“กันดาร คือสินทรัพย์” วลีที่งดงามนิยามไว้โดย อ.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ได้สะท้อนทุกแง่มุมของความเป็นอีสานได้ใจความชัดเจนลงตัว และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงเวลานี้กระแสความเป็น “อีสาน” นั้นกำลังผลิบานเหนือกระแสวัฒนธรรมใด ๆ ในชาติ โดยเฉพาะการหยิบยกรากเหง้าทางวัฒนธรรมเดิมมาหลอมรวมกับชีวิตยุคใหม่ไว้อย่างชาญฉลาด ทั้งยังเชื่อมโยงกับมิติความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สิ่งที่กล่าวมานั้นสะท้อนผ่านทุกมิติในงานมหกรรมส่งท้ายปีที่น่าสนใจมากที่สุดงานหนึ่งอย่าง Isan BCG Expo 2022 ที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของกลุ่มมิตรผล ภาครัฐ และเอกชน ภายใต้แนวคิด “Collaboration” หรือ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ณ Khon Kaen Innovation Center (KKIC) และพื้นที่โดยรอบ เนื้อหาของงานว่าด้วยเรื่องการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากรที่มี สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ของไทยและภูมิภาคเอเชีย ครั้งนี้ กรีนเนอรี่เลยขันอาสาพาคุณไปเที่ยวชมความอหังการของผู้คนแห่งดินแดนที่ราบสูง ผ่านงานมหกรรมนวัตกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานนี้กันอย่างจุใจ

พื้นที่จัดงานดังกล่าวครอบคลุมบริเวณดาวน์ทาวน์ของจังหวัดของขอนแก่น บนถนนศรีจันทร์ เทศบาลเมืองนครขอนแก่น และถนนไก่ย่าง ทุกตารางนิ้วเนรมิตเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพแห่งนวัตกรรมสร้างสรรค์และความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของภาคอีสานเพื่อยกระดับให้ทุกมิติเติบโต และยังถูกออกแบบให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของอีสาน ที่ผู้ร่วมงานทุกคนจะสามารถมีโอกาสหลอมรวมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ก่อนจะขยับพาไปเที่ยวส่วนต่าง ๆ ขอขยายความคำว่า BCG กันสักนิดเพื่อความเข้าใจ เพราะเชื่อว่าต่อไปนับจากนี้ คุณจะได้ยินคำดังกล่าวบ่อยขึ้น แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเราคนไทยทุกคน ดังนั้นรู้ก่อนย่อมได้เปรียบ BCG นั้นคือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยย่อมาจากคำว่า Bio, Circular, Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

จากคำอธิบายนี้ ก็พอจะบอกเราได้เลา ๆ ว่า โครงของงานมหกรรมครั้งนี้นั้นจะประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่เพื่อความสนุกเราจะช่วนคุณไปเจาะลงในรายละเอียดงานกัน ว่าแล้วไปกันโลด!

ฟังเสวนา เว่าถึงแก่น แว่วถึงแก่น
เอาใจคนชอบเปิดโลกด้วยการฟังผู้มีประสบการณ์จริงมาเล่าเรื่องราวที่เกิดประโยชน์และน่าสนใจ ผ่านกิจกรรมแรกที่อยากเล่าถึงนั่นคือ การเสวนา ที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ Isan BCG Forum 2022 ณ Kaen Kaew Live House ชั้น 28 Khon Kaen Innovation Center (KKIC) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะพาคุณเปิดโลกและมุมมองใหม่ไปกับการเสวนาเกี่ยวกับการยกระดับภูมิภาคด้วย BCG Model ผ่าน เหล่า Speaker ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแวดวง กว่า 50 ท่าน ที่ล้วนมีประสบการณ์และประสบความสำเร็จ มาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดที่น่าสนใจภายใต้ BCG Model ว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และกระจายโอกาสสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ของชุมชนท้องถิ่น ไปได้อย่างไร

ถัดจากการเสวนาภาคธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งของการเสวนาที่น่าสนใจไม่แพ้กิจกรรมแรก คือ Srichan Creative Stage ผ่านกิจกรรม Talk “เว่าถึงแก่น” (คำว่า เว่า แปลว่า พูด) กิจกรรมนี้จัดขึ้น ณ ตึกคอม ขอนแก่น ซึ่งการพูดคุยในส่วนนี้จะเป็นกันเองมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในคอนเซปต์ที่จะพาไปเข้าใจถึงแก่นของอีสานยุค 5.0 ผ่านการเสวนา และทอล์กโชว์ กับบรรดาเหล่า Speaker ผู้มีประสบการณ์ในการใช้ศักยภาพของอีสานในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมยุคปัจจุบัน อาทิ หัวข้อ “อีสานกินม่วน” ที่จะพูดถึงอาสทางธุรกิจอาหาร เกษตร และการท่องเที่ยวกับชุมชนในท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจเกษตรที่ทันสมัย นวัตกรรมอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ หัวข้อ “อีสานมื้อนี้ (อีสาน Today) วันฟ้าแจ้งจางป่างกับโอกาสสดใสทางธรุกิจครีเอทีพอีสาน” ซึ่งพูดถึงโอกาสทางธุรกิจที่ราบสูงในแง่มุมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และพลังงานสะอาด พลังงานชีวภาพ

อีกการเสวนาหนึ่งที่โดนใจสายเกษตรอินทรีย์อย่างมาก นั่นคือ Green Stage จัดขึ้น บริเวณ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งผู้ที่มาร่วมเสวนา คือเหล่าผู้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จากทั่วประเทศ ที่จะมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางความยั่งยืนทางอาหารและเกษตรอินทรีย์ในไทย และในภาคอีสาน

ที่สำคัญสิ่งที่ทุกเวทีในงานนี้ต้องมีคือกิจกรรม Isan Serng & Sound : แว่วถึงแก่น ที่นำเอาศิลปะดนตรีจากลูกอีสานหลากหลายแนวเพลง ตั้งแต่ศิลปินนักร้องดนตรีสไตล์แจสที่นำเอาเครื่องดนตรีอีสานผสานเข้ามา หรืองานดนตรีร่วมสมัย และ ดนตรีพื้นถิ่นอินดี้ พื้นถิ่นอีสานดั้งเดิม มาขับกล่อมให้ผู้เข้าร่วมกันม่วนเพลินเจริญจิตกันทุกวัน

ชิมข้าวใหม่ บริจาคขวดน้ำใส และชมรูทท่องเที่ยวอีสาน ผ่านนิทรรศการในตึกคอม
ชั้นล่างของตึกคอม นอกจากจะมี Srichan Creative Stage ที่ให้ผู้ร่วมชมงานสามารถเข้าร่วมฟังเสวนากันแล้ว รอบ ๆ เวที ยังมีบูธนิทรรศการที่น่าสนใจให้เราเข้าไปเยี่ยมชม

เริ่มจากบูธนิทรรศการที่ส่งกลิ่นหอมที่สุดในงาน นั่นคือ นิทรรศการชิมข้าวใหม่อีสาน ของ TCDC ขอนแก่น ที่จัดขึ้นชั้นหนึ่งใต้ตึกคอม บริเวณใกล้กับเวทีเสวนา ที่จะทำให้คุณรู้ว่าข้าวไทยในวันนี้ได้ถูกนักออกแบบนำมิติเรื่องกลิ่นรสมาสร้างสรรค์เป็นหลักสูตรการชิมข้าวได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะโมเดลวงกลมที่จะสอนให้คุณชิมข้าวเป็น รู้ว่าการชิมข้าวต้องใส่ใจในเรื่องอะไรบ้าง ทั้ง รสชาติแรกลิ้น รสสัมผัส อาฟเธอเทสต์ และกลิ่นที่แยกย่อยออกไปเป็นหลายหมวด สิ่งสำคัญที่กล่าวมายังได้สรุปทำเป็นข้อมูลให้กับข้าวอีสานแต่ละชนิดที่ผ่านการทดสอบชิมมาแล้ว ให้เราสามารถโหลด QR Code ดูข้อมูลได้ นิทรรศการนี้ยังทำให้ได้รู้ว่าพันธุ์ข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีถึง 522 สายพันธุ์เลยทีเดียว ถือเป็นการเปิดตาที่สามให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าข้าวไทยนั้นมีความหลากหลายเกินกว่าข้าวมาตรฐานแค่ไม่กี่ชนิดที่เราบริโภคกันอยู่ นอกจากข้อมูลสมองแล้ว ในนิทรรศการยังมีหม้อหุงข้าวที่หุงข้าวใหม่อีสานให้ผู้เข้าชมสามารถลิ้มชิมรสกันได้สี่สายพันธุ์คือ ข้าวหอมมะลิ105 จาก จ.ร้อยเอ็ด เนื้อนุ่มหนึบยังมียางข้าวใหม่ กลิ่นหอมฟุ้งรสหวานปานน้ำตาล ข้าวมะลินิลสุรินทร์ จาก อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ข้าวสีม่วงเนื้อนุ่มหนึบกรึบกรุบ กลิ่นหอมออกแนวธัญพืช ส่วนตัวชิมแล้วสัมผัสได้ถึงรสมันและรสหวานเจือกัน ข้าวโสมาลี จาก จ.สกลนคร ข้าวกล้องกลิ่นหอมคล้ายน้ำนม เนื้อนุ่มหนึบแบบละมุน ข้าวนี้ยิ่งเคี้ยวยิ่งหอม และข้าวเหนียวลายดอกไม้ จ.สกลนคร ข้าวเหนียวใหม่เนื้อนุ่ม กลิ่นหอมดุจดอกไม้ป่า

ในโซนเดียวกัน มียังมีนิทรรศการจัดแสดงรูทการท่องเที่ยวแบบ BCG ที่น่าสนใจในอีสานโดย Esan Travel Biz และบูธ “โฮมคำม่วน” Home Come Muan ที่เปิดโปรเจค “ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์” ภายใต้แนวคิด “ปั้นคนปั้นคอนเทนต์” เพื่อเปิดรับสมัครนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจสมัครเพื่อคัดเลือกเข้ารับการอบรม Workshop Boot Camp และผลิตชิ้นงานคอนเทนต์เพื่อชิงเงินรางวัล พร้อมทั้งโอกาสเป็นพนักงานออนไลน์น้องใหม่ประจำภาคอีสานสำหรับผลิตโซเชียลคอนเทนต์ให้กับเพจ โฮมคำม่วน ในอนาคต

ขณะเดินชมงาน ก็ไปสะดุดตากับ เครื่องรับบริจาคขวดพลาสติก ที่จะนำไปใช้รีไซเคิลต่อในอนาคต ของบริษัทสิงห์คอเปอเรชั่น ที่ให้ผู้ร่วมงานสามารถนำขวดน้ำใสจากพลาสติก PETE มาบริจาคกับเครื่องนี้ได้ เรียกได้ว่าขวดน้ำดื่มในงานจะไม่ถูกนำไปทิ้งขว้างอย่างไม่ใส่ใจ สมกับที่เป็นงานที่มีใจความว่าด้วยความยั่งยืนจริง ๆ

ชม-ช็อป-ชิม ผ่านนิทรรศการ Walking Street Exhibition
บ่ายแก่ ๆ จนเย็นย่ำ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.-21.00 น. ของทุกวัน บริเวณรอบอาคารตึกคอม ถนนไก่ย่าง เชื่อมต่อไปยังลานเทศบาลนครขอนแก่น จะกลายเป็น Walking Street Exhibition เต็มไปด้วยสีสันของงานนิทรรศการจัดแสดงสินค้าอีสานที่ผ่านการออกแบบอย่างน่าสนใจ โดยแบ่งงานออกเป็น 3 โซนคือ Creative Zone ที่ผู้ร่วมงานจะได้ร่วมชมไอเดียการต่อยอดอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมไว้ทั้งงาน Creative Design งาน Craft Hand ศิลปะสุดม่วน และอาหารรสแซ่บ ถัดมาคือส่วนของ Innovative Zone ว่าด้วยเรื่องของการนำทรัพยากรและวัตถุดิบท้อถิ่นในอีสานมาสร้างสรรค์ และส่วนสุดท้ายคือ Green Zone ที่รวบรวมสินค้านวัตกรรม ฟาร์มออร์แกนิกจากหลากพื้นที่ และในพื้นที่อีสานมาออกบูธเพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสถึงความสำคัญของดินอีสานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

บูธที่กระแทกตาที่สุดใน Creative Zone คือสีสัน คือ บูธ “มาดูภูมิ มาตุภูมิ” ที่นำเอาเรื่องเล่าในบ้านเกิดต่างจังหวัดภาคอีสานและหูกทอผ้ามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ทำให้เป็นบูธที่มีสีสันสวยงามไปด้วยลวดลายของเส้นด้ายถักทอผ่านกี่ทอผ้า ภายในยังมีโต๊ะยาวจัดเรียงวัสดุเทเบิ้ลแวร์แสนสวยกลิ่นอายศิลปะอีสานเอาไว้ และไม่ได้วางไว้ให้ชมเปล่า ๆ เพราะโต๊ะตัวนี้จะกลายเป็นโต๊ะอาหารเชฟเทเบิ้ล ของเชฟอ้อม-สุจิรา พงษ์มอญ เจ้าของรางวัล Michelin guide young chef award ปี 2021 จากร้าน ยุ้งข้าวหอม และเชฟ Martin Guerra ร้าน Mezcal Bar ให้ผู้ที่ต้องการลิ้มลองรสชาติอาหารจากเชฟทั้งสองให้สามารถจองบัตรเข้ามารับประทานอาหารของเชฟทั้งสองในคอนเซปต์ “Isan Soul” ที่ตั้งใจนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นอีสานมาปรับวิธีนำเสนอในรูปแบบที่อินเตอร์มากขึ้น ความรู้สึกของคนชมงานนี้รู้สึกได้ว่านี่ไม่ใช่การเสิร์ฟอาหารแต่เป็นการแสดงผลงานศิลปะผ่านจานอาหารต่างหาก

ยกตัวอย่างเมนูอาหารเช่น หนังกบทอดเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้ม, ผลไม้ดองพริกเกลือดักแด้, อีสานกัวคาโมลเลกับสายบัว, ซอยจุ๊&ก้อยปลา, จี่มันปูนา เสิร์ฟกับ หอยเชอร์รี, อ่อมกบ, ไก่บ้านย่าง, ขนุนอ่อนหมัก เสิร์ฟพร้อมกับน้ำจิ้มหลากหลาย

ถัดจากบูธของเชฟทั้งสอง เราจะเห็นงานดีไซน์ต่าง ๆ ตั้งแต่ เก้าอี้ โต๊ะ แจกัน งานคราฟต์ต่าง ๆ สินค้าที่ผ่านการออกแบบมาอย่างน่าสนใจ ที่หยิบยกเอาแง่มุมของความเป็นอีสานมานำเสนอไว้อย่างตื่นตาตื่นใจ

เดินชมงานออกแบบเพลิน ๆ ไป แว้บเดียวก็ไปถึง Green Zone ที่รวมเอาบูธสินค้าการเกษตรอินทรีย์ มารวมกันไว้มากกว่า 20 ราย จากทั่วประเทศ ทั้งผักผลไม้ สินค้าแปรรูป อย่างที่เล่าไปว่าโซนนี้มีเวทีทอล์กถึงทิศทางของเกษตรอินทรีย์ในไทยและอีสานให้ได้ร่วมฟังด้วย แต่ถ้าแค่ฟังยังไม่อินพอ สามารถซื้อหาวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มาออกร้านได้ ที่สำคัญสามารถพูดคุยกับแต่ละร้านถึงสินค้าที่พวกเขาขายกันได้แบบลึกซึ้งถึงแก่นกันไปเลย

ในโซนนี้เราได้พบปะกับคนคุ้นเคยในแวดวงเกษตรอินทรีย์อย่าง อำนาจ เรียนสร้อย แห่ง “แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” ที่นำเนื้อไก่และไข่ไก่ออร์แกนิกมาวางขาย เดินไปอีกหน่อยได้ลองลิ้มชิมรสน้ำผึ้งป่าของไทยจากทั่วประเทศ เก็บจากหลากหลายฤดูกาล และเครื่องดื่มม็อกเทลจากน้ำผึ้งไทยของ เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ แห่ง “บำรุงสุขฟาร์ม” ส่วนที่รู้สึกทึ่งมากคือ “บูธของการท่องเที่ยววิถีสีชมพู” จ.ขอนแก่น ที่นอกจากจะนำเอาเรื่องวิถีการเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่มานำเสนอแล้ว ยังนำเอาเมล็ดกาแฟอราบิกาแรกที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มาชงให้ชิม แม้จะกลิ่นรสยังไม่โดดเด่นมากนัก แต่ก็นับเป็นเรื่องดีและแปลกใหม่ที่พื้นที่ขอนแก่นเริ่มมีการริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาแล้ว จริง ๆ ในโซนนี้ยังมีสินค้าอินทรีย์ดี ๆ อีกมากมายจากทั่วไทยที่มาออกบูธ หากต้องการทราบว่ามีบูธอะไรบ้างสามารถเข้าไปชมลิงก์รายการสินค้าได้ ที่นี่

Isan Gastronomy เอาใจสายกินฟินเต็มคาราเบล ผ่านอาหารพื้นถิ่นอินเตอร์
สายกินจะฟินมากกับกิจกรรม Isan Gastronomy ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสุดพิเศษหนึ่งในงาน Isan BCG Expo ทีเด็ดคือเขาได้รวบตึงสุดยอดเชฟอีสานจากทั่วฟ้าเมืองไทยมาจัดเชฟเทเบิ้ลให้ได้ลิ้มลองกันแบบเต็มคาราเบล ทั้ง เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และเชฟจิ๊บ กัญญารัตน์ ถนอมแสง จากร้านอาหารแก่น เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธ์ จากร้านซาหมวยแอนด์ซันด์ จ.อุดรธานี เชฟคำนาง-ณัฎฐกรณ์ คมจิต จากร้านเฮือนคำนาง จ.ขอนแก่น เซเลปเชฟอย่าง เชฟจ๋า-น้ำทิพย์ ภูศรี จากรายการมาสเตอร์เชฟ และเดลิเวอรีอาหารอีสานในนามภาข้าว เชฟแหวว-น.อ.หญิง วิบูลรัตน์ เอี่ยมปรเมศวร์ จากร้าน Mother Chef ที่จะมาเสิร์ฟอาหารโคราชร่วมสมัย ป้าเชฟ-ศิโรรัตน์ เถาว์โท เชฟอารมณ์ดีจาก จ.อุบลราชธานี ผู้นำรอยยิ้มและอาหารรสเลิศจากเมืองแสงตะวันแรกของประเทศมาเล่าผ่านอาหารสุดครีเอท รวมไปถึงเชฟประจำห้องอาหารประจำโรงแรม Ad Lib Hotel Khon Kaen ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ทั้ง Mr.Kan Bright San ชาวมาเลเซีย และ เชฟ Saiful Huda เชฟขนมหวานชาวอินโดนีเซีย

ทุกท่านที่กล่าวถึงได้หยิบจับนำเอาทั้งวัตถุดิบอีสานพื้นถิ่น องค์ความรู้ทักษะในการปรุงอาหารอีสาน และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนแรงผลักดันในใจ หลอมรวมและถ่ายทอดผ่านมื้ออาหารสุดพิเศษในรูปแบบเชฟเทเบิ้ล สลับสับเปลี่ยนกันไปทุกวัน จัดได้ว่าเป็นงานรวมเชฟชั้นนำของอีสานเอาไว้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เคยมีมาก่อนหน้านี้

Greenery. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับประทานอาหารในรอบสื่อมวลชนในวันแรกจัดงาน จึงอยากเล่าถึงประสบการณ์ปนปลายลิ้นนี้ให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ไปด้วยกัน โดยเปิดประเดิมด้วยอาหารอร่อยของร้านอาหารแก่น | Kaen ร้านอาหารสไตล์แคชชวลไดน์นิ่งในจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับคัดเลือกให้ติดอยู่ในลิสต์ร้านอาหารของมิชลินไกด์ เล่ม ปี 2023 ภายใต้การดูแลของเชฟไพศาลและเชฟจิ๊บ โดยมีแนวคิดแสนสนุกของร้านว่า “แก่นบักสีดา” (บักสีดา แปลว่า ผลฝรั่ง ในภาษาอีสาน เชฟตั้งใจใช้คำแปลที่พ้องเสียงมาสื่อความหมายว่า เป็นอาหารอีสานร่วมสมัยที่นำเอาวัตถุดิบอีสานมาปรุงผ่านทักษะร่วมสมัยแบบครัวอินเตอร์แบบฝรั่ง)

โดยอาหารเชฟเทเบิ้ลแก่นบักสีดานี้ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 คอร์ส เริ่มเปิดต่อมรับรสด้วย “แนวบำรุงไส้” นั่นคือ โพรโบโอติกจากเครื่องดื่มทาปาเช่แบบแม็กซิโก หมักจากเปลือกสับปะรด แล้วผสานรสไทย ๆ อย่าง ขิง พริก

ตามติดมาด้วย “บักแตงโมแฮ่ง” เมนูอามูชบูช เปิดลิ้น ที่ครีเอทสุด ๆ ด้วยการนำเอาแตงโมมารีดิวซ์จนแห้งเป็นแผ่นนุ่มเหนียวหนึบกลายเป็นแฮมแบบแพลนเบส แล้วนำมาพันกับขนมปังกรอบ เติมรสมันด้วยมาสคาโปนเน่ชีสทำจากนมโคสดขอนแก่น ตัดรสเปรี้ยวด้วยเกล็ดเนื้อมะนาวนิ้วมือ อร่อยลงตัวสุด ๆ

“ไค่ลวก” เชฟจงใจสะกดคำแบบนี้เพื่อให้คนกินออกเสียงได้ถูกต้องตามสำเนียงอีสาน จานนี้ทีเด็ดอยู่ที่ไข่ ซึ่งใช้ไข่ไก่ KKU1 ซึ่งเป็นไข่ไก่ของไก่ยูริกต่ำ ราดด้วยเบอร์เนสซอส ตีขึ้นจากนมโคขอนแก่น ด้านล่างมีผักอีสานพื้นบ้านกลิ่นหอมรสเข้มไว้ช่วยส่งรสชาติในหนึ่งคำ ให้ความรู้สึกพิเศษ

ถัดมาเป็นเมนูซุปใสอย่าง “ต้มไก่” เมนูนี้ใช้กระดูกไก่ยูริกต่ำ KKU1 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาเคี่ยวซุปใสหรือที่เรียกว่า คอนซอมเม ด้วยวิธีการตุ๋นผ่านน้ำเดือด (double boil) เพื่อให้ได้น้ำซุปที่ใสแจ๋วสีทอง แต่คงกลิ่นรสหอมหวานของกระดูกไก่ไว้อย่างเต็มเปี่ยม เหยาะน้ำมันผักแขยงลงไปนิดหน่อยพอให้เกิดกลิ่นหอมแบบอีสาน แล้วมีราวิโอลีสอดใส้เนื้อไก่ KKU1 วางตรงกลางให้ตักกินไปด้วยช่วยเพิ่มรสชาติและรสสัมผัสยามเคี้ยว

“กุ้งเดือนลวก” แอพิไทเซอร์จานนี้เชฟเลือกนำเสนอแนวคิด Nose to Tail (กินทุกส่วนของวัตถุดิบ) ผ่านคอนเซปต์ “เขื่อนอุบลรัตน์” โดยใช้ทุกส่วนของกุ้งแม่น้ำมาเป็นองค์ประกอบในจาน ไม่ว่าจะเป็นคางกุ้งทอด เนื้อกุ้งกงฟี ขนมจีนผัดมันกุ้ง และมีคาเวียร์รสน้ำจิ้มซีฟู้ด และเจลลี่มันกุ้ง เคียงด้วยมะเขือเทศอีเป๋อ และผักกาดฮีนทอดกรอบ กลายเป็นจานหลากรส หลากสัมผัส ที่ต้องกินให้ครบจบในคำเดียวเพื่อความสนุกในมื้ออาหาร

ก่อนจะเข้าสู่เมนคอร์ส เคลียร์ลิ้นด้วย “กะแล่ม” ในภาษาอีสานและภาษาลาวแปลว่า “ไอศกรีม” ที่ทางร้านออกแบบมาเก๋ไก่ โดยใช้น้ำหมักคอมบูฉะมะไฟมาทำเป็นไอศกรีมชอร์เบรูปทรงโลลิป๊อปเหมือนอมยิ้ม วางมาบนขนมตุ๊บตับบดครัมเบิ้ล หอมกลิ่นถั่วรสหวาน ซึ่งเจ้าขนมตุ๊บตั๊บนี้เป็นของดีของขอนแก่น

เรียบร้อยแล้ว มาลองลิ้มเมนคอร์สอย่าง “ซิ้นย่าง” คำว่า ซิ้น แปลว่า เนื้อสัตว์ โดยครั้งนี้ทางร้านเลือกใช้สันในของเนื้อโควากิวจาก อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่เลี้ยงให้โคกินหญ้าสด 500 วัน ก่อนนำเนื้อมาดรายเอจจิ้งอีก 21 วัน ทำให้เสต๊กสันในวัวที่เสิร์ฟมานี้ดีงาม หอม และ นุ่ม สุด ๆ และเสริมความอร่อยขึ้นไปอีกด้วยเกรวี่ที่ได้จากการดีเกลซกระทะด้วยสาโทพื้นถิ่นของพ่อสวาท อุปฮาด เกษตกรและปราชญชาวบ้านผู้ผลักดันวิถีเกษตรอินทรีย์ในขอนแก่น กลิ่นของเกรวี่จึงหอมจับใจเหลือหลาย

แล้วปิดท้ายด้วยของหวานสุดดีงามอย่าง “เค้กอินทผลัม” ที่ได้ไอเดียมาจาก sticky date pudding ขนมดั้งเดิมของอังกฤษ ทางร้านเลือกใช้ผลอินทผลัมแห้งจาก อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น มาเป็นวัตถุดิบหลัก เสิร์ฟคู่กับไอศกรีมผสมเหล้ารัมสีดำหมักจากอ้อยในจังหวัดขอนแก่นเช่นกัน เคียงด้วยผลฟิกที่ปลูกจากสวนใจกลางเมืองในขอนแก่น

นี้เป็นเพียงตัวอย่างเชฟเทเบิ้ลที่จัดขึ้นในงานนี้ เพื่อโชว์ให้เห็นถึงศักยภาพของเชฟอีสาน ตลอดจนวัตถุดิบของดีในอีสานที่สามารถผลักดันให้ก้าวสู่ความเป็นสากลได้อย่างดีงาม และยังมีวันสุดท้ายของงานซึ่งทางโรงแรมได้จัด “แกรนด์บรันช์” ขึ้น โดยจะรวมเมนูอีสานร่วมสมัยจากเชฟอีสานทั้ง 9 คน มาให้ผู้เข้ามาชิมสามารถลิ้มลองรสชาติกันได้อย่างจุใจ ซึ่งส่วนนี้จะขอนำไปเล่าแยกเป็นคอลัมน์ Isan Flavor ให้คุณผู้อ่านได้สัมผัสกลิ่นอายรสแท้แห่งอีสานกันอย่างเต็มอิ่ม

เรียกได้ว่า การเยี่ยมชมงาน Isan BCG Expo ครั้งนี้สร้างความรู้สึกทึ่งไปกับการเติบโตของอีสานให้กับเราอย่างมาก และทุกแง่มุมที่มหกรรมดังกล่าวได้สะท้อนออกมา ก็ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้อย่างดีเยี่ยมในการนำความเป็นอีสานมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนครบทุกมิติ ตอกย้ำว่า สินทรัพย์บนความกันดารของแผ่นดินอีสานนั้น ช่างล้ำค่าจริง ๆ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน จากเพจเฟสบุ๊ก Khon Kaen Let’s Go
ขอบคุณภาพ จาก Isan BCG Expo และเพจเฟสบุ๊ก KhonKaen Let’s Go