รู้ไหมว่า นอกจากต้องเจออุณหภูมิปรอทแตกในฤดูร้อนที่ผ่านมาแล้ว ปีนี้พวกเรายังกำลังจะเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “เอลนีโญ” อีกด้วย นั่นจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนน้อย จนอาจก่อให้เกิดวิกฤติอาหารและน้ำขึ้นได้ ว่าแต่เจ้าเอลนีโญ นี้คืออะไรกันแน่หนา ทำไมร้ายกาจเพียงนี้ ที่สำคัญเกิดขึ้นได้อย่างไร จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง และเราจะมีวิธีเตรียมตัวรับมืออย่างไร เนื้อหาของบทความนับจากนี้ กรีนเนอรี่จะชวนคุณร่วมหาคำตอบดังกล่าวไปพร้อมกัน    

เอลนีโญ เด็กชายแห่งความแปรปรวนของสภาพอากาศ
WMO ประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” ว่าแต่เจ้าปรากฏการณ์ชื่อแปลกนี้คืออะไรกันแน่หนอ

“เอลนีโญ” เป็นภาษาเสปน แปลว่า “เด็กผู้ชาย” ในช่วงปี ค.ศ. 1892 ชาวเปรูสังเกตเห็นว่ามีกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเลียบชายฝั่งเปรูไปทางใต้ในทุก ๆ 2-3 ปี ทั้งที่ปกติแล้วชายฝั่งเปรูจะมีน้ำเย็นปรากฏอยู่ กระแสน้ำอุ่นที่เข้ามาแทนที่นั้นจะคงอยู่ราว ๆ 2-3 เดือน หรือยาวนานข้ามปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางชายฝั่ง ทั้งสิ่งมีชีวิต อาชีพต่าง ๆ เช่น ประมง รวมไปถึงเกษตรกรรม และทุกครั้งที่เกิดก็จะกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง 

กล่าวกันว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว แต่มนุษย์เพิ่งจะสังเกตเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ศึกษาและทำวิจัยเพื่อประมวลผล เพื่อพยากรณ์ผลพวงที่เกิดขึ้น และวางแผนรับมืออย่างจริงจัง ในช่วง ปี พ.ศ. 2525-2526 ที่ผ่านมานี้เอง 

เอาล่ะ ครานี้มาทำความรู้จักกับเอลนีโญให้ชัดเจนกันสักหน่อย แต่จะเล่าเรื่องเอลนีโญให้เข้าใจง่ายขึ้น ต้องทำความรู้จักกับ “ลมสินค้า” กันก่อน กล่าวคือ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียกับอเมริกาจะมีกระแสลมประจำปีสายหนึ่งชื่อ “ลมสินค้า” ในสภาวะปกติ เจ้าลมนี้จะพัดเอากระแสน้ำอุ่นจากฝั่งตะวันออก (เปรู เอกวาดอร์ ชิลี) ไปฝั่งตะวันตก (ชายฝั่งอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย) เมื่อกระแสน้ำอุ่นไปรวมตัวกัน มวลความร้อนจะระเหยกลายเป็นไอและทำให้เกิดฝนตกชุกในเขตเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย นี้คือเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยเราและเหล่าประเทศเพื่อนบ้านย่านนี้ มีฝนตกชุก ทำการเกษตรได้ดีจนขึ้นอันดับเป็นครัวของโลก

ทีนี้ปรากฏว่า ความกดอากาศในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น จะมีช่วงเวลาที่ผันผวนและส่งผลให้ลมสินค้าอ่อนแรงลง แทนที่จะพัดกระแสน้ำอุ่นมาทางฝั่งบ้านเรา กลับพัดย้อนกลับไปอีกฝั่ง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ก็จะกลายเป็นฝั่งเอเชียและออสเตรเลียไม่มีฝน ร้อน แห้งแล้งสุดขีด ขณะที่อีกฝั่งอย่างเอกวาดอร์ เปรู ชิลี ที่ควรจะมีกระแสน้ำเย็นผุดขึ้นจากใต้ท้องทะเลเพื่อหล่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็กลายเป็นมีกระแสน้ำอุ่นไปกองรวมอยู่แทน และก่อให้เกิดลมพายุ ฝนฟ้าคะนองทั้งที่ไม่ควรเป็น 

สำหรับประเทศไทย ทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลให้อุณภูมิสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ขณะที่ฝนในช่วงฤดูดังกล่าวจะลดลง และเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำเกษตรกรรม

ภาพจาก www.climate.gov/enso

ภาพจาก www.climate.gov/enso

เมื่อ เอลนีโญ ฟีเจอร์ริ่งกับ สภาวะโลกร้อน ก็แปลงร่างเป็น ซูเปอร์เอลนีโญ
ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศ (Climate Prediction Center) แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเตือนภัยเอลนีโญ โดยคาดว่ารูปแบบสภาพอากาศจะก่อตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 สิ่งที่น่ากังวลตามมาก็คือ จากการคาดการณ์และพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก เตือนว่า ในปลายปี พ.ศ. 2566 นี้ โลกอาจกำลังต้องเผชิญกับ “ซูเปอร์เอลนีโญ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งจากสภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก และเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่องค์การอนามัยโลก WHO ประกาศว่า ขณะนี้ อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมรับมือกับไวรัสโรคร้ายแรง โรคระบาดต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้และปีหน้า ซึ่งขณะนี้ประเทศเปรู และอาร์เจนติน่า กำลังได้รับผลกระทบดังกล่าวจากการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การระบาดนี้เป็นผลมาจากฝนตกหนักเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น และทำให้พาหะของโรคอย่างยุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง

ลำพังภาวะโลกร้อน ณ ขณะนี้ ซึ่งมาจากน้ำมือมนุษย์ก็ยากที่จะรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้ว แต่ภาวะดังกล่าวยังเร้าให้การเกิดของเอลนีโญทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกซึ่งจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ส่งผลให้เกิดวิกฤติขึ้นได้หลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือวิกฤติการขาดแคลนอาหารและน้ำ ที่มนุษย์อย่างเราต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี

ซูเปอร์เอลนีโญ กับวิกฤติอาหาร ที่ต้องรับมือ
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ออกมาเตือนว่า จะเกิดการขาดแคลนอาหารและความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนิโญ และสภาวะโลกร้อน ผสมผสานกัน จึงจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และประเทศไทยคือหนึ่งใน 42 ประเทศ ที่ถูกเตือน

ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 เอลนีโญที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศไทยลดลงถึง 10 % และมาครานี้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์เอลนีโญ ประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเรา ย่อมได้รับผลกระทบนี้ไปเต็ม ๆ ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานฝนทิ้งช่วงในเขตพื้นที่การเพาะปลูกข้าว เช่น ในจังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท อีกทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีปริมาณน้ำลดต่ำลง ซึ่งสภาวะนี้ กรมชลประทานต้องขอให้ชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาหยุดทำนาปรังรอบ 2 เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในช่วงปลายปี 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิณว่า เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566-2567 นี้ อาจทำให้ข้าวนาปี ในปี พ.ศ. 2566 ลดลงถึง 4.1-6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25.1-25.6 ล้านตัน ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมิณกรณีเกิดเอลนีโญแบบปกติ ซึ่งพอนับรวมข้าวนาปีข้าวนาปรังเข้าด้วยกันแล้วยังพอจะมีปริมาณข้าวเพียงพอหล่อเลี้ยงคนในประเทศและค้าขายระหว่างประเทศ แต่ถ้าเอลนีโญที่เกิดขึ้นรุนแรง ผลอาจไม่เป็นไปตามนั้น 

ว็บไซต์เวียดนามนิวส์รายงานในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านว่า เอลนีโญ่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการปลูกข้าวและเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของเวียดนามแน่นอน ขณะที่มีรายงานเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียได้ประกาศเตือนพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 7 จังหวัด ให้เตรียมตัวรับมือ ขณะที่มาเลเซียคาดว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันจะลดลง 1-3 ล้านตัน 

ล่าสุด สำนักข่าวในไทยรายงานว่า ต้นลาน ในอุทยานแห่งชาติทับลานกว่าหมื่นต้นทยอยกันออกดอก เนื่องจากผลกระทบของเอลนีโญที่เกิดขึ้น ซึ่งชีพลักษณ์ของต้นลานนี้เมื่อออกดอกแล้ว ก็จะค่อย ๆ ตายลงในที่สุด นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า มันไม่ใช่แค่ร้อน แล้ง น้ำน้อย แต่พืชพรรณธัญญาหารที่เคยเพาะปลูกได้อาจจะไม่ให้ผลผลิต หรือล้มตายลง แล้วอย่างนี้มนุษย์เราจะอยู่กันอย่างไร 

มีคำแนะนำว่า หากรู้ผลการทำนายช่วงเวลาเกิดภัยแล้งจากเอลนีโญได้ เกษตรกรอาจใช้วิธีเลื่อนปลูกพืช หรือเลือกพืชพรรณทนแล้งมาปลูกแทน แต่ก็ใช่ว่าทำเช่นนั้นแล้วจะได้ผลดีเสมอไป หรืออาจทำไม่ได้กับพืชทุกชนิด เพราะมีนักวิชาการบางท่านได้ให้ข้อมูลว่า พืชอาหารอย่างข้าวนั้นอ่อนไหวต่ออุณหภูมิกับการผสมเกสร แม้จะขยับเวลาปลูกเพื่อไม่ให้โดนภัยแล้งหรือน้ำท่วมแล้ว แต่บางทีผลผลิตก็ไม่ออก 

ในขณะที่ปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า พืชสวนได้ผลผลิตไม่ดีนัก หรือผลผลิตผลไม้ในปี พ.ศ. 2566 ที่ลดลง เช่น สตรอว์เบอร์รี มะม่วง หรือผลไม้ในฤดูนี้อย่างกระท้อน ที่ให้ผลผลิตไม่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

พวกเราควรทำอย่างไรดี ในวิกฤติ ซูเปอร์เอลนีโญ
เอลนีโญ อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เราจั่วหัวขึ้นมาเล่าถึง แต่สิ่งที่สะพรึงกว่านั้นก็คือ สภาวะโลกร้อน จะทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญนั้นเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าเดิม 

ปัจจุบัน ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือปัญหาระดับโลก ที่แต่ละประเทศต่างทำสัญญาต่อกันว่าประเทศของตนจะลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งพบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นอันดับหนึ่ง และ รองลงมาคือภาคการเกษตรและอาหาร 

มีผลการวิจัยกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution (WWA) พบว่า ถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส โอกาสที่จะเกิดความร้อนรุนแรงในอินเดียและบังคลาเทศจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ ไทยและลาว จะเพิ่มขึ้น 10 เท่า  สภาวะโลกร้อนคล้ายกับการทำอาหารที่นำฝาไปครอบ มันจะระอุและร้อนนาน ดังนั้น จะทำให้ทุกสิ่งที่ได้รับผลกระทบนั้น รุนแรงขึ้น เกิดบ่อยขึ้น เกิดยาวนานขึ้น และทบทวีคูณ 

สภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เลวร้ายจะก่อให้เกิดวิกฤติตามมามากมาย ได้แก่ ภาวะแห้งแล้งสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยเรากำลังจะเจอภายในสองปีนี้ เกิดฤดูกาลแบบสุดขีด เช่น ฝนตกหนัก อุทกภัย ฯลฯ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและเป็นปัญหาระดับโลก เกิดไฟป่าได้ง่าย เกิดผลกระทบด้านสุขภาพของกลุ่มอาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย เช่น พายุพัดบ้านเรือนพัง ตลิ่งน้ำและชายฝั่งถล่ม ฯลฯ การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช การแย่งชิงน้ำและทรัพยากร การย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยทางสภาพอากาศซึ่งไม่สามารถเพาะปลูกทำกินได้ (เกิดขึ้นแล้วในบางส่วนของโลก) น้ำจืดในโลกลดลง เกิดการแย่งชิงน้ำ น้ำทะเลสูงและมีความเป็นกรดมากขึ้น เกิดความหิวโหยและยากจน

ค่าเฉลี่ยของคนไทย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 5 ตัน ต่อคน ต่อปี ส่วนคนในประเทศร่ำรวยเขาปล่อยคาร์บอนกันอยู่ที่ 15 ตัน ต่อคน ต่อปี ครานี้ ต้นไม้ 1 ต้น ดูดซับคาร์บอนได้ 20 กิโลกรัม ต่อปี ก็ลองคำนวณดูว่า เรา 1 คน ต้องปลูกต้นไม้มากแค่ไหนจึงจะเพียงพอต่อการดูดจับคาร์บอนที่ปล่อยอกกไป และเราจะเอาพื้นที่ไหนปลูกจึงจะพอ

จากที่เทียบเคียงให้เห็น คงพอเข้าใจได้ว่าการปลูกต้นไม้นั้นดีแต่ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะต้นเหตุหลักของภาวะโลกร้อนจากสภาวะเรือนกระจกนี้ มาจากอุตสาหกรรมพลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) ดังนั้นถ้าจะแก้ให้ตรงจุดและทันท่วงที ต้องแก้ตรงจุดดังกล่าวก่อน โดยปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้โซล่าเซลล์ในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานที่ไม่มีต้นทุนสูงแต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและไม่มีวันหมด หากแก้ไขในจุดนี้ได้ก่อน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากมายทีเดียว

ในภาคเกษตรกรรม ที่เชื่อมโยงกับคลังอาหารของมนุษย์ชาติ ควรปรับตัวจากเดิมที่ทำเกษตรเคมี เกษตรเชิงเดียว เกษตรแปลงใหญ่ มาทำเกษตรเชิงนิเวศ เพื่อก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันของพืชพรรณธัญญาหารและสภาพแวดล้อม อีกสิ่งสำคัญคือ การสะสมและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีทางเลือกหลากหลายสามารถยืดหยุ่นคัดเลือกพันธุ์พืชมาเพาะปลูกในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะได้ยังมีอาหารไว้หล่อเลี้ยงเพียงต่อแม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตินั่นเอง

ขณะที่ภาคส่วนนโยบายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหมั่นติดตามข่าวสาร เฝ้าระวัง วิเคราะห์ผลเสียที่จะเกิดขึ้นและวางแผนประกาศเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือ เช่น การบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูกและการนำมาอุปโภคบริโภค ที่ต้องจัดสรรให้เหมาะสมเพียงพอ หรือการแนะนำเกษตรกรให้เลือกปลูกพืชพรรณทนต่อสภาพอากาศท่ามกลางภัยแล้งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เรายังมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ  อีกอย่างที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารต้องตระหนักคือ ควรลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และไม่เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำ ดิน ในกิจกรรมการเกษตรไปอย่างสิ้นเปลือง ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในประเด็นนี้ที่ไม่ควรละเลย

ท้ายสุดขอยกคำแนะนำของงานศึกษาของมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ทำการเก็บข้อมูลระดับอาเซียนและเสนอปัจจัยที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อการอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ 5 ข้อ คือ

  1. เกษตรกรจะต้องมีระบบนิเวศ ทั้ง ดิน น้ำ พันธุกรรมพืช ที่มีความมั่นคง มีทางเลือก ที่หลากหลาย
  2. เกษตรกรที่จะปรับตัวได้ดีต้องมีสเถียรภาพทางเศรษฐกิจดี ไม่มีหนี้สินมาก เพื่อให้มีอิสระเลือกแนวทางการผลิตได้
  3. มีความรู้และติดตามข้อมูลข่าวสาร เรื่องการเปลี่ยนแปลงภาพอากาศ เพื่อนำไปสู่การปรับตัวในพื้นที่ของตัวเอง
  4. มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวผ่านกระบวนการเรียนรู้และการออกแบบ
  5. มีเครือข่ายทางสังคมในการแลกเปลี่ยนความรู้

ห้าข้อที่กล่าวมานี้น่าจะพอเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรลองปรับตัวปฏิบัติตามเพื่อรอดพ้นจากวิกฤตินี้ได้

ขณะที่เราท่านผู้บริโภคทั้งหลาย การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ติดกรีนมากขึ้น เพื่อลดสภาวะโลกร้อน และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยกันลดขยะอาหาร ลดการใช้พลาสติก ใช้การเดินทางสาธารณะ ปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด ช่วยกันปลูกป่าและดูแลต้นไม้ปลูกใหม่เหล่านั้นให้รอด และอีกสารพัดวิธีดี ๆ เพื่อโลกสีเขียว ก็จะเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งช่วยพาโลกกลับสู่สมดุลธรรมชาติเดิมได้ไม่มากก็น้อย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย  

เห็นไหมว่าวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงกันไปหมด ทว่าต้นทางและปลายทางของหัวลูกศรแห่งสาเหตุและผลกระทบ ได้ชี้กลับมาที่มนุษย์ทั้งสองด้าน เพราะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นไปตามกลไกตามธรรมชาติ แต่มาจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้นผู้ที่จะแก้ไขสมดุลธรรมชาตินี้ให้กลับคืนมาได้ดังเดิม ก็คือมนุษย์เราเท่านั้น และไม่ใช่หน้าที่ของใครหรือภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคนบนโลกที่ต้องผสานมือกันแก้ไขปัญหานี้และข้ามผ่านวิกฤติดังกล่าวไปด้วยกัน นี้คือเวลาที่ต้อง ลด ละ เลิก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำร้ายโลกเราเคยทำ ทำอยู่ แต่ต้องไม่ทำต่อ เพื่อให้โลกของเรากลับมาสวยงามดังเดิม 

ที่มาข้อมูล:
– เนื้อหาบางส่วนจากการเสวนาหัวข้อเรื่อง “นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับการปรับตัวในภาคเกษตร” โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
– บทความ “ไขคำตอบเอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว” www.thaipbs.or.th/news/content/328430
– หัวข้อข่าว  “WMO เตือนโลกรับมือปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา เผย ฤดูฝน 2566 ไทย คาดจะมาช้า และค่าฝนตกจะเฉลี่ยน้อยกว่าปีที่แล้ว” https://workpointtoday.com/weather-el-nino
– หัวข้อข่าว “ไทยเข้าสู่ ‘เอลนีโญ’ ผู้เชี่ยวชาญชี้ปี 66 จะรุนแรงจานี้อีก 5 ปีเผชิญแล้งนาน” www.komchadluek.net/quality-life/environment/551453
– บทความ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” โดยเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th
– บทความ “อะไรกัน เอลนีโญ-ลานิญา” www.geo2gis.com/index.php/geography/316-elnino-lanina?showall=1
– หัวข้อข่าว “โลกอาจเผชิญปรากฏการณ์ ‘Super El Nino’ ปลายปีนี้ ดันอุณหภูมิทะลุขีดจำกัด 1.5 องศา” https://thaipublica.org
– หัวข้อข่าว “จับตา “เอลนีโญ” ปี 66 กดดันผลผลิตข้าวนาปีลดลง 4.1-6% ”