เมื่อพูดถึงสินค้าอีโค่ โปรดักต์จากธรรมชาติ หรือไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามักจะเห็นภาพของสินค้าทำมือ การกลับไปสู่ภูมิปัญญาดั้งเดิม และการใช้วัสดุที่ไม่หลุดไปจากกรอบเดิมๆ มากนัก แต่เมื่อได้รู้จัก ‘ทักทาย’ ไลฟ์สไตล์แบรนด์น้องใหม่ที่กำลังไต่บันไดเติบโตอย่างน่าจับตา เราพบว่าสิ่งที่แบรนด์นี้โดดเด่นและแตกต่างออกไป คือการดึงเอา ‘นวัตกรรม’ มาผสมผสานกับวัสดุธรรมชาติ งานแฮนด์เมด และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนได้อย่างน่าชื่นชม

ใช่, หลายคนอาจรู้สึกว่า ‘นวัตกรรม’ ดูเป็นคำใหญ่โตที่ต้องอาศัยองค์กรยักษ์ นักวิจัยแยะ และทุนหนาเตอะในการทำ แต่สำหรับ TAKTAI นี่คือแบรนด์ที่เริ่มต้นจากโปรแกรมเมอร์สาว 1 คนเท่านั้น!

ซิ่ว – กัญจิรา ส่งไพศาล คืออดีตโปรแกรมเมอร์สาวที่สนใจและลองทุ่มเทกับความสนใจของตัวเองดูสักตั้ง และผลลัพธ์ที่ได้คือความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และความภูมิใจที่ทำให้หัวใจพองโต

เมื่อโปรแกรมเมอร์อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ซิ่วจบด้านไอที ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อนค่ะ ด้วยความที่มันใช้สกิลล์กับคอมพิวเตอร์เยอะ เลยอยากทำงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับคน ได้พบเจอคนบ้าง ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าอยากมีกิจการของตัวเอง แล้วก็มีความสนใจเรื่อง eco อยู่ พอได้ยินเพื่อนพูดถึงผ้าเส้นใยธรรมชาติ ซิ่วก็ตื่นเต้นว่ามันมีด้วยเหรอ ก็ลองเข้าไปที่สถาบันสิ่งทอ แล้วก็ไปเจอผ้าทอจากเส้นใยไผ่ เป็นงานวิจัยที่ทำมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครมาต่อยอด จุดเด่นของผ้าเส้นใยธรรมชาติคือป้องกันยูวีและยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย และมันสามารถปรับอุณหภูมิได้ เวลาอากาศร้อน ใส่แล้วจะเย็นสบาย แต่เวลาอากาศเย็น ก็จะรู้สึกอบอุ่น เราว่ามันน่าสนใจมากและก็เป็นงานวิจัยไทยด้วย น่าจะทำอะไรได้ แล้วซิ่วไปพบข้อมูลหนึ่งว่า ประเทศไทยนำเข้าคอตตอน  99.95% เสื้อผ้าที่เราใส่กันทุกวันนี้เป็นคอตตอนนำเข้าหมดเลย เลยรู้สึกว่าคงน่าตื่นเต้นดีถ้าเราทำเส้นใยของเราเองแล้วไปลดจำนวนของคอตตอนที่นำเข้ามา ก็เลยลองเริ่มต้นดู

ยากตั้งแต่เริ่ม
คือเราไม่รู้อะไรเลย เริ่มตั้งแต่เราต้องหาตัวเส้นใยจากพืชในประเทศให้ได้ ซึ่งมาจากไผ่ สับปะรด กล้วย ข่า ใยกัญชง ผักตบชวา บัว ฯลฯ ก็ต้องลงไปติดต่อหาชาวไร่ พอได้มาก็ต้องคิดค้นเครื่องจักรที่จะสกัดตัวไฟเบอร์ให้เป็นเส้นออกมา ตอนนั้นก็ได้คำปรึกษาจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยและมีคนรู้จักที่ทำเครื่องจักรอยู่แล้วด้วย ก็มาช่วยกันจนออกมาเป็นเครื่องจักรพลังไอน้ำที่ลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิต พอได้ไฟเบอร์เป็นเส้นก็ต้องไปหาโรงปั่นด้าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงงานใหญ่ที่รับจำนวนเยอะ ใช้เวลาหาเป็นร้อยโรงงาน ขอเข้าไปคุยโดยที่ไม่รู้จักเขาเลย จนไปเจอโรงงานที่เขาเห็นความตั้งใจว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่อยากทำ พอปั่นมาเสร็จ ก็ไม่มีที่ทอผ้าอีก ติดต่อหาโรงงานทอก็ติดเหมือนกันเรื่องปริมาณ SMEs น่าจะเจอปัญหานี้กันเยอะว่าเริ่มต้นงานยากมาก

จนมาได้ไอเดียว่าในเมื่อเราทำงานธรรมชาติ ทำไมเราไม่เอางานเข้าไปในชุมชนล่ะ ไม่ติดเรื่องจำนวนด้วย ก็เลยลองไปอยู่หลายจังหวัดค่ะ เสาะหาบ้านที่จะทอผ้าได้สวยงามแล้วเอาเส้นใยของเราไปให้เขาช่วยทอให้หน่อย จนเจอชุมชนที่อีสาน เขามีกี่ทอผ้ากันทุกบ้านเลย แต่บางบ้านก็ไม่ได้ทอแล้วเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำต่อ ซึ่งความยากก็คือการคุยกัน เพราะว่าจะต้องสนิทกันพอตัว ก็เลยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นู่น คลุกคลีกับชาวบ้าน แล้วเริ่มซึมซับว่าชาวบ้านคิดยังไง คือเขาก็ไม่ได้คิดว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่การถ่ายทอดความรู้เรื่องทอผ้าออกไปสู่ข้างนอกได้มันทำให้เขามีความสุขด้วย เราก็เลยรู้สึกว่ามันทำให้ผ้าที่ทอออกมาประกอบด้วยความสุขอยู่ในนั้นนะ

จากผ้าสู่แบรนด์
พอได้ผ้าเสร็จก็ยังไปไม่ถูกนั่นแหละค่ะ เลยเริ่มลองขายผ้าและเส้นด้ายที่บ้านก่อน ลูกค้าก็จะเป็นแนวโรงงานหรือนักศึกษาที่จะเอาผ้าไปทำอะไรต่อ ขายไปได้สักเดือนนึงก็เริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะเป็นแบรนด์มากกว่า เพราะการคุยกับโรงงานมันไม่ค่อยใช่เนเจอร์เท่าไหร่ เราอยากเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าเป็นตัวๆ ให้ลูกค้า เหมือนพอลูกค้าใส่แล้วเขาถ่ายรูปส่งมาให้เรา มันมีความสุขนะ ก็เลยเริ่มคิดชื่อแบรนด์ คำว่า ‘ทักทาย’ เป็นคำไทยที่ดูกันเอง สบายๆ เหมือนซิ่วอยากให้ความเป็นผ้าไทย ความธรรมชาติ และความเป็นชาวบ้านดิบๆ สามารถเข้ามาขายในตัวเมืองได้ เป็นอะไรที่ใกล้ชิดกัน สามารถสื่อสารกันได้ เลยใช้คำว่า ‘ทักทาย’ อยากให้มันจับต้องได้ และทำให้คนกล้าใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษ TAKTAI คนก็จะเอ๊ะ มันอ่านว่า ‘ถักไทย’ ได้ คล้ายๆ ‘textile’ ด้วย

คือเราเป็นคนที่ชอบด้าน Marketing อยู่แล้ว ชอบคิด ชอบทำ แต่จะให้มานั่งวาดรูป ดีไซน์เองก็ทำไม่ได้ ก็เริ่มหาคนออกแบบ หาดีไซเนอร์ แล้วคุยกันว่าอยากทำเสื้อผ้าที่ให้มันดูง่าย ดูเบา ก็เลยเริ่มออกมาเป็นคอลเล็กชันแรก เราก็ให้นางแบบฝรั่งมาถ่าย Look Book เพื่อให้มันดูอินเตอร์ฯ แต่ก็ถ่ายกันในสนามฟุตบอล เอากี่ทอผ้ามาตั้งด้วย (หัวเราะ)

ง่ายด้วยเพจเฟซบุ๊ก
ตอนแรกที่เริ่มศึกษาเรื่องสิ่งทอ ซิ่วก็อยู่แต่ในห้องสมุด เหมือนเรามาเริ่มศึกษาตรงนี้จากศูนย์ ตอนนั้นก็คิดว่ามันน่าจะมีคนที่อยากรู้จากศูนย์เหมือนกัน ก็เลยไปเปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ ปั่น ทอ กัญ ค่ะ เหมือนเป็นชุมชนของคนรักสิ่งทออะไรอย่างนั้น เราก็จะไปแชร์ความรู้เรื่องเส้นใยที่ได้เรียนรู้ระหว่างการลองทำ เหมือนเป็นการรีมายด์ตัวเองไปด้วย จากตรงนั้น ก็มีดีไซเนอร์ มีช่าง มีคนสนใจ กลายเป็นชุมชน พอซิ่วเล่าว่าจะทำแบรนด์ของตัวเอง ฝากติดตามนะคะ ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาว่าอยากจะช่วยทำด้วย เหมือนมีอุดมการณ์เดียวกัน ทำให้เราได้งานที่ครบมาก มีถัก มีทอ มีออกแบบ ครบทุกอย่าง สามารถต่อยอดไปได้หมด

ร้านออนไลน์ไม่ใช่คำตอบเสมอไป
ตอนแรกที่หาช่างมานั่งตัดเย็บกันในบ้าน จำนวนยังไม่เยอะก็เริ่มลองขายออนไลน์ก่อน แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนักเพราะราคาอาจจะสูงไปสำหรับการขายออนไลน์ ก็มีโอกาสไปเจออาจารย์คนหนึ่งตอนไปอบรม คืออยากจะบอกว่าการไปอบรมนี่ดีมากเลยนะคะ ซิ่วได้คอนเน็กชั่นเยอะมาก เขาก็แนะนำเราว่าลองไปอันนี้ไหม ลองทำอันนี้ไหม ได้โอกาส ได้ทางเลือกใหม่ๆ ตลอด แล้วหลังจากนั้น เกษรพลาซ่าก็เลือกให้เราไปออกบูท ทางเซ็นทรัลก็มาคุย เลยได้เข้ามาเปิดช็อปที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เหมือนเราได้ช็อปแรกไวมาก ขายออนไลน์อยู่สองสามเดือน ยังบ่นอยู่ทุกวันว่าถ้าขายได้เดือนละตัวทำยังไงดี แต่การตั้งราคาเรตนี้ก็เพราะว่างานทอมือเป็นงานที่ละเอียดมาก และเราคิดว่าชาวบ้านก็ควรจะได้ผลตอบแทนที่โอเคด้วย เสื้อผ้าแบรนด์จากโรงงานราคาเดียวกันเรายังซื้อได้เลย ทำไมเราซื้อฝีมือคนไทยทอมือในราคานี้ไม่ได้

 

ตอนแรกก็กลัวนะคะ คือเรารู้สึกว่าคนไทยต้องไม่อิน สงสัยเราต้องขายให้ต่างชาติอย่างเดียวแน่เลย แต่พอเปิดหน้าร้าน เราเห็นว่าคนไทยซื้อเยอะ ก็เลยเริ่มรู้สึกดีว่าเราทำให้คนไทยสนใจผ้าไทยได้นะ ด้วยดีไซน์ที่มันดูโมเดิร์นด้วยแหละ ใส่ง่าย ส่วนชาวต่างชาติก็สนใจเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน อาจจะด้วยซิ่วพูดจีนได้ด้วยมั้งเลยคิดว่าจะลองโฟกัสไปทำตลาดที่จีนดู

ต่อทุนด้วยการทำ
บางที เพื่อนพูดว่า ก็มีเงินนี่เลยทำได้ แต่อยากจะบอกว่าซิ่วใช้ทุนตัวเองแค่ครั้งแรก ครั้งเดียว ที่ลงตู้มไปเลย ให้มันรู้ก่อนว่าได้หรือเปล่า แล้วหลังจากนั้นก็ขอทุนตลอด คือตอนที่เริ่มทำ ซิ่วได้มีโอกาสเอาใยไผ่มาลองขึ้นชิ้นงานด้วยการเอาไปทอกับไหม ตอนนั้นแค่คิดว่าลองเลย อยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไง ได้มาแค่ผ้าเล็กๆ ผืนนึงแล้วก็เอาประกวด Modern Thai Silk 2015 จากจุดนั้นเลยได้โอกาสไปโชว์ที่ปารีส ก็ลงทุนไปเยอะพอสมควร คิดย้อนกลับไปตอนนั้นก็กล้านะ คนอื่นที่ไปด้วยเป็นบริษัทหรือโรงงานทอใหญ่ๆ ของไทยหมดเลย เราไปตัวเล็กๆ คนเดียว แต่ที่นั่นก็ทำให้เราได้ฟีดแบคที่ดี อย่าง Louis Vuitton หรือ Ralph Lauren ก็มาคุย ให้ความสนใจ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางเรา เราอยากทำแบรนด์ตัวเอง ไม่ได้อยากขายให้แบรนด์ใหญ่ แต่การไปก็เพื่อคอนเฟิร์มว่าเรามาถูกทางนะ ซึ่งพอกลับมา ก็ได้รู้จักกับอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกท่านก็จะยินดีที่เราดึงบางจุดในงานวิจัยของเขาออกมาต่อยอดได้ ซึ่งซิ่วก็ขอทุนจากหลายๆ มหาวิทยาลัย และทุนจากศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอี ก็เลยกลายเป็นว่ามีแหล่งเงินทุนที่เรามาเดินงานของเราต่อได้ด้วย

ทักษะโปรแกรมเมอร์ VS ทักษะแม่ค้า
การเป็นโปรแกรมเมอร์ทำให้เรามีจุดเด่นด้านการวางแผนงาน เพราะตอนเขียนโปรแกรมมันจะต้องคิดอย่างมีระบบ ตีไปทีละสเต็ป และจะไม่ใจร้อนว่ามันยังไม่ถึงปลายทางสักที เวลาเจอปัญหาก็จะค่อยๆ แก้ไปทีละขั้น ทีละขั้น จนมันเข้าที่เข้าทาง แล้วด้วยความเป็นโปรแกรมเมอร์ เราก็จะสนใจไปในแนวทางนวัตกรรมหน่อย ซิ่วไม่ได้อยากให้ผ้าตัวนี้เป็น traditional Thai ทุกอย่างต้องมี innovation อยู่ในนั้นตลอด การต่อยอดงานวิจัย มีสิทธิบัตร ก็ช่วยให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ จากธรรมชาติ ปลอดภัย ไม่อันตราย และมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างไป ตัวเสื้อยืดก็เป็นอินโนเวชั่นใหม่ของเราว่า เส้นใยไผ่เอามาเข้าเครื่องถักเป็นเสื้อยืดได้ไหม ลองทำอะไรใหม่ๆ ตลอด ต่อไปเราอาจจะทำหมวกที่ไม่ต้องเอาเส้นใยมาสานแล้ว แต่ใช้พิมพ์กดแค่โมลด์เดียวก็ได้หมวก พยายามหาอินโนเวชั่นใหม่ๆ มาเล่น เหมือนเรารู้สึกว่า เออมันได้แล้ว เอาอีก เอาอีก อาจจะเป็นความซาดิสม์บางอย่าง มันยากมากเลยนะ แต่มันคงเจ๋งมากเลยทำมันออกมาได้

ส่วนทักษะที่เพิ่งจะมาค้นพบตอนทำแบรนด์ Taktai คือ เฮ้ย! เราเป็นแม่ค้าได้ รู้สึกว่ามันมีความสุขเนอะ เวลาขายของ พอเปิดหน้าร้าน ซิ่วจะมีพนักงานมาเฝ้าร้าน 5 วัน แต่เราจะมานั่งเอง 2 วันเพื่อจะได้เจอลูกค้า คอยเก็บฟีดแบค ซึ่งมันมีความสุขจัง ดีกว่าการนั่งคุยกับคอมเยอะเลย คุยกับคนง่ายกว่าคุยกับคอมเยอะ (ยิ้ม)

ผสมเทรนด์ให้เข้ากับ DNA
เทรนด์มีผลกับธุรกิจค่ะ แต่เราต้องเอาเทรนด์ตัวนั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับดีเอ็นเอของเราด้วย ไม่ใช่วันนึงทักทายจะมาทำแฟชั่นจ๋าแบบโอต์ กูตูร์ เราเริ่มธุรกิจได้จากสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราเป็น เราจะไม่หลอกตัวเอง ลูกค้าเห็นก็รู้อยู่แล้วว่าเราไม่ใช่คนแฟชั่นจ๋า และที่ทำให้เราลิงค์กับลูกค้าเพราะเราชอบเหมือนกัน ซึ่งมันทำให้เราทำงานสบายใจว่าเราไม่ได้หลอกตัวเองว่าเราเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ สิ่งที่เราเป็นมันนำพาตัวของมันไปได้ด้วยทางที่มันควรจะเป็นได้

ภาพถ่ายโดย : มณีนุช บุญเรือง