คุณรู้ไหมว่า ออกซิเจนที่เราหายใจมาจากไหน? หลายคนคงจะรีบตอบว่า ก็จากการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ยังไงล่ะ

นั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ต้นไม้ลอยน้ำ

จริงๆ แล้วพืชบนพื้นดินผลิตออกซิเจนให้แก่ชั้นบรรยากาศไม่ถึง 50% เท่านั้น และอีกกว่า 50-85% ผลิตมาจาก ‘แพลงก์ตอนพืช’ ในท้องทะเล (และแหล่งน้ำอื่นๆ) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดนี้ที่เราหลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก… มันผลิตออกซิเจนมาก่อนที่จะกำเนิดต้นไม้อีกด้วยซ้ำและทำงานหนักมากว่า 3 พันล้านปี!

แพลงก์ตอนพืชมีขนาดเล็กจนไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าและยังมีส่วนประกอบของคลอโรฟิลล์ที่สังเคราะห์แสงได้ คล้ายกับเป็นต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่ล่องลอยในทะเล ในน้ำทะเลเพียงหนึ่งช้อนชามีแพลงก์ตอนพืชรวมกันกว่าล้านตัว พวกมันจึงถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในห่วงโซ่อาหารบนโลกใบนี้

แพลงก์ตอนพืชเป็นอาหารของทั้งแพลงก์ตอนสัตว์ ปลา หอย หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬก็ยังกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร

สุดยอดอาหารมังสวิรัติ

ปัจจุบันนี้ มนุษย์มีการนำแพลงก์ตอนพืชมาบริโภคเองโดยตรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายเกลียวทอง Chlorella น้ำสลัดคลอโรฟิลล์ สาหร่ายแดง เป็นต้น งานวิจัยพบว่าแพลงก์ตอนนอกจากจะให้สารอาหารที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมสุขภาพมนุษย์ ไม่ว่าจะช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนในการป้องกันมะเร็ง ถือเป็นทางเลือกของอาหารแบบ super food ในอนาคตเลยทีเดียว

ในวงการพัฒนาการบินอวกาศเองก็มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชสำหรับยานอวกาศด้วย เพราะมันจะช่วยเรื่องผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว แพลงก์ตอนที่ตายก็มาเป็นอาหารพลังงานสูงและคุณภาพดีแก่นักบินอวกาศอีกด้วย

โลกร้อนแพลงก์ตอนละลาย

เนื่องจากแพลงก์ตอนพืชมีสารประกอบคลอโรฟิลล์ เจ้านี่นี่เองที่ทำให้น้ำทะเลมีสีฟ้าอมเขียวเล็กน้อย น้ำทะเลที่มีสีสันต่างกันบ่งบอกถึงปริมาณและชนิดแพลงก์ตอนที่แตกต่างกันได้ นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมวิเคราะห์เฉดสีได้ว่าพื้นที่ไหนมีแพลงก์ตอนพืชเยอะหรือน้อยและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

แม้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ก็น่าตกใจไม่น้อยที่ปัจจุบันเจ้าแพลงก์ตอนพืชกำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วถึง 40% เทียบกับปี 1950 และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆประมาณหนึ่งเปอร์เซนในทุกๆปี อันมีผลจากภาวะโลกร้อนและมลพิษทางทะเล (อาจเพิ่มและลดเป็นช่วงๆตามสภาพสารอาหารในทะเล) ถ้าแพลงก์ตอนพืชลดจำนวนลงก็แปลว่าอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศย่อมลดลงตามไปด้วย นั้นหมายถึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนหนักขึ้นกว่าเดิม

แม้เราจะอยู่ในเมือง อยู่บนภูเขา หรือไม่เคยไปสัมผัสทะเลเลยก็ตาม แต่เจ้าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็มีส่วนแบ่งในทุกลมหายใจของเรา…ในทางกลับกันการกระทำของเราก็ส่งผลต่อไปถึงทะเลเช่นกัน น้ำเสียที่เราอาบและชำระร่างกายส่งตรงไปถึงทะเล ครีมกันแดดที่เราทาก่อนลงน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อย หรือพลังงานที่เราใช้ ล้วนส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนพืชอันเป็นแหล่งอาหารพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งกลับไม่เคยถูกนึกถึงเลย

ภาพประกอบ: นวพรรณ อัศวสันตกุล

เครดิตภาพถ่าย: https://earthobservatory.nasa.gov/Features/Phytoplankton/page3.php