเก่าจะมารับ แล้วต้องคำนึงถึงระยะทางระหว่างพื้นที่ ที่ร้านรับซื้อของเก่าเรากับโรงงานรีไซเคิลอีก เพราะค่าน้ำมันต่อการขนส่งไปหน้าโรงงานจะคุ้มหรือเปล่า

สมัยก่อนขวด PET ของน้ำอัดลมแบรนด์หนึ่งเป็นสีเขียว (นำมารีไซเคิลไม่ได้ Environmental Activist ต้องตะโกนจนบริษัทยอมเปลี่ยนเป็นขวด PET แบบใส) ขวดน้ำพลาสติก PET#1 (โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเรต) ที่สกรีนขวด (ก็เอามารีไซเคิลไม่ได้) แก้วกาแฟตามร้านกาแฟที่สวยใสทำจาก PET#1 แต่เอาไปรีไซเคิลรวมกับขวดน้ำไม่ได้ เพราะเป็น PET#1 คนละเกรด อันนี้ก็งงปนโกรธแล้วจะเรียกมาตราฐานได้ยังไง แก้วกาแฟที่เอามารีไซเคิลได้และซาเล้งรับคือแก้วกาแฟจาก PP#5 แต่ร้านกาแฟไม่นิยมเพราะแก้วขุ่น ดูไม่แพง (เห็นไหมครับ เหตุผลจะโดนอารมณ์หักล้างเสมอ)

ทีนี้จะใช้วัสดุรีไซเคิลประเภทไหนเราต้องศึกษาด้วยว่า โรงงานรับรีไซเคิลตั้งอยู่ในประเทศไทยไหม มีกี่โรงงาน ระยะทางห่างจากเราแค่ไหน ราคารับซื้อเท่าไหร่ (คุ้มกับการจัดการของซาเล้งรับซื้อในการจัดการให้ครบจนถึงโรงงานรีไซเคิลหรือไม่) ยกตัวอย่างเคสของผู้ไม่ยอมจำนน คนที่รักสิ่งแวดล้อม ล้าง ตาก แยกประเภทพลาสติกแล้ว วันนึงพี่ซาเล้งบอกไม่รับ (ไม่ใช่ความผิดพี่เขา เป็นความแปรผันของราคาเชื้อเพลิง ต้นทุนรับซื้อพลาสติก ต้นทุนการรีไซเคิล)

ชาวสโลว์ฟู้ดผู้มีวิญญาณ Activist อย่าง เทล-นิธิภา ทองปัชโชติ ที่แยกประเภทไม่ยอมไปคุยกับโรงงานรีไซเคิล พวกหนูไม่ขายเพื่อเอาเงินก็ได้ พวกหนูอยากให้มันกลับไปรีไซเคิล ถ้าเอามารวมกันได้เยอะ ๆ พี่ส่งรถสิบล้อมารับได้ไหม จึงเกิดทีม “Plaplus ขยะรีไซเคิลกำพร้า” ขึ้น ซึ่งทีมนี้จะไปขอสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำวาระสัญจร ใครบ้านอยู่แถวนี้ วันนี้เทลรุนัดรถสิบล้อจากโรงงานรีไซเคิลมารับพลาสติกประเภทนี้ที่จุดนี้นะคะ อันไหนที่แยกแล้วช่วงนั้นไม่มีคนรับซื้อเพราะไม่คุ้มต้นทุนการจัดการของซาเล้งและการขนส่ง เราเอามากองรวมกันที่จุดเดียวกันเยอะ ๆ ให้โรงงานมารับไป จะได้ไม่ไปอยู่ในหลุมฝังกลบ วันไหนราคาดีก็ให้พี่ซาเล้งมารับเป็นปกติ ใครที่เจอปัญหานี้ลองตามเพจเฟซบุ๊ก Plaplus ดูได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาได้

ที่นี้การที่เราจะรู้ว่าแพ็กเกจจิงประเภทไหนรีไซเคิลได้จริงหรือไม่จริง ไม่ต้องฟังมะเป้งก็ได้ แค่ลองเอาขยะรีไซเคิลที่เราใช้อยู่เป็นประจำมาล้าง ตาก แยกเก็บตามประเภท แล้วให้พี่ซาเล้งมาบอกก็ได้ว่าอันไหนเขารับหรือไม่รับ เราก็จะรู้ว่าถ้าเราอยากช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ของเราจริง เราควรเลือกวัสดุประเภทไหน

หลังจากมะเป้งแยกขยะตามที่แนะนำไว้ ก็ลองสักเกตแล้วพบว่า พี่ซาเล้งรับซื้อของเก่าพุ่งไปที่ขยะจากอะลูมิเนียมเป็นอันแรกเลย การที่เขาให้ความสำคัญ แปลว่าตรรกะของกระบวนการรีไซเคิลดีที่สุด อันดับสองพี่เขาสนใจพลาสติก HDPE#2 (โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง) หลังจากนั้นมะเป้งให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าที่แพ็กเกจจิงเป็นไปตามที่ซาเล้งต้องการ อย่างเครื่องดื่มที่บ้าน นอกจากทำกาแฟเอง ชงชาเอง ต้มน้ำเก็กฮวยเองแล้ว ก็มีเครื่องดื่มที่ยังไม่สะดวกจะทำเอง มะเป้งเลือกโซดาใช้ขวดแก้วแบบคืนขวด น้ำดื่มรับเป็นถังแบบคืนถัง และเริ่มเลือกสินค้าจำพวกเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่แพ็กเกจจิงเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม เช่น น้ำอัดลม (มีไว้รับแขก) เครื่องดื่มเกลือแร่ (เอาไว้ดื่มเวลาทำสวน) ฯลฯ และมีความภูมิใจที่เราไม่มีขยะจากเครื่องดื่มที่ทิ้งลงถุงดำเลย รีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แหละคือสิ่งที่เราช่วยโลกนี้ได้

ครานี้ จะขอแชร์มุมมองของคนลดเวสต์ให้ฟังบ้าง ขวดแก้วรียูส และ รีไซเคิลได้จริง การเก็บเปลืองพื้นที่ มีความหนัก วิธีจัดการคือซื้อยกลัง เอามาทั้งกล่องกระดาษ เพื่อเวลาที่เราบริโภคเสร็จแล้ว ล้างขวด ตากให้แห้ง เอากลับมาเรียงใส่ในรังกระดาษให้เรียบร้อย ไม่ล้มระเนระนาด ลดความเสียงเรื่องแตกในการขนส่ง วางซ้อนลังกันได้สูง จนบางทีก็กลัวสรรพสามิตรเข้ามาขอดูใบอนุญาติ (ที่ซ้อนกันเต็มบ้านคือขวดเปล่ารอส่งกลับครับ ไม่ได้เป็นผู้ค้าส่ง)

กระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลได้ (ALU#41) คือชอบสุดเพราะพี่ซาเล้งชอบผมเลยชอบด้วย ข้อดีของการใช้งานคือมันไม่แตก ตกพื้นก็แค่บุบ แช่ถังน้ำแข็งแล้วเย็นเร็ว แช่ตู้เย็นแล้วประหยัดไฟกว่า เปิดง่ายไม่ต้องหาที่เปิดขวด ในทางสถิติแล้วปริมาณสามร้อยกว่ามิลิลิตรนี่งานวิจัยบอกว่าเป็น 1 หน่วยบริโภคโดยเฉลี่ยของคน ไม่มากไปไม่น้อยไป (วิชา Marketing Research เรียนปี 1999) กระป๋องอลูมิเนียมในการนำไปรีไซเคิลไม่ต้องล้างก็ได้เพราะขบวนการไม่เหมือนพลาสติก ทำให้สามารถเอาเข้าเตาหลอมได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ล้างเพราะมันเป็นนิสัยที่ดีของการแยกขยะรีไซเคิล และเวลาเก็บนานนานจะได้ไม่มีกลิ่น ดีกับบ้านเราและพี่ซาเล้ง พอล้างตากแห้งเสร็จเหยียบให้แบน ประหยัดพื้นที่เก็บ (มะเป้งรวบรวมไว้ตอนโมโหใคร ค่อยเอากระป๋องมากระทืบให้แบน ได้ระบายด้วย) กรณีเราอยู่นอกบ้าน แล้วโยนกระป๋องอลูมิเนียมลงถังขยะรีไซเคิล ถ้าเกิดมีน้ำจิ้มลูกชิ้นมาเปื้อนก็ไม่ต้องแยกออกเหมือนพลาสติก

ทีนี้ขอพูดข้อเสีย คือราคาวัสดุนี้แพง เลยทำให้เครื่องดื่มในปริมาณเท่ากันเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นราคาสูงกว่า ที่ใช้ไม่ใช่เพราะรวย แต่เราเชื่อว่าถ้าหักล้างกับต้นทุนของสิ่งแวดล้อมที่เสียไปนี่ยอมจ่าย ใช้ทรัพยากรและพลังงานสูงในการได้แร่อะลูมิเนียมมาจากธรรมชาติ เราต้องนำแร่บ็อกไซต์ (Bauxite) 5 ตัน เพื่อสกัดให้ได้อะลูมิเนียม 1 ตัน และใช้กระบวนการเคมีในการแยกธาตุทั้งสอง อันนี้เป็นเรื่องจริงที่กระบวนการของการได้มานั้นมีต้นทุนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม แต่มันก็เหมือนแผงโซล่าเซลล์และแบตเตอรี่รถไฟฟ้านั่นแหละ ที่มันมีต้นทุนในการได้มาสูงเพราะมาจากการถลุงแร่ แต่เมื่อเทียบกับสภาวะโลกร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) แล้ว ทิศทางของโลกนี้ก็มองว่าความยั่งยืนของพลังงานแสงอาทิตย์และรถไฟฟ้ามันคุ้มที่จะเปลี่ยน กระป๋องอลูมิเนียมก็เช่นกัน เพราะการเอาไปรีไซเคิลทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่สูญเสียเลย ไม่ว่าจะกระป๋องจากเครื่องดื่มบริษัทไหน ไม่ว่าจะสีอะไร สกรีนแบบไหน มันมีความ Universal ในการรีไซเคิลเมื่อเทียบกับพลาสติก

ตัวเลขทางสถิติบ่งชี้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของอะลูมิเนียมที่อยู่ในกระป๋องมาจาก รีไซเคิลอะลูมิเนียม ในขณะที่ขวดน้ำพลาสติก มีสัดส่วนของพลาสติกรีไซเคิลอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแก้วมี 23 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปอีกคือ อะลูมิเนียม ที่ไม่สามารถกลับมารีไซเคิลได้ส่วนมากมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพราะกระบวนการแยกประเภทแผงอิเล็กทรอนิกส์ทำได้ยาก ไม่เหมือนที่มาจากกระป๋องเครื่องดื่ม ถึงแม้อะลูมิเนียมใช้พลังงานในกระบวนการรีไซเคิลมากว่าพลาสติก 2 เท่า แต่เราก็ดีใจที่มันถูกรีไซเคิลอยู่ตลอด และต้นทุนของอะลูมิเนียมที่ผ่านการรีไซเคิลนั้นถูกกว่าอะลูมิเนียมที่ถลุงออกมาใหม่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับการได้ไปงานของสโลว์ฟู้ด หรือ เวิล์ดฟู้ดที่ต่างประเทศ ทำให้ได้เห็นว่าเขาก็ให้ความสำคัญกับวัสดุประเภทนี้ น้ำดื่มขวดพลาสติกไม่อนุญาตให้มีในงาน ใช้น้ำกระป๋องอะลูมิเนียมและไม่มีจานพลาสติกในงานอาหาร จานที่ใช้จะทำจากอะลูมิเนียม

เล่าอย่างเมามันเพราะอินจัดกับประเด็นที่หยิบยกมาแลกเปลี่ยน แต่พอถึงตรงนี้อยากจะบอกว่า ที่พูดเรื่องรีไซเคิลมาทั้งหมดนั้น มะเป้งเห็นว่าไม่มีการลดขยะอะไรดีเท่าการไม่สร้างขยะนั้นขึ้นแต่แรก กระบอกน้ำส่วนตัว กล่องข้าว ปิ่นโต ตะกร้าจ่ายตลาด และโปรดจำไว้ว่าการแค่ซื้อและมีสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยโลกใบนี้นะ การใช้มันต่างหากที่ช่วยแก้ปัญหามลพิษทางขยะได้ ซึ่งทั้งหมดเริ่มที่ตัวเรา

ภาพถ่าย: มะเป้ง